การให้ยืมเงินเป็นเรื่องปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้กับคนรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัว เพื่อน คนรู้จัก หรือแม้แต่เพื่อนร่วมงาน แต่ปัญหาสำคัญคือ เมื่อถึงเวลาคืนเงิน หลายครั้งที่คนยืมเงินกลับไม่คืนตามสัญญา ทำให้เจ้าหนี้ต้องหาวิธีทวงหนี้ให้ได้คืน อย่างไรก็ตาม การทวงหนี้ก็ต้องทำอย่างถูกต้องตามกฎหมาย มิเช่นนั้นอาจเข้าข่ายการคุกคามได้ ก่อนจะเป็นเจ้าหนี้ต้องรู้วิธีทวงหนี้แบบสุภาพและมีประสิทธิภาพ รวมถึงข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง KTC จะมาแนะนำกันในบทความนี้
กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทวงหนี้
ในประเทศไทย การทวงหนี้ถูกควบคุมโดยพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 ซึ่งกำหนดแนวทางปฏิบัติของเจ้าหนี้และบริษัททวงหนี้ให้ดำเนินการอย่างเหมาะสม ไม่ละเมิดสิทธิ์ของลูกหนี้ โดยกฎหมายมีข้อกำหนดสำคัญ ดังนี้
ทวงหนี้ได้ถึงกี่โมง ?
ตามกฎหมายกำหนดให้สามารถทวงหนี้ได้เฉพาะในช่วงเวลา 08.00 - 20.00 น. ในวันจันทร์-ศุกร์ และเวลา 08.00 - 18.00 น. ในวันหยุดราชการ หากมีการทวงหนี้นอกเวลาที่กำหนด อาจเข้าข่ายการละเมิดสิทธิ์ของลูกหนี้ และเสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดีได้ และยังสามารถทวงหนี้ได้เพียงวันละ 1 ครั้งเท่านั้น หากติดตามทวงถามหนี้เกิน 1 ครั้งต่อวัน อาจมีโทษปรับสูงสุด 100,000 บาท
ทวงหนี้ที่ทำงานหรือโทรเข้าที่ทำงานได้ไหม ?
การทวงหนี้ที่ทำงานหรือโทรเข้าที่ทำงานของลูกหนี้สามารถทำได้ แต่ต้องได้รับความยินยอมจากลูกหนี้ ไม่เช่นนั้นอาจถือเป็นการคุกคามและผิดกฎหมาย นอกจากนี้ยังไม่ควรเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับหนี้ของลูกหนี้ให้บุคคลที่สามทราบ เช่น เพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้างานของลูกหนี้
ขอบคุณข้อมูลจาก https://www.gcc.go.th/2023/12/11/สำนักงานตำรวจแห่งชาติ-93/
เป็นเจ้าหนี้ อยากทวงหนี้ ก็ต้องระมัดระวัง แต่ต้องศึกษาเรื่องกฎหมายด้วย เพื่อจะได้ไม่ถือว่าเป็นการคุกคามและผิดกฎหมาย
เทคนิคการทวงหนี้ให้ได้คืน
การทวงหนี้เป็นเรื่องที่หลายคนกังวล เพราะหากทวงไม่ถูกวิธีอาจทำให้เสียความสัมพันธ์ หรือไม่ได้รับเงินคืนเลย เทคนิคการทวงหนี้ที่ดีจึงควรใช้ทั้งจิตวิทยา การสื่อสาร และความเข้าใจ เพื่อให้ลูกหนี้ยอมชำระหนี้โดยไม่เกิดความขัดแย้ง
- พูดคุยอย่างสุภาพและให้เกียรติ - ควรใช้ถ้อยคำที่สุภาพ ไม่ข่มขู่ หรือกดดันลูกหนี้จนเกินไป
- แจ้งเตือนล่วงหน้า - ส่งข้อความหรือโทรแจ้งลูกหนี้ล่วงหน้าก่อนวันครบกำหนดชำระ เพื่อเตือนความจำ
- ให้ทางเลือกในการชำระหนี้ - หากลูกหนี้มีปัญหาด้านการเงิน อาจพิจารณาการผ่อนชำระเพื่อเพิ่มโอกาสได้รับเงินคืน
- ใช้หลักฐานเป็นตัวช่วย - เก็บหลักฐานเกี่ยวกับหนี้ เช่น ใบสัญญา ข้อความ หรือหลักฐานการโอนเงิน
- หลีกเลี่ยงการใช้อารมณ์ - อย่าใช้อารมณ์รุนแรงหรือทำให้สถานการณ์ตึงเครียด ควรทวงหนี้ด้วยความใจเย็นและเหตุผล
- พิจารณาใช้บริการไกล่เกลี่ย - หากลูกหนี้ยังไม่คืนเงิน อาจใช้บริการไกล่เกลี่ยจากหน่วยงานรัฐหรือศาล
ตัวอย่างการพูดทวงหนี้อย่างสุภาพ
การทวงหนี้เป็นศิลปะที่ต้องอาศัยทั้งความสุภาพและความเด็ดขาด เพื่อให้ลูกหนี้เข้าใจและเต็มใจชำระหนี้โดยไม่รู้สึกกดดันหรือเสียความสัมพันธ์ การเลือกใช้คำพูดที่เหมาะสม จะช่วยให้การทวงหนี้เป็นไปอย่างราบรื่นและมีโอกาสได้รับเงินคืนมากขึ้น ระวังห้ามพูดจาดูหมิ่น ข่มขู่ ใช้ความรุนแรง หรือประจานลูกหนี้
ตัวอย่างที่ 1: ทวงหนี้เพื่อนสนิท
ใช้คำพูดเป็นกันเอง แต่มีความจริงจัง
"(ชื่อเพื่อน) เราขอทวงเรื่องเงินที่เรายืมกันไว้นิดนึงนะ จำได้ไหมที่ให้ยืม (จำนวนเงิน) ตอน (โอกาสที่ให้ยืม)? พอดีช่วงนี้เราต้องใช้เงินพอดี เลยอยากถามว่าสะดวกคืนเมื่อไหร่ดี?"
ถ้าอีกฝ่ายบ่ายเบี่ยง
"เราเข้าใจนะ ถ้ามีปัญหาเรื่องเงินตอนนี้ ลองบอกกันได้ เราไม่เร่งมาก แต่อยากรู้ว่าสะดวกคืนประมาณวันไหน?"
ตัวอย่างที่ 2: ทวงหนี้เพื่อนร่วมงาน
ใช้คำพูดเป็นทางการแต่เป็นมิตร
"สวัสดี (ชื่อเพื่อนร่วมงาน) เราขอคุยเรื่องเงินที่เคยให้ยืมหน่อย พอดีเราต้องใช้เงินเร็วๆ นี้ เลยอยากถามว่าจะสะดวกคืนเมื่อไหร่?"
ถ้าอีกฝ่ายบ่ายเบี่ยง
"เราเข้าใจนะ ถ้ายังไม่สะดวกตอนนี้ เรารอได้ แต่อยากให้กำหนดวันที่แน่นอนได้ไหม?"
ตัวอย่างที่ 3: ทวงหนี้คนรู้จัก
ใช้คำพูดสุภาพและตรงไปตรงมา
"สวัสดีค่ะ/ครับ (ชื่อ) พอดีเรามีเรื่องอยากคุยด้วยหน่อยค่ะ/ครับ เรื่องเงินที่ให้ยืมไป (จำนวนเงิน) ตอน (วัน/โอกาส) ไม่ทราบว่าจะสะดวกคืนได้เมื่อไหร่คะ/ครับ?"
ถ้าอีกฝ่ายบ่ายเบี่ยง
"เราเข้าใจนะคะ/ครับ ถ้ายังไม่สะดวกตอนนี้ แต่อยากทราบว่าจะสามารถคืนให้ได้วันไหน เพื่อให้เราสามารถวางแผนการเงินของตัวเองได้ค่ะ/ครับ?"
การทวงหนี้อย่างถูกต้องตามกฎหมายและสุภาพไม่เพียงแต่ช่วยให้เจ้าหนี้ได้รับเงินคืนง่ายขึ้น แต่ยังช่วยรักษาความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ การเลือกใช้คำพูดที่สุภาพ มีเหตุผล และเสนอทางเลือกที่เหมาะสม จะช่วยลดความขัดแย้งและเพิ่มโอกาสในการได้รับเงินคืน หากลูกหนี้ยังไม่สามารถชำระหนี้ได้ การใช้กระบวนการทางกฎหมาย ก็อาจเป็นทางเลือกสุดท้ายที่เหมาะสม ไม่อยากมีปัญหาเรื่องการยืมเงินให้ต้องเสียความสัมพันธ์ ทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ แนะนำจัดการการเงิน เพิ่มสภาพคล่อง พร้อมมีเงินก้อนฉุกเฉินได้ด้วยตัวเอง ด้วยบัตรเครดิต KTC สมัครง่าย ไม่ยุ่งยาก ไม่ต้องไปสาขา สมัครบัตรเครดิต KTC ด้วยตนเองผ่านช่องทางออนไลน์ สมัครได้ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากจะสามารถผ่อนสินค้าและบริการได้ ยังเปลี่ยนยอดชำระเต็มเป็นผ่อนชำระด้วยอัตราดอกเบี้ยพิเศษ 0.74% ต่อเดือน นาน 3 - 10 เดือน หรือหากจำเป็นต้องใช้เงินสด ก็สามารถเปลี่ยนวงเงินในบัตรฯ เป็นเงินสดโอนเข้าบัญชีได้ง่ายๆ ผ่านแอป KTC Mobile ไม่ต้องมีปัญหาเรื่องการยืมเงินให้ลำบากใจ บริหารการเงินได้ด้วยตัวเองด้วยบัตรเครดิต KTC ที่ตอบโจทย์ทุกการใช้จ่าย
ใช้จ่าย คุ้มค่า นึกถึงบัตรเครดิต KTC