เมื่อการทำงานหนักไม่ได้การันตีประสิทธิภาพผลงานได้เสมอไป และการโหมงานจนเกินคำว่าพอดีอาจนำมาซึ่งความเสียหายมากกว่าที่คิด ตามมาด้วยผลกระทบในหลายด้าน ทั้งเรื่องสุขภาพร่างกาย สุขภาพจิต ความเครียด และอาจนำไปสู่ภาวะ Burnout Syndrome ได้แบบไม่รู้ตัว ชวนทุกคนทำความรู้จักค่านิยมการทำงานแบบ Work Life Balance แนวคิดในอุดมคติ ไม่ต้องทำเยอะก็ได้มาก Win-Win Situation ทั้งองค์กร และพนักงาน
Work Life Balance คืออะไร?
Work Life Balance คือ แนวคิดการทำงานที่เน้นความสมดุลระหว่างการให้เวลากับงานและการใช้ชีวิต มีการขีดเส้นแบ่งเวลาทำงานออกจากเวลาส่วนตัวอย่างชัดเจน เพื่อลดผลกระทบที่เกิดจากการหมกมุ่นในงานมากเกินไป และเพื่อให้ทุกคนได้ออกไปใช้ชีวิต ได้มีเวลาดูแลตัวเอง รวมไปถึงการหากิจกรรมสนุกๆ ทำกับครอบครัวหรือเพื่อนๆ
สาเหตุของปัญหา Work Life ไม่ Balance
ปัญหาความไม่สมดุลในที่ทำงานหลักๆ แล้วมีสาเหตุมาจากระบบโครงสร้างองค์กรที่มีความเคร่งครัดและตึงเครียดมากเกินไป ทั้งนี้ยังมาพร้อมปัจจัยอื่นๆ ที่อยู่ขั้วตรงข้ามกับแนวคิด Work Life Balance อย่างสิ้นเชิง ได้แก่
1. จำนวนงานที่มากเกินไป
การมีจำนวนภาระงานที่มากเกินไปอาจนำมาสู่การต้องทำงานล่วงเวลา เพื่อให้มีงานทันส่งตามเวลาที่กำหนด กรณีนี้เห็นได้ชัดว่าพนักงานมีเวลาพักผ่อนน้อยลงและในขณะเดียวกันก็ต้องทำงานหนักขึ้นนั่นเอง
2. วัฒนธรรมองค์กร
หลายบริษัทอาจยังมีวัฒนธรรมองค์กรที่ให้ความสำคัญกับการทำงานเหนือสิ่งอื่นใด เพราะฉะนั้นพนักงานต้องสละเวลาชีวิตส่วนตัวให้กับงานได้เสมอหากจำเป็น แนวคิดลักษณะนี้เป็นไปไม่ได้เลยที่จะยัดเยียดให้เป็น Work Life Balance
3. เทคโนโลยีและการเชื่อมต่อที่ไม่หยุดนิ่ง
ท่ามกลางเทคโนโลยีการติดต่อสื่อสารที่ง่ายและสะดวกสบายแบบในปัจจุบัน ทำให้บางองค์กรใช้ความสะดวกสบายนี้ติดต่อกับพนักงานได้แม้ไม่ใช่ในเวลาทำงานก็ตาม ทำให้หลายคนรู้สึกว่าช่วงเวลาส่วนตัวก็ยังต้องทำงานตลอดเวลาไปโดยปริยาย
การทำงานอย่าง work life balance คือ ไม่ทำงานหักโหมเกินไป แบ่งเวลาได้พักผ่อน ทำในสิ่งที่เราชอบในแบบอื่นๆ บ้าง
ข้อเสียของการทำงานหนักเกินไป
ในอีกทางหนึ่งเมื่ออ้างถึงหลักปรัชญาและคำสอน ไม่ว่าจะเป็นฝั่งความเชื่อของลัทธิเต๋าหรือคำสอนของพุทธศาสนาเองก็ดี ต่างล้วนมีแนวคิดที่คล้ายกันจนไม่น่าเชื่อ
พุทธศาสนา มีคำสอนเรื่องมัชฌิมาปฏิปทา หมายถึง การปฏิบัติสิ่งใดก็ตามที่ไม่สุดโต่งจนเกินไปหรือเรียกง่ายๆ ว่าเดินทางสายกลางเพื่อคงสายพิณให้ไม่หย่อนเกินไปและไม่ให้สายตึงจนขาด
ลัทธิเต๋า กล่าวถึงความสมดุลของโลก มีตัวแทนเป็นด้านคู่ตรงข้ามดั่งเช่นหยินกับหยาง
เมื่อนำปรัชญาและคำสอนมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน การทำงานหนักเกินไปไม่ใช่เพียงแค่ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลงเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิตในระยะยาว ดังนี้
- ส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายและสุขภาพใจ
การทำงานหนักเกินไปจนไม่มีเวลาพักผ่อนอย่างเพียงพอ อาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพต่างๆ เช่น โรคปลอกประสาทตาอักเสบ, โรคเครียดลงกระเพาะ, โรคออฟฟิศซินโดรม, โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ และโรคหัวใจ เป็นต้น
- ปัญหาความสัมพันธ์
เมื่อเราใช้เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการทำงาน โอกาสที่จะได้พบเจอเพื่อนๆ หรือครอบครัวก็จะลดลง จึงอาจก่อให้เกิดปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ตามมาได้
- ขาดสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัว
การที่เราทุ่มเทให้กับงานจนเกินคำว่าพอดี แน่นอนว่าทั้งเวลาส่วนตัวและความสุขก็จะค่อยๆ ลดลงด้วย
- ประสิทธิภาพการทำงานลดลง
การทำงานหนักจนไม่มีเวลาพักผ่อนไม่ใช่เพียงร่างกายเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ สมองก็เหนื่อยล้าได้เช่นกัน และปัญหานี้อาจส่งผลให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลงหรืออาจเกิดความผิดพลาดอื่นๆ ตามมาได้
- เข้าสู่ภาวะหมดไฟในการทำงาน
เป็นภาวะที่เกิดจากความเหนื่อยล้าสะสมต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลานาน หากมีอาการร้ายแรงจนรู้สึกว่าหมดแรงจูงใจในการทำงานและการใช้ชีวิต ควรเข้ารับการรักษาและรับการบำบัดกับแพทย์เฉพาะทาง
Work Life Balance จะทำได้จริง ขึ้นอยู่กับการบริหารเวลาทำงาน และเวลาพักผ่อนของแต่ละบุคคลนั้นๆ ว่าให้ความสำคัญกับการพักผ่อนมากน้อยแค่ไหน
Work Life Balance มีอะไรบ้าง?
1. องค์กรควรให้ความสำคัญกับ Work Life Balance เป็นตัวอย่างแก่พนักงาน
การจะสร้างระบบการทำงานแบบ Work Life Balance ควรเริ่มต้นจากองค์กรเป็นอันดับแรก เพื่อเป็นการสร้างมาตรฐานและเป็นตัวอย่างแก่พนักงาน
2. มีการวางแผน Workload ที่ชัดเจน
เพื่อไม่ให้พนักงานทำงานหนักจน Overload การกระจายงานให้ทุกคนตามหน้าที่แบบไม่มากและไม่น้อยเกินไปก็เป็นสิ่งที่สำคัญมาก นอกจากนี้ควรจัดแผนประชุมสำหรับแชร์ไอเดียหรือ Brainstorm ในกรณีที่เจอปัญหาอย่างสม่ำเสมอ
3. Work from Home หรือ Work from Anywhere
ตามสถิติระบุว่าการ Work from Home หรือ Work from Anywhere ส่งผลให้งานมีประสิทธิภาพมากกว่าการต้องเข้าออฟฟิศทุกวัน เพราะได้มีเวลาโฟกัสกับงานมากขึ้น และนอกจากนี้พนักงานยังได้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทางอีกด้วย
4. ยืดหยุ่นเวลาเข้า-ออกงาน
การต้องเดินทางไปทำงานที่ทุกคนต้องเผชิญกับช่วงเวลาเร่งด่วน รถติด รถไฟฟ้าแน่น ก็เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่สร้างความเครียดให้ทุกคนตั้งแต่ยังไม่เริ่มทำงาน การยืดหยุ่นเวลาเข้า-ออกงานแล้วเน้นใช้เกณฑ์ทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวัน ก็เป็นอีกช่วยลดความตึงเครียดไปได้มากทีเดียว
5. เคารพเวลาพักผ่อน
เมื่อเป็นวันหยุดหรือวันลา ทุกคนต้องเคารพช่วงเวลาแห่งการพักผ่อนของกันและกัน ไม่ควรตามงานนอกเวลา หรือสั่งงานเร่งด่วน
6. ควรมีมุมพักผ่อนหรือจัดพื้นที่นั่งเล่นให้พนักงาน
ในการทำงานแน่นอนว่าทุกคนต้องเผชิญกับความเครียดตลอดทั้งวัน การมีมุมสบายๆ สำหรับนั่งพักก็จะสามารถลดความกดดันในที่ทำงานไปได้มาก และเมื่อสมองโล่งแล้วประสิทธิภาพในการทำงานก็จะตามมา
7. มีสวัสดิการส่งเสริมสุขภาพ
การใส่ใจสุขภาพก็เป็นอีกเป้าหมายสำคัญของ Work Life Balance ฉะนั้นองค์กรควรส่งเสริมให้พนักงานดูแลสุขภาพ อาจจัดเป็นกิจกรรมออกกำลังกาย หรือจัดให้มีผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพมาให้ความรู้คอยให้คำปรึกษาตามวาระโอกาสที่เหมาะสม
เทคนิคทำให้ Work Life Balance เป็นจริง
การที่จะทำให้ Work Life Balance เป็นจริงได้นั้นนอกจากจะเริ่มต้นจากองค์กรแล้ว ตัวเราก็ต้องแบ่งสันปันส่วนเวลาของตัวเองให้เหมาะสมด้วยเช่นกัน มีเทคนิคดังนี้
1. บริหารเวลาทำงานและเวลาพักผ่อนอย่างเหมาะสม
ถ้าไม่อยากให้เวลางานกินเวลาพักแนะนำว่าให้เริ่มต้นจากการวางแผนงานในแต่ละวันว่ามีอะไรบ้าง จากนั้นจัดลำดับความสำคัญ และควรแบ่งเวลาสำหรับพักเบรกเพื่อไม่ทำให้ตึงเครียดกับงานมากเกินไป
2. จัดสภาพแวดล้อมให้พร้อมต่อการทำงานตามหลักการยศาสตร์ (Ergonomics)
การยศาสตร์ (Ergonomics) คือ ศาสตร์แห่งการทำงานที่ใช้ทฤษฎีกายวิภาคศาสตร์ สรีรวิทยา และจิตวิทยา มาออกแบบสภาพแวดล้อมให้เหมาะกับการทำงาน เช่น การปรับความสูงโต๊ะทำงานให้เหมาะสม การเลือกเก้าอีกที่รองรับสรีระร่างกาย รวมไปถึงการปรับแสงสว่างให้พอดีไม่มืดหรือสว่างจนเกินไป เป็นต้น
3. ให้ความสำคัญกับการพักผ่อน
ฝึกพฤติกรรมการพักให้เป็นนิสัย เมื่อถึงเวลาเลิกงานหรือเป็นวันหยุดก็ควรพักทั้งร่างกายและสมอง และไม่ควรเก็บงานมาทำในวันหยุด
4. ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพร่างกาย
การดูแลสุขภาพร่างกายที่นอกเหนือจากการได้นอนหลับอย่างเพียงพอแล้ว การออกกำลังกายก็เป็นอีกสิ่งที่ไม่ควรเพิกเฉย โดยปกติแล้วควรออกกำลังกายอย่างน้อย 3-5 วัน/สัปดาห์ หรือ 150 นาที/สัปดาห์
5. หางานอดิเรกหรือออกไปเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ
การมีงานอดิเรกที่ชอบ ได้ทำกิจกรรมสนุกๆ หรือออกไปเจออะไรใหม่ๆ ก็เป็นอีกวิธีที่ช่วยให้เราได้ผ่อนคลายจากความเครียด อีกทั้งยังเป็นการสร้างโอกาสในการพบปะคนที่ไม่รู้จัก ได้เรียนรู้สังคมใหม่ๆ อีกด้วย
Work Life Balance คําคม
- อย่ามัวแต่ยุ่งทำงานหาเงินเพื่อชีวิต จนลืมไปว่าต้องใช้ชีวิต
- คุณสามารถทำหลายสิ่งได้ แต่ไม่ใช่ทุกสิ่ง
- งานก็สำคัญ แต่สุขภาพและครอบครัวสำคัญกว่า
- ทำงานให้เก่ง แต่ต้องใช้ชีวิตให้เป็น
- ชีวิตไม่ได้มีแค่งาน จงใช้เวลากับสิ่งที่ทำให้คุณมีความสุข
- อย่าปล่อยให้วันหยุดของคุณกลายเป็นวันทำงาน
- Work Life Balance ไม่ใช่แค่คำพูด แต่เป็นแนวทางการใช้ชีวิต
- ความสำเร็จที่แท้จริง คือการมีความสุขทั้งเรื่องงานและชีวิต
- ทำงานเพื่อใช้ชีวิต อย่าใช้ชีวิตเพื่อทำงาน
- มีเงินมากมาย แต่ไม่มีเวลาพักผ่อน ก็ไม่มีความหมาย
- ไม่มีงานไหนสำคัญกว่าคนที่รักคุณ
- ความสมดุลของชีวิตคือกุญแจสู่ความสุข
- ทำงานให้เต็มที่ แต่ต้องรู้จักหยุดเมื่อถึงเวลา
- การทำงานหนักไม่ใช่ปัญหา แต่การไม่มีชีวิตส่วนตัวคือปัญหา
- เวลาเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุด จงใช้มันให้คุ้มค่า
- เวลาที่เสียไปกับงาน ไม่อาจซื้อเวลากับครอบครัวคืนมาได้
- ให้เวลากับตัวเองมากพอ แล้วงานจะไม่ใช่ภาระ
- อย่าทุ่มเททุกอย่างให้กับงาน จนลืมว่าชีวิตมีอย่างอื่นที่สำคัญ
- พักบ้าง ไม่ใช่แค่เพื่อสุขภาพ แต่เพื่อหัวใจที่แข็งแรง
- เงินซื้อของได้ แต่ซื้อเวลาและความสุขไม่ได้
- อย่าปล่อยให้ความเครียดจากงาน ทำลายสุขภาพจิตของคุณ
- งานคือส่วนหนึ่งของชีวิต แต่ไม่ใช่ทั้งหมดของชีวิต
- หากงานทำให้คุณไม่มีเวลาให้ตัวเอง แสดงว่าคุณต้องจัดลำดับใหม่
- งานดี ชีวิตดี ต้องไปด้วยกัน ไม่ใช่อย่างใดอย่างหนึ่ง
- ชีวิตสั้นเกินกว่าจะใช้เวลาทั้งหมดไปกับงาน
- รู้จักแบ่งเวลา แล้วคุณจะได้ทั้งงานและชีวิต
- งานหนักแต่ไม่ทุกข์ นั่นคือความสำเร็จที่แท้จริง
- สุขภาพที่ดีมีค่ามากกว่าการเลื่อนตำแหน่ง
เมื่อได้รู้จัก Work Life Balance ข้อดี ข้อเสีย แล้ว สำหรับคนที่อยากบริหารเวลาชีวิต แต่รู้สึกว่ามีอุปสรรคหลายๆ อย่าง แนะนำให้ค่อยๆ ปรับสิ่งที่สามารถทำได้ก่อนแล้วค่อยๆ เปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตไปทีละขั้นตอน เพิ่มเวลาการพักผ่อนให้กับตนเอง แล้วออกไปเที่ยว ตามไลฟ์สไตล์ที่ต้องการ
สำหรับสมาชิกบัตรเครดิต KTC เดินทางไปท่องเที่ยว กินอาหารอร่อยๆ ช้อปปิ้งเพลินๆ ทั้งออนไลน์ หรือเดินห้างสรรพสินค้า แนะนำใช้ผ่านบัตร เพื่อความคุ้มค่าและการคล่องตัวที่มากขึ้น นอกจากโปรโมชั่น ส่วนลดมากมาย กับพาร์ทเนอร์ชั้นนำหลากหลายแล้ว การใช้จ่ายทุก 25 บาท ยังได้รับ 1 คะแนน KTC FOREVER ซึ่งสะสมง่าย คะแนนไม่มีวันหมดอายุ สามารถนำไปแลกสินค้า / แลกคูปอง / แลกจ่ายบิล / แลกเพื่อบริจาค / แลกแทนเงินสด ได้อีกด้วย สมัครบัตรเครดิต KTC ออนไลน์ ใช้ชีวิตที่ใช่ ไลฟ์สไตล์ที่ชอบ ได้ทุกวัน
ใช้จ่าย คุ้มค่า นึกถึงบัตรเครดิต KTC