การมีเป้าหมายในชีวิตก็เปรียบเสมือนมีแผนที่นำทางที่จะช่วยให้เรามีจุดมุ่งหมาย และมีความมุ่งมั่นในการเดินไปข้างหน้า การมีเป้าหมายไม่เพียงแต่จะทำให้รู้ว่าต้องทำอะไรในชีวิต แต่ยังช่วยเพิ่มความสุขและความสำเร็จในระยะยาว KTC ขอพาคุณสำรวจว่าเราจะมีเป้าหมายในชีวิตได้อย่างไร พร้อมแนะนำเป้าหมายชีวิต 20 ข้อที่สามารถนำไปปรับใช้ และวิธีวางแผนให้เป้าหมายเหล่านั้นสำเร็จได้จริง
เป้าหมายชีวิตเป็นสิ่งที่แต่ละคนกำหนดขึ้นเองตาม ความฝัน ความชอบของตัวเอง ดังนั้นไม่มีเรื่องถูกผิด
ทำยังไงให้มีเป้าหมายในชีวิต
การมีเป้าหมายในชีวิตเริ่มต้นจากการสำรวจตัวเองและตั้งคำถามที่สำคัญ โดยอาจลองพิจารณาตามขั้นตอนดังนี้
1. รู้จักตัวเอง
การรู้จักตัวเองเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ โดยให้ลองถามตัวเองว่า
- คุณชอบทำอะไร
- คุณต้องการอะไรในชีวิต
- คุณมีความถนัดในเรื่องใด
2. กำหนดเป้าหมายให้ชัดเจน
เป้าหมายที่ดีต้องมีความชัดเจนและสามารถวัดผลได้ เช่น แทนที่จะบอกว่า “อยากเก่งภาษาอังกฤษ” อาจตั้งเป้าหมายว่า “สอบ TOEIC ให้ได้ 800 คะแนนใน 6 เดือน” เป็นต้น
3. แบ่งเป้าหมายให้เล็กลง
หากตั้งเป้าหมายใหญ่เกินไปอาจดูน่ากลัวและทำสำเร็จได้ยาก แต่ถ้าแบ่งเป้าหมายออกเป็นขั้นตอนเล็กๆ จะสามารถลงมือทำได้ง่ายขึ้น เช่น แทนที่จะตั้งเป้าเก็บเงินให้ได้ 100,000 บาท อาจเริ่มต้นด้วยการตั้งเป้าออมเงินให้ได้ทุกเดือน เดือนละ 5,000 บาทอย่างสม่ำเสมอ
4. สร้างแรงจูงใจ
หาแรงบันดาลใจที่จะผลักดันให้สามารถทำเป้าหมายได้สำเร็จ เช่น จินตนาการถึงอนาคตที่ตัวเองทำตามเป้าหมายได้สำเร็จ หรือหาคำพูดที่ช่วยสร้างแรงผลักดัน
5. ทบทวนและปรับเปลี่ยน
เป้าหมายอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามสถานการณ์ การคอยทบทวนเป้าหมายเป็นระยะๆ จะช่วยให้ไม่หลงทาง และยังคงทำตามเป้าหมายได้สำเร็จ
เป้าหมายในชีวิต แต่ละคนแตกต่างกันไป เพียงมีความมุ่งมั่นก็ประสบความสำเร็จได้
20 เป้าหมายชีวิตที่ควรมี
รวมไอเดียการตั้งเป้าหมายชีวิต 20 ข้อ พร้อมแนะนำวิธีการวางแผนให้เป้าหมายสำเร็จและทำได้จริง
1. เป้าหมายสุขภาพ: ออกกำลังกาย 3 ครั้งต่อสัปดาห์
วิธีวางแผน: จัดตารางเวลาออกกำลังกาย เช่น ทุกวันจันทร์ พุธ และศุกร์ เลือกกิจกรรมที่ชอบ เช่น วิ่ง โยคะ หรือว่ายน้ำ และเริ่มจากระยะเวลาไม่มาก เช่น 40 นาที ก่อนค่อยๆ เพิ่มเวลาในภายหลัง
2. เป้าหมายการเงิน: ออมเงิน 20% ของรายได้ต่อเดือน
วิธีวางแผน: หักออมทันทีก่อนแบ่งใช้ และใช้แอปพลิเคชันจัดการการเงินเป็นตัวช่วย หรืออาจตั้งระบบตัดบัญชีอัตโนมัติ
3. เป้าหมายการเรียนรู้: อ่านหนังสือ 12 เล่มใน 1 ปี
วิธีวางแผน: เลือกหนังสือที่สนใจ และกำหนดจำนวนหน้าที่ต้องอ่านต่อวันหรือสัปดาห์ พยายามหยิบหนังสือมาอ่านทุกครั้งที่มีเวลาว่าง เช่น ระหว่างเดินทาง
4. เป้าหมายความสัมพันธ์: ใช้เวลากับครอบครัวเพิ่มขึ้น
วิธีวางแผน: กำหนดวันสำหรับครอบครัว เช่น การกินข้าวเย็นร่วมกันทุกวันอาทิตย์ หรือการโทรคุยอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้งอย่างสม่ำเสมอ
5. เป้าหมายการพัฒนาตัวเอง: เรียนรู้ทักษะใหม่
วิธีวางแผน: เลือกทักษะที่สนใจ หรือสามารถช่วยเสริมการทำงานได้ เช่น การถ่ายภาพ หรือการเขียนโปรแกรม และลงเรียนคอร์สออนไลน์
6. เป้าหมายอาชีพ: ได้รับการเลื่อนตำแหน่ง
วิธีวางแผน: พัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับตำแหน่งใหม่และพูดคุยกับหัวหน้างานเกี่ยวกับเป้าหมายที่ต้องการ รวมถึงการขอฟีดแบ็กสิ่งที่ควรพัฒนาปรับปรุง และสิ่งที่ทำได้ดีอยู่แล้วที่ควรรักษาไว้
7. เป้าหมายด้านจิตใจ: ฝึกสมาธิทุกวัน
วิธีวางแผน: เริ่มต้นด้วยการนั่งสมาธิ 5 นาทีต่อวัน และเพิ่มเวลาเมื่อเริ่มเคยชินและทำได้อย่างสม่ำเสมอ
8. เป้าหมายการเดินทาง: เที่ยวต่างประเทศปีละ 1 ครั้ง
วิธีวางแผน: เลือกจุดหมายปลายทางโดยอาจเริ่มต้นจากประเทศที่ไม่ไกลมาก วางงบประมาณ และเริ่มออมเงินเพื่อการเดินทาง ติดตามเพจและเว็บไซต์โปรโมชั่นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจองตั๋วเพื่อช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่าย
9. เป้าหมายช่วยเหลือสังคม: เข้าร่วมกิจกรรมอาสาสมัคร
วิธีวางแผน: ค้นหากิจกรรมอาสาที่สอดคล้องกับความสนใจ เช่น การปลูกป่า หรือการสอนหนังสือเด็ก พร้อมกำหนดเวลา เช่น ปีละ 1-2 ครั้ง
10. เป้าหมายสร้างรายได้เสริม: ทำธุรกิจออนไลน์
วิธีวางแผน: เริ่มต้นจากการสำรวจความสนใจของจนเอง วางแผนผลิตภัณฑ์ ศึกษาตลาด และเปิดร้านค้าออนไลน์ โดยอาจเริ่มต้นจากโซเชียลมีเดีย หรือการทำ Affiliate
11. เป้าหมายความคิดสร้างสรรค์: เขียนหนังสือ 1 เล่ม
วิธีวางแผน: กำหนดหัวข้อหนังสือ แบ่งหัวข้อย่อยโดยกำหนดเป็นบทต่างๆ และค่อยๆ วางแผนการเขียน เช่น วันละ 500 คำ เป็นประจำทุกวัน
12. เป้าหมายการศึกษา: ได้รับปริญญาเพิ่มเติม
วิธีวางแผน: เลือกสาขาที่สนใจ ศึกษาเงื่อนไขการสมัคร และสมัครเรียนในมหาวิทยาลัยเปิดหรือคอร์สออนไลน์ ทั้งนี้ต้องแบ่งเวลาได้อย่างเหมาะสมเพื่อไม่ให้กระทบต่องาน
13. เป้าหมายการพัฒนาทักษะภาษา: พูดภาษาที่ 2 หรือ 3 ได้
วิธีวางแผน: อาจลงเรียนเป็นคอร์สออนไลน์ หรือวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ หรือเลือกใช้แอปเรียนภาษา เช่น Duolingo พยายามฝึกฟังและพูดตาม รวมถึงพยายามหาโอกาสสนทนากับเจ้าของภาษา โดยกำหนดระยะเวลาที่ไม่เร่งรีบจนเกินไป เช่น 1 ปี
14. เป้าหมายทางจิตวิญญาณ: ทำบุญหรือทำความดีทุกเดือน
วิธีวางแผน: จัดสรรเงินจำนวนหนึ่งไว้สำหรับการทำบุญเป็นประจำทุกเดือน เช่น บริจาคเงิน หรือสิ่งของให้กับผู้ยากไร้
15. เป้าหมายการจัดการเวลา: ตื่นเช้าและเริ่มต้นวันให้สดใส
วิธีวางแผน: ตั้งนาฬิกาปลุกในเวลาเดียวกันของทุกวันโดยอาจตั้งให้เร็วขึ้นกว่าปกติเล็กน้อย เพื่อให้มีเวลามากขึ้น สามารถทำกิจวัตรต่างๆ ได้โดยไม่เร่งรีบจนเกินไป เก็บที่นอน และเลือกทำกิจกรรมที่ช่วยสร้างพลังงานเชิงบวก เช่น ออกกำลังกายเบาๆ, เขียน To do list, นั่งสมาธิ หรือทำอาหารเช้าง่ายๆ
16. เป้าหมายด้านครอบครัว: เก็บเงินซื้อบ้าน
วิธีวางแผน: กำหนดเป้าหมายเงินออม ศึกษาโครงการบ้าน และวางแผนการผ่อนชำระ โดยอาจลองหักบัญชีอัตโนมัติทุกเดือน เพื่อดูสภาพคล่องหากต้องผ่อนบ้านจริง
17. เป้าหมายการลงทุน: ลงทุนในกองทุนรวมหรือหุ้น
วิธีวางแผน: ศึกษาเกี่ยวกับการลงทุน และเริ่มต้นด้วยการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ อาจใช้การทำ DCA ในจำนวนไม่สูงมาก เพื่อค่อยๆ ทยอยสะสมมูลค่า
18. เป้าหมายการลดหนี้: ชำระหนี้ให้หมดภายใน 1 ปี
วิธีวางแผน: ทำแผนการจัดการหนี้และแบ่งสัดส่วนรายได้เพื่อชำระหนี้อย่างต่อเนื่อง รวบรวมยอดหนี้ทั้งหมดพร้อมอัตราดอกเบี้ยแล้วเรียงลำดับการใช้หนี้ เช่น อาจเริ่มจากก้อนเล็กเพื่อเป็นกำลังใจเพราะสามารถปิดหนี้หมดได้เร็ว หรืออาจเลือกก้อนหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูง เพื่อช่วยลดดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย
19. เป้าหมายการเข้าสังคม: พบปะเพื่อนใหม่
วิธีวางแผน: เข้าร่วมงานสัมมนาหรือกิจกรรมทางสังคมที่สนใจ พยายามฝึกทักษะการพูดคุย เพื่อให้สามารถสร้างบทสนทนาได้อย่างราบรื่น
20. เป้าหมายการเพิ่มทักษะดิจิทัล: ใช้โปรแกรมหรือเครื่องมือใหม่
วิธีวางแผน: ลงเรียนคอร์สออนไลน์ เช่น การใช้ Adobe Photoshop หรือ Excel ขั้นสูง พร้อมจัดตารางเวลาสำหรับการฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ โดยอาจเลือกคอร์สเรียนที่มีใบ Certificate เมื่อเรียนจบและผ่านการสอบ
เป้าหมายในชีวิตคือแรงผลักดันสำคัญที่จะช่วยให้เรานำพาชีวิตไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น การตั้งเป้าหมายอย่างมีแบบแผน พร้อมลงมือทำอย่างต่อเนื่อง และคอยติดตามความคืบหน้าพร้อมปรับปรุงเมื่อจำเป็น จะช่วยให้สามารถบรรลุเป้าหมายในชีวิตได้จริง ไม่ว่าจะลงกี่คอร์สเรียน ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ หรือจะใช้จ่ายเพื่อเพิ่มพูนทักษะใหม่ๆ ทั้งการอ่านหนังสือ การลงทุน หรือการซื้ออุปกรณ์เพื่อออกไปทำกิจกรรมใหม่ๆ
สมาชิกบัตรเครดิต KTC แนะนำใช้จ่ายด้วยบัตรเครดิต KTC สะดวกสบายแล้วยังได้รับคะแนน KTC FOREVER สามารถสะสมเพื่อแลกรับเป็นส่วนลดหรือเครดิตเงินคืนได้ พร้อมสิทธิประโยชน์อีกมากมายที่มาพร้อมกับบัตร สมัครง่าย อาชีพไหนก็สมัครได้ ไม่มีค่าธรรมเนียมแรกเข้าและรายปี
ใช้จ่าย คุ้มค่า นึกถึงบัตรเครดิต KTC