ว่าด้วยเรื่องการเสียภาษี ที่ใครหลายคนโดยเฉพาะผู้ที่กำลังก้าวเข้าสู่ วัยทำงาน อาจจะยังขาดความเข้าใจในเรื่องนี้ ซึ่งตามกฎหมายนั้น ประชาชนชาวไทยผู้มีเงินได้ทุกคน มีหน้าที่ในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ โดยเมื่อเราเป็นผู้มีรายได้ระหว่างปีที่ผ่านมา เราจะเรียกสิ่งนี้ว่า “การเสียภาษี” ฉะนั้น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนในวัยทำงานควรทำความเข้าใจ แม้จะดูเป็นเรื่องยุ่งยากและซับซ้อน แต่หากเข้าใจหลักการพื้นฐาน ก็จะช่วยให้เราสามารถวางแผนการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น วันนี้ KTC จะมาสรุปเรื่องที่ต้องรู้เกี่ยวกับ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แบบง่าย ๆ ให้ทราบกัน
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คืออะไร
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาคือ ภาษีที่จัดเก็บจากบุคคลทั่วไปที่มีเงินได้
ไม่ว่าประเภทใดหรือชนิดใด ซึ่งผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ได้แก่ ผู้ที่มีเงินได้เกิดขึ้นระหว่างปีที่ผ่านมาโดยมีสถานะ อย่างหนึ่งอย่างใด ได้แก่
- บุคคลธรรมดา
- ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล
- ผู้ถึงแก่ความตายระหว่างปีภาษี
- กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง
- วิสาหกิจชุมชน ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน เฉพาะที่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คือ ภาษีที่จัดเก็บจากบุคคลทั่วไปที่มีเงินได้ ไม่ว่าประเภทใด หรือชนิดใด
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา มีกี่ประเภท
เงินได้ ที่บุคคลธรรมดาอย่างเรานั้นจะต้องเสียภาษีเงินได้ มีทั้งหมดอยู่ 8 ประเภทด้วยกัน ดังนี้
- เงินได้ประเภทที่ 1 หรือ เงินได้ตามมาตรา 40(1) ได้แก่ เงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน หรือก็คือไม่ว่าจะเป็น เงินเดือน ค่าจ้าง เบี้ยเลี้ยง โบนัส เบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ
- เงินได้ประเภทที่ 2 หรือ เงินได้ตามมาตรา 40(2) คือ เงินที่ได้การทำงานโดยไม่ได้เป็นลูกจ้าง เช่น เงินที่ได้จากการเป็นวิทยากร ค่าคอมมิชชั่น ค่าจ้างงานอิสระ
- เงินได้ประเภทที่ 3 หรือ เงินได้ตามมาตรา 40(3) คือ เงินที่ได้จากค่าลิขสิทธิ์หรือค่าสิทธิ์อย่างอื่น เช่น เงินจากพินัยกรรมหรือนิติกรรม เงินค่าตอบแทนทรัพย์สินทางปัญญา (Goodwill)
- เงินได้ประเภทที่ 4 หรือ เงินได้ตามมาตรา 40(4) คือ เงินที่ได้จากการลงทุน เช่น ดอกเบี้ยเงินฝาก เงินปันผล รวมถึงคริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) ต่าง ๆ ด้วย
- เงินได้ประเภทที่ 5 หรือ เงินได้ตามมาตรา 40(5) คือ เงินที่ได้จากการให้เช่าทรัพย์สินในรูปแบบต่าง ๆ
- เงินได้ประเภทที่ 6 หรือ เงินได้ตามมาตรา 40(6) คือ รายได้จากการประกอบวิชาชีพอิสระ ซึ่งตามกฎหมายจะประกอบไปด้วย 5 อาชีพหลักคือ แพทย์และพยาบาลประกอบโรคศิลปะ ประณีตศิลป์ สถาปนิก ทนายความและวิศวกร
- เงินได้ประเภทที่ 7 หรือ เงินได้ตามมาตรา 40(7) คือ เงินได้จากการรับเหมาที่ผู้รับเหมาต้องลงทุนด้วยการจัดหาสัมภาระ เช่น รับเหมาก่อสร้าง รับผลิตสินค้าตามสั่ง
- เงินได้ประเภทที่ 8 หรือ เงินได้ตามมาตรา 40(8) เป็นเงินได้ที่ไม่ใช่ 40(1) – 40(7) เช่น เงินจากการธุรกิจพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรมและการขนส่ง
ซึ่งตามรายได้ประเภทต่างๆ เหล่านี้ ผู้มีเงินได้จำเป็นที่จะต้องยื่นภาษี โดยมีเกณฑ์เงินได้พึงประเมินขั้นต่ำที่ผู้มีเงินได้ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษี โดยหากเราเป็นมนุษย์เงินเดือนที่รับเงินเดือนจากบริษัทก็จะแบ่งเป็นคนโสดและผู้ที่สมรสแล้ว มีรายได้เกินนี้ จำเป็นต้องยื่นภาษี
คนโสด |
||
ประเภทเงินได้ |
รายได้ต่อเดือน |
รายได้ทั้งปี |
เงินเดือน |
10,000 บาท |
120,000 บาท |
เงินได้ประเภทอื่นๆ |
5,000 บาท |
60,000 บาท |
ผู้ที่สมรสแล้ว |
||
ประเภทเงินได้ |
รายได้ต่อเดือน |
รายได้ทั้งปี |
เงินเดือน |
18,333 บาท |
222,000 บาท |
เงินได้ประเภทอื่นๆ |
10,000 บาท |
120,000 บาท |
บุคคลธรรมดาต้องยื่นแบบภาษีเมื่อไร
เมื่อเราเห็นได้ชัดว่า เราเป็นมนุษย์เงินเดือนที่มีเงินได้ ก็ต้องเข้าสู่กระบวนการยื่นแบบแสดงรายการรายได้ ซึ่งในปัจจุบันเราสามารถยื่นผ่านออนไลน์ที่ได้ https://efiling.rd.go.th/rd-cms/
โดยจะยื่นปีละ 1 ครั้ง ภายในวันที่ 31 มีนาคมหรือตามที่กำหนด ของปีถัดไป
แต่ถ้าเงินได้บางลักษณะ เช่น การให้เช่าทรัพย์สิน เงินได้จากวิชาชีพอิสระ เงินได้จากการรับเหมา เงินได้จากธุรกิจ การพาณิชย์ เป็นต้น จะต้องยื่นแบบฯ ตอนกลางปี (สำหรับเงินได้ที่เกิดขึ้นใน 6 เดือนแรก ภายในเดือนกันยายนของทุกปี)
รายได้เท่านี้เสียภาษีเท่าไหร่? ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ขั้นบันได คืออะไร
รายได้เท่าไหร่ถึงต้องยื่นเสียภาษี อธิบายอย่างง่ายๆ คือ บุคคลที่มีเงินได้สุทธิ ไม่เกิน 150,000 บาท “ต้องยื่นภาษี แต่ไม่ต้องเสียภาษีเพราะรายได้ไม่ถึงเกณฑ์” นั่นหมายความว่า บุคคลที่มีเงินได้สุทธิ ตั้งแต่ 150,001 บาทขึ้นไปนั้น “ต้องเสียภาษี” ซึ่งแน่นอนว่า เมื่อมีรายได้ที่สูงขึ้น การคิดภาษีบุคคลธรรมดาก็จะสูงขึ้นตามลำดับขั้นที่กำหนดเอาไว้ด้วย โดยมีอัตรากำหนดไว้แบบขั้นบันได ตามตารางด้านล่างนี้
ยอดรายได้รวม (บาท/ปี) |
อัตราภาษี |
ต่ำกว่า 150,000 |
ได้รับการยกเว้น |
150,001 – 300,000 |
5% |
300,001 – 500,000 |
10% |
500,001 – 750,000 |
15% |
750,001 – 1,000,000 |
20% |
1,000,001 – 2,000,000 |
25% |
2,000,001 – 5,000,000 |
30% |
5,000,001 ขึ้นไป |
35% |
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คำนวณอย่างไร
อย่างที่เห็นไปข้างต้นว่า ยิ่งมีเงินได้มากขึ้นเท่าไหร่ ภาษีก็ยิ่งสูงขึ้นตามลำดับขั้นบันได ทั้งนี้ สามารถคำนวณหาจำนวนภาษีตาม วิธีคิดอัตราภาษีเงินได้แบบขั้นบันไดได้ ดังนี้
ยอดรายได้รวม (บาท/ปี) |
อัตราภาษี |
ภาษีที่ต้องจ่าย (บาท) |
ต่ำกว่า 150,000 |
ได้รับการยกเว้น |
0 |
150,001 – 300,000 |
5% |
(เงินได้สุทธิ – 150,000) x5% |
300,001 – 500,000 |
10% |
[ (เงินได้สุทธิ – 300,000) x10% ] + 7,500 |
500,001 – 750,000 |
15% |
[ (เงินได้สุทธิ – 500,000) x15% ] + 27,500 |
750,001 – 1,000,000 |
20% |
[ (เงินได้สุทธิ – 750,000) x20% ] + 65,000 |
1,000,001 – 2,000,000 |
25% |
[ (เงินได้สุทธิ – 1,000,000) x25% ] + 115,000 |
2,000,001 – 5,000,000 |
30% |
[ (เงินได้สุทธิ – 2,000,000) x30% ] + 365,000 |
5,000,001 ขึ้นไป |
35% |
[ (เงินได้สุทธิ – 5,000,000) x35% ] + 1,265,000 |
ตัวอย่างการคำนวณกรณีมีรายได้รวม 530,000 บาท/ปี
สูตรการคำนวณ
ภาษีที่ต้องจ่าย = [(เงินได้สุทธิ - เงินได้สุทธิสูงสุดขั้นก่อนหน้า) x อัตราภาษี] + ภาษีขั้นก่อนหน้า
ตัวอย่าง
[(530,000 - 500,000) x 15%] + 27,500
= 32,000 บาท
ฉะนั้น หากคุณพอจะรู้แล้วว่า เงินได้ของเราในแต่ละปีอยู่ที่ประมาณเท่าไร อยู่ขั้นบันไดไหน และต้องเสียภาษีในอัตราภาษีกี่เปอร์เซ็นต์ ก็จะทำให้เราสามารถวางแผนลดหย่อนได้ ซึ่งเป็นส่วนที่ไม่ควรจะเสียไปโดยเปล่าประโยชน์ ยิ่งสำหรับคนที่มีฐานเงินได้ค่อนข้างสูง ทำให้ต้องวางแผนด้านภาษี เพื่อหาวิธีลดหย่อนภาษีที่ช่วยทำให้จ่ายภาษีน้อยลง ไม่ว่าจะเป็น ค่าลดหย่อนพื้นฐาน ค่าลดหย่อน/ยกเว้น ด้านการออมและการลงทุน อาทิ ประกันสังคม เงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เบี้ยประกันชีวิต เบี้ยประกันสุขภาพ เบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดา ค่าซื้อหน่วยลงทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) และอื่นๆ ซึ่งผู้เสียภาษีจำเป็นต้องศึกษาให้ดี
ยื่นภาษี ต้องจัดเตรียมเอกสารอะไรบ้าง
เมื่อได้จำนวณภาษีที่ต้องจ่ายแล้ว คุณสามารถยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด.90, 91 ผ่านทางออนไลน์ ได้เลยที่ https://efiling.rd.go.th/rd-cms/ โดยจะยื่นปีละ 1 ครั้ง ภายในวันที่ 31 มีนาคมหรือตามที่กำหนด ของปีถัดไป และมีเอกสารที่ต้องเตรียมไว้ มีดังนี้
- เอกสารแสดงรายได้ ได้แก่ หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (50 ทวิ) จากนายจ้าง
- รายการลดหย่อนภาษีที่รวบรวมไว้ตลอดทั้งปี เช่น ค่าเลี้ยงดูบิดามารดา บุตร เป็นต้น
- เอกสารประกอบการลดหย่อนภาษี เพื่อนำมาใช้กรอกแบบฟอร์มยื่นภาษี เช่น ค่าลดหย่อนเลี้ยงดูบิดามารดา จำนวณเงินที่ซื้อกองทุน หนังสือรับรองการชำระเบี้ยประกันชีวิต เบี้ยประกันสุขภาพ หรือ ค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าและบริการและสิทธิลดหย่อนจากโครงการรัฐบาล ถ้ามีโครงการจากรัฐบาลในปีนั้นๆ เป็นต้น
ตรวจสอบสถานะภาษีอย่างไร
เมื่อเรายื่นภาษีเรียบร้อยแล้ว หากเราจำเป็นต้องจ่ายภาษีเพิ่ม ระบบก็จะแจ้งให้คุณเสียภาษีเพิ่มผ่านช่องทางต่างๆ รวมไปถึงระยะเวลาที่จะต้องชำระเพิ่มให้เรียบร้อย แต่หากเราได้เงินภาษีคืน ก็สามารถเช็คการขอคืนภาษี ภ.ง.ด.90/ภ.ง.ด.91 ได้ง่ายๆ จากขั้นตอนต่อไปนี้
- เข้าไปที่เว็บไซต์กรมสรรพากร https://www.rd.go.th/272.html
- คลิกที่ ตรวจสอบข้อมูลทางภาษี (My Tax Account)
- กรอกข้อมูล เพื่อเข้าสู่ระบบ
- ก็สามารถเข้าสู่ระบบ เพื่อติดตามสถานะขอคืน นำส่งเอกสารเพิ่มเติม และ พิมพ์แบบหรือใบเสร็จได้ทันที
เพราะภาษีนั้นเป็นเรื่องใกล้ตัว เป็นหน้าที่ของเราทุกคนที่จะต้องทำความเข้าใจในการยื่นภาษีที่ถูกต้องต่อกรมสรรพากร ทั้งนี้ นี่คือการบริหารเรื่องภาษียังเป็นทักษะสำคัญที่จะช่วยให้คุณบริหารการเงินได้อย่างชาญฉลาดอีกด้วย โดยหลักสำคัญง่ายๆ ที่คุณควรคำนึงเลยก็คือ การคำนวณเงินได้สุทธิอย่างถูกต้อง ยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีตรงตามกำหนดเวลา เก็บเอกสารหลักฐานทางการเงินไว้อย่างเป็นระบบ ติดตามการเปลี่ยนแปลงกฎหมายภาษีอย่างสม่ำเสมอ และ ใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีให้เต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อประกันและกองทุนต่างๆ ทั้งนี้ ก็อย่าลืมนำบัตรเครดิต KTC มาช่วยในการลดหย่อนของคุณ ทั้งการซื้อประกันจากตัวแทนชั้นนำที่เชื่อถือได้ และกองทุนต่างๆ เพื่อรับสิทธิประโยชน์มากมาย
ใช้จ่าย คุ้มค่า นึกถึงบัตรเครดิต KTC