‘ประกันสังคม’ ถือเป็นหนึ่งในเสาหลักสำคัญที่ช่วยสร้างความมั่นคงให้กับพนักงานในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นพนักงานบริษัท ลูกจ้างเอกชน หรือแม้แต่ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ฟรีแลนซ์ ที่เข้าร่วมประกันสังคม แต่หลายคนอาจยังสงสัยว่า ประกันสังคมหักเท่าไหร่ล่าสุด หรือแท้จริงแล้วเงินที่ถูกหักไปจากเงินเดือนทุกเดือนนั้นคิดคำนวณอย่างไร และทำไมบางคนถึงจ่ายน้อย บางคนจ่ายมาก รวมถึงฐานประกันสังคม 2568 มีการปรับเปลี่ยนอะไรบ้างในระบบการคำนวณเงินสมทบ บทความนี้จะพาไปทำความเข้าใจกับการหักประกันสังคม 2568 พร้อมตอบทุกข้อสงสัยที่ทุกคนอยากรู้
ประกันสังคม คืออะไร
ก่อนอื่นเรามาทบทวนความรู้กันเล็กน้อย ประกันสังคม คือระบบที่รัฐจัดตั้งขึ้นเพื่อให้ความคุ้มครองแก่ผู้ทำงาน โดยมีเป้าหมายในการให้ความช่วยเหลือและดูแลผู้ประกันตนในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ เช่น การเจ็บป่วย การคลอดบุตร การทุพพลภาพ การว่างงาน หรือการเกษียณอายุ
โดยผู้ที่มีสิทธิ์ในการรับประกันสังคมแบ่งออกเป็นมาตราต่างๆ แต่ละมาตราก็มีเงื่อนไขและการสนับสนุนที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งจะขออธิบายรายละเอียดของแต่ละมาตราและวิธีการหักเงินประกันสังคมดังนี้
ผู้ประกันตนมาตรา 33 คือ ผู้ที่ทำงานอยู่ในบริษัทซึ่งเป็นพนักงานประจำ
1. ผู้ประกันตนมาตรา 33
คือ ลูกจ้างที่ทำงานอยู่ในบริษัทหรือองค์กรที่มีการว่าจ้างลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป ผู้ประกันตนมาตรา 33 จะต้องส่งเงินสมทบประกันสังคมร่วมกับนายจ้างและรัฐบาลในอัตราที่กำหนด เพื่อรับสิทธิประโยชน์ต่างๆ
การจ่ายเงินสมทบ หักประกันสังคม 2568
- นายจ้าง: 5% ของเงินเดือนลูกจ้าง สูงสุดไม่เกิน 875 บาทต่อเดือน
- ลูกจ้าง: 5% ของเงินเดือน สูงสุดไม่เกิน 875 บาทต่อเดือน (เงินเดือนสูงสุดที่ใช้คำนวณคือ 17,500 บาท)
- รัฐบาล: 2.5% ของเงินเดือน
ตัวอย่าง:
- เงินเดือน 5,000 บาท : จ่าย 250 บาท
- เงินเดือน 10,000 บาท : จ่าย 500 บาท
- เงินเดือน 15,000 บาท : จ่าย 750 บาท
- เงินเดือน 17,500 บาท : จ่าย 875 บาท
สิทธิประโยชน์และความคุ้มครอง 7 กรณี
- ประสบอุบัติเหตุ หรือเจ็บป่วย
- คลอดบุตร
- พิการ (ทุพพลภาพ)
- เสียชีวิต
- สงเคราะห์บุตร
- ชราภาพ
- ว่างงาน
ผู้ประกันตนมาตรา 39 คือ ผู้ประกันตนมาตรา 33 แต่ได้ออกจากงานประจำ แต่ต้องการคงสิทธิ์การรับประกันสังคมไว้
2. ผู้ประกันตนมาตรา 39
คือ บุคคลที่เคยเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 แต่ได้ลาออกหรือเลิกการจ้างงานแล้ว โดยต้องการคงสิทธิ์การรับประกันสังคมไว้ สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 ได้ โดยจะต้องส่งเงินสมทบเองในอัตราที่กำหนด
การจ่ายเงินสมทบ หักประกันสังคม 2568
- ผู้ประกันตน : จ่าย 9% ของฐานเงินเดือนที่กำหนดคือ 4,800 บาท หรือเท่ากับ 432 บาทต่อเดือน และรัฐจะช่วยสมทบเงินเพิ่มอีก 120 บาทต่อเดือน
สิทธิประโยชน์และความคุ้มครอง 6 กรณี
- ประสบอุบัติเหตุ หรือเจ็บป่วย
- คลอดบุตร
- พิการ (ทุพพลภาพ)
- เสียชีวิต
- สงเคราะห์บุตร
- ชราภาพ
ผู้ประกันตนมาตรา 40 คือ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ alt: หักประกันสังคม 2568
3. ผู้ประกันตนมาตรา 40
คือ ผู้ประกอบอาชีพอิสระหรือแรงงานนอกระบบ ที่ไม่ได้อยู่ในระบบการจ้างงานที่กำหนดโดยมาตรา 33 หรือ 39 สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 ได้ เพื่อรับสิทธิประโยชน์ที่เหมาะสมตามอัตราการส่งเงินสมทบที่เลือก
การจ่ายเงินสมทบ หักประกันสังคม 2568
ผู้ประกันตนสามารถเลือกแผนการสมทบตามเงื่อนไขที่ต้องการได้ ซึ่งมี 3 ทางเลือกคือ
- ทางเลือกที่ 1 : จ่าย 70 บาทต่อเดือน
- ทางเลือกที่ 2 : จ่าย 100 บาทต่อเดือน
- ทางเลือกที่ 3 : จ่าย 300 บาทต่อเดือน
สิทธิประโยชน์และความคุ้มครอง
สิทธิประโยชน์และความคุ้มครองของมาตรา 40 จะลดหลั่นกันไปตามแผนการจ่ายเงินสมทบที่ผู้ประกันตนเลือกจ่าย
ทางเลือกที่ 1 : คุ้มครอง 3 กรณี
- ประสบอันตราย หรือ เจ็บป่วย
- ทุพพลภาพ
- เสียชีวิต
ทางเลือกที่ 2 : คุ้มครอง 4 กรณี
- ประสบอันตราย หรือ เจ็บป่วย
- กรณีทุพพลภาพ
- กรณีเสียชีวิต
- กรณีชราภาพ
ทางเลือกที่ 3 : คุ้มครอง 5 กรณี
- ประสบอันตราย หรือ เจ็บป่วย
- ทุพพลภาพ
- ตาย
- ชราภาพ
- สงเคราะห์บุตร
การปรับฐานเงินประกันสังคม
การปรับฐานประกันสังคม 2568 ทั้งค่าจ้างและอัตราการจ่ายเงินสมทบ จะช่วยให้ระบบประกันสังคมสามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในสภาพเศรษฐกิจและค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นได้อย่างเหมาะสม ดังนี้
- ตั้งแต่ 1 มกราคม 2567 ถึง 31 ธันวาคม 2569 : ฐานค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ 1,650 บาท และสูงสุดไม่เกิน 17,500 บาท
- ตั้งแต่ 1 มกราคม 2570 ถึง 31 ธันวาคม 2572 : ฐานค่าจ้างสูงสุดเพิ่มเป็นไม่เกิน 20,000 บาท
- ตั้งแต่ 1 มกราคม 2573 เป็นต้นไป: ฐานค่าจ้างสูงสุดเพิ่มเป็นไม่เกิน 23,000 บาท
สุดท้ายนี้ การเข้าใจระบบประกันสังคมและการคำนวณเงินสมทบ ไม่เพียงแต่ช่วยให้คุณวางแผนการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ยังทำให้คุณตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างความมั่นคงทางการเงินในระยะยาว หากใครกำลังมองหาตัวช่วยในการเสริมสภาพคล่องทางการเงิน บัตรเครดิต KTC สามารถตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คุณได้ พร้อมมอบสิทธิประโยชน์ โปรโมชั่นมากมายสำหรับสมาชิก สามารถสมัครบัตรเครดิต KTC ผ่านทางออนไลน์ และ สมัครบัตรกดเงินสด KTC PROUD ได้ทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง
ใช้จ่าย คุ้มค่า นึกถึงบัตรเครดิต KTC