คุณเคยสงสัยไหมว่าทำไมคนเราถึงมีแรงจูงใจที่แตกต่างกัน ? บางคนต้องการเงินเดือนสูง บางคนต้องการความมั่นคงในชีวิตการทำงาน ขณะที่บางคนอยากได้รับการยอมรับและความก้าวหน้า โดยแนวคิดที่สามารถอธิบายเรื่องนี้ได้ดีก็คือ ทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมนุษย์ของมาสโลว์ (Maslow's Hierarchy of Needs) ซึ่งเป็นแนวคิดด้านจิตวิทยา ที่สามารถนำมาปรับใช้เพื่อให้นักการตลาดเข้าใจพฤติกรรมของผู้บริโภค เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้อย่างสูงสุด หรืออีกแง่หนึ่งเมื่อองค์กรเข้าใจความต้องการของพนักงาน ก็จะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ส่งเสริมการทำงานให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น
ทฤษฎีความต้องการของมาสโลว์ (Maslow's Hierarchy of Needs) คืออะไร ?
ทฤษฎีมาสโลว์เป็นทฤษฎีที่ถูกคิดค้นขึ้นในปี ค.ศ. 1943 โดย อับราฮัม มาสโลว์ (Abraham Maslow) ศาสตราจารย์ทางด้านจิตวิทยา ซึ่งเชื่อว่าคนเรามีลำดับขั้นของความต้องการที่ต้องได้รับการเติมเต็มจากระดับพื้นฐานไปจนถึงระดับสูงสุด โดยมาสโลว์ได้นำเสนอแนวคิดนี้ในรูปแบบพีระมิด 5 ขั้น โดยความต้องการที่อยู่ล่างสุดเป็นปัจจัยพื้นฐานของชีวิต และเมื่อความต้องการระดับล่างได้รับการตอบสนองแล้ว คนเราจะมุ่งไปสู่ความต้องการระดับที่สูงขึ้นนั่นเอง
ทฤษฎีความต้องการของมาสโลว์ (Maslow's Hierarchy of Needs) 5 ขั้นมีอะไรบ้าง ?
ทฤษฎีมาสโลว์ได้แบ่งความต้องการของมนุษย์ออกเป็น 5 ขั้น ไล่จากความต้องการพื้นฐานไปจนถึงระดับสูงสุด ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้ในการทำงาน หรือนักการตลาดก็สามารถใช้ข้อมูลนี้ เพื่อออกแบบสินค้า บริการ และแคมเปญการตลาดที่สอดคล้องกับสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการได้
ลำดับที่ 1 ความต้องการพื้นฐานทางกายภาพ (Physiological Needs)
เป็นความต้องการพื้นฐานของชีวิต ที่สามารถทำให้มนุษย์ดำรงอยู่ได้ เช่น อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค ที่อยู่อาศัย
ลำดับที่ 2 ความต้องการด้านความมั่นคงปลอดภัย (Safety Needs)
เมื่อความต้องการพื้นฐานได้รับการตอบสนองแล้ว ผู้คนก็จะเริ่มมองหาความมั่นคงและความปลอดภัย เช่น ความมั่นคงในการทำงาน ความมั่นคงด้านการเงิน ความปลอดภัยของสุขภาพ ความเป็นอยู่ สภาพแวดล้อมที่ทำงาน
ลำดับที่ 3 ความต้องการด้านความรักและการยอมรับในสังคม (Love and Belonging Needs)
เมื่อชีวิตมีความมั่นคงและปลอดภัยแล้ว ผู้คนก็จะต้องการความรักในรูปแบบต่างๆ และการยอมรับในสังคม เช่น ความรักในแบบคู่รัก มิตรภาพ ความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงาน การได้รับการยอมรับจากสมาชิกทีม
ลำดับที่ 4 ความต้องการด้านความเคารพนับถือ (Esteem Needs)
เมื่อได้รับความรักและการยอมรับในสังคมแล้ว ก็จะนำมาสู่ความต้องการด้านความเคารพนับถือ ซึ่งมาสโลว์ได้แบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ
- ความเคารพในตนเอง – การมีความมั่นใจในตัวเอง การยอมรับข้อบกพร่องของตน และการตระหนักถึงคุณค่าในตัวเอง
- การได้รับการยอมรับจากผู้อื่น – เช่น การมีชื่อเสียง การได้รับคำชมเชยจากเพื่อนร่วมงาน การได้เลื่อนตำแหน่ง หรือเงินเดือนที่สูงขึ้น ซึ่งช่วยสร้างความรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าในสังคม
ลำดับที่ 5 ความต้องการเติมเต็มศักยภาพของตนเอง (Self-Actualization Needs)
เป็นระดับสูงสุดของพีระมิด คือการพัฒนาตัวเองให้ถึงขีดสุด แต่ละคนก็มีความต้องการที่แตกต่างกันไป เช่น การได้ทำงานที่ท้าทาย การเรียนรู้สิ่งใหม่ การได้ช่วยเหลือผู้อื่น
ทฤษฎีมาสโลว์ เป็นแรงจูงใจของมนุษย์ 5 ลำดับขั้นของความต้องการ ที่ต้องได้รับการเติมเต็มจากพื้นฐานไปสู่ระดับสูงสุด
ประโยชน์ของทฤษฎีความต้องการของมาสโลว์
ทฤษฎีความต้องการของมาสโลว์มีประโยชน์หลายด้าน ทั้งในแง่ของการเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภค การบริหารองค์กร การพัฒนาความสัมพันธ์ และการพัฒนาตนเอง ดังนี้
1.ช่วยให้เข้าใจพฤติกรรมมนุษย์
ทฤษฎีมาสโลว์ช่วยให้เราเข้าใจว่าทำไมมนุษย์ถึงมีพฤติกรรมที่แตกต่างกันไปตามลำดับความต้องการ เมื่อเรารู้ว่าคนๆ หนึ่งยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการพื้นฐานได้ เช่น ความหิว หรือความปลอดภัย พวกเขาก็จะไม่สามารถไปสู่การบรรลุความสำเร็จในขั้นอื่นๆ อย่างการพัฒนาตัวเองหรือการหาความสุขในชีวิตตนเอง
2.การประยุกต์ใช้ในด้านการบริหารทรัพยากรมนุษย์
หากพูดในเชิงของการทำงานบริษัทหรือการบริหารทรัพยากรมนุษย์ ทฤษฎีมาสโลว์จะช่วยให้ผู้บริหาร ผู้จัดการ หรือฝ่ายบุคคล เข้าใจความต้องการพื้นฐานของพนักงานแต่ละคนแตกต่างกัน เช่น บางคนต้องการความมั่นคงในการทำงาน บางคนต้องการเงินเดือนสูง บางคนต้องการตำแหน่ง บางคนต้องการได้รางวัลในการทำงาน ซึ่งมีผลต่อการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและการรักษาพนักงานที่มีความสามารถไว้ในองค์กร
3.การพัฒนาความสัมพันธ์ในสังคม
ในมุมมองของการสร้างความสัมพันธ์ ทฤษฎีมาสโลว์จะช่วยให้เราเข้าใจว่าความต้องการความรักและการยอมรับ หรือการได้รับการเคารพ จะช่วยส่งเสริมให้ความสัมพันธ์ที่สร้างขึ้นให้มีความแข็งแรงและยั่งยืนขึ้นได้
4.การส่งเสริมการพัฒนาตนเอง
มาสโลว์เน้นถึงความสำคัญของการบรรลุศักยภาพสูงสุด ซึ่งในชีวิตประจำวัน เราสามารถนำทฤษฎีนี้มาปรับใช้ในการตั้งเป้าหมายชีวิต หรือการพัฒนาตนเองในระดับที่สูงขึ้น ทั้งในด้านการเรียนรู้ การสร้างความมั่นคงในชีวิต หรือการพัฒนาอาชีพ
5.การทำการตลาดและการขายสินค้า/บริการ
ในแง่ของการทำการตลาด ทฤษฎีนี้สามารถช่วยให้ธุรกิจหรือแบรนด์เข้าใจความต้องการของลูกค้า และสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ตรงจุดมากที่สุด เช่น หากลูกค้าต้องการความปลอดภัยด้านสุขภาพ ธุรกิจประกันสามารถเสนอประกันสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพได้ ไม่ว่าจะเป็น ประกันชีวิตหรือประกันโรคร้ายแรง นอกจากนี้ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเงิน เช่น ธนาคารหรือบริษัทสินเชื่อ ก็สามารถสร้างผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ให้ความมั่นคงในการลงทุนหรือความมั่นใจในการจัดการความเสี่ยงได้
ตัวอย่างการนำทฤษฎีความต้องการของมาสโลว์ (Maslow's Hierarchy of Needs) ไปใช้ในการทํางาน
ทฤษฎีมาสโลว์ การนําไปใช้งานนั้นสามารถประยุกต์ใช้ได้หลายด้าน ยกตัวอย่างเช่น
ยกตัวอย่างการออกแบบระบบค่าตอบแทนและสวัสดิการขององค์กร
การเข้าใจความต้องการในแต่ละระดับ จะช่วยให้องค์กรสามารถออกแบบระบบ ค่าตอบแทนและสวัสดิการที่ตอบสนองความต้องการของพนักงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนี้
- ความต้องการพื้นฐานทางกายภาพ (Physiological Needs)
บริษัทควรให้ค่าตอบแทนที่เพียงพอเพื่อให้พนักงานสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ เช่น เงินเดือนที่เหมาะสม ประกันสุขภาพ มีอาหารกลางวันหรือสวัสดิการอาหารสำหรับพนักงาน มีพื้นที่ทำงานที่สะอาด อากาศถ่ายเท มีอุปกรณ์สำนักงานที่เพียงพอ
- ความต้องการด้านความมั่นคงปลอดภัย (Safety Needs)
เมื่อพนักงานได้รับตอบสนองด้านปัจจัยพื้นฐานแล้ว พวกเขาจะต้องการความมั่นคงในการทำงานและชีวิตส่วนตัว เช่น มีสัญญาจ้างงานที่ชัดเจนและมั่นคง มีประกันสุขภาพที่ครอบคลุม มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
- ความต้องการด้านความรักและการยอมรับในสังคม (Love and Belonging Needs)
เมื่อได้รับตอบสนองด้านความมั่นคงและปลอดภัยแล้ว พนักงานจะต้องการรู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร และมีความสัมพันธ์ที่ดีในการทำงานกับเพื่อนร่วมงาน โดยบริษัทควรสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ส่งเสริมการทำงานเป็นทีม เช่น จัดกิจกรรม Outing เพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างพนักงาน มีระบบ Buddy หรือ Mentor ให้พนักงานใหม่ได้มีที่ปรึกษา
- ความต้องการด้านความเคารพนับถือ (Esteem Needs)
เมื่อพนักงานรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรแล้ว พวกเขาจะต้องการการเคารพนับถือและการให้เกียรติจากผู้อื่น เช่น บริษัทมีการมอบรางวัลให้กับพนักงานเพื่อสร้างแรงจูงใจในการทำงาน การให้โอกาสในการเลื่อนตำแหน่ง การเปิดโอกาสให้พนักงานแสดงความคิดเห็นและมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ
- ความต้องการเติมเต็มศักยภาพของตนเอง (Self-Actualization Needs)
ขั้นสูงสุดของมาสโลว์คือการที่พนักงานรู้สึกว่าตัวเองได้ใช้ศักยภาพอย่างเต็มที่ ดังนั้นสิ่งที่บริษัทควรทำ เช่น สนับสนุนคอร์สเรียนเพื่อให้พนักงานได้เรียนรู้และพัฒนาตนเอง การเปิดโอกาสให้พนักงานได้ทำงานในโปรเจกต์ที่ท้าทายและตรงกับความสนใจของพวกเขา มีโครงการฝึกอบรมผู้นำ
ยกตัวอย่างการออกแบบสินค้าและบริการ
- ความต้องการพื้นฐานทางกายภาพ (Physiological Needs)
เป็นความต้องการพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิต เช่น อาหาร น้ำ การนอนหลับ หรือที่พัก สำหรับการทำสินค้าในขั้นนี้จะมุ่งเน้นไปที่การตอบสนองความต้องการพื้นฐานที่ผู้บริโภคต้องการให้ชีวิตดำเนินไปได้ ยกตัวอย่างสินค้า เช่น ข้าวกล่องพร้อมทาน หรือ อาหารแช่แข็งที่ผู้คนสามารถหาทานได้ง่ายตามร้านสะดวกซื้อ หรือที่นอน หมอนหนุน ที่ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถพักผ่อนและนอนหลับได้ดีขึ้น
- ความต้องการด้านความมั่นคงปลอดภัย (Safety Needs)
เมื่อความต้องการพื้นฐานได้รับการตอบสนองแล้ว ผู้บริโภคต้องการความมั่นคงปลอดภัยในชีวิต การทำสินค้าในขั้นนี้จะมุ่งเน้นที่การให้ความมั่นใจและปกป้องผู้บริโภคจากอันตรายต่างๆ โดยสินค้าในหมวดนี้ เช่น ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ หรือ ประกันภัยรถยนต์ ที่ช่วยสร้างความมั่นคงทางการเงินและสุขภาพ
รวมไปถึงระบบรักษาความปลอดภัยในบ้าน เช่น กล้องวงจรปิด ระบบกันขโมย ที่ช่วยให้เจ้าของบ้านรู้สึกปลอดภัยและมั่นใจว่าทรัพย์สินและครอบครัวได้รับการดูแลอย่างดี
- ความต้องการด้านความรักและการยอมรับในสังคม (Love and Belonging Needs)
เมื่อความต้องการความปลอดภัยได้รับการตอบสนองแล้ว ผู้บริโภคก็ต้องการการเชื่อมโยงกับผู้อื่นและการยอมรับจากผู้อื่น ซึ่งการทำสินค้าที่ตอบสนองความต้องการนี้จะมุ่งไปที่การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคนในสังคม ยกตัวอย่างสินค้า เช่น เสื้อผ้าแฟชั่น ที่ออกแบบมาให้ผู้บริโภคสามารถแสดงออกถึงตัวตนและเข้ากับกลุ่มคนในสังคมได้อย่างดี รวมไปถึงเครื่องประดับต่างๆ อย่างสร้อยคอ แหวน นาฬิกาหรู ที่ช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นในตัวเองและแสดงออกถึงสถานะทางสังคม
- ความต้องการด้านความเคารพนับถือ (Esteem Needs)
ผู้บริโภคในขั้นนี้ต้องการได้รับการยอมรับและเคารพจากผู้อื่น โดยการทำสินค้าที่ตอบสนองความต้องการนี้จะมุ่งไปที่การเสริมสร้างความภาคภูมิใจและการได้รับการยกย่องจากสังคม เช่น การใช้สินค้าแบรนด์หรู Rolex, Louis Vuitton, Gucci ที่ช่วยสร้างความรู้สึกของความหรูหราและบ่งบอกสถานะในสังคม การสวมใส่สินค้าประเภทนี้ช่วยให้ผู้บริโภคได้รับการยอมรับจากสังคมและรู้สึกภูมิใจในตัวเอง หรือแม้กระทั่งคอร์สฝึกอบรมและพัฒนาทักษะต่างๆ ที่ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถพัฒนาทักษะ ความรู้ เพื่อเพิ่มโอกาสในการเติบโตในอาชีพการงาน
- ความต้องการเติมเต็มศักยภาพของตนเอง (Self-Actualization Needs)
ขั้นสุดท้ายนี้ คือความต้องการที่จะเติมเต็มศักยภาพสูงสุดของตัวเอง โดยการทำสินค้าที่ตอบสนองความต้องการนี้ จะมุ่งไปที่การเสริมสร้างการเติบโตส่วนบุคคลและการเข้าถึงความสำเร็จสูงสุดในชีวิต ยกตัวอย่างเช่น อุปกรณ์กีฬาและสุขภาพอย่าง Fitbit, Apple Watch ที่ช่วยติดตามกิจกรรมในชีวิตประจำวันและสุขภาพของผู้บริโภค เพื่อการพัฒนาและปรับปรุงสุขภาพให้ดียิ่งขึ้น หรือสินค้าประเภทการท่องเที่ยวและการเรียนรู้ อย่าง Airbnb, National Geographic ที่ให้ผู้บริโภคมีโอกาสสำรวจโลกและเรียนรู้จากประสบการณ์ใหม่ๆ ซึ่งสามารถทำให้พวกเขามีมุมมองใหม่ๆ และพัฒนาตัวเองได้
จากทฤษฎีความต้องการของมาสโลว์ ที่อธิบายว่ามนุษย์มีลำดับขั้นของความต้องการที่ต้องได้รับเติมเต็ม บัตรเครดิต KTC ก็พร้อมเป็นตัวช่วยให้คุณก้าวไปสู่ทุกเป้าหมายได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าคุณจะอยู่ในขั้นไหนของความต้องการ
ไม่ว่าจะเป็นความต้องการพื้นฐานทางกายภาพ ที่คุณสามารถใช้บัตรเครดิต KTC ซื้อของกินของใช้อย่างได้สะดวกสบาย ใช้จ่ายได้อย่างคล่องตัว พร้อมโปรโมชั่นผ่อน 0% หรือหากคุณต้องการบัตรเครดิตที่มีความปลอดภัย บัตรเครดิต KTC ก็มีระบบรักษาความปลอดภัยสูง ให้คุณมั่นใจทุกการทำธุรกรรม หรือหากคุณต้องการด้านความเคารพนับถือ บัตรเครดิต KTC ก็มอบสิทธิพิเศษ เช่น เข้าใช้บริการเลาจน์สนามบิน หรือให้คุณช้อปกับแบรนด์หรูได้แบบสบายๆ
สมัครบัตรเครดิต KTC ออนไลน์ได้เลยวันนี้ ทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง
ใช้จ่าย คุ้มค่า นึกถึงบัตรเครดิต KTC