ประกันสังคมมีบทบาทสำคัญในการคุ้มครองสุขภาพและความมั่นคงทางการเงินของผู้ประกันตนทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการรักษาพยาบาล การคลอดบุตร ทุพพลภาพ หรือการว่างงาน ในบทความนี้ เราจะพาคุณไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับเงินสมทบประกันสังคม 2568 ทั้งในแง่ของฐานประกันสังคม 2568 กับจำนวนเงินที่ต้องจ่าย สิทธิ์ที่จะได้รับ และข้อควรรู้ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
เงินสมทบประกันสังคม 2568 สามารถเลือกจ่ายกี่บาทได้บ้าง ?
การจ่ายเงินสมทบประกันสังคม 2568 มีหลายทางเลือก ขึ้นอยู่กับประเภทของผู้ประกันตน โดยทั่วไปผู้ประกันตนในมาตรา 33 จะถูกหักเงินสมทบจากเงินเดือนในอัตราที่กำหนด ส่วนผู้ประกันตนในมาตรา 39 และ 40 สามารถเลือกชำระเงินสมทบตามแผนที่กำหนดไว้ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
ผู้ประกันตนมาตรา 33
ผู้ประกันตนมาตรา 33 หรือลูกจ้างในระบบนั้น จะต้องจ่ายเงินสมทบประกันสังคม 2568 และในอนาคตดังนี้
ปี พ.ศ. 2567 - 2569 ค่าจ้างจํานวนไม่ต่ำกว่าเดือนละ 1,650 บาท และไม่เกิน 17,500 บาท
- เงินเดือน 5,000 บาท จ่ายเงินสมทบ 250 บาท
- เงินเดือน 10,000 บาท จ่ายเงินสมทบ 500 บาท
- เงินเดือน 15,000 บาท จ่ายเงินสมทบ 750 บาท
- เงินเดือน 17,500 บาท จ่ายเงินสมทบ 875 บาท
- เงินเดือนมากกว่า 17,500 บาท จ่ายเงินสมทบ 875 บาท
ปี พ.ศ. 2570 - 2572 ค่าจ้างจํานวนไม่ต่ำกว่าเดือนละ 1,650 บาท และไม่เกิน 20,000 บาท
- เงินเดือน 5,000 บาท จ่ายเงินสมทบ 250 บาท
- เงินเดือน 10,000 บาท จ่ายเงินสมทบ 500 บาท
- เงินเดือน 15,000 บาท จ่ายเงินสมทบ 750 บาท
- เงินเดือน 17,500 บาท จ่ายเงินสมทบ 875 บาท
- เงินเดือน 20,000 บาท จ่ายเงินสมทบ 1,000 บาท
- เงินเดือนมากกว่า 20,000 บาท จ่ายเงินสมทบ 1,000 บาท
ปี 2573 เป็นต้นไป ค่าจ้างไม่ต่ำกว่าเดือนละ 1,650 บาท และไม่เกิน 23,000 บาท
- เงินเดือน 5,000 บาท จ่ายเงินสมทบ 250 บาท
- เงินเดือน 10,000 บาท จ่ายเงินสมทบ 500 บาท
- เงินเดือน 15,000 บาท จ่ายเงินสมทบ 750 บาท
- เงินเดือน 17,500 บาท จ่ายเงินสมทบ 875 บาท
- เงินเดือน 20,000 บาท จ่ายเงินสมทบ 1,000 บาท
- เงินเดือน 23,000 บาท จ่ายเงินสมทบ 1,150 บาท
- เงินเดือนมากกว่า 23,000 บาท จ่ายเงินสมทบ 1,150 บาท
ผู้ประกันตนมาตรา 39
ผู้ที่เคยเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 และนำส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน และได้ลาออกจากงาน แต่ต้องการคงสถานะผู้ประกันตนไว้ จะต้องสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 ภายใน 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่สิ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง
ทั้งนี้ ผู้ประกันตนมาตรา 39 จะต้องชำระเงินสมทบเดือนละ 432 บาท โดยเงินที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบ คือ เดือนละ 4,800 บาทเท่ากันทุกคน ซึ่งคิดจากอัตราเงินสมทบ 9% (4,800 x 9% = 432 บาท/เดือน)
ผู้ประกันตนมาตรา 40
ผู้ประกันตนมาตรา 40 คือ ประชาชนทั่วไปหรือผู้ประกอบอาชีพอิสระ ซึ่งมีทางเลือกในการจ่ายเงินสมทบประกันสังคมมาตรา 40 อยู่ 3 ทางเลือกด้วยกัน ดังนี้
- ทางเลือกที่ 1 : จ่ายเงินสมทบ 70 บาท/เดือน
- ทางเลือกที่ 2 : จ่ายเงินสมทบ 100 บาท/เดือน
- ทางเลือกที่ 3 : จ่ายเงินสมทบ 300 บาท/เดือน
ผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบจะได้รับสิทธิประโยชน์และความคุ้มครอง ทั้ง กรณีเจ็บป่วย, คลอดบุตร และ ว่างงาน เป็นต้น
ส่งเงินสมทบประกันสังคมแล้วได้อะไร ?
การส่งเงินสมทบประกันสังคมเป็นการสร้างความมั่นคงทางการเงินและสุขภาพให้กับตัวเอง โดยผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบจะได้รับสิทธิประโยชน์และความคุ้มครองหลายกรณีด้วยกัน ขึ้นอยู่กับมาตราที่ผู้ประกันตนอยู่ เช่น
- กรณีเจ็บป่วยหรือประสบอันตราย
- กรณีทุพพลภาพ
- กรณีคลอดบุตร
- กรณีสงเคราะห์บุตร
- กรณีชราภาพ
- กรณีเสียชีวิต
- กรณีว่างงาน
ผู้ประกันตนมาตราต่างๆ ได้รับการคุ้มครองใดบ้าง ?
สิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนจะแตกต่างกันไปตามมาตราที่ผู้ประกันตนอยู่ ดังนี้
ผู้ประกันตนมาตรา 33
ผู้ประกันตนมาตรา 33 จะได้รับความคุ้มครอง 7 กรณีด้วยกัน ได้แก่ กรณีเจ็บป่วย กรณีคลอดบุตร กรณีทุพพลภาพ กรณีตาย กรณีสงเคราะห์บุตร กรณีชราภาพ และกรณีว่างงาน
ทั้งนี้ สามารถตรวจสอบสิทธิประโยชน์และเงื่อนไขการเกิดสิทธิ์ขอรับประโยชน์ทดแทนมาตรา 33 อย่างละเอียดได้ที่นี่
ผู้ประกันตนมาตรา 39
ผู้ประกันตนมาตรา 39 จะได้รับความคุ้มครอง 6 กรณี ได้แก่ กรณีเจ็บป่วย กรณีคลอดบุตร กรณีทุพพลภาพ กรณีตาย กรณีสงเคราะห์บุตร และกรณีชราภาพ ทั้งนี้ สามารถตรวจสอบสิทธิประโยชน์และเงื่อนไขการเกิดสิทธิ์ขอรับประโยชน์ทดแทนมาตรา 39 อย่างละเอียดได้ที่นี่
ผู้ประกันตนมาตรา 40
- ทางเลือกที่ 1 : ได้รับสิทธิประโยชน์คุ้มครอง 3 กรณี คือ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ กรณีตาย
- ทางเลือกที่ 2 : ได้รับสิทธิประโยชน์คุ้มครอง 4 กรณี คือ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ กรณีตาย และกรณีชราภาพ
- ทางเลือกที่ 3 : ได้รับสิทธิประโยชน์คุ้มครอง 5 กรณี คือ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ กรณีตาย กรณีชราภาพ และกรณีสงเคราะห์บุตร
สามารถตรวจสอบสิทธิประโยชน์และเงื่อนไขการเกิดสิทธิ์ขอรับประโยชน์ทดแทนมาตรา 40 อย่างละเอียดได้ที่นี่
เงินสมทบประกันสังคม 2568 จ่ายวันไหน ?
- กรณีนายจ้าง
ทางสำนักงานประกันสังคมมีช่องทางการให้บริการรับชำระเงินกองทุนประกันสังคมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) โดยนายจ้างที่ชำระเงินผ่านช่องทางดังกล่าว จะได้รับการขยายเวลาการยื่นแบบรายการแสดงการส่งเงินสมทบและการชำระเงินสมทบผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) ออกไปอีก 7 วันทำการ นับแต่วันที่พ้นกำหนดวันที่ 15 ของเดือนถัดไปจากเดือนที่มีการหักเงินสมทบไว้ สำหรับค่าจ้างตั้งแต่เดือน มกราคม 2568 - ธันวาคม 2572 เป็นระยะเวลา 60 เดือน โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 (ที่มา : รัฐบาลไทย https://www.thaigov.go.th)
- กรณีเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39
ต้องนำส่งเงินสมทบภายในวันที่ 15 ของทุกเดือน หากเกินกำหนดต้องเสียเงินเพิ่ม ในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน
- กรณีเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40
สามารถนำส่งเงินสมทบได้ตั้งแต่วันที่ 1 ถึงวันที่ 30 หรือ 31 ของเดือน หากเดือนไหนขาดส่งจะไม่สามารถจ่ายเงินสมทบย้อนหลังได้ ทั้งนี้ สามารถนำส่งเงินสมทบได้ล่วงหน้าถึง 12 เดือน
ข้อควรรู้เกี่ยวกับการใช้สิทธิ์ประกันสังคม
การประกันสังคมเป็นหนึ่งในสวัสดิการสำคัญที่รัฐบาลมอบให้กับผู้ที่ทำงานทั้งในภาครัฐและเอกชน รวมถึงประชาชนทั่วไป และผู้ประกอบอาชีพอิสระ การมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ที่ได้รับและวิธีการใช้สิทธิ์ประกันสังคมจะช่วยให้คุณสามารถใช้ประโยชน์จากสิทธิ์เหล่านี้ได้อย่างเต็มที่
- ผู้ประกันตนภายใต้ระบบประกันสังคมถูกแบ่งออกเป็นหลายกลุ่ม ซึ่งแต่ละกลุ่มจะมีสิทธิประโยชน์ที่แตกต่างกันไป ดังนั้นจำเป็นต้องศึกษาสิทธิ์ที่จะได้รับอย่างละเอียด
- ควรตรวจสอบสิทธิ์และเงื่อนไขการรับบริการก่อนใช้สิทธิ์ทุกครั้ง
- หนึ่งในสิทธิประโยชน์ที่สำคัญของประกันสังคมคือการรักษาพยาบาล โดยผู้ประกันตนมีสิทธิ์ในการรักษาโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายที่โรงพยาบาลในเครือข่ายที่ได้เลือกไว้ การใช้สิทธิ์รักษาพยาบาลต้องมีการเลือกโรงพยาบาลประจำปี ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงได้ปีละครั้ง
- หากเกิดกรณีป่วยฉุกเฉินวิกฤต สามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดได้ภายใน 72 ชั่วโมง ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลรัฐหรือเอกชนได้ทุกแห่ง โดยไม่ต้องสำรองค่าใช้จ่าย
- แจ้งเปลี่ยนแปลงข้อมูลส่วนตัวให้เป็นปัจจุบันเสมอ
- สามารถตรวจสอบข้อมูลและสิทธิประโยชน์ต่างๆ ได้ที่เว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม https://www.sso.go.th/wpr/
นอกจากการใช้สิทธิ์ประกันสังคมแล้ว การมีบัตรเครดิตสักใบก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยให้คุณมีความพร้อมทางการเงินมากขึ้นเมื่อต้องเผชิญกับค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่ไม่คาดคิด ทำให้คุณสามารถมุ่งเน้นไปที่การดูแลสุขภาพของตัวเองหรือคนที่คุณรักได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายมากเกินไป สำหรับท่านใดที่สนใจ สามารถ สมัครบัตรเครดิต KTC ทางออนไลน์ และ สมัครบัตรกดเงินสด KTC PROUD ได้ทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง
ใช้จ่าย คุ้มค่า นึกถึงบัตรเครดิต KTC