คุณเคยเจอปัญหาที่ยาก และซับซ้อนในการทำงานหรือการดำเนินธุรกิจหรือไม่? ซึ่งบางครั้งการแก้ปัญหาบางอย่างก็ต้องอาศัยมุมมองที่แตกต่าง และแนวคิดสร้างสรรค์ นอกเหนือจากการใช้ความรู้ในตำรา หรือประสบการณ์ที่ผ่านมาเพียงอย่างเดียว ซึ่ง Design Thinking คือแนวทางที่จะช่วยให้คุณคิดแก้ไขปัญหาได้อย่างมีระบบ โดยมุ่งเน้นไปที่ความต้องการของผู้บริโภคหรือผู้ใช้งานเป็นหลัก ไม่ว่าคุณจะเป็นนักธุรกิจ นักออกแบบ หรือผู้พัฒนาเทคโนโลยี แนวคิดนี้จะช่วยคุณแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นบทความนี้จะพาคุณไปทำความรู้จักความหมายของคำว่า Design Thinking คืออะไรให้มากยิ่งขึ้น รวมไปถึงประโยชน์ของ Design Thinking ตัวอย่างธุรกิจที่เกิดปัญหาแล้วนำกระบวนการนี้มาปรับใช้ เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น
Design Thinking คืออะไร ?
Design Thinking คือ กระบวนการคิดเชิงออกแบบ เป็นกระบวนการคิดเพื่อแก้ไขปัญหา โดยยึดความต้องการของผู้ใช้หรือผู้บริโภคเป็นหลัก เน้นไปที่การทำความเข้าใจปัญหาของผู้ใช้อย่างลึกซึ้ง เพื่อสร้างสรรค์ไอเดียใหม่ๆ ผ่านการระดมความคิด พัฒนา ทดลอง และปรับปรุงจนได้วิธีที่ดีที่สุด ซึ่ง Design Thinking สามารถนำไปปรับใช้ได้กับทุกอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นสินค้า บริการ เทคโนโลยี หรือแม้แต่เรื่องของการศึกษา เพราะสามารถช่วยให้เกิดแนวทางแก้ไขปัญหาที่แตกต่างและมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมไปถึงช่วยให้สามารถสร้างผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ตรงกับความต้องการของลูกค้าได้อย่างแท้จริงด้วย
สิ่งที่สำคัญที่สุดใน Design Thinking ไม่ใช่แค่กระบวนการ แต่เป็น mindset ที่ช่วยให้เราคิดอย่างสร้างสรรค์ และแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ!
ประโยชน์ของ Design Thinking
1.ช่วยให้เข้าใจลูกค้าได้ดีขึ้น
กระบวนการของ Design Thinking จะเน้นการสังเกตและการทำความเข้าใจพฤติกรรมของผู้ใช้ ทำให้สามารถออกแบบผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ตรงใจมากขึ้น รวมถึงช่วยให้สามารถคาดการณ์แนวโน้มพฤติกรรมของลูกค้าล่วงหน้าได้ด้วย
2.ช่วยกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์
เป็นการเปิดโอกาสให้ทีมงานได้ร่วมกันระดมความคิดเชิงสร้างสรรค์ ฝึกคิดนอกกรอบ นำไปสู่การค้นพบวิธีแก้ปัญหาแบบใหม่ที่ดียิ่งขึ้น
3.ลดความผิดพลาดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์
เนื่องจากกระบวนการของ Design Thinking จะมีการทดสอบต้นแบบก่อนนำไปผลิตจริง จึงช่วยลดความผิดพลาดและค่าใช้จ่ายในการผลิตจริงได้ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง
4.ช่วยสร้างนวัตกรรมที่ใช้งานได้จริง
นวัตกรรมที่เกิดขึ้นจาก Design Thinking มักจะสามารถนำไปใช้งานได้จริง เพราะผ่านการทดสอบและปรับปรุงจากผู้ใช้โดยตรง ทำให้มั่นใจได้ว่าผลิตภัณฑ์หรือบริการนั้นตอบสนองต่อความต้องการจริงของตลาด
5.ช่วยส่งเสริมเรื่องการทำงานเป็นทีม
ส่งเสริมเรื่องของการทำงานเป็นทีม ทำให้ทีมงานได้พูดคุยกันมากขึ้นจากการแลกเปลี่ยนไอเดียซึ่งกันและกัน อีกทั้งได้มองเห็นความคิดและปัญหาในหลายๆ มุมมอง นำไปสู่การพัฒนาแนวทางแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพ
กระบวนการคิดเชิงออกแบบ Design Thinking 5 ขั้นตอน มีอะไรบ้าง ?
กระบวนการคิดเชิงออกแบบ หรือ Design Thinking เป็นวิธีการที่ใช้ในการแก้ปัญหาหรือพัฒนานวัตกรรมที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้ โดยประกอบด้วย 5 ขั้นตอนที่สำคัญ ดังนี้
1. Empathize : ทำความเข้าใจปัญหาผู้ใช้
ขั้นตอนนี้เน้นการศึกษาความต้องการของผู้ใช้ เป้าหมายคือการเข้าใจปัญหาอย่างแท้จริง โดยใช้วิธีการสังเกต สัมภาษณ์ หรือรวบรวมข้อมูลจากผู้ใช้ เพื่อให้ได้มุมมองที่ชัดเจนว่าพวกเขากำลังเผชิญกับอะไรอยู่
2. Define : กำหนดปัญหา
เมื่อเข้าใจผู้ใช้แล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์ปัญหาที่แท้จริง จากนั้นกำหนดเป็นโจทย์ที่ชัดเจนเพื่อให้สามารถพัฒนาแนวทางแก้ไขได้ตรงจุด
3. Ideate : ระดมความคิด
ในขั้นตอนนี้ทีมงานจะมารวมตัวกันเพื่อเสนอไอเดียใหม่ๆ ที่สามารถนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์ โดยให้ทุกคนเสนอไอเดียได้อย่างเสรี โดยไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับข้อจำกัดต่างๆ หลังจากนั้นจะเลือกไอเดียที่เหมาะสมที่สุด หรืออาจผสมผสานหลายๆ ไอเดียเข้าด้วยกัน เพื่อนำไปพัฒนาต่อในขั้นตอนถัดไป
4. Prototype : สร้างต้นแบบ
เมื่อได้แนวคิดที่ชัดเจนแล้ว ก็จะนำไปสู่การสร้างต้นแบบ (Prototype) ซึ่งไม่จำเป็นต้องผลิตออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่สมบูรณ์แบบก็ได้ แต่ต้องสามารถทดสอบและใช้งานได้ในระดับหนึ่ง โดยการสร้างต้นแบบนี้จะช่วยให้เราเห็นข้อดีและข้อจำกัดของแนวคิดที่เลือกมา หากเป็นเรื่องการบริการหรืองานในลักษณะอื่นๆ ก็สามารถนำแนวคิดไปทดลองปฏิบัติจริง เพื่อเก็บข้อมูลและข้อเสนอแนะที่สามารถนำไปปรับปรุงและพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นได้
5. Test : ทดสอบและปรับปรุง
ขั้นตอนสุดท้ายคือการนำต้นแบบไปทดสอบกับผู้ใช้จริง เพื่อนำความคิดเห็นและข้อมูลจากผู้ใช้มาปรับปรุงต้นแบบให้ดีขึ้น โดยอาจจะทดสอบหลายๆ ครั้งและปรับแก้จนกว่าจะได้ผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ตรงตามความต้องการของผู้ใช้มากที่สุด สามารถแก้ปัญหาของผู้ใช้ได้จริง
ตัวอย่าง Design Thinking
ตัวอย่างปัญหาที่ 1 : แอปพลิเคชันสำหรับผู้สูงอายุใช้งานยากเกินไป
- Empathize : ศึกษาพฤติกรรมของผู้สูงอายุ สัมภาษณ์ และสังเกต การใช้งานแอปพลิเคชัน
- Define : พบว่าปัญหาหลักคือขนาดตัวอักษรเล็กเกินไป เมนูซับซ้อน
- Ideate : ระดมความคิด เช่น ออกแบบอินเทอร์เฟซผู้ใช้ (UI) ให้เรียบง่ายขึ้น เพิ่มปุ่มขนาดใหญ่ หรือใช้เสียงช่วยในการค้นหาข้อมูล
- Prototype : สร้างต้นแบบแอปพลิเคชันที่มีตัวอักษรใหญ่ขึ้น ปุ่มที่ใช้งานง่าย และมีระบบสั่งงานด้วยเสียง
- Test : ให้ผู้สูงอายุทดลองใช้แอปพลิเคชันและปรับปรุงตามข้อมูลความคิดเห็นที่ได้รับ
ตัวอย่างปัญหาที่ 2 : ปรับปรุงประสบการณ์การชำระเงินการซื้อของออนไลน์
- Empathize : วิเคราะห์ฟีดแบคจากลูกค้าเกี่ยวกับปัญหาการชำระเงิน เช่น กระบวนการชำระเงินที่ซับซ้อนหรือตัวเลือกการชำระเงินที่จำกัด
- Define : พบว่าลูกค้าจำนวนมากกดสินค้าไว้ในตะกร้าสินค้า แต่ไม่ชำระเงิน เนื่องจากต้องกรอกข้อมูลส่วนตัวเยอะ ต้องกรอกใหม่ทุกครั้งที่สั่งซื้อสินค้า และไม่มีตัวเลือกให้ผ่อนชำระได้
- Ideate : คิดหาวิธีลดขั้นตอนการกรอกข้อมูล เช่น ใช้ระบบบันทึกข้อมูลลูกค้าอัตโนมัติ เพิ่มตัวเลือก e-Wallet และให้ลูกค้าสามารถชำระผ่านบัตรเครดิตได้
- Prototype : สร้างหน้าชำระเงินที่ใช้งานง่ายขึ้น พร้อมปุ่ม “บันทึกข้อมูลการชำระเงิน” และเพิ่มตัวเลือกการผ่อนชำระสินค้า
- Test : ทดลองให้กลุ่มลูกค้าใช้งานและเก็บฟีดแบคเพื่อปรับปรุง
การใช้กระบวนการ Design Thinking ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการนั้นจะช่วยให้คุณสามารถตอบโจทย์ผู้ใช้ได้อย่างตรงจุด เช่นเดียวกับบัตรเครดิต KTC ที่ออกแบบมาเพื่อตอบสนองทุกไลฟ์สไตล์ของผู้ใช้งาน ไม่ว่าคุณจะชอบช้อปออนไลน์ ชอบเที่ยว ชอบกินอาหารนอกบ้าน ที่พร้อมมอบสิทธิพิเศษ และโปรโมชั่นที่หลากหลาย สะดวกในการใช้จ่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ พร้อมบริการที่ช่วยให้คุณสามารถจัดการการเงินได้อย่างราบรื่นและปลอดภัยด้วย สำหรับใครที่สนใจ สามารถสมัครบัตรเครดิต KTC ออนไลน์ ได้เลยตอนนี้ทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง
ใช้จ่าย คุ้มค่า นึกถึงบัตรเครดิต KTC