การประเมินพนักงาน นับเป็นหนึ่งในเป็นกระบวนการสำคัญที่หลายๆ องค์กรใช้ เพื่อช่วยให้ทั้งองค์กรและพนักงานเติบโตไปในทิศทางที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการพิจารณาประสิทธิภาพในการทำงาน ทักษะที่ต้องพัฒนา หรือศักยภาพในการก้าวหน้าในสายอาชีพ โดยการประเมินที่ดีไม่ควรเป็นเพียงการให้คะแนนหรือผลตอบแทน แต่ควรเป็นการสื่อสารที่สร้างแรงจูงใจและแนวทางในการปรับปรุงตัวเองด้วยเช่นกัน KTC จะพาคุณไปดูตัวอย่างหัวข้อการประเมินพนักงาน พร้อมแนวทางการสื่อสารที่ช่วยให้การประเมินเป็นมากกว่าการให้คะแนน แต่เป็นการพัฒนาพนักงานอย่างแท้จริง
การประเมินพนักงาน คืออะไร ทำไมต้องมี?
ก่อนที่จะไปดูตัวอย่างหัวข้อการประเมินพนักงาน ผู้ประเมินนั้น ควรทำความเข้าใจของการประเมินพนักงานกันก่อน ว่ามีความสำคัญอย่างไร การประเมินพนักงาน หรือ Employee Evaluation คือ กระบวนการตรวจสอบและวิเคราะห์ผลการทำงานของพนักงานในช่วงระยะเวลาที่กำหนด เพื่อให้ทราบถึงประสิทธิภาพ ทักษะ และพฤติกรรมในการทำงานของพนักงานแต่ละคน โดยอาจพิจารณาจากตัวชี้วัดด้านผลลัพธ์ของงาน (Performance) การปฏิบัติตามนโยบายองค์กร ความสามารถในการทำงานเป็นทีม และอื่นๆ เป็นต้น
ทั้งนี้ การประเมินพนักงานก็มีความสำคัญ โดยให้ทั้งประโยชน์แก่ตัวพนักงานเอง รวมไปถึงองค์กรด้วย ดังต่อไปนี้
- ช่วยพัฒนาศักยภาพของพนักงาน – การประเมินช่วยให้พนักงานทราบจุดแข็งและจุดที่ต้องปรับปรุง ทำให้สามารถพัฒนาตัวเองได้อย่างตรงจุด พร้อมกันนั้น พนักงานยังได้ทบทวนตัวเอง ว่าเรามีศักยภาพมากน้อยแค่ไหน ต้องปรับปรุงตรงไหน รวมทั้งบริษัทก็จะได้รู้ว่าต้องสนับสนุนและช่วยพนักงานพัฒนาอะไรได้บ้าง
- สร้างแรงจูงใจในการทำงาน – เมื่อพนักงานเห็นความก้าวหน้าและได้รับฟีดแบ็กที่สร้างสรรค์ จะช่วยเพิ่มแรงจูงใจให้ทำงานได้ดีขึ้น
- ปรับปรุงประสิทธิภาพขององค์กร – การประเมินช่วยให้ฝ่ายบริหารทราบว่าทีมงานมีจุดแข็งและจุดอ่อนในด้านใด และสามารถนำไปใช้วางแผนพัฒนาทรัพยากรบุคคลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ใช้เป็นเกณฑ์ในการเลื่อนตำแหน่งและให้ผลตอบแทน – ผลการประเมินสามารถใช้พิจารณาเรื่องโบนัส การปรับเงินเดือน หรือการเลื่อนตำแหน่ง เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับพนักงาน
- สร้างวัฒนธรรมการทำงานที่ดี – องค์กรที่ให้ความสำคัญกับการประเมินพนักงานจะช่วยส่งเสริมบรรยากาศการทำงานที่เปิดกว้างและเป็นระบบ
ดังนั้น การประเมินพนักงานจึงเป็นสิ่งจำเป็น ไม่เพียงแต่ช่วยให้องค์กรเติบโต แต่ยังช่วยให้พนักงานมีโอกาสพัฒนาตัวเองและก้าวหน้าในสายอาชีพอย่างมั่นคงอีกด้วย
การประเมินพนักงานที่มีประสิทธิภาพให้ประโยชน์ทั้งแก่ตัวพนักงานและองค์กร
หัวข้อประเมินผลงานของพนักงาน มีอะไรบ้าง?
หลายๆ คนอาจทราบว่าหัวข้อหลักที่นิยมใช้ในการประเมินพนักงานมักประกอบด้วยหลายด้าน เช่น ผลลัพธ์ของงาน (Performance), ทักษะการทำงาน (Skills & Competency), การทำงานเป็นทีม (Collaboration), ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ (Innovation), ความรับผิดชอบ (Accountability) และอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งแต่ละหัวข้อควรได้รับการพูดคุยอย่างเปิดกว้าง โดยใช้คำพูดที่ช่วยให้พนักงานรู้สึกได้รับการสนับสนุน แต่ทั้งนี้ ในปัจจุบันก็มีรูปแบบหัวข้อที่ได้รับความนิยม ดังต่อไปนี้
1.Key Performance Indicator (KPI)
คือ ตัวชี้วัดผลสำเร็จหลัก โดยเป็นตัวชี้วัดที่ใช้ในการวัดผลและประเมินประสิทธิภาพของบุคคล ทีม หรือองค์กรในการบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดย KPI จะช่วยให้องค์กรสามารถติดตามผลลัพธ์ของการดำเนินงานได้อย่างเป็นระบบ และช่วยให้พนักงานเข้าใจถึงทิศทางและความคาดหวังขององค์กร ซึ่งการกำหนด KPI ที่ดี ควรเป็นไปตามหลัก SMART (Specific, Measurable, Achievable, Relevant, Time-bound) คือ ต้องมีความเฉพาะเจาะจง วัดผลได้ เป็นไปได้จริง สอดคล้องกับเป้าหมายองค์กร และกำหนดระยะเวลาในการวัดผลที่ชัดเจน
ทั้งนี้ทั้งนั้น ตัวอย่างการประเมินตาม KPI ผู้ประเมินนั้น ก็สามารถประเมินตาม Individual KPI ที่กำหนดไว้ได้เลย ว่าพนักงานนั้นสามารถทำผลงานบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ได้หรือไม่
2.Objective and Key Result (OKR)
ในบางองค์กรที่เลือกใช้ OKR ก็สามารถเอามาเป็นหนึ่งในหัวข้อการประเมินได้ด้วยเช่นกัน โดย OKR คือ กรอบการตั้งเป้าหมายและวัดผลลัพธ์ ที่ช่วยให้องค์กรและบุคคลสามารถกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนและติดตามความคืบหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ระบบ OKR ถูกใช้โดยบริษัทชั้นนำระดับโลก เช่น Google, Intel และ LinkedIn เพื่อผลักดันการเติบโตและนวัตกรรม
ตัวอย่างการกำหนด OKR ก็อย่างเช่น ฝ่ายขายมีเป้าหมายหลัก คือ เพิ่มยอดขายผลิตภัณฑ์ใหม่ในไตรมาสหน้า ดังนั้นผลลัพธ์ในการวัดผลคือ เพิ่มยอดขายผลิตภัณฑ์ใหม่ 20% ภายในไตรมาส ปิดดีลลูกค้าใหม่อย่างน้อย 15 ราย และเพิ่มอัตราการตอบกลับของลูกค้าจาก 30% เป็น 50% เป็นต้น โดยผู้ประเมินก็สามารถเอา OKR เหล่านี้ มาประเมินทีม รวมถึงพนักงานรายบุคคล ว่ามีส่วนในการช่วยกันผลักดันหรือทำงานได้อย่างบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้หรือไม่
3.Competency
Competency คือ สมรรถนะ หมายถึง ความรู้ ทักษะ และพฤติกรรม ที่บุคคลต้องมีเพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุเป้าหมายขององค์กร โดย Competency เป็นตัวชี้วัดความสามารถของพนักงานในแต่ละตำแหน่งงานและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรบุคคลภายในองค์กร โดยมักจะแบ่งเป็นหัวข้อที่ใช้ในการประเมิน ดังนี้
- Core Competency คือ ความสามารถหลักที่พนักงานทุกคน ทุกระดับในองค์กรจะต้องมีร่วมกัน เช่น ความร่วมมือ (Collaboration) การมุ่งเน้นลูกค้า (Customer Focus) หรือความซื่อสัตย์ (Integrity)
- Functional Competency คือ ทักษะและความสามารถเฉพาะที่จำเป็นสำหรับตำแหน่งงานในแต่ละสายงาน เช่น นักบัญชีต้องมีความเข้าใจในมาตรฐานการบัญชี นักการตลาดต้องมีทักษะด้าน Data หรือ กลยุทธ์การตลาด เป็นต้น
- Leadership หรือ Managerial Competency เป็นสมรรถนะสำหรับผู้ที่เป็นผู้จัดการหรือผู้นำทีม โดยมีหัวข้อทักษะที่เกี่ยวข้องกับการบริหารและการนำทีม อาทิ ความสามารถในการตัดสินใจ การแก้ปัญหาเชิงกลยุทธ์ และการบริหารทีมและพัฒนาองค์กร เป็นต้น
4.360-Degree Feedback
คือ การประเมินแบบ 360 องศา เป็นกระบวนการประเมินผลการทำงานที่ได้รับข้อมูล หรือ ฟีดแบ็กที่ไม่ใช่แค่จากหัวหน้างานเพียงคนเดียว แต่รวมถึง เพื่อนร่วมงาน ทีมงาน ผู้ใต้บังคับบัญชา ลูกค้า และแม้กระทั่งตัวพนักงานเอง (Self-Assessment) ทำให้การประเมินมีมุมมองที่รอบด้านและครอบคลุมมากขึ้น โดย 360-Degree Feedback เป็นเครื่องมือประเมินผลการทำงานที่ช่วยให้พนักงานได้รับข้อมูลจากหลายแหล่ง ทำให้สามารถพัฒนาตัวเองได้แบบรอบด้าน
อย่างไรก็ตาม ผู้ประเมินจะต้องนำข้อมูล 360-Degree Feedback ที่ได้จากเพื่อนร่วมงาน ทีมงาน ลูกค้า และอื่นๆ มาสรุปและประเมินพนักงานนั้นๆ พร้อมกันนั้น องค์กรที่ใช้ระบบนี้ต้องมีการบริหารจัดการที่ดี เพื่อให้ผลการประเมินแม่นยำ เป็นธรรม และนำไปสู่การพัฒนาตัวพนักงานได้
ตัวอย่างคำพูดประเมินลูกน้อง พนักงาน กับโมเดลที่เอาไปใช้ได้จริง
มาถึงตรงนี้หากคุณรู้แล้วว่าจะมีหัวข้ออะไรบ้างที่ต้องประเมินคนในทีมหรือพนักงาน เราจึงขอยกตัวอย่างคำพูดประเมินพนักงาน และโมเดลสำคัญที่สามารถนำไปใช้ได้ นั่นก็คือ โมเดล SBI ที่ย่อมาจาก Situation, Behavior และ Impact ซึ่งเป็นแนวทางการให้ฟีดแบ็กที่มีประสิทธิภาพ โดยเน้นการอธิบาย สถานการณ์ พฤติกรรม และ ผลกระทบ อย่างชัดเจน ซึ่งช่วยให้พนักงานเข้าใจและสามารถนำไปปรับปรุงการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตัวอย่างเช่น
การประเมินด้านประสิทธิภาพการทำงานตาม Performance, KPI หรือ OKR ที่กำหนด
ตัวอย่างคำพูด
- S (สถานการณ์): ในช่วงไตรมาสที่ผ่านมา ทีมของเราจะต้องเพิ่มยอดขายผลิตภัณฑ์ใหม่ภายในช่วงระยะเวลา 6 เดือน
- B (พฤติกรรม): ทั้งนี้ คุณก็ได้ช่วยทีมวางแผนงานได้อย่างเป็นระบบ [พฤติกรรมหรือทักษะหรือวิธีการทำงาน ที่มีความโดดเด่นและทำให้งานนั้นสำเร็จ]
- I (ผลกระทบ): สิ่งนี้ช่วยให้ทีมสามารถเพิ่มยอดขายผลิตภัณฑ์ใหม่ 20% ภายในไตรมาส ทั้งยังปิดดีลลูกค้าใหม่อย่างน้อย 15 ราย
- คำแนะนำ: ควรเพิ่มคำแนะนำหรือสิ่งที่คิดว่าลูกน้องหรือพนักงานคนดังกล่าว สามารถปรับปรุงหรือพัฒนาได้ เช่น “ถ้าคุณสามารถมั่นใจในไอเดียของตัวเองมากขึ้น และนำเสนอความคิดสร้างสรรค์ได้บ่อยขึ้น จะช่วยให้ทีมได้รับมุมมองใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ และทำให้ทีมเราบรรลุเกินเป้าหมายไปได้”
การประเมินด้าน Competency อาทิ ความคิดสร้างสรรค์และการแก้ปัญหา (Creativity & Problem-Solving)
ตัวอย่างคำพูด
- S (สถานการณ์): ในช่วงที่เกิดปัญหาเกี่ยวกับ [ระบุปัญหา]
- B (พฤติกรรม): คุณสามารถเสนอแนวทางแก้ไขที่สร้างสรรค์และนำไปใช้ได้จริง [บอกรายละเอียด]
- I (ผลกระทบ): สิ่งนี้ช่วยให้ทีมสามารถแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว และลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น
- คำแนะนำ: ให้คำแนะนำที่อยากให้ลูกน้องปรับปรุง เช่น “หากคุณสามารถสื่อสารกับทีมให้ชัดเจนและเปิดรับความคิดเห็นมากขึ้น จะช่วยให้การทำงานเป็นไปอย่างราบรื่นกว่าเดิม
จากตัวอย่างเบื้องต้น จะเห็นได้ว่าโมเดล SBI ช่วยให้การประเมินพนักงานมีความชัดเจนและเป็นกลาง โดยมุ่งเน้นที่พฤติกรรมและผลกระทบแทนการวิจารณ์ตัวบุคคล การใช้คำพูดที่สร้างสรรค์และตรงจุด จะช่วยให้พนักงานเข้าใจตนเองและนำฟีดแบ็กไปพัฒนาต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ และโมเดลนี้ยังสามารถนำไปปรับใช้ได้ในหลายๆ สถานการณ์ในการทำงาน แต่ทั้งนี้ ในระหว่างบทสนทนาการประเมินผลงาน สิ่งสำคัญอีกหนึ่งอย่างคือ การพูดคุยอย่างเปิดกว้างของทั้งสองฝ่าย โดยใช้คำพูดที่ช่วยให้พนักงานรู้สึกได้รับการสนับสนุนและถามตอบไปมาด้วย ไม่ว่าจะเป็น “มีอุปสรรคอะไรที่ทำให้คุณทำงานได้ไม่เต็มที่หรือไม่? ผมและบริษัทจะช่วยสนับสนุนคุณอย่างไรได้บ้าง?” และอื่นๆ เพราะการประเมินพนักงานที่ดีไม่เพียงแค่ช่วยให้องค์กรเติบโต แต่ยังสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในทีมและสร้างวัฒนธรรมการทำงานที่พัฒนาอย่างยั่งยืนได้ต่อไป
เช่นเดียวกับการบริหารเรื่องการเงินให้ยั่งยืนก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่ต้องการความยืดหยุ่นในการจัดการกระแสเงินสดในชีวิตประจำวันหรือในธุรกิจ บัตรเครดิต KTC นับว่าเป็นตัวช่วยที่ดีในการจัดการเรื่องการเงิน ด้วยสิทธิประโยชน์ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการคะแนน KTC FOREVER ที่สามารถนำไปแลกรับเป็นส่วนลด หรือเครดิตเงินคืนได้ นอกจากนี้ ยังสมัครง่ายผ่านออนไลน์ได้ ไม่มีค่าธรรมเนียมแรกเข้าและรายปี สมาชิกบัตรฯ ยังได้รับสิทธิพิเศษจากพาร์ทเนอร์ชั้นนำต่างๆ มากมาย ให้บัตรเครดิต KTC เป็นผู้ช่วยคนสำคัญที่ทำให้การทำธุรกรรมต่างๆ ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น
ใช้จ่าย คุ้มค่า นึกถึงบัตรเครดิต KTC