เมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้า เหล่าบรรดามิจฉาชีพออนไลน์ก็สรรหากลโกงที่มีความซับซ้อน และแนบเนียนมากขึ้น ทำให้หลาย ๆ คนตกเป็นเหยื่อโดยไม่รู้ตัว ปัจจุบันมิจฉาชีพออนไลน์จะใช้เทคนิคหลากหลายรูปแบบในการขโมยข้อมูลทางการเงิน เช่น การหลอกให้กรอกข้อมูลส่วนตัว การแฮ็กบัญชี หรือการโจรกรรมข้อมูลบัตรเครดิต ดังนั้น หากเรารู้ว่ามิจฉาชีพออนไลน์ มีอะไรบ้าง และรู้เท่าทันกลโกงต่าง ๆ ก็จะสามารถป้องกันตัวเอง และลดความเสี่ยงจากการถูกโจรกรรมทางการเงินได้
25 กลโกงมิจฉาชีพยอดนิยม
1. Phishing : หลอกให้กรอกข้อมูลผ่านอีเมลหรือเว็บไซต์ปลอม
- วิธีสังเกต : คุณจะได้รับอีเมลหรือ SMS โดยอ้างว่าติดต่อจากธนาคาร หรือแอปพลิเคชันสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ แต่ใช้ชื่อโดเมนแปลก ๆ หรือเร่งให้กรอกข้อมูลด่วน
- วิธีป้องกันและรับมือ : อย่าคลิกลิงก์จากอีเมลที่ส่งมาโดยบุคคลที่ไม่น่าเชื่อถือ และควรตรวจสอบข้อมูลกับหน่วยงานโดยตรง และปัจจุบันธนาคารหรือสถาบันการเงินยกเลิกการส่ง SMS และอีเมลที่แนบลิงก์แล้ว หากได้รับ SMS หรืออีเมลที่มีลิงก์ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่ามสจากมิจฉาชีพ
2. ATM Skimming : การติดตั้งอุปกรณ์ดักข้อมูลและรหัสบัตรที่เครื่อง ATM
- วิธีสังเกต : ช่องเสียบบัตรที่ตู้ ATM หลวม มีร่องรอยผิดปกติ หรือปุ่มกดดูแปลกไป เนื่องจากมิจฉาชีพจะใช้วิธีทำปุ่มกดปลอมและเครื่องอ่านบัตรปลอมขึ้นมา ประกบกับอุปกรณ์จริงบนตู้ ATM เพื่อดูดข้อมูล
- วิธีป้องกันและรับมือ : สังเกตตู้ ATM ว่าอยู่ในสภาพปกติหรือไม่ และตั้งอยู่ในจุดที่ปลอดภัยหรือไม่
3. Malware/Spyware : คอมพิวเตอร์โดนไวรัส
- วิธีสังเกต : คอมพิวเตอร์ทำงานช้าผิดปกติ มีโฆษณาเด้งขึ้นมาเอง เนื่องจากคอมพิวเตอร์โดนไวรัสแล้วมิจฉาชีพจะขโมยข้อมูลส่วนตัว เช่น ข้อมูลทางการเงิน รหัสผ่าน เป็นต้น
- วิธีป้องกันและรับมือ : ติดตั้งโปรแกรมป้องกันไวรัสบนคอมพิวเตอร์, หลีกเลี่ยงการดาวน์โหลดไฟล์จากแหล่งที่ไม่น่าเชื่อถือ, ไม่คลิกข้อความโฆษณาหรือหน้าต่าง POP-UP ที่ไม่น่าไว้วางใจ, ระมัดระวังการใช้งานอุปกรณ์เชื่อมต่อต่าง ๆ เช่น USB
4. Social Engineering : หลอกให้เปิดเผยข้อมูลทางโทรศัพท์/SMS
- วิธีสังเกต : ได้รับโทรศัพท์จากผู้ที่ไม่รู้จัก หรือโทรมาแอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคาร หรือหน่วยงานราชการต่าง ๆ หรือได้รับข้อความที่ขอข้อมูลส่วนตัว ขอรหัส OTP
- วิธีป้องกันและรับมือ : ไม่ให้ข้อมูลส่วนตัวทางโทรศัพท์ และตรวจสอบกับองค์กรหรือคนใกล้ชิดที่ถูกแอบอ้างชื่อหรือเกี่ยวข้องโดยตรง
5. SIM Swap : การแฮ็กซิมการ์ดเพื่อขอรับ OTP
- วิธีสังเกต : ไม่สามารถโทรออกหรือส่งข้อความได้, ไม่สามารถเข้าถึงบัญชีธนาคารได้ เพราะก่อนหน้านี้มิจฉาชีพจะหลอกให้คุณเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว เช่น เบอร์โทรศัพท์ รหัสผ่าน แล้วนำข้อมูลที่ได้ ไปหลอกผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือว่าคุณทำซิมการ์ดหาย แล้วให้ทางเครือข่ายส่งซิมการ์ดใหม่ไปให้ในที่อยู่ใหม่
- วิธีป้องกันและรับมือ : ไม่ให้ข้อมูลส่วนตัวกับใครทางโทรศัพท์, เปลี่ยนรหัสผ่านโทรศัพท์มือถือและรหัส Mobile Banking เป็นประจำ โดยรหัสต้องคาดเดาได้ยากและไม่บอกใครเด็ดขาด, เพิ่มรหัสความปลอดภัยของบัญชี เช่น ใช้ 2FA, Face ID เป็นต้น
เพื่อความปลอดภัยในการใช้บัตรเครดิต ควรจำกัดวงเงินต่อวันในการใช้ และแจ้งเตือนทุกครั้งที่มีการใช้งาน
6. Carding : ขโมยข้อมูลบัตรเครดิตไปใช้
- วิธีสังเกต : สังเกตยอดการใช้จ่ายในใบแจ้งหนี้ หากพบรายการแปลก ๆ หรือมีการใช้จ่ายในสถานที่ที่คุณไม่เคยไป อาจเป็นสัญญาณว่าข้อมูลบัตรเครดิตของคุณถูกขโมยไปใช้
- วิธีป้องกันและรับมือ : ตรวจสอบรายการธุรกรรมบัตรเครดิตเป็นประจำ หากพบสิ่งผิดปกติให้รีบแจ้งธนาคาร, เปิดระบบแจ้งเตือนการใช้จ่ายผ่านแอปพลิเคชันธนาคาร เพื่อรับการแจ้งเตือนทุกครั้งที่มีการใช้บัตร, หลีกเลี่ยงการกรอกข้อมูลบัตรในเว็บไซต์ที่ไม่น่าเชื่อถือ, ไม่ซื้อสินค้าผ่านลิงก์ที่ไม่รู้จัก, ใช้บัตรเครดิตแบบ Virtual Card สำหรับการซื้อสินค้าออนไลน์ เพื่อลดความเสี่ยง
7. Wi-Fi สาธารณะ : ดักจับข้อมูลผ่านเครือข่ายที่ไม่ปลอดภัย
- วิธีสังเกต : เครือข่าย Wi-Fi แสดงขึ้นมาให้เชื่อมต่อฟรีโดยไม่ต้องใช้รหัสผ่าน หรือตั้งชื่อ มีชื่อ Wi-Fi คล้ายกับสถานที่จริง ซึ่งอาจเป็น Wi-Fi ปลอมที่สร้างขึ้นมาเพื่อดักจับข้อมูลของคุณ
- วิธีป้องกันและรับมือ : หลีกเลี่ยงการทำธุรกรรมทางการเงิน หรือการล็อกอินเข้าแอปธนาคารผ่าน Wi-Fi สาธารณะ, ปิดการเชื่อมต่อ Wi-Fi อัตโนมัติบนอุปกรณ์ของคุณ เพื่อลดโอกาสในการเชื่อมต่อกับเครือข่ายที่ไม่ปลอดภัย ใช้เครือข่ายมือถือ (4G/5G) แทนการใช้ Wi-Fi สาธารณะเมื่อต้องการทำธุรกรรมที่สำคัญ
8. แฮ็กบัญชีธนาคารออนไลน์ : เข้าถึงบัญชีด้วยรหัสผ่านที่คาดเดาง่าย
- วิธีสังเกต : ไม่สามารถเข้าสู่ระบบบัญชีธนาคารออนไลน์ได้ เพราะรหัสผ่านถูกเปลี่ยน หรือได้รับการแจ้งเตือนว่ารหัสผ่านถูกเปลี่ยนโดยที่คุณไม่ได้ทำเอง
- วิธีป้องกันและรับมือ : ใช้รหัสผ่านที่ปลอดภัย คาดเดายาก, ไม่บอกรหัสผ่านกับใคร, หลีกเลี่ยงการใช้รหัสผ่านซ้ำกันระหว่างบัญชีธนาคารและบัญชีอื่น ๆ , เปิดใช้งาน 2-Factor Authentication (2FA) เพื่อเพิ่มความปลอดภัยอีกชั้น, หลีกเลี่ยงการเข้าสู่ระบบบัญชีธนาคารจากอุปกรณ์หรือเครือข่ายที่ไม่ปลอดภัย
9. หลอกให้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันธนาคารปลอม
- วิธีสังเกต : แอปมีรีวิวต่ำ ชื่อแอปคล้ายของจริงแต่สะกดผิด หรือมีโลโก้ที่แตกต่างไปจากแอปธนาคารจริง
- วิธีป้องกันและรับมือ : ดาวน์โหลดแอปธนาคารจาก App Store หรือ Google Play Store เท่านั้น, ตรวจสอบชื่อผู้พัฒนาแอปให้แน่ใจว่าเป็นของธนาคารจริง, ไม่ดาวน์โหลดแอปจากลิงก์ที่ได้รับทาง SMS อีเมล หรือโซเชียลมีเดีย
10. Money Mule : บัญชีม้าหรือการใช้คนกลางโอนเงินผิดกฎหมาย
- วิธีสังเกต : มีคนแปลกหน้าหรือแม้แต่คนรู้จัก ขอให้รับโอนเงินเข้าบัญชีของคุณและให้โอนไปยังบัญชีอื่น โดยอ้างเหตุผลต่าง ๆ เช่น เป็นการขอความช่วยเหลือ หรือหากทำให้จะให้ค่าตอบแทน
- วิธีป้องกันและรับมือ : อย่ารับโอนเงินให้ใครโดยไม่ทราบที่มา เพราะอาจเป็นเงินที่ได้มาจากกิจกรรมผิดกฎหมาย, หากมีข้อเสนอให้ใช้บัญชีของคุณเพื่อโอนเงิน ให้ปฏิเสธทันที, แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือธนาคารหากสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน
11. ขโมยบัตรเครดิตไปรูดที่เครื่อง EDC
- วิธีสังเกต : เมื่อไปใช้บริการในสถานที่ต่าง ๆ เช่น ร้านอาหาร สปา ฟิตเนส ปั๊มน้ำมัน แล้วพนักงานนำบัตรเครดิตของคุณไปรูดโดยที่คุณไม่ได้เห็น หรือใช้เครื่อง EDC ที่แฝงอุปกรณ์สแกนข้อมูลบัตร
- วิธีป้องกันและรับมือ : เก็บบัตรเครดิตไว้กับตัวเสมอ, อย่าให้พนักงานนำบัตรของคุณออกไปจากสายตา, ตรวจสอบวงเงินบัตรเครดิตเป็นประจำ หากพบรายการใช้จ่ายที่ไม่รู้จักให้รีบแจ้งธนาคาร, ตั้งวงเงินจำกัดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต เพื่อป้องกันการใช้จ่ายเกินความจำเป็น
12. Fake Shopping : หลอกขายของออนไลน์แล้วไม่ส่งสินค้า
- วิธีสังเกต : ราคาสินค้าถูกกว่าปกติมาก เว็บไซต์หรือเพจร้านค้าไม่มีข้อมูลติดต่อชัดเจน ไม่มีรีวิวจากลูกค้าจริง หรือมีแต่รีวิวปลอม
- วิธีป้องกันและรับมือ : ตรวจสอบรีวิวของร้านค้าในหลายช่องทางก่อนซื้อสินค้า, ใช้บริการเก็บเงินปลายทางเพื่อลดความเสี่ยง, ตรวจสอบเลขบัญชีร้านค้าผ่านเว็บไซต์ Blacklistseller.com เพื่อดูว่ามีประวัติการโกงหรือไม่
13. หลอกให้โอนเงินก่อนทำงาน
- วิธีสังเกต : เสนอรายได้สูงเกินจริง อ้างว่างานทำง่าย ไม่ต้องมีประสบการณ์ แต่ต้องจ่ายค่าสมัครหรือค่าดำเนินการก่อนเริ่มงาน
- วิธีป้องกันและรับมือ : อย่าโอนเงินก่อนเริ่มงาน เพราะบริษัทที่น่าเชื่อถือจะไม่มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายล่วงหน้า, ตรวจสอบชื่อบริษัทจากแหล่งข้อมูลทางการ เช่น กระทรวงแรงงาน หรือรีวิวจากพนักงานเก่า, หากสงสัยว่าเป็นการหลอกลวง ให้ลองสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม และสังเกตว่ามีการตอบกลับที่น่าสงสัยหรือไม่
14. หลอกให้ทำงานเสริมผ่านช่องทางออนไลน์
- วิธีสังเกต : มิจฉาชีพจะสร้างประกาศรับสมัครงานพาร์ทไทม์ที่ดูน่าสนใจ เช่น ให้ค่าคอมมิชชันสูง, ไม่ต้องมีทักษะใด ๆ ก็สามารถทำได้ เพียงแค่มีสมาร์ตโฟนเครื่องเดียว, สามารถทำงานจากที่บ้านได้, ให้โอนเงินค้ำประกันก่อนเริ่มงาน, ใช้บัญชีหรือเบอร์โทรศัพท์ที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ เป็นต้น โดยงานเหล่านี้มักเป็นงานหลอกลวงให้กดไลก์ กดแชร์ เพิ่มยอดวิว แกล้งรับออเดอร์ หรือทำสต๊อกสินค้า แต่แท้จริงแล้วไม่ได้มีการจ้างงานจริง จุดประสงค์คือหลอกให้เหยื่อโอนเงินค้ำประกันหรือทำตามเงื่อนไข ก่อนที่มิจฉาชีพจะหายไปพร้อมเงินทั้งหมดที่เราได้มาจากลูกค้า
- วิธีป้องกันและรับมือ : อย่าโอนเงินให้ใครก่อนเริ่มงาน ควรตรวจสอบชื่อบริษัทหรือแพลตฟอร์มที่ใช้รับสมัคร หากสงสัย ให้ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติม
15. หลอกลงทุน : โครงการปลอมที่ให้ผลตอบแทนสูง
- วิธีสังเกต : มิจฉาชีพจะสร้างโครงการลงทุนปลอมที่ให้ผลตอบแทนสูงเกินจริง เช่น ลงทุนเพียงหลักพัน แต่รับกำไรเป็นหลักหมื่นในเวลาไม่กี่วัน หรืออ้างว่าเป็นการลงทุนที่ไม่มีความเสี่ยง โดยใช้ชื่อบริษัทที่ดูน่าเชื่อถือ หรือมีเอกสารปลอมแสดงความโปร่งใสเพื่อให้เหยื่อหลงเชื่อ
- วิธีป้องกันและรับมือ : ตรวจสอบใบอนุญาตของบริษัทผ่านหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กลต. (สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์) ก่อนตัดสินใจลงทุน
16. ปล่อยเงินกู้ปลอม
- วิธีสังเกต : มิจฉาชีพจะแฝงตัวมาในรูปแบบของโฆษณาให้กู้เงินด่วน อ้างว่าอนุมัติเร็ว ไม่เช็กเครดิตบูโร และใช้เอกสารน้อย แต่มีเงื่อนไขว่าต้องโอนค่าธรรมเนียม ค่ามัดจำ หรือค่าเปิดบัญชีล่วงหน้าก่อนถึงจะได้รับเงินกู้ สุดท้ายเมื่อเหยื่อโอนเงินให้แล้ว กลับไม่ได้รับเงินกู้จริง และไม่สามารถติดต่อผู้ให้กู้ได้อีก
- วิธีป้องกันและรับมือ : ตรวจสอบว่าเป็นบริษัทที่มีใบอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทยหรือไม่ ก่อนทำธุรกรรมใด ๆ
17. หลอกว่าเป็นผู้โชคดีได้รับรางวัล
- วิธีสังเกต : อีกหนึ่งกลโกงมิจฉาชีพออนไลน์ที่พบเป็นประจำก็คือส่งข้อความ SMS แจ้งทางอีเมล หรือโทรศัพท์มาหลอกว่าได้รับรางวัลใหญ่ เช่น เงินสด รถยนต์ หรือโทรศัพท์มือถือ ทั้งที่เราไม่เคยร่วมกิจกรรมใด ๆ และเงื่อนไขก็คือ ต้องโอนเงินค่าธรรมเนียมหรือค่าภาษีก่อนจึงจะได้รับรางวัล
- วิธีป้องกันและรับมือ : อย่าให้ข้อมูลส่วนตัว หรือโอนเงินโดยไม่ตรวจสอบต้นทาง
18. หลอกขายแพ็กเกจทัวร์ราคาถูก
- วิธีสังเกต : มิจฉาชีพจะตั้งเพจหรือเว็บไซต์ขายแพ็กเกจทัวร์ในราคาถูกกว่าท้องตลาดมาก ๆ บางรายอ้างว่ามีโปรโมชั่นพิเศษจากสายการบินหรือโรงแรม แต่เมื่อเหยื่อโอนเงินจองไปแล้ว มิจฉาชีพก็จะปิดเพจ หนีหาย หรือให้ตั๋วปลอมที่ไม่สามารถใช้ได้จริง โดยวิธีสังเกตก็คือราคาจะถูกมาก ไม่มีรีวิวที่น่าเชื่อถือ หรือเมื่อลองเช็กเลขจดทะเบียนบริษัทพบว่าไม่มีอยู่จริง
- วิธีป้องกันและรับมือ : ควรตรวจสอบว่าเพจหรือเว็บไซต์ที่คุณเห็นเป็นช่องทาง Official หรือไม่ นอกจากนี้ ควรตรวจสอบรีวิว เลขจดทะเบียนบริษัท และช่องทางติดต่อให้ชัดเจนก่อนตัดสินใจซื้อ
19. ใช้ AI ปลอมเสียงและใบหน้า
- วิธีสังเกต : เทคโนโลยี Deepfake ทำให้มิจฉาชีพออนไลน์สามารถปลอมเสียงหรือใบหน้าของบุคคลที่เหยื่อรู้จักได้ เช่น ปลอมเป็นเพื่อนสนิทหรือญาติ แล้วส่งข้อความเสียงหรือวิดีโอขอให้โอนเงินด่วน ด้วยน้ำเสียงเร่งรีบ มีท่าทีผิดแปลกไปจากเดิม หรือแอบอ้างเป็นผู้มีอำนาจ สั่งให้เหยื่อทำธุรกรรมทางการเงิน
- วิธีป้องกันและรับมือ : หากได้รับโทรศัพท์โดยอ้างว่าเป็นคนรู้จัก ให้โทรกลับหาคนที่คุณรู้จักจริง ๆ ก่อน เพื่อตรวจสอบว่าเป็นบุคคลนั้นจริงหรือไม่ และอย่ารีบโอนเงินเพียงเพราะได้รับคลิปเสียงหรือวิดีโอเพียงอย่างเดียว
20. หลอกลวงให้สมัครสมาชิกบริการต่าง ๆ
- วิธีสังเกต : บางเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันจะเสนอให้ทดลองใช้งานฟรี 7-30 วัน แต่มีเงื่อนไขแอบแฝงว่า หลังจากหมดช่วงทดลอง ระบบจะหักเงินจากบัญชีอัตโนมัติ ซึ่งคุณจะต้องผูกบัญชีหรือบัตรเครดิตเพื่อยินยอมให้ตัดเงินอัตโนมัติ
- วิธีป้องกันและรับมือ : อ่านเงื่อนไขให้รอบคอบก่อนสมัคร และตรวจสอบให้แน่ใจว่ามีตัวเลือกให้ยกเลิกก่อนถูกหักเงิน
21. หลอกให้ไปทำงานต่างประเทศ
- วิธีสังเกต : มิจฉาชีพจะแฝงตัวมาในรูปแบบของนายหน้าจัดหางาน เสนอค่าจ้างสูง งานสบาย ไม่ต้องใช้ทักษะ แต่ไม่มีสัญญาที่ชัดเจนหรือไม่มีสถานที่ทำงานที่แน่ชัด พร้อมหลอกให้เหยื่อจ่ายค่าเดินทาง ค่าวีซ่า หรือค่าดำเนินการก่อน เมื่อเดินทางไปถึงแล้วกลับไม่ได้งานจริง หรือถูกบังคับให้ทำงานผิดกฎหมาย
- วิธีป้องกันและรับมือ : ตรวจสอบข้อมูลบริษัทและนายหน้ากับกระทรวงแรงงานก่อนเดินทาง และอย่าโอนเงินล่วงหน้าให้ใครโดยไม่มั่นใจในความถูกต้องของงาน
22. หลอกให้บริจาค
- วิธีสังเกต : มิจฉาชีพมักโพสต์ข้อความขอรับบริจาคผ่านโซเชียลมีเดีย โดยใช้ภาพหรือเรื่องราวที่น่าสงสารเพื่อให้เหยื่อโอนเงินช่วยเหลือ เช่น ภาพเด็กขาดแคลน ภาพสัตว์พิการ หรือเป็นการขอรับบริจาคเพื่อทำบุญสร้างวัด สร้างโบสถ์ แต่ไม่มีแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ มีแต่เลขบัญชีส่วนตัวหลอกให้โอนเงิน
- วิธีป้องกันและรับมือ : ตรวจสอบชื่อมูลนิธิหรือองค์กรที่อ้างถึงก่อนโอนเงิน เช็กบัญชีรับบริจาคจากเว็บไซต์ทางการ หลีกเลี่ยงการโอนเงินเข้าบัญชีส่วนตัว
23. หลอกให้เล่นแชร์ลูกโซ่
- วิธีสังเกต : อ้างว่าลงทุนน้อยแต่ได้ผลกำไรมหาศาลในเวลาอันสั้น ชักชวนให้หาสมาชิกเพิ่มเพื่อรับค่าตอบแทน ไม่มีข้อมูลบริษัทหรือผลิตภัณฑ์ที่ชัดเจน
- วิธีป้องกันและรับมือ : หลีกเลี่ยงการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงผิดปกติ ตรวจสอบบริษัทกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ก.ล.ต. หรือ ธปท. และอย่าหลงเชื่อโฆษณาที่เกินจริง
24. โทรมาหลอกและข่มขู่ให้เกิดความกลัว
- วิธีสังเกต : มิจฉาชีพจะโทรศัพท์มาอ้างว่าเป็นตำรวจ หรือหน่วยงานราชการ แจ้งว่าผู้รับสายมีคดีความหรือพัวพันเกี่ยวกับการกระทำความผิดฐานฟอกเงิน หรือการส่งพัสดุที่ผิดกฎหมาย หรือยาเสพติด และต้องโอนเงินเพื่อเคลียร์ปัญหา
- วิธีป้องกันและรับมือ : ตั้งสติและห้ามให้ข้อมูลส่วนตัว และบล็อกเบอร์โทรต้องสงสัยทันที
25. เรียกค่าไถ่ทางคอมพิวเตอร์ (Ransomware)
- วิธีสังเกต : มิจฉาชีพจะแฮ็กข้อมูลและล็อกไฟล์ในคอมพิวเตอร์เพื่อเรียกเงิน โดยเจ้าของจะไม่สามารถเปิดไฟล์สำคัญในคอมพิวเตอร์ได้ และมีข้อความเรียกค่าไถ่ให้โอนเงินเพื่อปลดล็อกข้อมูล
- วิธีป้องกันและรับมือ : หลีกเลี่ยงการดาวน์โหลดไฟล์จากอีเมลหรือเว็บไซต์ที่ไม่น่าเชื่อถือ, อัพเดทซอฟต์แวร์ป้องกันไวรัสเป็นประจำ, สำรองข้อมูลไว้เสมอเพื่อป้องกันการสูญเสียข้อมูล
นิสัยที่ช่วยให้คุณไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ
- ไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวโดยไม่จำเป็น : หลีกเลี่ยงการโพสต์ข้อมูลบนช่องทางออนไลน์หรือให้ข้อมูลส่วนตัวกับบุคคลอื่น เช่น หมายเลขบัตรประชาชน เลขบัญชี หรือรหัส OTP กับบุคคลที่ไม่น่าไว้ใจ
- ตรวจสอบแหล่งที่มาของอีเมลและข้อความทุกครั้ง : หากได้รับอีเมลหรือ SMS แปลก ๆ โดยอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่จากธนาคารหรือหน่วยงานรัฐ ให้เช็ก URL หรือเบอร์ติดต่อกับเว็บไซต์ทางการก่อนดำเนินการใด ๆ
- ไม่กดลิงก์จากแหล่งที่ไม่น่าเชื่อถือ : หลีกเลี่ยงการคลิกลิงก์ในข้อความที่ไม่ได้ร้องขอ หรือโฆษณาที่ดูน่าสงสัย ซึ่งอาจนำไปสู่เว็บไซต์ปลอมเพื่อขโมยข้อมูล
- ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันจากแหล่งที่เชื่อถือได้เท่านั้น : หากต้องการดาวน์โหลดแอปใด ๆ ให้ใช้ App Store หรือ Google Play Store เท่านั้น และตรวจสอบชื่อผู้พัฒนา รีวิว และจำนวนดาวก่อนติดตั้ง
- ตั้งรหัสผ่านที่แข็งแกร่งและไม่ใช้รหัสซ้ำกัน : ใช้รหัสผ่านที่ประกอบด้วยตัวอักษร ตัวเลข และสัญลักษณ์ และเปลี่ยนรหัสผ่านเป็นประจำเพื่อความปลอดภัย
- ติดตั้งและอัปเดตโปรแกรมป้องกันไวรัสอยู่เสมอ : ป้องกันมัลแวร์และภัยคุกคามไซเบอร์ด้วยซอฟต์แวร์รักษาความปลอดภัยที่ได้รับการอัปเดตสม่ำเสมอ
- หลีกเลี่ยงการเชื่อมต่อ Wi-Fi สาธารณะในการทำธุรกรรมสำคัญ : หากจำเป็นต้องใช้ ให้เชื่อมต่อผ่าน VPN เพื่อเพิ่มความปลอดภัย
- ตรวจสอบรายการธุรกรรมและบัญชีออนไลน์เป็นประจำ : ตรวจสอบความเคลื่อนไหวของบัญชีธนาคารและบัตรเครดิต หากพบธุรกรรมที่ไม่รู้จัก ให้รีบแจ้งสถาบันการเงินทันที
ทุกวันนี้ภัยจากมิจฉาชีพออนไลน์มาในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการขโมยข้อมูลบัตรเครดิต หลอกให้โอนเงิน หรือธุรกรรมผิดปกติที่เกิดขึ้นโดยเราไม่รู้ตัว หนึ่งในวิธีป้องกันที่มีประสิทธิภาพคือ การใช้บัตรเครดิตที่มีระบบป้องกันที่ปลอดภัย และหากเลือกใช้บัตรเครดิต KTC คุณสามารถดูแลความปลอดภัยของบัญชีได้ง่าย ๆ ผ่านแอป KTC Mobile ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
- เปิดการแจ้งเตือนธุรกรรม รู้ทันทุกการใช้จ่าย ปลอดภัยกว่าเดิม
- ตรวจสอบรายการใช้จ่ายได้ตลอดเวลา หากพบธุรกรรมผิดปกติ สามารถติดต่อ KTC PHONE 02 123 5000 ได้ทันที
- ปรับวงเงินบัตรได้เองผ่านแอปพลิเคชัน KTC Mobile สามารถควบคุมการใช้จ่าย เพื่อลดความเสี่ยงจากการถูกโจรกรรมข้อมูล
- หากเกิดเหตุฉุกเฉิน สามารถอายัดบัตรชั่วคราวได้ด้วยตัวเองผ่านแอปพลิเคชัน KTC Mobile นานสูงสุด 7 วัน หากเกินกำหนดทาง KTC จะออกบัตรใหม่ให้ (มีค่าธรรมเนียมเพิ่มเติม)
- สามารถดูรายละเอียดขั้นตอนการใช้งานแอปฯ และดาวน์โหลดแอปฯ KTC Mobile ได้ที่ www.ktc.co.th/ktcmobile
เพื่อความปลอดภัยทางการเงินที่เหนือกว่า สามารถสมัครบัตรเครดิต KTC ออนไลน์ ได้เลยตอนนี้ ทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง
ใช้จ่าย คุ้มค่า นึกถึงบัตรเครดิต KTC