สำหรับใครที่มีความฝันว่าอยากมีบ้านหลังใหญ่ไว้เป็นที่อยู่ร่วมกับครอบครัว แต่เงินทุนที่มีอยู่ยังไม่เพียงพอ จนอาจรู้สึกหมดกำลังใจและคิดว่าความฝันไม่น่าจะเป็นไปได้แล้ว การกู้ร่วมจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจที่จะทำให้คุณสามารถสมัครสินเชื่อแบบกู้ร่วมที่เกี่ยวข้องได้ ไม่ว่าจะเป็นกู้ร่วมซื้อรถ หรือกู้ร่วมซื้อบ้านหลังแรก
อย่างไรก็ตาม การกู้ร่วมนั้นเป็นสินเชื่อถูกกฎหมายที่ค่อนข้างมีรายละเอียดและวิธีการที่ต้องทำความเข้าใจพอสมควร เพราะมีขั้นตอนและเอกสารบางอย่างที่ต่างจากการกู้ทั่วไป และยังควรรู้ถึงข้อดี รวมถึงสิ่งที่ต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน เช่น เรื่องการถือกรรมสิทธิ์ ข้อควรปฏิบัติหากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันในระหว่างที่กู้ร่วมกัน
การเตรียมตัวให้พร้อมจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากที่จะช่วยให้คุณกู้ผ่านได้อย่างมั่นใจและสบายใจ โดยบทความนี้เราจะพาทุกคนไปสำรวจทุกแง่มุมของการกู้ร่วมว่าทำยังไง มีขั้นตอนอะไรบ้าง
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- กู้ร่วมคืออะไร? ช่วยเพิ่มโอกาสในการกู้ได้จริงหรือ?
- เราสามารถกู้ร่วมกับใครได้บ้าง?
- ข้อแตกต่างระหว่างกู้ร่วมและการค้ำประกันบ้าน
- ข้อดีของการกู้ร่วม
- ข้อควรระวังในการกู้ร่วม
- เอกสารที่จำเป็นสำหรับใช้ในการกู้ร่วม
- กู้ร่วม เมื่อเลิกกันแล้วต้องทำอย่างไร?
- สรุปเกี่ยวกับกู้ร่วม อีกหนึ่งทางเลือกเพื่อเปลี่ยนความฝันให้กลายเป็นความจริง
กู้ร่วมคืออะไร? ช่วยเพิ่มโอกาสในการกู้ได้จริงหรือ?
การกู้ร่วมคือการทำสัญญาเพื่อกู้สินเชื่อก้อนเดียวกันร่วมกันกับบุคคลอื่น ซึ่งเป็นวิธีที่จะช่วยเพิ่มโอกาสในการได้รับสินเชื่อจากธนาคารได้ง่ายขึ้น เพราะการร่วมกันกู้เงินก้อนเดียวนั้นจะทำให้ธนาคารมองว่าผู้กู้มีความสามารถทางการเงินที่เพียงพอและมีความน่าเชื่อถือที่จะชำระหนี้ได้ตามสัญญา ดังนั้น การกู้ร่วมจึงช่วยให้ผู้กู้ได้รับวงเงินที่สูงขึ้น โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีความเกี่ยวข้องเป็นครอบครัวเดียวกันเหมือนที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังมีการกู้ร่วมในเพศเดียวกันหรือการกู้ร่วมของ LGBTQ อีกด้วย
ยกตัวอย่างเช่น นาย A มีรายได้เดือนละ 25,000 บาท ธนาคารสามารถให้วงเงินเพื่อกู้ซื้อบ้านได้ไม่เกิน 900,000 บาท แต่ถ้านาย A ซื้อบ้านโดยกู้ร่วมกับอีกคนที่มีรายได้เดือนละ 30,000 บาท ธนาคารก็มีโอกาสที่จะพิจารณาให้วงเงินกู้ได้สูงขึ้น เนื่องจากมองว่ามีความสามารถในการชำระหนี้ก้อนนี้ได้เพิ่มขึ้นนั่นเอง
เราสามารถกู้ร่วมกับใครได้บ้าง?
ปัจจุบันนอกจากคนในครอบครัวเดียวกันแล้ว ธนาคารยังเปิดโอกาสให้คุณกู้ร่วมกับคนอื่น ๆ ได้ด้วย มาดูกันว่าใครบ้างที่สามารถกู้ร่วมกันได้
- คนในครอบครัวที่มีนามสกุลเดียวกัน เช่น พ่อ แม่ พี่ น้อง หรือลูก
- ถ้าเป็นพี่น้องพ่อหรือแม่เดียวกันแต่ใช้นามสกุลต่างกันก็สามารถกู้ร่วมได้ โดยต้องแสดงทะเบียนบ้านซึ่งมีชื่อพ่อแม่หรือหลักฐานอื่น ๆ ที่แสดงให้เห็นว่าทั้งสองคนเป็นพี่น้องที่มีพ่อหรือแม่คนเดียวกัน
- คู่สามี-ภรรยาที่จดทะเบียนสมรสแล้ว และนอกจากนี้ การกู้ร่วมคู่ที่ไม่จดทะเบียนก็สามารถทำได้ แต่ต้องมีหลักฐานการเป็นคู่สมรส เช่น ภาพถ่ายวันแต่งงาน หรือใบสูติบัตรของบุตร
- คู่รัก LGBT ก็กู้ร่วมได้เช่นกัน โดยแสดงหลักฐานให้เห็นว่าเป็นคู่รัก เช่น ทะเบียนบ้านที่อยู่ด้วยกัน หรือเอกสารอื่น ๆ ที่เป็นหลักฐานการเชื่อมโยงกัน
ข้อแตกต่างระหว่างกู้ร่วมและการค้ำประกันบ้าน
หลายคนอาจเข้าใจผิด คิดว่าการกู้ร่วมกับการค้ำประกันเป็นสิ่งเดียวกัน เพราะมีคนสองคนที่ต้องรับผิดชอบหนี้ร่วมกัน แต่ความจริงแล้ว ธุรกรรมทั้งสองอย่างมีความแตกต่างอย่างสิ้นเชิง เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องในหัวข้อนี้จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับ "กู้ร่วม" และ "ค้ำประกัน" ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร
- กู้ร่วม หมายถึง การที่คน 2 คนซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันในทางใดทางหนึ่งตามที่ระบุไว้ตามเงื่อนไขการกู้ของธนาคาร มาร่วมกันขอสินเชื่อและร่วมผ่อนชำระ ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการได้รับอนุมัติ เพิ่มวงเงินสินเชื่อ และยังแบ่งเบาภาระผ่อนชำระได้
- ค้ำประกัน หมายถึง การให้บุคคลภายนอก ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดมาเป็นผู้รับผิดชอบหนี้ในกรณีที่ผู้กู้ทำผิดสัญญาหรือไม่สามารถชำระหนี้ได้ภายในระยะเวลาตามที่กำหนด
ข้อดีของการกู้ร่วม
การกู้ร่วมมีข้อดีมากมายที่ช่วยให้คนที่ต้องการมีบ้านหรือทรัพย์สินต่าง ๆ สามารถทำได้ง่ายขึ้น เพราะหลายคนอาจมีฐานเงินเดือนไม่เพียงพอสำหรับการยื่นกู้ตามวงเงินที่ต้องการ ซึ่งในกรณีเช่นนี้ การกู้ร่วมก็เป็นหนึ่งในทางออกที่ดี โดยสามารถสรุปข้อดีของการกู้ร่วมได้ ดังนี้
- เพิ่มความน่าเชื่อถือ : การกู้ร่วมช่วยให้ความน่าเชื่อถือของผู้กู้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสำหรับคนที่มีรายได้ใกล้เคียงกับค่าแรงขั้นต่ำหรือทำงานเป็นฟรีแลนซ์ซึ่งอาจมีรายได้ไม่แน่นอน
- เพิ่มวงเงินกู้ : การกู้ร่วมทำให้ผู้กู้มีโอกาสได้รับวงเงินกู้มากขึ้น เนื่องจากธนาคารจะพิจารณาฐานเงินเดือนของทั้งคู่ ซึ่งช่วยให้ได้วงเงินกู้ที่สูงขึ้นกว่าการกู้แบบคนเดียว
- แบ่งเบาภาระการชำระหนี้ : การกู้ร่วมทำให้มีการแบ่งเบาภาระการชำระหนี้ในสัดส่วนที่เท่า ๆ กัน ซึ่งจะช่วยลดภาระการผ่อนชำระและทำให้มีสภาพคล่องทางการเงินมากขึ้น
ข้อควรระวังในการกู้ร่วม
การกู้ร่วมเป็นการตัดสินใจที่สำคัญและควรพิจารณาอย่างถี่ถ้วน เพื่อป้องกันปัญหาทางการเงินในอนาคต โดยมีข้อควรระวังที่ควรพิจารณาให้ดีก่อนตัดสินใจ ดังนี้
- มีปัญหาขัดแย้งกันในระหว่างสัญญา หรือคนใดคนหนึ่งไม่สามารถผ่อนชำระต่อได้ ก็อาจนำไปสู่การขายทรัพย์สินที่กู้ร่วม หรือรีไฟแนนซ์เป็นแบบกู้เดี่ยว ถ้าธนาคารมีความเห็นว่าผู้กู้อีกคนสามารถผ่อนชำระหนี้ได้
- หากไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ เจ้าหนี้สามารถฟ้องร้องและศาลจะออกหมายให้มีการยึดทรัพย์หรืออายัดทรัพย์ ซึ่งธนาคารมีสิทธิ์เรียกการชำระหนี้จากผู้กู้ร่วมฝ่ายใดก็ได้
- สำหรับการกู้ร่วมซื้อบ้านสามารถใส่รายชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ได้ทั้งแบบคนใดคนหนึ่ง ซึ่งผู้กู้อีกคนจะไม่มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินดังกล่าว หรือใส่ชื่อผู้กู้ร่วมทุกคนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ก็ได้
- ดอกเบี้ยบ้านที่กู้ร่วมนำไปลดหย่อนภาษีได้ โดยให้หารเฉลี่ยตามจำนวนผู้กู้ เช่น ลดหย่อนได้สูงสุดจำนวน 100,000 บาท ในกรณีที่มีผู้กู้ร่วม 2 คน ก็จะสามารถใช้ลดหย่อนได้คนละ 50,000 บาท
- อาจมีผลต่อการพิจารณาขอกู้ในอนาคต เช่น ถ้ากู้บ้านร่วมกันอยู่ แล้วหนึ่งในผู้กู้ต้องการไปยื่นขอสินเชื่อก้อนใหม่เพิ่มเติม ก็อาจมีผลต่อการพิจารณาเพราะธนาคารมองว่ามีภาระสินเชื่ออยู่แล้ว
เอกสารที่จำเป็นสำหรับใช้ในการกู้ร่วม
สำหรับใครที่อยากกู้ร่วมแต่ติดขัดตรงเรื่องเอกสาร ไม่รู้ว่าต้องเตรียมอะไรบ้าง ในหัวข้อนี้มีคำตอบ โดยเอกสารที่ต้องใช้ประกอบแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้
1. เอกสารส่วนตัว เช่น
- สำเนาบัตรประชาชนของผู้กู้ร่วม
- สำเนาทะเบียนบ้านของผู้กู้ร่วม
- เอกสารการเปลี่ยนชื่อของผู้กู้ร่วม (ถ้ามี)
- เอกสารแสดงหลักฐานความสัมพันธ์ เช่น ทะเบียนสมรส เอกสารรับรองการอยู่ร่วมกัน
2. เอกสารการเงิน เช่น
- หนังสือรับรองเงินเดือน
- สลิปเงินเดือน
- Statement ย้อนหลัง 6 เดือน
- กรณีเป็นฟรีแลนซ์หรือผู้ประกอบการ ยื่นทะเบียนการค้าทะเบียนพาณิชย์ หนังสือรับรองหักภาษี ณ ที่จ่าย (ทวิ 50) หลักฐานการเสียภาษี ประวัติเครดิตบูโร บัญชีเงินออม
3. เอกสารสินทรัพย์ ได้แก่ สำเนาสัญญาซื้อขาย
กู้ร่วม เมื่อเลิกกันแล้วต้องทำอย่างไร?
ถ้าคู่รักที่กู้ร่วมเกิดการเลิกรากันก็มีขั้นตอนที่ต้องทำ ดังนี้
- ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถอนชื่อออกจากสัญญาการกู้ร่วม
- ทำการรีไฟแนนซ์กับธนาคาร เพื่อเปลี่ยนสถานะเป็นสัญญาการกู้เดี่ยว
- ในกรณีที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาด้วยวิธีอื่น ๆ ได้ การขายทรัพย์สินอาจเป็นทางเลือกที่เหมาะสมในการปลดหนี้
สรุปเกี่ยวกับกู้ร่วม อีกหนึ่งทางเลือกเพื่อเปลี่ยนความฝันให้กลายเป็นความจริง
การกู้ร่วมเป็นทางเลือกที่ช่วยให้เข้าถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ซึ่งอาจเป็นไปได้ยากหากกู้คนเดียว โดยเป็นการช่วยเพิ่มโอกาสในการได้รับอนุมัติ ได้วงเงินที่สูงขึ้น และนำมาซึ่งโอกาสต่าง ๆ ในชีวิตมากขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม การกู้ร่วมเป็นการผูกมัดทางการเงินระยะยาว ผู้กู้ทุกคนต้องรับผิดชอบหนี้สินร่วมกัน ดังนั้น จึงควรพิจารณาอย่างถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจกู้ร่วม โดยเลือกผู้กู้ร่วมที่สามารถไว้ใจและมั่นใจได้ว่าจะสามารถผ่อนชำระหนี้ได้
ในบางกรณีแม้จะกู้ร่วมผ่านฉลุย แต่ยังหมุนเงินไม่ทันหรือเงินที่ได้รับอาจยังไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายทั้งหมด เช่น กู้ร่วมเพื่อซื้อบ้านได้ แต่ไม่มีเงินสำหรับติดตั้งเฟอร์นิเจอร์หรือซื้ออุปกรณ์ที่จำเป็นต่าง ๆ ภายในบ้าน ‘บัตรกดเงินสด KTC PROUD’ จะเป็นตัวช่วยที่ตอบโจทย์ ซึ่งสามารถใช้ได้ทั้งการชำระค่าสินค้าและบริการ การกดเงินสดจากตู้ ATM หรือกดโอนผ่านแอปเข้าบัญชีธนาคารได้ตลอด 24 ชั่วโมง และไม่มีค่าธรรมเนียมรายปี
บัตรกดเงินสด KTC PROUD ตัวช่วยที่จะทำให้คุณเติมเต็มในทุกความฝัน
*กู้เท่าที่จําเป็นและชําระคืนได้ตามกําหนด จะได้ไม่เสียดอกเบี้ย 20% - 25% ต่อปี