การมีความมั่นคงทางการเงิน และสวัสดิการคุ้มครองชีวิต นับเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้เรารับมือกับความไม่แน่นอนต่างๆ ได้อย่างมั่นใจมากขึ้น ซึ่ง “ประกันสังคม” คือหนึ่งในเครื่องมือที่ช่วยสร้างความมั่นคงและความคุ้มครองทางการเงินให้กับประชาชนเมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด ในบทความนี้ เราจะมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับประกันสังคมให้มากยิ่งขึ้น รวมไปถึงวิธีเช็กสิทธิประกันสังคม และสิทธิประโยชน์ที่ได้รับในปี 2567 นี้ว่ามีอะไรบ้าง รวมถึงความแตกต่างของสิทธิประกันสังคมมาตรา 33, มาตรา 39 และ มาตรา 40 เพื่อให้คุณเลือกใช้สิทธิ์ได้อย่างเหมาะสมมากที่สุด
ประกันสังคม คืออะไร ?
ประกันสังคม คือ ระบบการคุ้มครองทางสังคมที่รัฐจัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนผู้ที่ทำงานหรือมีรายได้ โดยมีการเก็บเงินสมทบจากผู้ประกันตน นายจ้าง และรัฐ เพื่อสร้างกองทุนสำหรับให้ความช่วยเหลือเมื่อผู้ประกันตนประสบปัญหาด้านต่างๆ โดยผู้ที่อยู่ในระบบประกันสังคมจะต้องจ่ายเงินสมทบในอัตราที่กำหนด
สิทธิประกันสังคม เป็นอีกสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนในเรื่องของสุขภาพ
อัพเดทปี 2567 สิทธิประกันสังคมมีอะไรบ้าง ?
ชวนทุกคนมาเช็กสิทธิประกันสังคมในปี 2567 เพื่อให้คุณสามารถใช้สิทธิ์ได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากระบบประกันสังคมได้มีการปรับปรุงและเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ประกันตนเพื่อได้รับการคุ้มครองที่ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ประกันสังคมแบ่งออกเป็น 3 มาตรา ได้แก่
ผู้ประกันตนมาตรา 33
ผู้ประกันตนมาตรา 33 คือ พนักงานหรือลูกจ้างที่ทำงานอยู่ในบริษัท หรือนายจ้างที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป ลูกจ้างในมาตรานี้จะต้องจ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคมร่วมกับนายจ้างและรัฐบาลในอัตราที่กำหนด ซึ่งผู้ประกันตนตามมาตรานี้จะได้รับสิทธิประกันสังคมมาตรา 33
เต็มรูปแบบ
สิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 33 ในปี 2567
ผู้ประกันตนมาตรา 33 จะได้รับสิทธิประโยชน์หลักทั้งหมด 7 กรณี ได้แก่
1.กรณีเจ็บป่วย
สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลตามสิทธิ์หรือเครือข่ายของสถานพยาบาลนั้นได้ฟรี ไม่ต้องสำรองค่าใช้จ่าย ทั้งผู้ป่วยนอก (OPD) และผู้ป่วยใน (IPD) โดยมีตัวอย่างสิทธิประโยชน์ข้างต้น ดังนี้
- ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยที่เข้ารักษาในสถานพยาบาลที่สำนักงานกำหนดสิทธิ
ผู้ประกันตนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย และในกรณีต้องหยุดงานพักรักษาตัวตามคำสั่งแพทย์ ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ 50% ของค่าจ้าง (ตามฐานเงินสมทบสำนักงานกำหนด) ไม่เกิน 90 วันต่อครั้ง และไม่เกิน 180 วันต่อปี เว้นแต่ป่วยด้วยโรคเรื้อรังไม่เกิน 365 วันต่อปี
- ประสบอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยฉุกเฉิน
- เข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของรัฐ
- ผู้ป่วยนอก เบิกค่ารักษาพยาบาลได้เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น
- ผู้ป่วยใน เบิกค่ารักษาพยาบาลได้เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น ภายในระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมง (ไม่รวมวันหยุดราชการ) ค่าห้องและค่าอาหารเบิกได้ไม่เกิน 700 บาท/วัน
- เข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของเอกชน
- ผู้ป่วยนอก เบิกเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 1,000 บาท
- ผู้ป่วยใน เบิกตามหลักเกณฑ์และอัตราที่คณะกรรมการการแพทย์กำหนด แต่ไม่เกิน 72 ชั่วโมง (ไม่รวมวันหยุดราชการ) ค่าห้องและค่าอาหารเบิกได้ไม่เกิน 700 บาท/วัน
- ทันตกรรม
สามารถถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน และผ่าตัดฟันคุด จ่ายจริงไม่เกิน 900 บาทต่อปีปฏิทิน
กรณีเข้ารับบริการทางการแพทย์ในสถานพยาบาล ที่ทำความตกลงกับสำนักงาน ไม่ต้องสำรองจ่าย ผู้ประกันตนจ่ายค่าบริการทางการแพทย์เฉพาะส่วนเกินจากสิทธิ์ที่ได้รับ รวมถึงสิทธิประโยชน์ทางทันตกรรมอีกมากมาย
2.กรณีคลอดบุตร
- ประกันตนหญิง มีสิทธิ์รับเงินค่าคลอดบุตร 15,000 บาท โดยไม่จำกัดสถานพยาบาลหรือจำนวนครั้ง พร้อมเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อคลอดบุตร 50% ของค่าจ้างเฉลี่ย เป็นเวลา 90 วัน (เบิกได้สูงสุด 2 ครั้งสำหรับเงินสงเคราะห์นี้)
- ผู้ประกันตนชาย ที่มีภรรยาจดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย หรืออยู่กินฉันสามีภรรยา มีสิทธิ์รับเงินค่าคลอดบุตร 15,000 บาท และสามารถเบิกค่าตรวจและฝากครรภ์ได้สูงสุด 1,500 บาท
ทั้งนี้ ผู้ประกันตนจะต้องจ่ายเงินสมทบไม่น้อยกว่า 3 เดือน ภายใน 15 เดือนก่อนเดือนคลอด จึงจะได้รับสิทธิ์ และหากทั้งสามีและภรรยาเป็นผู้ประกันตน ให้เลือกใช้สิทธิ์ในการเบิกค่าคลอดบุตรฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง โดยไม่จำกัดจำนวนบุตรหรือครั้งในการเบิก
3.กรณีทุพพลภาพ
- เงินทดแทนการขาดรายได้
- กรณีทุพพลภาพรุนแรง ได้รับในอัตรา 50% ของค่าจ้างเป็นรายเดือน ตลอดชีวิต
- กรณีทุพพลภาพไม่รุนแรง ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ตามหลักเกณฑ์และระยะเวลาตามประกาศฯกำหนด
- ค่าบริการทางการแพทย์
-เข้ารับบริการทางการแพทย์ ณ สถานพยาบาลของรัฐ
- ประเภทผู้ป่วยนอก จ่ายค่าบริการทางการแพทย์เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น
- ประเภทผู้ป่วยใน จ่ายค่าบริการทางการแพทย์ให้แก่สถานพยาบาลคำนวณตามกลุ่มวินิจฉัยโรค (DRGs)
-กรณีเข้ารับบริการทางการแพทย์ ณ สถานพยาบาลของเอกชน
- ประเภทผู้ป่วยนอก จ่ายค่าบริการทางการแพทย์เท่าที่จ่ายจริงไม่เกินเดือนละ 2,000 บาท
- ประเภทผู้ป่วยใน จ่ายค่าบริการทางการแพทย์เท่าที่จ่ายจริงไม่เกินเดือนละ 4,000 บาท
รวมถึงค่ารถพยาบาลหรือค่าพาหนะรับส่งผู้ทุพพลภาพกรณีเข้ารับบริการทางการแพทย์ เหมาจ่ายไม่เกินเดือนละ 500 บาท และสิทธิประโยชน์อื่นๆ
- ค่าทำศพ
กรณีผู้ประกันตนที่ทุพพลภาพถึงแก่ความตาย ผู้จัดการศพมีสิทธิ์ได้รับค่าทำศพ 50,000 บาท ในส่วนของเงินสงเคราะห์ในกรณีที่ผู้ประกันตนทุพพลภาพถึงแก่ความตาย มีสิทธิ์ได้รับดังนี้
- ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบมาแล้วตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไปแต่ไม่ถึง 10 ปี จะได้รับเงินสงเคราะห์เท่ากับค่าจ้างเฉลี่ยสองเดือน
- ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบมาแล้วตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป จะได้รับเงินสงเคราะห์เท่ากับค่าจ้างเฉลี่ยหกเดือน
4.กรณีเสียชีวิต
ผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 36 เดือนขึ้นไป แต่ไม่ถึง 120 เดือน มีสิทธิ์รับเงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิต 50% ของค่าจ้างเฉลี่ย 4 เดือน และค่าทำศพ 50,000 บาท แต่หากจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 120 เดือนขึ้นไป จะได้รับเงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิต 50% ของค่าจ้างเฉลี่ย 12 เดือน พร้อมค่าทำศพ 50,000 บาท
5.กรณีชราภาพ
- เงินบำนาญชราภาพ คือเงินที่จ่ายเป็นรายเดือนตลอดชีวิต
- หากจ่ายเงินสมทบครบ 180 เดือน (15 ปี) จะได้รับเงินบำนาญชราภาพรายเดือน 20% ของค่าจ้างเฉลี่ยในช่วง 60 เดือนสุดท้าย
- หากจ่ายเงินสมทบเกิน 180 เดือน จะได้รับเพิ่มอีก 1.5% จากอัตราเดิมทุกๆ 12 เดือน
- เงินบำเหน็จชราภาพ คือเงินที่จ่ายเป็นก้อนครั้งเดียว
- สำหรับผู้ที่จ่ายเงินสมทบต่ำกว่า 12 เดือน จะได้รับเงินเท่ากับจำนวนเงินสมทบของตนเอง
- ผู้ที่จ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไป จะได้รับเงินเท่ากับยอดเงินสมทบทั้งของตนเองและนายจ้าง รวมทั้งผลตอบแทนตามอัตราที่กำหนด
- ในกรณีที่ผู้รับเงินบำนาญชราภาพเสียชีวิตภายใน 60 เดือนนับจากเดือนที่เริ่มได้รับ จะมีการจ่ายเงินบำเหน็จ 10 เท่าของเงินบำนาญรายเดือนสุดท้าย
ทั้งนี้ ผู้ประกันตนจะมีสิทธิ์รับเงินเมื่ออายุครบ 55 ปี ความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง หรือเกิดการทุพพลภาพหรือเสียชีวิต
6.กรณีสงเคราะห์บุตร
ผู้ประกันตนจะได้รับเงินสงเคราะห์บุตรเหมาจ่ายเดือนละ 800 บาทต่อบุตรหนึ่งคน โดยมีเงื่อนไขว่าต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน ภายในระยะเวลา 36 เดือน ก่อนเดือนที่มีสิทธิ์ได้รับประโยชน์ทดแทน และยังต้องเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายที่มีอายุไม่เกิน 6 ปีบริบูรณ์ ครั้งละไม่เกิน 3 คน
7.กรณีว่างงาน
- ถูกเลิกจ้าง รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงาน 50% ของค่าจ้างเฉลี่ย ปีละไม่เกิน 180 วัน โดยคำนวณจากฐานเงินสมทบขั้นต่ำเดือนละ 1,650 บาท และฐานเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท
- ลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงาน 30% ของค่าจ้างเฉลี่ย ปีละไม่เกิน 90 วัน ในอัตราร้อยละ 30 โดยคำนวณจากฐานเงินสมทบขั้นต่ำและฐานเงินสมทบสูงสุดเช่นกัน
ผู้ประกันตนมาตรา 39
ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 คือ ผู้ที่เคยเป็นลูกจ้างและอยู่ในมาตรา 33 แต่ได้ลาออกหรือเลิกจ้างไปแล้ว โดยผู้ที่อยู่ในมาตรานี้จะต้องต่ออายุความคุ้มครองจากประกันสังคมโดยการจ่ายเงินสมทบเองในอัตราที่กำหนด
สิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 39 ในปี 2567
ผู้ประกันตนจะได้รับความคุ้มครองทั้งหมด 6 กรณี ต่อเนื่องจากความคุ้มครองของสิทธิประกันสังคมมาตรา 33 ได้แก่ กรณีเจ็บป่วย กรณีคลอดบุตร กรณีทุพพลภาพ กรณีตาย กรณีสงเคราะห์บุตร และกรณีชราภาพ ยกเว้นกรณีว่างงาน
ผู้ประกันตนตามมาตรา 40
ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระหรือฟรีแลนซ์ที่ไม่มีนายจ้างสามารถเข้าระบบประกันสังคมได้ โดยที่ผู้ประกันตนในมาตรานี้จะต้องจ่ายเงินสมทบเองตามแผนที่เลือกทั้งหมด 3 ทางเลือก
สิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 40 ในปี 2567
ทางเลือกที่ 1 : จ่ายเงินสมทบ 70 บาท/เดือน
คุ้มครอง 3 กรณี ได้แก่ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ และกรณีเสียชีวิต
- ประสบอุบัติเหตุ/เจ็บป่วย รับเงินทดแทนการขาดรายได้สูงสุด 300 บาท/วัน ในกรณีนอนพักรักษาตัว (ไม่เกิน 30 วัน/ปี)
- ทุพพลภาพ รับเงินทดแทนการขาดรายได้ 500-1,000 บาท/เดือน (ไม่เกิน 15 ปี)
- เสียชีวิต ได้รับเงินค่าทำศพ 25,000 บาท จ่ายให้กับผู้จัดการศพ และรับเงินสงเคราะห์ 8,000 บาท หากจ่ายเงินสมทบไม่น้อยกว่า 60 เดือน ก่อนเดือนที่ตาย
ทางเลือกที่ 2 : จ่ายเงินสมทบ 100 บาท/เดือน
คุ้มครอง 4 กรณี ได้แก่ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ กรณีเสียชีวิต และกรณีชราภาพ
- ประสบอุบัติเหตุ/เจ็บป่วย รับเงินทดแทนการขาดรายได้สูงสุด 300 บาท/วัน ในกรณีนอนพักรักษาตัว (ไม่เกิน 30 วัน/ปี)
- ทุพพลภาพ รับเงินทดแทนการขาดรายได้ 500-1,000 บาท/เดือน (ไม่เกิน 15 ปี)
- เสียชีวิต ได้รับค่าทำศพ 25,000 บาท (ได้รับเพิ่ม 8,000 บาท เมื่อจ่ายเงินสมทบครบ 60 เดือนก่อนเสียชีวิต)
- ชราภาพ รับเงินบำเหน็จชราภาพ 50 บาท/เดือน พร้อมผลประโยชน์ตอบแทนรายปีตามที่สำนักงานประกาศกำหนด
ทางเลือกที่ 3 : จ่ายเงินสมทบ 300 บาท/เดือน
คุ้มครอง 5 กรณี ได้แก่ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ กรณีเสียชีวิต กรณีชราภาพ และกรณีสงเคราะห์บุตร
- ประสบอุบัติเหตุ/เจ็บป่วย รับเงินทดแทนการขาดรายได้สูงสุด 300 บาท/วัน ในกรณีนอนพักรักษาตัว (ไม่เกิน 30 วัน/ปี)
- ทุพพลภาพ รับเงินทดแทนการขาดรายได้ 500-1,000 บาท/เดือน ตลอดชีวิต
- เสียชีวิต ได้รับเงินค่าทำศพ 50,000 บาท ก่อนเดือนที่ตาย จ่ายให้กับผู้จัดการศพ
- ชราภาพ รับบำเหน็จชราภาพ 150 บาท/เดือน พร้อมผลประโยชน์ตอบแทนรายปีตามที่สำนักงานประกาศกำหนด และรับเงินเพิ่มอีก 10,000 บาท (เมื่อจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 180 เดือน ขึ้นไป)
- สงเคราะห์บุตร รับเงินสงเคราะห์บุตรรายเดือน คนละ 200 บาท คราวละไม่เกิน 2 คน บุตรอายุตั้งแต่แรกเกิดแต่ไม่เกิน 6 ปีบริบูรณ์
นอกจากนี้ ผู้ประกันตนมาตรา 33 และ 39 ยังได้รับสิทธิ์ตรวจสุขภาพฟรีกว่า 14 รายการ ได้ทุกโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการ โดยสามารถเช็กสิทธิประกันสังคมและติดตามข่าวสาร รายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ สำนักงานประกันสังคม
สรุปสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนแต่ละมาตรา
ทั้งนี้ ประกันสังคม คือ ตัวช่วยการวางแผนการเงินที่ดี แต่การมีบัตรเครดิตที่เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ก็ถือเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่สำคัญที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับชีวิตหลากหลายด้าน สำหรับบัตรเครดิต KTC ประเภทบัตรสุขภาพ & โรงพยาบาลที่มอบสิทธิพิเศษมากมาย ไม่ว่าจะเป็นส่วนลดค่าห้อง ค่ายา ค่าทันตกรรม ฯลฯ ไม่เสียค่าธรรมเนียมรายปี ซึ่งช่วยต่อยอดความคุ้มครองจากประกันสังคมให้กับคุณได้ สำหรับใครที่สนใจ สามารถสมัครบัตรเครดิต KTC ผ่านทางออนไลน์ได้ทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง
ใช้จ่าย คุ้มค่า นึกถึงบัตรเครดิต KTC