กู้ซื้อบ้านปีนี้ค่าใช้จ่ายถูกลง จ่ายน้อยเหลือเงินตกแต่งบ้านอีกเพียบ
เชื่อว่าหลายคนคงเคยวาดฝันไว้ตั้งแต่เด็ก ๆ ว่าอยากมีบ้านสักหลังเป็นของตัวเอง บ้านที่ออกแบบรังสรรค์ได้ตรงตามใจ หรือมีแบบแปลนบ้านกว้างใหญ่สไตล์ที่ชื่นชอบ ซึ่งการซื้อบ้านนั้นเปรียบได้เหมือนการลงทุนให้กับชีวิตในระยะยาว แม้มูลค่าจะสูงและต้องใช้ระยะเวลาในการผ่อนนานก็ตาม แต่ก็นับว่าคุ้มค่ากับการลงทุนที่เสียไป โดยการกู้ซื้อบ้านของใครหลายคนอาจเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่อายุ เงินทอง และความมั่นคงพรั่งพร้อม เพราะการซื้อบ้านแต่ละครั้ง ต่างมีค่าใช้จ่ายที่ตามมาไม่น้อย ยิ่งเมื่อมูลค่าของบ้านมีราคาสูง ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นก็ย่อมสูงขึ้นไปด้วย แต่มีข่าวดีสำหรับผู้ที่กำลังวางแพลนซื้อบ้าน โดยการมองหาโครงการบ้านที่ชื่นชอบ หรือโปรโมชั่นบ้านและคอนโดที่น่าสนใจภายในปี 2565 นี้ หากราคาประเมินของบ้านไม่เกิน 3 ล้านบาท จะเสียค่าใช้จ่ายในวันโอนบ้านถูกลงมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยให้คุณมีเงินเหลือสำหรับการตกแต่งและรีโนเวทบ้านได้มากกว่าเดิม
ค่าใช้จ่ายซื้อบ้านมีอะไรบ้าง? ผู้ซื้อต้องรู้ก่อนเริ่มทำสัญญาซื้อขาย
การซื้อขายบ้านเป็นภาระค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียทั้งฝั่ง “ผู้ขาย” และ “ผู้ซื้อ” สำหรับคนที่ต้องการซื้อบ้านหลังแรกหรือเป็นมือใหม่หัดซื้อบ้าน ควรศึกษารายละเอียดให้ดีว่าในฐานะการเป็นผู้ซื้อหรือผู้กู้ซื้อบ้าน ต้องเสียค่าใช้จ่ายอะไรบ้างและไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายส่วนใด ดังนี้
เตรียมตัวให้พร้อมก่อนกู้ซื้อบ้าน
ค่าใช้จ่ายของ “ผู้ซื้อ” ก่อนวันโอนบ้าน
1. ค่าจองและค่าทำสัญญา
เมื่อได้โครงการบ้านที่ถูกใจแล้ว ไม่ว่าจะเป็นบ้านใหม่หรือบ้านมือสอง ขั้นตอนต่อมาคือ การติดต่อกับเซลล์โครงการ นายหน้า หรือผู้ขายบ้าน เพื่อทำการโอนเงินจองบ้านและทำสัญญาซื้อขาย ค่าใช้จ่ายประมาณ 5,000 - 50,000 บาท ขึ้นอยู่กับโปรโมชั่นและโครงการบ้านต่าง ๆ
สำหรับเงินจองและค่าทำสัญญา จะต้องสอบถามเงื่อนไขจากผู้ขายให้ดีว่า กรณีกู้ซื้อบ้านไม่ผ่านจะมีการคืนเงินหรือไม่และกรณีกู้ผ่านจะได้รับเงินส่วนนี้คืน หรือนำไปเป็นส่วนลดค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ซึ่งต้องสอบถามให้ละเอียดก่อนเริ่มโอนเงินจองและเซ็นสัญญาซื้อขาย
2. เงินดาวน์
สิ่งที่จะทำให้การผ่อนบ้านน้อยลงอาจมาในรูปแบบของ เงินดาวน์ ซึ่งจำนวนค่าใช้จ่ายจะขึ้นอยู่กับความสามารถในการจ่ายของผู้ซื้อ โดยทั่วไปมักวางเงินดาวน์ประมาณ 10 - 20% ของราคาบ้าน อาทิ ราคาบ้าน 2,00,000 บาท วางเงินดาวน์บ้าน 10% ผู้ซื้อจะต้องจ่ายเงินดาวน์ประมาณ 200,000 บาท ซึ่งเงินจำนวนนี้จะนำไปหักลบกับราคาเต็มของบ้าน แต่เงินดาวน์นี้อาจจะ “มี” หรือ “ไม่มี” ก็ได้ ขึ้นอยู่กับโครงการบ้านและผู้ขาย
3. ค่าประเมินบ้านของธนาคาร
ก่อนธนาคารที่คุณยื่นกู้จะอนุมัติสินเชื่อกู้ซื้อบ้าน จะต้องผ่านการประเมินราคาบ้านจากธนาคารเสียก่อน เพื่อธนาคารจะได้นำมาพิจารณาปล่อยวงเงินกู้สินเชื่อ ซึ่งการประเมินราคาบ้านมีค่าใช้จ่ายประมาณ 1,000 - 3,000 บาท ขึ้นไป ขึ้นอยู่กับแต่ละธนาคารและบริษัทประเมิน โดยราคาประเมินบ้านจะต่ำกว่าราคาจริง
4. ค่าตรวจบ้านก่อนทำการโอนบ้าน
เมื่อกระบวนการกู้ขอสินเชื่อได้รับการอนุมัติแล้ว อย่าเพิ่งรีบร้อน “โอนบ้าน” โดยที่ยังไม่ได้ตรวจบ้าน เพราะคุณอาจได้รับมอบบ้านที่ยังไม่สมบูรณ์และอาจต้องมานั่งแก้ปัญหา รวมถึงเสียค่าซ่อมยิบย่อยอีกมากมาย ดังนั้นจึงควรใช้บริการของบริษัทที่รับตรวจบ้าน ซึ่งค่าใช้จ่ายจะขึ้นอยู่กับประเภทและพื้นที่ของที่อยู่อาศัย ค่าใช้จ่ายอาจอยู่ที่หลักพันจนถึงหลักหมื่น
โอนบ้านเตรียมรับกุญแจเป็นเจ้าของบ้านคนใหม่
ค่าใช้จ่ายของ “ผู้ซื้อ” ณ วันโอนบ้าน
1. ค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์
ค่าใช้จ่ายส่วนนี้เป็นหน้าที่ของผู้ซื้อที่ต้องชำระให้แก่กรมที่ดิน ในวันที่คุณต้องไปทำเรื่องโอนกรรมสิทธิ์บ้าน ไม่ว่าจะเป็นบ้านมือหนึ่งหรือบ้านมือสอง โดยมีค่าธรรมเนียมการโอนในอัตรา 2% ของราคาประเมินจากกรมที่ดิน
ยกตัวอย่าง
ราคาบ้าน 2,000,000 บาท ค่าธรรมเนียมการโอนประมาณ 40,000 บาท
แต่สำหรับผู้ที่จะกู้ซื้อบ้านภายในปี 2565 ทางกรมที่ดินได้มีการปรับเปลี่ยนอัตราค่าธรรมเนียมการโอน กรณีราคาประเมินบ้านไม่เกิน 3 ล้านบาท ค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์จะอยู่ที่ 0.01% เท่านั้น
ยกตัวอย่าง
ราคาบ้าน 2,000,000 บาท จากเดิมต้องเสียค่าธรรมเนียมการโอน 40,000 บาท หากซื้อบ้านตั้งแต่วันที่ 18 มกราคม 2565 - 31 ธันวาคม 2565 จะเสียค่าธรรมเนียมการโอนประมาณ 200 บาท
ซึ่งค่าใช้จ่ายในส่วนนี้อาจทำข้อตกลงกับโครงการบ้านหรือผู้ขายได้ว่า ผู้ซื้อและผู้ขายจะชำระกันคนละครึ่ง หรือยกให้เป็นหน้าที่ของผู้ขายเป็นผู้ชำระฝ่ายเดียวก็สามารถทำได้เช่นกัน
2. ค่าจดจำนอง
สำหรับผู้ซื้อบ้านด้วยเงินสดไม่จำเป็นต้องเสียค่าใช้จ่ายส่วนนี้ แต่สำหรับผู้กู้ซื้อบ้านผ่านสินเชื่อธนาคาร จะต้องเสียค่าจดจำนองในอัตรา 1% ของจำนวนเงินกู้ซื้อบ้าน โดยไม่สามารถผลักภาระค่าใช้จ่ายไปให้กับทางโครงการบ้านหรือผู้ขายได้
ยกตัวอย่าง
ราคาบ้าน 2,000,000 บาท ค่าธรรมเนียมการจดจำนองประมาณ 20,000 บาท
แต่สำหรับผู้ที่จะกู้ซื้อบ้านภายในปี 2565 ทางกรมที่ดินได้มีการปรับเปลี่ยนอัตราค่าธรรมเนียมการจดจำนอง กรณีราคาประเมินบ้านไม่เกิน 3 ล้านบาท ค่าธรรมเนียมการจดจำนองจะอยู่ที่ 0.01% เท่านั้น
ยกตัวอย่าง
ราคาบ้าน 2,000,000 บาท จากเดิมต้องเสียค่าธรรมเนียมการจดจำนอง 20,000 บาท หากซื้อบ้านตั้งแต่วันที่ 18 มกราคม 2565 - 31 ธันวาคม 2565 จะเสียค่าธรรมเนียมการจดจำนองประมาณ 200 บาท
ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ของ “ผู้ซื้อ” หลังกู้ซื้อบ้านผ่าน
1. ค่าประกันอัคคีภัย
กล่าวได้ว่าการทำประกันกับการซื้อบ้านเป็นสิ่งที่ต้องมาคู่กัน โดยเฉพาะการทำประกันอัคคีภัยที่กฎหมาย “บังคับ” ให้ผู้กู้ซื้อบ้านทำประกันอัคคีภัยตลอดอายุสัญญาผ่อนบ้าน ในส่วนของเบี้ยประกันจะขึ้นอยู่กับแต่ละกรมธรรม์ หรือไม่เกิน 0.1% ของวงเงินคุ้มครอง โดยมีระยะคุ้มครองตั้งแต่ 1 - 3 ปี
นอกจากนั้นยังสามารถทำประกันอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ อาทิ ประกันบ้าน น้ำท่วม เพื่อเพิ่มความคุ้มครองกรณีบ้านน้ำท่วม จนเกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินและประกันสินเชื่อบ้าน ที่จะคุ้มครองบ้านตามวงเงินกู้ กรณีที่ผู้กู้ซื้อเสียชีวิตหรือทุพพลภาพ โดยจะต้องจ่ายเบี้ยประกันพร้อมกับงวดผ่อนบ้านแต่ละเดือน
2. ค่าส่วนกลางของโครงการบ้าน
สำหรับผู้ที่ซื้อบ้านมือหนึ่งหรือโครงการบ้านใหม่ ค่าใช้จ่ายส่วนนี้จะเกิดขึ้นทันทีนับจากวันโอนบ้าน แม้คุณจะไม่ได้ย้ายเข้าไปอยู่ แต่เมื่อไปทำเรื่องติดต่อกับนิติบุคคลของหมู่บ้าน ทางนิติฯ จะยึดตามวันที่คุณโอนกรรมสิทธิ์บ้านกับทางกรมที่ดินทันที
แต่ในส่วนของผู้ที่ซื้อบ้านมือสอง อาจจะต้องสอบถามกับทางนายหน้าหรือผู้ขายบ้านให้ดีว่า บ้านที่คุณซื้อนั้นมีการค้างค่าชำระส่วนกลางไว้หรือไม่ หากมีการค้างชำระจากผู้ซื้อเดิม คุณไม่จำเป็นต้องจ่ายในส่วนนั้น ให้นำใบโอนกรรมสิทธิ์เป็นหลักฐานยืนยันกับทางนิติบุคคลว่า คุณคือเจ้าของบ้านคนใหม่และมีการโอนบ้านภายในวันที่เท่าไหร่ และจะชำระค่าส่วนกลางในจำนวนยอดปัจจุบันเท่านั้น
เช็กให้ชัวร์! ค่าใช้จ่ายอะไรบ้างที่ผู้กู้ซื้อไม่จำเป็นต้องจ่าย
ค่าใช้จ่ายที่ผู้กู้ซื้อไม่ต้องรับผิดชอบ
1. ค่าอากรแสตมป์
ค่าใช้จ่ายส่วนนี้เป็นหน้าที่ของ “ผู้ขาย” ที่ต้องเสียในขั้นตอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ โดยมีอัตราคิดเป็น 0.5% ของราคาประเมินจากกรมที่ดิน กรณีผู้ขายเป็นบุคคลธรรมดา แล้วมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเกิน 1 ปีหรือถือครองมาครบ 5 ปี (หากเสียค่าอากรแสตมป์จะไม่เสียค่าภาษีธุรกิจ)
2. ค่าภาษีธุรกิจเฉพาะ
อีกหนึ่งค่าใช้จ่ายของ “ผู้ขาย” ที่ผู้ซื้อไม่ต้องรับผิดชอบ หากผู้ขายเป็นบุคคลธรรมดา แล้วมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านไม่ถึง 1 ปี หรือถือครองไม่ถึง 5 ปี ต้องเสียค่าภาษีธุรกิจเฉพาะ เมื่อมีการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ โดยมีอัตราคิดเป็น 3.3% ของราคาขายหรือราคาประเมินทุนทรัพย์ (หากเสียค่าภาษีธุรกิจจะไม่เสียค่าอากรแสตมป์)
การกู้ซื้อบ้านไม่ใช่เรื่องยากเกินเอื้อม ไม่ว่าจะซื้อบ้านกรุงเทพหรือต่างจังหวัด เพียงคุณเตรียมวางแพลนค่าใช้จ่ายให้ดี และเตรียมตัวให้พร้อมตั้งแต่เนิ่น ๆ ก็พร้อมได้บ้านในฝันมาครอบครอง สำหรับสมาชิกบัตรเครดิต KTC ที่กำลังมีแพลนซื้อบ้านหลังแรกหรือมีแพลนรีโนเวทบ้านใหม่ พิเศษกว่าใครกับโปรโมชั่นช้อปเฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์แต่งบ้าน เลือกผ่อนชำระ 0%ได้ง่าย ๆ พร้อมรับคะแนนสะสม ส่วนลดและเครดิตเงินคืนกลับไปอีกเพียบ อีกทั้งยังมีโปรโมชั่นประกันภัย และประกันบ้านที่ช่วยดูแลคุณ หรือจะเบิกถอนเงินสดจากบัตรเครดิตมาใช้ล่วงหน้ายามฉุกเฉินก็สะดวกสบาย
อ้างอิงข้อมูลจาก: thansettakij
เช็กโปรโมชั่นประกันภัย ผ่อนชำระด้วยบัตรเครดิต KTC...ได้ที่นี่