เมื่อพูดถึงเรื่องเงินบำเหน็จตกทอด หลายคนอาจสงสัยว่าเงินบำเหน็จตกทอด คืออะไร มีวิธีการคำนวณอย่างไร และใครมีสิทธิ์ได้รับบ้าง? วันนี้เราจะพาคุณไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับเงินบำเหน็จตกทอด พร้อมคำแนะนำที่เป็นประโยชน์ เพื่อช่วยให้คุณจัดการเรื่องนี้ได้อย่างถูกต้องและวางแผนการเงินในอนาคตได้ดียิ่งขึ้น
บําเหน็จตกทอด คืออะไร ?
บำเหน็จตกทอด คือ เงินที่จ่ายให้แก่ทายาทโดยจ่ายครั้งเดียว ในกรณีที่สมาชิกหรือผู้รับบำนาญถึงแก่ความตาย (มาตรา 3
พ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2539)
อธิบายให้เข้าใจโดยง่ายก็คือ เป็นเงินก้อนที่รัฐจัดสรรให้แก่ทายาทหรือบุคคลที่มีสิทธิ์ เมื่อ ข้าราชการ ทหารกองหนุนมีเบี้ยหวัด หรือผู้รับบำนาญเสียชีวิต โดยเงินบำเหน็จตกทอดนี้ เป็นเงินสะสมจากการทำงาน ซึ่งเป็นสิทธิ์ที่ระบุไว้ในกฎหมายหรือข้อบังคับของหน่วยงานต้นสังกัด ทั้งนี้ บำเหน็จตกทอดมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของครอบครัวผู้เสียชีวิตนั่นเอง
บำเหน็จตกทอด แบ่งอย่างไร ?
บำเหน็จตกทอด แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
- บำเหน็จตกทอดกรณีข้าราชการประจำหรือทหารกองทุนมีเบี้ยหวัดถึงแก่ความตาย หมายถึง ข้าราชการตายในระหว่างรับราชการ หรือทหารกองหนุนมีเบี้ยหวัดตาย ถ้าความตายนั้นมิได้เกิดขึ้นจากการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงของตนเอง
- บำเหน็จตกทอดกรณีผู้รับบำนาญถึงแก่ความตาย หมายถึง ผู้รับบำนาญปกติ หรือผู้มีสิทธิ์จะได้รับบำนาญปกติ หรือผู้รับบำนาญพิเศษเหตุทุพพลภาพถึงแก่ความตาย ให้จ่ายบำเหน็จตกทอดเป็นจำนวน 30 เท่าของบำนาญรายเดือนที่ได้รับหรือมีสิทธิ์ได้รับนั้น รวมเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ หรือ ช.ค.บ. (ไม่รวมเงินเพิ่มอื่นๆ)
บําเหน็จตกทอด คิดยังไง ได้เท่าไหร่ ?
1. กรณีข้าราชการประจำหรือทหารกองหนุนมีเบี้ยหวัดถึงแก่ความตาย
สูตรคำนวณ
บำเหน็จตกทอด = เงินเดือนเดือนสุดท้าย x เวลาราชการ (ปี)
- สำหรับผู้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิก กบข. : เวลาราชการ เศษของปี ถ้าถึง 6 เดือน ให้นับเป็นหนึ่งปี
- สำหรับสมาชิก กบข. : เวลาราชการ เศษของปี ให้นับเป็นเดือนและวัน
- สำหรับทหารกองหนุนมีเบี้ยหวัด : เงินเดือนเดือนสุดท้าย หมายถึง เงินเดือนเดือนสุดท้ายก่อนออกรับเบี้ยหวัด (หากมีการปรับเงินเดือนตามมติคณะรัฐมนตรี ให้ปรับฐานเงินเดือนเช่นเดียวกับการขอรับบำเหน็จบำนาญย้ายประเภท)
2. กรณีผู้รับบำนาญตาย
สูตรคำนวณ (ผู้รับบำนาญตายก่อนวันที่ 1 ก.พ. 2551)
บำเหน็จตกทอด = บำนาญ x 30 - บำเหน็จดำรงชีพที่ได้รับไปแล้ว
สูตรคำนวณ (ผู้รับบำนาญตายตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 2551 เป็นต้นไป)
บำเหน็จตกทอด = (บำนาญ + ช.ค.บ.) x 30 - บำเหน็จดำรงชีพที่ได้รับไปแล้ว
สำหรับการคำนวณเงินบำเหน็จตกทอดรายใด ได้ผลเป็นยอดเงินบำเหน็จตกทอดไม่ถึง 3,000 บาท ให้จ่ายเป็นเงินบำเหน็จตกทอด 3,000 บาท
บําเหน็จตกทอด ระบุผู้รับได้ไหม ?
เงินบําเหน็จตกทอด ระบุผู้รับได้ไหม ? คำตอบก็คือ “ได้” และหากสงสัยว่าบําเหน็จตกทอด แบ่ง อย่างไร คำตอบก็คือ สามารถแบ่งตามลำดับได้ ดังนี้
- บุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย (1 - 2 คน = 2 ส่วน ถ้า 3 คนขึ้นไป = 3 ส่วน)
- คู่สมรส 1 ส่วน
- บิดาหรือมารดาโดยชอบด้วยกฎหมาย ฝ่ายละ 1 ส่วน
- กรณีไม่มีทายาทในลำดับที่ 1 - 3 เลยแม้แต่คนเดียว ให้จ่ายให้แก่บุคคลที่มีชื่อในหนังสือแสดงเจตนาระบุตัวผู้รับบำเหน็จตกทอด
- กรณีไม่มีทายาทในลำดับที่ 1 - 3 เลยแม้แต่คนเดียว และไม่มีบุคคลที่มีชื่อในหนังสือแสดงเจตนาระบุตัวผู้รับบำเหน็จตกทอด ให้เงินบำเหน็จตกทอดตกเป็นของแผ่นดิน (มาตรา 48 พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 และ มาตรา 58 พ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2539)
บําเหน็จตกทอด คือ เงินที่จ่ายให้แก่ทายาท เพียงครั้งเดียว ในกรณีผู้รับบำนาญเสียชีวิต
บําเหน็จตกทอด กี่วันได้ ?
ระยะเวลาในการได้รับบำเหน็จตกทอดจะขึ้นอยู่กับขั้นตอนการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยทั่วไปจะใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 30-90 วัน นับตั้งแต่วันที่ยื่นเอกสารครบถ้วน
ขั้นตอนการยื่นขอรับบำเหน็จตกทอด
สำหรับข้าราชการ/ข้าราชการบำนาญเสียชีวิต ให้ทายาทผู้เสียชีวิตหรือผู้มีสิทธิ์ไปยื่นเรื่องต่อหน่วยงานต้นสังกัดเพื่อกรอกแบบคำขอรับบำนาญพิเศษและหรือบำเหน็จตกทอดกรณีถึงแก่ความตาย (แบบ 5309) และให้ทายาทหรือผู้มีสิทธิ์รับเงิน ลงลายมือชื่อต่อเจ้าหน้าที่จำนวน 2 ชุด พร้อมแนบเอกสารหลักฐานประกอบการขอรับเงินด้วย ดังนี้
- เอกสารของผู้ตาย (จำนวนอย่างละ 2 ชุด)
- สำเนาบัตรประชาชน หรือ บัตรข้าราชการ
- สำเนาใบมรณะบัตร
- สำเนาเปลี่ยนชื่อ - นามสกุล (ถ้ามี)
- สำเนาทะเบียนบ้าน
- เอกสารของคู่สมรส (จำนวนอย่างละ 2 ชุด)
- สำเนาบัตรประชาชน
- สำเนาทะเบียนบ้าน
- สำเนาใบทะเบียนสมรส (ก่อน พ.ศ. 2478 หนังสือรับรอง)
- สำเนาเปลี่ยนชื่อ - นามสกุล (ถ้ามี)
- สำเนาใบหย่า (ถ้ามี)
- สำเนาใบมรณะบัตรของคู่สมรส หรือหนังสือรับรองการเสียชีวิต
- สำเนาบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์/กระแสรายวัน
- เอกสารของบุตร (จำนวนอย่างละ 2 ชุด)
- สำเนาบัตรประชาชน
- สำเนาทะเบียนบ้าน
- สำเนาใบทะเบียนสมรส (กรณีเป็นบุตรสาว)
- สำเนาเปลี่ยนชื่อ - นามสกุล (ถ้ามี)
- สำเนาใบหย่า (ถ้ามี)
- สำเนาใบมรณะบัตรของบุตร หรือหนังสือรับรองการเสียชีวิต
- สำเนาทะเบียนหนังสือรับรองบุตร (ถ้ามี)
- คำสั่งตั้งผู้ปกครอง (ถ้ามี)
- สำเนาบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์/กระแสรายวัน
- เอกสารของบิดา-มารดาของผู้ตาย (จำนวนอย่างละ 2 ชุด)
- สำเนาบัตรประชาชนบิดา-มารดา
- สำเนาทะเบียนบ้าน
- สำเนาใบทะเบียนสมรส (กรณีเป็นบุตรสาว)
- สำเนาเปลี่ยนชื่อ - นามสกุล (ถ้ามี)
- สำเนาใบมรณะบัตรของบิดา-มารดา หรือหนังสือรับรองการเสียชีวิต
- สำเนาบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์/กระแสรายวัน
หมายเหตุ :
- กรณีข้าราชการเสียชีวิต ให้ทายาททุกคนแนบเอกสารบันทึกการสอบสวน (ปค.14) ด้วย
- หนังสือรับรองการเสียชีวิต ผู้รับรองจะต้องเป็นบุคคลที่เชื่อถือได้ ทั้งนี้ให้แนบเอกสารพร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง ดังนี้
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรข้าราชการ จำนวน 2 ชุด
- สำเนาทะเบียนบ้าน จำนวน 2 ชุด
บำเหน็จตกทอด คือเงินที่จะช่วยดูแลและแบ่งเบาภาระของครอบครัวข้าราชการที่เสียชีวิต แต่การเตรียมแผนสำรองทางการเงินไว้ล่วงหน้าก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะในบางครั้ง ค่าใช้จ่ายที่ไม่คาดคิดอาจเกิดขึ้นก่อนเงินก้อนนี้จะถูกโอนเข้าบัญชี
การมีตัวช่วยทางการเงินที่ดีอย่าง บัตรเครดิต KTC จะช่วยให้คุณจัดการค่าใช้จ่ายต่างๆ ในชีวิตประจำวันได้สะดวกขึ้น ทั้งโปรโมชั่นผ่อน 0% หรือสะสมคะแนน KTC FOREVER สามารถนำคะแนนมาแลกเป็นส่วนลด เครดิตเงินคืน และสิทธิพิเศษมากมาย สมัครบัตรเครดิต KTC ผ่านออนไลน์ได้แล้ววันนี้ ได้ทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง
ใช้จ่าย คุ้มค่า นึกถึงบัตรเครดิต KTC