การทำงานที่ต้องเผชิญกับความท้าทาย และการเปลี่ยนแปลงของข้อมูล เทคโนโลยี และอื่นๆ อย่างรวดเร็วแบบทุกวันนี้ การมีทักษะที่ช่วยในการคิดวิเคราะห์ และตัดสินใจได้อย่างมีเหตุผลจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะ Critical Thinking หรือทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ ซึ่งเป็นทักษะที่สามารถช่วยในการตัดสินใจที่ดีที่สุดเมื่อต้องเจอสถานการณ์ที่ซับซ้อน และไม่แน่นอน ดังนั้นในบทความนี้จะมาพูดถึงความหมายของ Critical Thinking คืออะไร วิธีการพัฒนาทักษะนี้ ตลอดจนรายละเอียดของ Critical Thinking มีอะไรบ้าง และความสำคัญของทักษะนี้ เพื่อนำไปปรับใช้ในการทำงาน
Critical Thinking คืออะไร ?
Critical Thinking คือการคิดเชิงวิพากษ์ เป็นทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณโดยใช้เหตุผล หลักการ และการประเมินข้อมูลอย่างรอบคอบจากหลากหลายมุมมอง ซึ่งเป็นหนึ่งในทักษะที่สำคัญของศตวรรษที่ 21 ซึ่งช่วยให้บุคคลสามารถวิเคราะห์ แก้ปัญหา และตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยทักษะนี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่การตัดสินใจในเรื่องสำคัญๆ เท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เราสามารถค้นหาข้อสรุปที่ดีที่สุดจากข้อมูลที่มีอยู่ ตลอดจนช่วยให้สามารถประเมินสถานการณ์อย่างเป็นกลางและปราศจากอคติ การวิเคราะห์ข้อเท็จจริง และการตัดสินใจโดยปราศจากอคติหรือความรู้สึกส่วนตัว
การพัฒนาทักษะการคิดเชิงวิพากษ์เป็นกระบวนการต่อเนื่องที่ช่วยให้เราสามารถตัดสินใจได้อย่างฉลาด แก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
Critical Thinking มีอะไรบ้าง ?
องค์ประกอบหลักของการคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking Elements) มีดังนี้
1. การให้เหตุผลเชิงตรรกะ (Logical Reasoning)
การคิดเชิงวิพากษ์ต้องอาศัยตรรกะและเหตุผลรอบด้านที่ถูกต้อง ไม่ใช่แค่เชื่อเพราะใครๆ ก็พูดแบบนี้กัน หรือเชื่อตามอารมณ์ ความรู้สึก แต่ต้องสามารถเชื่อมโยงข้อเท็จจริง ระบุจุดแข็งและจุดอ่อนของข้อโต้แย้งเหล่านั้น วิเคราะห์หลักฐาน และแยกแยะข้อมูลที่มีน้ำหนักออกจากข้อมูลที่อาจเป็นเพียงความคิดเห็นหรือข่าวลือ
2. การเชื่อมโยงข้อมูล (Information Linkage)
การคิดเชิงวิพากษ์ต้องอาศัยการมองเห็นภาพรวม เชื่อมโยงข้อมูลจากหลายแหล่ง และเข้าใจว่าสิ่งต่างๆ มีความสัมพันธ์กันอย่างไร ไม่ใช่แค่โฟกัสที่รายละเอียดเล็กๆ แต่ต้องสามารถสังเคราะห์ข้อมูลและหาความเชื่อมโยงที่ซ่อนอยู่ได้ ยกตัวอย่างเช่น ข่าวสองแหล่งให้ข้อมูลขัดแย้งกัน เราจะหาความจริงได้อย่างไร, สถานการณ์นี้คล้ายกับเหตุการณ์ในอดีตหรือไม่ และมีบทเรียนอะไรที่นำมาแก้ไขปัญหาได้
3. การแก้ปัญหาอย่างมีระบบ (Structured Problem Solving)
การแก้ปัญหาที่ดีต้องมีโครงสร้างชัดเจน ไม่ใช่แค่แก้แบบเฉพาะหน้า แต่ต้องคิดวิเคราะห์ หาสาเหตุที่แท้จริงของปัญหา และพิจารณาทางเลือกต่างๆ ก่อนตัดสินใจ โดยจะต้องระบุปัญหาให้ชัดเจน รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล คิดหาทางเลือกในการแก้ปัญหา ประเมินข้อดีข้อเสียของแต่ละทางเลือก และเลือกวิธีที่ดีที่สุดเพื่อนำไปใช้แก้ปัญหา
4. การเข้าใจอคติ (Understanding Biases)
อคติเป็นศัตรูตัวฉกาจของการคิดเชิงวิพากษ์ เพราะทำให้เรามองข้อมูลแบบมีความลำเอียง การฝึกตระหนักรู้ถึงอคติของตัวเองและของผู้อื่น จะช่วยให้เราประเมินข้อมูลได้อย่างเป็นกลาง ยกตัวอย่างอคติที่พบบ่อย เช่น การเลือกเชื่อเฉพาะข้อมูลที่ตรงกับความคิดของตนเอง การให้ความสำคัญกับข้อมูลที่นึกออกง่าย เช่น ข่าวที่เพิ่งเห็น การเห็นด้วยตามความเห็นของกลุ่มคนส่วนใหญ่โดยไม่คิดวิเคราะห์ข้อเท็จจริงก่อน
5. การตัดสินใจ (Decision Making)
การคิดเชิงวิพากษ์ช่วยให้เราตัดสินใจได้อย่างมีเหตุผล โดยไม่ใช้อารมณ์นำ ซึ่งการตัดสินใจที่ดีต้องผ่านการพิจารณาข้อมูลหลักฐาน วิเคราะห์ความเสี่ยง และคำนึงถึงผลกระทบในระยะยาว เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้
6. การมีความคิดสร้างสรรค์และความอยากรู้อยากเห็น (Creativity & Curiosity)
การคิดเชิงวิพากษ์ไม่ได้เป็นแค่การวิเคราะห์ข้อมูลเท่านั้น แต่ยังต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์และความอยากรู้อยากเห็นเพื่อหาทางออกใหม่ๆ หรือมุมมองที่แตกต่าง การฝึกตั้งคำถามว่า ถ้าทำตรงข้ามล่ะ ? หรือ มีวิธีที่ดีกว่านี้ไหม ? จะช่วยให้เราไม่ยึดติดกับกรอบเดิมๆ
ประโยชน์ของการมีทักษะ Critical Thinking
การมี Critical Thinking คือสิ่งที่จะช่วยสร้างความได้เปรียบทั้งในชีวิตประจำวันและการทำงาน เพราะช่วยให้เราสามารถตัดสินใจ แก้ปัญหา และสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยประโยชน์หลักๆ ของทักษะ Critical Thinking มีดังนี้
1. ช่วยให้ตัดสินใจได้ดีขึ้นและลดความเสี่ยงในการผิดพลาด
Critical Thinking คือทักษะที่ช่วยให้เราสามารถประเมินข้อมูล วิเคราะห์ข้อเท็จจริง และพิจารณาทางเลือกต่างๆ อย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจ ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงจากการตัดสินใจผิดพลาด เพราะเราจะไม่รีบสรุป หรือใช้เพียงอารมณ์และความรู้สึก ในการตัดสินใจ แต่จะใช้ข้อมูลและเหตุผลเป็นหลัก
2. สร้างแนวคิดใหม่ๆ และมุมมองที่กว้างขึ้น
การคิดเชิงวิพากษ์จะช่วยให้เราสามารถมองเห็นปัญหาหรือสถานการณ์จากหลายมุมมอง ทำให้สามารถคิดนอกกรอบและพัฒนาแนวคิดใหม่ๆ ได้ง่ายขึ้น สิ่งนี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในสายงานที่ต้องการความคิดสร้างสรรค์ เช่น ครีเอทีฟ การตลาด การออกแบบ
3. เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและแก้ปัญหาได้ดีขึ้น
Critical Thinking เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เราสามารถ วิเคราะห์ปัญหาและหาทางออกได้เร็วและมีประสิทธิภาพ แทนที่จะมองปัญหาเพียงผิวเผินหรือแก้ไขแบบชั่วคราว โดยทักษะนี้จะช่วยให้เราค้นหา สาเหตุที่แท้จริงของปัญหา และเลือกวิธีแก้ไขที่เหมาะสมที่สุดได้
4. พัฒนาทักษะการสื่อสารและการโน้มน้าวใจ
การคิดเชิงวิพากษ์ช่วยให้เราสามารถอธิบายความคิดเห็นและเหตุผลได้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการประชุม การนำเสนอ หรือการเจรจาต่อรอง เมื่อเราสามารถเรียบเรียงแนวคิดได้อย่างมีเหตุผลและเป็นลำดับ จะช่วยให้ผู้อื่นเข้าใจและเห็นด้วยกับสิ่งที่เรานำเสนอมากขึ้น
5. ป้องกันการถูกชักจูงหรือหลอกลวงได้ง่าย
ปัจจุบันนี้มีข้อมูลและข่าวปลอมแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ทักษะ Critical Thinking นี้จะเป็นเกราะป้องกันสำคัญที่ช่วยให้เราสามารถแยกแยะข่าวจริงกับข่าวปลอมได้ จากการวิเคราะห์แหล่งที่มาของข้อมูล รวมถึงพิจารณาความน่าเชื่อถือของสิ่งที่เราอ่านหรือสิ่งที่เราได้ยิน
6. เสริมสร้างความมั่นใจและความสามารถในการเผชิญปัญหา
เมื่อเราสามารถคิดวิเคราะห์และตัดสินใจได้ดีขึ้น เราก็จะมีความมั่นใจมากขึ้นในการเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่ซับซ้อนหรือท้าทาย โดยทักษะนี้จะช่วยให้เรามีความสามารถในการควบคุมสถานการณ์ และจัดการกับปัญหาได้ดีและมีประสิทธิภาพ
7. ช่วยพัฒนาทักษะการทำงานเป็นทีม
การทำงานร่วมกับผู้อื่นต้องอาศัยการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างมีเหตุผล ซึ่งทักษะ Critical Thinking คือสิ่งที่จะช่วยให้เราสามารถ ฟังความคิดเห็นของผู้อื่นอย่างเปิดใจ รู้จักตั้งคำถามอย่างเหมาะสม และร่วมมือกันหาทางแก้ไขปัญหาโดยใช้เหตุผลเป็นหลัก
ลักษณะการตั้งคำถามแบบ Critical Thinking
การตั้งคำถามเป็นหัวใจสำคัญของ Critical Thinking เพราะช่วยให้เราสามารถวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างรอบด้าน และตัดสินใจบนพื้นฐานของเหตุผลแทนที่จะใช้อารมณ์หรือความรู้สึกส่วนตัว การตั้งคำถามโดยใช้หลัก 5W1H (Who, What, Where, When, Why, How) เป็นแนวทางที่ช่วยให้เราลงลึกไปในประเด็นต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น ดังนี้
1. Who : ใครเป็นคนพูดหรือเกี่ยวข้องในเรื่องนี้
- ใครเป็นคนให้ข้อมูลนี้และเป็นแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือหรือไม่
- ใครเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้
- มีบุคคลหรือกลุ่มใดที่มีส่วนได้เสียในข้อมูลหรือสถานการณ์นี้หรือไม่
2. What : พูดเรื่องอะไร
- หัวข้อหลักของเรื่องนี้คืออะไร
- ข้อมูลที่ได้รับเป็นข้อเท็จจริงหรือความคิดเห็น
- มีหลักฐานหรือข้อมูลสนับสนุนที่ชัดเจนหรือไม่
3. Where : พูดหรือได้รับข้อมูลมาจากที่ไหน
- ข้อมูลนี้มาจากแหล่งข่าวใด เป็นแหล่งที่น่าเชื่อถือหรือไม่
- มีการพูดถึงเรื่องนี้ในที่สาธารณะ ที่ประชุม หรือเป็นการส่งต่อกันมาโดยไม่มีแหล่งอ้างอิงที่แน่ชัด
- สถานที่หรือบริบทของเหตุการณ์มีผลต่อความน่าเชื่อถือของข้อมูลหรือไม่
4. When : พูดหรือได้รับข้อมูลมาเมื่อไหร่
- ข้อมูลนี้เป็นข้อมูลเก่าหรือใหม่ ยังคงมีความเกี่ยวข้องในปัจจุบันหรือไม่
- ระยะเวลาของเหตุการณ์มีผลต่อการตีความหรือไม่
- เวลาที่ข้อมูลถูกเผยแพร่มีจุดประสงค์แอบแฝงหรือไม่
5. Why : พูดหรือส่งข้อมูลมาเพื่ออะไร
- ทำไมผู้ให้ข้อมูลถึงเลือกนำเสนอเรื่องนี้
- ข้อมูลนี้มีจุดประสงค์เพื่อแจ้งข่าวสาร ให้ความรู้ หรือจูงใจให้เกิดพฤติกรรมบางอย่าง
- มีผลประโยชน์หรืออคติที่ซ่อนอยู่ในการนำเสนอข้อมูลหรือไม่
6. How : พูดหรือส่งข้อมูลมาอย่างไร
- วิธีการนำเสนอข้อมูลเป็นอย่างไร ผู้พูดหรือผู้ให้ข้อมูลมีความเข้าใจ เป็นกลาง หรือพยายามชี้นำความคิดเห็น
- อารมณ์ของผู้พูดเป็นอย่างไร เช่น มีความสุข เศร้า โกรธ ปกติ
- วิธีการสื่อสาร เช่น คำพูด รูปภาพ มีผลต่อการรับรู้ของผู้ฟังหรือไม่
- มีช่องทางอื่นในการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลหรือไม่
วิธีพัฒนา Critical Thinking
Critical Thinking คือทักษะที่สามารถพัฒนาได้ด้วยการฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งช่วยให้เราตัดสินใจได้อย่างรอบคอบ มีเหตุผล และลดโอกาสในการถูกชี้นำโดยอคติหรือข้อมูลที่บิดเบือน ต่อไปนี้คือวิธีพัฒนาทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
1. ตั้งคำถามให้ถูกจุด
Critical Thinking เริ่มจากการตั้งคำถามที่ดี เพราะคำถามจะช่วยให้เราเจาะลึกเข้าไปในปัญหาและมองเห็นสิ่งที่ซ่อนอยู่ ลองใช้คำถามที่มีพลัง เช่น
- ปัญหาหลักคืออะไร : กำหนดขอบเขตของปัญหาให้ชัดเจน
- ข้อมูลนี้มีที่มาจากไหน : ตรวจสอบความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูล
- มีมุมมองอื่นอีกไหม : ป้องกันการมองเรื่องใดเรื่องหนึ่งจากมุมเดียว
2. รวบรวมและประเมินข้อมูลจากหลายแหล่ง
ฝึกวิเคราะห์ข้อมูลอย่างเป็นกลาง เพราะโลกนี้เต็มไปด้วยข่าวปลอมและข้อมูลที่ถูกบิดเบือน เราจึงต้องแยกแยะข้อเท็จจริงออกจากความคิดเห็น เช่น
- เปรียบเทียบข้อมูลจากหลายแหล่ง โดยอย่ายึดติดกับแหล่งใดแหล่งเดียว
- แยกข้อเท็จจริงออกจากความคิดเห็น เพราะบทวิเคราะห์และข้อคิดเห็นอาจมีอคติแฝงอยู่
- มองหาหลักฐานสนับสนุน และอย่าเชื่อสิ่งใดเพียงเพราะ "เขาว่ากันว่า"
3. นำข้อมูลมาคิดวิเคราะห์และเปิดใจรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง
การคิดเชิงวิพากษ์ไม่ได้หมายถึงการคิดเองคนเดียว แต่หมายถึงการฟังมุมมองที่แตกต่าง แล้วนำมาประเมินอย่างมีเหตุผล โดยจะต้องฝึกฟังอย่างตั้งใจ อย่ารีบโต้แย้งทันที ลองทำความเข้าใจเหตุผลของอีกฝ่าย หัดตั้งคำถามกับข้อโต้แย้ง พยายามหาจุดแข็งและจุดอ่อนของแต่ละมุมมอง พร้อมแยกอารมณ์ออกจากเหตุผล อย่าปล่อยให้อารมณ์มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจ
4. พิจารณาถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น
การตัดสินใจที่ดีต้องคำนึงถึงผลลัพธ์ที่อาจเกิดขึ้นในระยะสั้นและระยะยาว ลองใช้เทคนิค คิดย้อนกลับ เช่น
- ถ้าข้อมูลนี้เป็นเท็จ จะส่งผลอย่างไร
- ถ้าลองใช้วิธีตรงข้าม ผลลัพธ์จะเป็นแบบไหน
- วิเคราะห์ข้อดีและข้อเสียของแต่ละตัวเลือก ว่ามีผลในเชิงบวกหรือเชิงลบ
- คำนึงถึงผลกระทบต่อผู้อื่น ว่าการตัดสินใจของเราจะส่งผลต่อบุคคลหรือสังคมอย่างไร
5. เปิดใจรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง
การคิดเชิงวิพากษ์ไม่ใช่แค่การวิเคราะห์ข้อมูลด้วยตัวเองเท่านั้น แต่ยังต้องเปิดรับมุมมองจากผู้อื่นเพื่อนำมาใช้ประกอบการตัดสินใจ โดยจะต้องฟังความคิดเห็นของผู้ที่มีมุมมองแตกต่างจากเรา ตั้งคำถามกับข้อโต้แย้ง เพื่อพิจารณาว่าเหตุผลของแต่ละฝ่ายมีน้ำหนักเพียงใด พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนความคิดเมื่อพบว่ามีข้อมูลที่ถูกต้องกว่า
6. ฝึกฝนการคิดเชิงวิพากษ์ในชีวิตประจำวัน
ทักษะ Critical Thinking ต้องอาศัยการฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง เช่น
- ฝึกตั้งคำถามกับข่าวสารที่ได้รับ ไม่เชื่อทันที ไม่แชร์ข่าวออกไปทันทีโดยไม่ตรวจสอบ
- วิเคราะห์ว่าข้อมูลที่ได้รับมามีการใช้จิตวิทยาชักจูงหรือไม่
- ถกเถียงกับตัวเองว่าความคิดของเรามีจุดอ่อนตรงไหน
- ลองมองปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตจากมุมมองที่แตกต่างกัน
ทำไม Critical Thinking ถึงสำคัญต่อการทำงานในยุคนี้
Critical Thinking นับว่าเป็นทักษะที่ขาดไม่ได้สำหรับการทำงานในยุคนี้ เพราะมีส่วนช่วยในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การวางแผนกลยุทธ์ หรือการแก้ปัญหาที่ซับซ้อน ซึ่งการคิดวิเคราะห์และประเมินข้อมูลอย่างมีเหตุผล จะช่วยให้เราตัดสินใจได้อย่างแม่นยำ สามารถรับมือกับความท้าทายในการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังช่วยสร้างมุมมองใหม่ๆ ที่จะนำไปสู่การตัดสินใจที่ดีที่สุดในทุกสถานการณ์
การเลือกใช้บัตรเครดิตก็เช่นกัน ที่ต้องอาศัยการคิดวิเคราะห์ เพื่อให้ได้บัตรที่เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์และความต้องการทางการเงินของตนเอง และบัตรเครดิต KTC ก็ยังเป็นตัวช่วยในเรื่องของการเงิน การใช้จ่ายได้ ไม่ว่าจะสายกิน สายช้อป สายเที่ยว บัตรเครดิต KTC ก็มีตอบโจทย์ครบ เพราะมีบัตรเครดิตให้เลือกหลายประเภท มาพร้อมสิทธิประโยชน์ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นส่วนลดร้านค้า ร้านอาหาร ที่พัก สามารถผ่อนสินค้าด้วยโปรโมชั่นดอกเบี้ย 0% นานสูงสุด 10 เดือน หรือการสะสมคะแนน KTC FOREVER เพื่อนำไปแลกสินค้า/บริการ ณ ร้านค้าที่ร่วมรายการ ที่สำคัญยังไม่มีค่าธรรมเนียมแรกเข้าและรายปีอีกด้วย สำหรับใครที่สนใจสมัครบัตรเครดิต KTC ผ่านทางออนไลน์ได้ทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง
ใช้จ่าย คุ้มค่า นึกถึงบัตรเครดิต KTC