การมีพนักงานคนแรก ในบริษัทถือเป็นอีกก้าวสำคัญที่บ่งบอกถึงความเติบโตของธุรกิจ ซึ่งแน่นอนว่าต้องตามมาด้วยภาระหน้าที่ตามกฎหมายของผู้ที่เป็นนายจ้าง คือ การแจ้งขึ้นทะเบียนพนักงานเข้าประกันสังคม เพื่อให้พนักงานได้รับความคุ้มครองตามสิทธิประโยชน์และสวัสดิการต่างๆ ที่พึงจะได้รับตลอดช่วงทำงาน ไปจนถึงวัยเกษียณอายุ
ระบบประกันสังคมนายจ้างนับเป็นสิทธิประโยชน์ร่วมกัน ระหว่างเจ้าของธุรกิจ และพนักงาน การเตรียมความพร้อม และทำความเข้าใจถึงรายละเอียดต่างๆ ให้ถูกต้องตั้งแต่แรกเริ่ม จะช่วยให้ธุรกิจสามารถปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างครบถ้วน และหลีกเลี่ยงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ สำหรับเจ้าของธุรกิจที่กำลังจะมีพนักงานคนแรก และกำลังมองหาข้อมูลเกี่ยวกับประกันสังคมนายจ้าง เอกสารที่ต้องใช้ วิธีการยื่น รวมถึงจำนวนเงินสมทบที่ต้องจ่าย มาหาคำตอบไปพร้อมกัน
ทำไมนายจ้างต้องแจ้งเข้าประกันสังคม ?
การแจ้งขึ้นทะเบียนพนักงานเข้าประกันสังคมถือเป็นภาระหน้าที่ ตามกฎหมายที่นายจ้างทุกรายต้องปฏิบัติ ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 หากนายจ้างฝ่าฝืนไม่ดำเนินการแจ้งเข้าประกันสังคมให้กับลูกจ้าง จนทำให้ลูกจ้างไม่ได้เป็นผู้ประกันตน จะถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย มีโทษจำคุกหรือปรับ ดังนั้น เจ้าของธุรกิจจึงควรให้ความสำคัญและดำเนินการอย่างถูกต้องครบถ้วน เพื่อรักษาสิทธิประโยชน์ของตนเอง และพนักงาน
นายจ้างต้องห้ามลืม! เมื่อมีพนักงานคนแรก ต้องขึ้นทะเบียนนายจ้างกับสำนักงานประกันสังคม ภายใน 30 วัน
นายจ้างต้องดำเนินการอย่างไร เมื่อเริ่มมีพนักงานคนแรก
1. ขึ้นทะเบียนประกันสังคมนายจ้าง
เมื่อมีพนักงานตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป เจ้าของธุรกิจในฐานะนายจ้างมีหน้าที่ต้องขึ้นทะเบียนนายจ้างกับสำนักงานประกันสังคมภายใน 30 วัน โดยกรอกแบบฟอร์ม สปส.1-01 พร้อมเตรียมเอกสารประกอบ ขึ้นทะเบียนประกันสังคมนายจ้าง โดยแบ่งเป็นดังนี้
กรณีจดทะเบียนนิติบุคคล
- แผนที่ตั้งและภาพถ่ายของสถานประกอบการ
- หลักฐานแสดงตัวของนายจ้าง
- กรรมการผู้มีอำนาจลงนาม/หุ้นส่วนผู้จัดการที่มีสัญชาติไทย ใช้บัตรประจำตัวประชาชน
- กรรมการผู้มีอำนาจลงนาม/หุ้นส่วนผู้จัดการที่เป็นคนต่างด้าว ใช้ PASSPORT หรือ WORK PERMIT หรือ VISA
หรือใบสำคัญประจำตัวต่างด้าวหรือใบสำคัญถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร หรือหลักฐานการได้รับอนุญาต ให้เข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองของผู้มีอำนาจผูกพันนิติบุคคล
- หนังสือมอบอำนาจ (เฉพาะกรณีมอบอำนาจให้บุคคลอื่นกระทำการแทน พร้อมติดอากรแสตมป์ตามที่
ประมวลรัษฎากรกำหนด) พร้อมแนบสำเนาบัตรปรจำตัวประชาชนของผู้มอบอำนาจ
กรณีเจ้าของคนเดียว/กิจการร่วมค้า
- แผนที่ตั้งและภาพถ่ายของสถานประกอบการ
- หลักฐานแสดงตัวของนายจ้าง
2.1 กรณีเจ้าของคนเดียว ใช้บัตรประจำตัวประชาชน
2.2 กรณีกิจการร่วมค้า
- กรรมการผู้มีอำนาจลงนาม/หุ้นส่วนผู้จัดการที่มีสัญชาติไทย ใช้บัตรประจำตัวประชาชน
- กรรมการผู้มีอำนาจลงนาม/หุ้นส่วนผู้จัดการที่เป็นคนต่างด้าว ใช้ PASSPORT หรือ WORK PERMIT หรือ VISA
หรือใบสำคัญประจำตัวต่างด้าวหรือใบสำคัญถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร หรือหลักฐานการได้รับอนุญาตให้เข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองของผู้มีอำนาจผูกพันนิติบุคคล
- หนังสือสัญญาเช่าหรือหนังสือยินยอมให้ใช้สถานที่
- หนังสือมอบอำนำจ (เฉพาะกรณีมอบอำนาจให้บุคคลอื่นกระทำการแทนพร้อมติดอากรแสตมป์ตามที่
ประมวลรัษฎากรกำหนด) พร้อมแนบสำเนาบัตรปรจำตัวประชาชนของผู้มอบอำนาจ
2. ขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน
เจ้าของธุรกิจต้องดำเนินการขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนพร้อมกับการขึ้นทะเบียนนายจ้าง ด้วยแบบฟอร์ม สปส.1-03 ภายในระยะเวลา 30 วันเช่นเดียวกัน โดยจำเป็นต้องระบุรายละเอียดของพนักงาน เช่น ชื่อ-นามสกุล หมายเลขบัตรประชาชน ตำแหน่ง และเงินเดือน
3. ส่งข้อมูลเงินสมทบประจำเดือน
หลังจากขั้นตอนการขึ้นทะเบียนเรียบร้อยแล้ว นายจ้างมีหน้าที่ต้องนำส่งข้อมูลเงินสมทบประกันสังคมประจำเดือนของตนเองและพนักงาน โดยจัดทำข้อมูลสรุปรายการเงินสมทบให้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด
4. แจ้งข้อมูลการเปลี่ยนแปลง
หากมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลต่างๆ เช่น เงินเดือน ที่อยู่ หรือการลาออกจากงาน เจ้าของธุรกิจต้องแจ้งข้อมูลดังกล่าวให้สำนักงานประกันสังคมทราบภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไปด้วยแบบฟอร์มที่กำหนด
วิธียื่นข้อมูลเงินสมทบและข้อมูลพนักงานเข้าใหม่ผ่าน e-Service ประกันสังคม
สำหรับใครที่ไม่สะดวกเดินทางไปยื่นที่สำนักงานประกันสังคม การยื่นข้อมูลเงินสมทบและข้อมูลพนักงานใหม่ผ่านช่องทาง e-Service ประกันสังคมที่ https://www.sso.go.th/eservices/esv/index.jsp ถือเป็นวิธีที่สะดวกรวดเร็ว ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย โดยนายจ้างสามารถดำเนินการได้ ดังนี้
- เข้าเว็บไซต์ https://www.sso.go.th/eservices/esv/index.jsp
- เลือกขอใช้บริการ "ขอทำธุรกรรมผ่านอินเตอร์เน็ต"
- กรอกข้อมูลที่ถูกร้องขอ จากนั้นจะได้รับแบบฟอร์ม สปส.1-05 ทางอีเมล
- พิมพ์แบบฟอร์ม สปส.1-05 เซ็นรับรอง และส่งกลับไปยังสำนักงานประกันสังคม
- รอรับรหัสผ่านทางอีเมลเพื่อใช้ในการยื่นข้อมูลต่อไป
ขั้นตอนการยื่นข้อมูลเงินสมทบ
- ล็อกอินเข้าสู่ระบบที่ https://www.sso.go.th/eservices/esv/login.do และเลือกเมนู "ส่งข้อมูลเงินสมทบ"
- เลือกวิธียื่น รายละเอียดสถานประกอบการ วิธีนำส่ง เดือน/ปี และอัตราเงินสมทบ
- อัพโหลดไฟล์ข้อมูลเงินสมทบ เช่น ตารางสรุปเงินเดือนพนักงาน
- ตรวจสอบและยืนยันการส่งข้อมูล
- รอรับแบบ สปส.1-10 ส่วนที่ 1 และ 2 ทางอีเมล เพื่อชำระเงินต่อไป
ขั้นตอนการยื่นข้อมูลพนักงานเข้าใหม่
- ล็อกอินเข้าสู่ระบบที่ https://www.sso.go.th/eservices/esv/login.do และเลือกเมนู "ทะเบียนผู้ประกันตน"
- เลือกกรณีพนักงานเข้าใหม่ไม่เคยขึ้นทะเบียน หรือกรณีเคยขึ้นทะเบียนแล้ว เลือกสถานพยาบาลเดิม
- กรอกข้อมูลพนักงานใหม่ทั้งหมด สำหรับผู้ที่ไม่เคยขึ้นทะเบียน หรือกรอกเพียงเลขบัตรประชาชนสำหรับพนักงานที่เคยขึ้นทะเบียนแล้ว เลือกสถานพยาบาลเดิม
- ตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้อง
- ยืนยันบันทึกข้อมูล
นายจ้างต้องจ่ายค่าประกันสังคมเมื่อใดและจำนวนเท่าไร?
นายจ้างมีหน้าที่ต้องนำส่งเงินสมทบประกันสังคมในส่วนที่หักจากค่าจ้างของลูกจ้าง และส่วนที่นายจ้างต้องสมทบให้แก่ลูกจ้าง โดยแบ่งเป็น
- ส่วนของลูกจ้าง คิดในอัตรา 5% ของค่าจ้าง หักจากเงินเดือนของลูกจ้าง
- ส่วนของนายจ้าง คิดในอัตรา 5% ของค่าจ้าง สมทบเท่ากับส่วนที่หักจากลูกจ้าง
- ส่วนของรัฐบาล สมทบให้ในอัตรา 2.75% ของค่าจ้าง
นายจ้างต้องจัดทำแบบ สปส.1-10 (ส่วนที่ 1 และส่วนที่ 2) และนำส่งเงินสมทบภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป หลังจากยื่นเอกสารเพื่อนำส่งประกันสังคมในครั้งแรก
สำหรับกรณีที่ต้องนำส่งในฐานะฟรีแลนซ์ ตามมาตรา 39 จะมีเงื่อนไขว่าต้องเคยยื่นมาตรา 33 มาแล้วไม่ต่ำกว่า 12 เดือน และว่างงานมาไม่เกิน 6 เดือน จึงจะสามารถยื่นนำส่งในฐานะนี้ได้
ประกันสังคมถือเป็นหลักประกันตามกฎหมายแรงงานที่คุ้มครองสิทธิประโยชน์ของลูกจ้าง เช่น การรักษาพยาบาล ค่าทำฟัน เงินชราภาพ ค่าคลอดบุตร เป็นต้น ในขณะเดียวกันก็ช่วยรักษาผลประโยชน์ของนายจ้างด้วย
ดังนั้นสำหรับเจ้าของธุรกิจที่เริ่มมีพนักงานคนแรก การทำความเข้าใจขั้นตอนและเงื่อนไขในยื่นประกันสังคมเป็นเรื่องสำคัญ แม้จะมีกระบวนการหลายขั้นตอนและใช้เวลาในการดำเนินการ
เจ้าของธุรกิจจึงควรเตรียมความพร้อมและวางแผนด้านการเงินไว้ล่วงหน้า และการมีบัตรเครดิตที่เหมาะสมจะช่วยให้วางแผนจัดการการเงินได้ง่ายขึ้นด้วย ซึ่งบัตรเครดิต KTC ก็มาพร้อมด้วยสิทธิประโยชน์มากมายสำหรับเจ้าของธุรกิจ หากสนใจสามารถสมัครบัตรเครดิต KTC ผ่านทางออนไลน์ได้ง่ายๆ เพื่อรับสิทธิประโยชน์สุดคุ้มตลอดทั้งปี
อ้างอิงข้อมูลจาก : https://flowaccount.com/blog/social-security-employer-view
https://th.jobsdb.com/th/career-advice/article/social-security-for-employers
https://www.humansoft.co.th/th/blog/social-security-inform
ใช้จ่าย คุ้มค่า นึกถึงบัตรเครดิต KTC