กองทุนรวม ลดหย่อนภาษีได้ไหม? คำตอบคือ “ได้” เพราะกองทุนลดหย่อนภาษี เป็นกองทุนรวมที่เปิดโอกาส ให้นักลงทุนสามารถนำไปลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดาได้ โดยกองทุนลดหย่อนภาษีในประเทศไทยนั้นมี 2 ประเภท ได้แก่ กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) และ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)
สำหรับใครที่ไม่รู้ว่ากองทุนลดหย่อนภาษี 2565 ตัวไหนดีในปีที่แล้ว ระหว่าง SSF กับ RMF และอยากจะซื้อกองทุนลดหย่อนภาษี 2566 ในปีนี้ดู เรามีข้อมูลดี ๆ มาฝากสำหรับมือใหม่หัดซื้อกองทุนลดหย่อนภาษี รับรองอ่านแล้ว เข้าใจได้เลย
กองทุนลดหย่อนภาษี SSF กับ RMF ต่างกันอย่างไร?
กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF)
กองทุน SSF ย่อมาจาก Super Savings Fund เน้นการออม และใช้ลดหย่อนภาษีได้ โดยสามารถลงทุนได้ในหลากหลายสินทรัพย์ เช่น หุ้น ตราสารหนี้ กองทุนอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น ทั้งนี้ กองทุน SSF สามารถลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30% ของรายได้ และไม่เกิน 200,000 บาท และเมื่อรวมกับสิทธิลดหย่อนเพื่อการเกษียณอายุอื่นๆ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)
กองทุน RMF ย่อมาจาก Retirement Mutual Fund เป็นกองทุนเน้นการออมเพื่อเกษียณและใช้ลดหย่อนภาษีได้ด้วยเช่นกัน โดยสามารถลงทุนได้หลากหลายสินทรัพย์เช่นเดียวกับกองทุน SSF ทั้งนี้ กองทุน RMF สามารถลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 30% ของรายได้ และเมื่อรวมกับสิทธิลดหย่อนเพื่อการเกษียณอายุอื่น ๆ จะต้องไม่เกิน 500,000 บาท
1. เงินลงทุนขั้นต่ำและระยะเวลาการถือครองกองทุน SSF และ RMF เป็นอย่างไร?
ปัจจุบันจำนวนเงินลงทุนขั้นต่ำของกองทุน SSF และ RMF ไม่มีกำหนดขั้นต่ำ ดังนั้นหมายความว่า สามารถลงทุนได้ตั้งแต่ 1 บาทขึ้นไป ทั้งนี้
- กองทุน SSF ไม่จำเป็นต้องลงทุนต่อเนื่องทุกปี แต่เมื่อตัดสินใจลงทุนแล้วก็ต้องถือครองไม่น้อยกว่า 10 ปี นับจากวันที่ซื้อ
- กองทุน RMF จำเป็นต้องลงทุนต่อเนื่องทุกปี หรือเว้นได้ไม่เกิน 1 ปี ดังนั้นอาจจะซื้อปีเว้นปีก็ได้ แต่จะต้องถือครองไว้อย่างน้อย 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ซื้อครั้งแรก และไม่สามารถถอนเงินออกมาใช้หรือขายได้ก่อนอายุ 55 ปี มิเช่นนั้นจะต้องเสียภาษีปรับ
2. นโยบายจ่ายเงินปันผลระหว่างกองทุน SSF และ RMF เป็นอย่างไร
กองทุนลดหย่อนภาษี SSF และ RMF มีนโยบายจ่ายเงินปันผลที่แตกต่างกัน ดังนี้
กองทุน SSF มีทั้งนโยบายจ่ายเงินปันผลและไม่จ่ายเงินปันผล
ขึ้นอยู่กับแต่ละกองทุน โดยกองทุน SSF ที่มีนโยบายจ่ายเงินปันผลจะจ่ายเงินปันผลให้ได้เมื่อมีกำไรสะสม และจะต้องไม่ทำให้กองทุนมีผลขาดทุนสะสมในรอบระยะเวลาบัญชีที่มีการจ่ายเงินปันผลนั้นด้วย ทั้งนี้ เงินปันผลของ SSF จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% ก่อนจ่ายให้กับผู้ลงทุน
กองทุน RMF ไม่มีนโยบายจ่ายเงินปันผล
เนื่องจากเป็นกองทุนที่เน้นการออมเพื่อเกษียณอายุ จึงต้องการรักษาเงินต้นไว้เพื่อการเติบโตในระยะยาว
ดังนั้น สิ่งสำคัญที่ผู้ลงทุนควรรู้ก็คือ หากต้องการได้รับเงินปันผลระหว่างทางจากการลงทุนในกองทุนลดหย่อนภาษี กองทุน SSF จึงเป็นทางเลือกที่เหมาะสมมากกว่ากองทุน RMF อย่างไรก็ตาม ผู้ลงทุนควรพิจารณาถึงความเสี่ยงและผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับก่อนตัดสินใจลงทุน
เลือกกองทุนรวม ซื้อได้ทุกเวลา แต่เพื่อผลตอบแทนที่ดี แนะนำช่วงที่ตลาดหุ้นตก
3. ซื้อกองทุนลดหย่อนภาษี 2566 ตอนไหนดี?
การซื้อกองทุนลดหย่อนภาษี ไม่ว่าจะเป็นกองทุน SSF หรือ RMF สามารถทำได้ทุกช่วงเวลา แต่ โดยทั่วไปแล้ว แนะนำให้ซื้อในช่วงที่ตลาดหุ้นตก เนื่องจากราคาหน่วยลงทุนจะต่ำลง ทำให้สามารถซื้อหน่วยลงทุนได้ในจำนวนที่มากขึ้น ส่งผลให้ได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้นเมื่อตลาดหุ้นฟื้นตัว
อย่างไรก็ตาม ผู้ลงทุนควรพิจารณาปัจจัยต่างๆ ประกอบการตัดสินใจด้วย เช่น เป้าหมายการลงทุน ความเสี่ยงที่ยอมรับได้ และสถานะทางการเงิน นอกจากนี้ ยังสามารถทยอยซื้อได้เป็นประจำทุกเดือนเพื่อกระจายความเสี่ยงจากการลงทุนไม่ถูกจังหวะของนักลงทุน หรือที่เรียกว่าลงทุนแบบ DCA (Dollar-Cost Averaging) คือ การลงทุนแบบทยอยลงทุนเป็นงวดๆ ด้วยเงินจำนวนเท่ากัน โดยไม่สนใจว่าในเวลานั้นราคาของสินทรัพย์จะเป็นเท่าไร ซึ่งเป็นการลงแบบทยอยลงทุน เพื่อเพิ่มปริมาณของสินทรัพย์ให้มากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อคาดหวังผลตอบแทนในระยะยาว
กองทุน RMF ลดหย่อนภาษีได้
4. ขายกองทุน RMF และ SSF อย่างไรไม่ให้ผิดเงื่อนไข
ขายกองทุน RMF
- ต้องถือหน่วยลงทุนครบ 5 ปีเต็ม โดยนับจากวันซื้อครั้งแรกแบบวันชนวัน ไม่ได้นับเป็นปีปฏิทิน เช่น หากซื้อครั้งแรกวันที่ 1 มกราคม 2566 จะต้องถือครบถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2570 จึงจะขายได้
- ต้องมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ โดยนับจากวันเกิด เช่น หากเกิดวันที่ 1 มกราคม 2521 จะต้องอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ในวันที่ 1 มกราคม 2576 จึงจะขายได้
หากขายก่อนกำหนดจะไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ และต้องนำผลต่างระหว่างราคาขายกับราคาทุน ซึ่งถือเป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร มารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ในแบบ ภ.ง.ด.90
นอกจากนี้ ให้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 สำหรับปีภาษีที่ใช้สิทธิ์ยกเว้นภาษีเงินได้เพิ่มเติม เพื่อเสียภาษีเงินได้ และเงินเพิ่มอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือน ตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร หากยื่นแบบฯ ภายในเดือนมีนาคมของปีถัดจากปีที่หมดสิทธิ์ ไม่ต้องเสียเงินเพิ่มตามข้อ 9 ของประกาศอธิบดีฯ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 171) (ที่มา: https://www.rd.go.th/36195.html)
ขายกองทุน SSF
ต้องถือหน่วยลงทุนครบ 10 ปีเต็ม โดยนับจากวันซื้อครั้งแรกแบบวันชนวัน ไม่ได้นับเป็นปีปฏิทิน เช่น หากซื้อครั้งแรกวันที่ 1 มกราคม 2566 จะต้องถือครบถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2576 จึงจะขายได้
หากขายกองทุน SSF ก่อนกำหนด จะต้องคืนภาษีทุกปีที่ได้รับลดหย่อนไป และต้องจ่ายเงินเพิ่มให้รัฐในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือน โดยคิดย้อนหลังตั้งแต่เดือนเมษายนของปีที่เคยขอยื่นลดหย่อนภาษี จนถึงวันที่ยื่นคืนภาษี
5. กองทุนลดหย่อนภาษี SSF และ RMF แบบไหนคุ้มค่ากว่ากัน
กองทุนลดหย่อนภาษี SSF และ RMF ต่างให้สิทธิลดหย่อนภาษีสำหรับผู้มีเงินได้ที่ต้องเสียภาษีเหมือนกัน โดย SSF สามารถลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 30% ของรายได้ ไม่เกิน 200,000 บาท ส่วน RMF จะลดหย่อนได้ไม่เกิน 500,000 บาท แต่ทั้ง 2 กองทุนนี้ เมื่อรวมกับค่าลดหย่อนการออมเพื่อเกษียณอื่นๆ แล้ว จะต้องไม่เกิน 500,000 บาท
หากถามถึงความคุ้มค่าในการซื้อกองทุนลดหย่อนภาษี SSF และ RMF นั้นต้องบอกว่าขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น รายได้ของผู้ลงทุน อัตราภาษีที่ต้องเสีย อัตราผลตอบแทนของการลงทุน ระยะเวลาการลงทุน ฯลฯ ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลมากกว่าว่าต้องการลงทุนในรูปแบบระยะสั้นหรือระยะยาว โดยสามารถใช้โปรแกรมคำนวณภาษีและผลตอบแทนจากการลงทุน ก่อนตัดสินใจลงทุนได้ที่ https://www.ktam.co.th/tax.aspx
อย่างไรก็ตาม ผลตอบแทนที่แท้จริงที่ผู้ลงทุนจะได้รับอาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่น สภาพตลาด นโยบายการลงทุนของกองทุน ค่าธรรมเนียมของกองทุน และระยะเวลาการลงทุน เป็นต้น
นอกจากสิทธิประโยชน์ทางภาษีแล้ว การลงทุนในกองทุนลดหย่อนภาษี SSF และ RMF ยังสามารถช่วยให้คุณประหยัดเงินได้มากขึ้น โดยคุณสามารถใช้บัตรเครดิต KTC ชำระค่าซื้อหน่วยลงทุนได้ พร้อมโอกาสลงทุนสุดคุ้มด้วยกองทุน KTAM RMF และ SSF พร้อมรับเงินคืน 100 บาท เมื่อชำระด้วยบัตรเครดิต KTC หรือ ใช้คะแนน KTC FOREVER ทุก 1,000 คะแนน แทนเงินลงทุน 100 บาทได้เช่นกัน
นอกจากนี้ KTC ยังมอบความคุ้มค่าอื่นๆ อีกมากมาย ให้กับสมาชิก บัตรเครดิต KTC โดยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ KTC PHONE โทร. 02 123 5000
ใช้จ่าย คุ้มค่า นึกถึงบัตร KTC
.