สายแต่งต้องรู้! ดัดแปลงสภาพรถแบบไหนที่ต้องแจ้งกรมขนส่งทางบก
เมื่อซื้อรถคู่ใจมาใช้งานสักคัน หลายคนอาจจะมีความฝันในการนำไปแต่งซิ่งตามความชอบส่วนตัว เพื่อเติมเต็มความฝันในวัยเด็ก แต่รู้กันหรือไม่ว่า การแต่งซิ่งอย่างการวางเครื่องใหม่ เปลี่ยนสีรถ หรือเปลี่ยนโครงสร้างตัวถัง อาจมีความผิดในกฎหมายดัดแปลงสภาพรถได้เช่นกัน หากไม่แจ้งขออนุญาตกับกรมขนส่งทางบก วันนี้เราเลยจะพาไปทำความเข้าใจ ว่าการแต่งรถแบบไหนที่ต้องแจ้งดัดแปลงสภาพรถยนต์ และแบบไหนที่สามารถทำได้เลยโดยไม่ต้องแจ้งก่อน
เลือกอ่านตามหัวข้อ
ดัดแปลงสภาพรถ ผิดกฎหมายไหม
การดัดแปลงสภาพรถ จะผิดกฎหมายหรือไม่นั้น จะแบ่งออกเป็น 2 กรณี โดยจะมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน ดังนี้
การดัดแปลงสภาพรถ ที่ไม่ต้องแจ้งกรมขนส่งทางบก
หากมีการดัดแปลงสภาพรถเพียงเล็กน้อย อย่างเช่นการติดตั้งอุปกรณ์ภายในห้องโดยสาร หรืออุปกรณ์ส่วนอื่น ๆ เพื่อความสะดวก หรือเพื่อความปลอดภัยในการใช้งาน จะไม่จำเป็นจะต้องแจ้งกรมขนส่งทางบก โดยอุปกรณ์ที่สามารถติดตั้งได้เลยโดยไม่ต้องแจ้ง จะมีดังนี้
- สปอยเลอร์
- โรลบาร์
- แร็คหลังคา
- เกจ์วัดรอบรถยนต์
- ล้อแม็ก
- สติกเกอร์ติดรถ
การดัดแปลงสภาพรถ ที่ต้องแจ้งกรมขนส่งทางบก
แต่หากเป็นการดัดแปลงสภาพรถที่เยอะ หรือเป็นจุดใหญ่ที่ทำให้รถดูเปลี่ยนไป จำเป็นจะต้องแจ้งดัดแปลงสภาพรถยนต์กับกรมขนส่งทางบกก่อน เพื่อแก้ไขข้อมูลที่ลงไว้ตามเล่มทะเบียนรถให้มีการอัปเดต และใช้งานได้ถูกต้องตามกฎหมาย และตัวอย่างการดัดแปลงที่จำเป็นจะต้องแจ้งก่อน มีดังนี้
- วางเครื่องยนต์ใหม่
- เปลี่ยนสีรถ (ทั้งการพ่นหรือ Wrap)
- ดัดแปลงโครงสร้างตัวถัง
- ดัดแปลงระบบบังคับเลี้ยว
- เปลี่ยนระบบกันสะเทือน เช่น ยกสูง เสริมแหนบ หรือโหลดต่ำ
- เปลี่ยนฝากระโปรงหน้า หรือหลังเป็นคาร์บอนไฟเบอร์ (กรณีเกิน 30% ของสีตัวรถ)
- ติดตั้งโครงหลังคา
- ฝาปิดท้ายอุปกรณ์ทุ่นแรงในการยกสิ่งของ
อยากแจ้งดัดแปลงสภาพรถยนต์ ต้องทำอย่างไร
เมื่อรู้ว่ารถที่เราแต่งนั้นจำเป็นจะต้องแจ้งดัดแปลงสภาพรถยนต์ จะมีขั้นตอนในการดำเนินการ รวมไปถึงเอกสารที่จำเป็นต้องใช้ ตามพรบ.การขนส่งทางบอก พ.ศ. 2522 ดังนี้
แจ้งดัดแปลงสภาพรถยนต์ ใช้เอกสารอะไรบ้าง
- บัตรประชาชนเจ้าของรถ
- สมุดคู่มือจดทะเบียนรถ
- ใบเสร็จรับเงินการดัดแปลงตัวถังรถ
- ใบเสร็จรับเงินการดัดแปลงสีรถ
- ใบเสร็จรับเงินการดัดแปลงสภาพรถส่วนอื่นทั้งหมด
- หนังสือรับรองความแข็งแรงในโครงสร้างจากวิศวกร
แจ้งดัดแปลงสภาพรถยนต์ มีขั้นตอนอย่างไร
1. เดินทางไปยังสำนักงานขนส่งในเขตพื้นที่ เพื่อยื่นคำขอพร้อมกับเอกสารทั้งหมด
2. เข้ารับการตรวจสอบสภาพรถ พร้อมกับเอกสารทั้งหมดที่เตรียมไป
3. เมื่อผ่านการตรวจสอบตามขั้นตอน ทางเจ้าหน้าที่จะทำการบันทึกข้อมูลการตรวจสภาพรถ พร้อมเอกสารที่ผ่านการตรวจสภาพ เพื่อใช้ยื่นกับทางฝ่ายงานทะเบียนต่อไป
4. นำเอกสารพร้อมผลการตรวจสภาพที่ผ่านแล้ว ไปยื่นในส่วนของงานทะเบียนอีกครั้ง พร้อมกับชำระค่าธรรมเนียม และรับสมุดคู่มือจดทะเบียนรถตามขั้นตอน
รวมกฎหมายดัดแปลงสภาพรถที่สายแต่งมักทำผิด
นอกจากเรื่องการแจ้งดัดแปลงสภาพรถที่สามารถทำได้แล้ว ยังมีการแต่งรถบางประเภทที่ผิดกฎหมายอยู่ โดยไม่สามารถแจ้งดัดแปลงสภาพรถยนต์กับทางกรมขนส่งทางบกได้ทุกกรณี ซึ่งการดัดแปลงที่ผิดกฎหมาย แต่นิยมในหมู่คนรักการแต่งรถ จะมีดังนี้
เปลี่ยนป้ายทะเบียน
การเปลี่ยนป้ายทะเบียน ไม่ว่าจะเป็นการตัดต่ออัดกรอบใหม่ ทำให้ป้ายยาวขึ้น ติดป้ายทะเบียนแหงนขึ้น หรือติดป้ายที่ทำขึ้นเอง ล้วนเป็นการกระทำที่ผิดต่อกฎหมายที่กำหนดไว้ทั้งหมด เพราะถือเป็นการเปลี่ยนแปลงเอกสารราชการ โดยจะมีโทษทางกฎหมาย และค่าปรับแตกต่างกันไปตามแต่ละกรณี ดังนี้
- ดัดแปลงตัดต่อป้ายทะเบียนให้ยาวขึ้น : มีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท หากโดนเรียกตรวจโดยเจ้าหน้าที่
- ติดป้ายทะเบียนแหงนขึ้น หรือพับลงให้มองยาก : มีโทษปรับไม่เกิน 500 บาท
- เขียนป้ายทะเบียนขึ้นเอง หรือเลขไม่ตรง : มีโทษปรับที่ 100,000 บาท หากโดนฟ้องในการปลอมแปลงเอกสารราชการ
โหลดตัวรถต่ำลง
การโหลดตัวรถให้ต่ำลง ก็เป็นการแต่งรถที่ได้รับความนิยม ที่เป็นการกระทำผิดตามกฎหมาย หากมีการโหลดลงต่ำกว่า 40 เซนติเมตร หรือหากมีการติดสปอยเลอร์ จนทำให้ระยะห่างระหว่างตัวรถกับพื้นมีไม่มาก อาจเข้าข่ายมีความผิดได้เหมือนกัน หากเข้ารับการตรวจสภาพรถกับทาง ตรอ. และวินิจฉัยแล้วว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ
เปลี่ยนฝากระโปรงหน้า-หลัง
การแต่งฝากระโปรงหน้า หรือฝากระโปรงหลังรถ ก็เป็นอีกส่วนที่หลายคนที่นิยมทำ ซึ่งหากเปลี่ยนสีที่ไม่ตรงกับตัวรถ จะทำได้เพียงไม่เกิน 50% หรือครึ่งหนึ่งของสีตัวรถเท่านั้น หากเกินกว่านั้น จะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย และอาจมีโทษปรับที่ไม่เกิน 2,000 บาท และจำเป็นจะต้องนำไปแก้ไขในภายหลังต่อไป
ดัดแปลงท่อไอเสีย
การดัดแปลงท่อไอเสีย หรือเลือกแต่งท่อที่มีเสียงดุดัน หากมีเสียงดังเกิน 100 เดซิเบล และไม่มีท่อพักออกทางท้ายรถ จะถือว่าผิดกฎหมายทุกกรณี ซึ่งจะมีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท
ทำล้อล้นซุ้ม
หากเปลี่ยนล้อแม็กเพื่อความสวยงาม จะถือว่าไม่ผิดกฎหมายใด ๆ แต่หากมีการดัดแปลงให้ล้อล้นซุ้มออกมา หรือทำล้อแบะ จะถือว่ามีความผิดในการดัดแปลงสภาพรถทันที เพราะมีความอันตรายในการใช้งานรถที่เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ และจะมีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท หากถูกตรวจพบ
ปรับรถยกสูงเกินไป
การปรับรถยกสูง ถือเป็นการดัดแปลงสภาพรถที่มีความอันตรายในการขับขี่เช่นกัน กฎหมายจึงกำหนดให้ปรับแต่งได้ไม่สูงเกิน 135 เซนติเมตรจากพื้น โดยวัดจากกึ่งกลางไฟหน้ารถกับระดับพื้นถนน และต้องมีการตรวจเช็ก และออกหนังสือรับรองจากทางวิศวกรด้วย หากไม่ทำตามนี้ จะถือว่าผิดกฎหมายในการดัดแปลงสภาพรถ และจะมีโทษปรับที่ไม่เกิน 2,000 บาท
ใช้ไฟส่องสว่างผิดประเภท
อีกหนึ่งสิ่งที่คนใช้รถมักเปลี่ยน ก็คือไฟส่องสว่าง ซึ่งกฎหมายมีการบังคับใช้แค่สีเหลืองอ่อน หรือสีขาวเท่านั้น หากเปลี่ยนเป็นสีอื่นจะถือว่าผิดกฎหมายทันที และหากใช้ไฟซีนอนที่มีกำลังไฟส่องสว่างสูงเกินไป จะถือว่าผิดกฎหมายด้วยเช่นกัน เพราะถือว่าเป็นการสร้างความอันตรายให้กับเพื่อนร่วมถนน จะมีโทษปรับที่ไม่เกิน 2,000 บาทเช่นกัน
สรุปบทความ ดัดแปลงสภาพรถแบบไหนที่ต้องแจ้งกรมขนส่งทางบก
และข้อมูลทั้งหมดที่เรานำมาฝากกันในวันนี้ ก็น่าจะช่วยให้คนที่ชอบแต่งรถได้เข้าใจกันมากขึ้น ว่าการดัดแปลงสภาพรถแบบไหนนั้นผิดกฎหมาย แบบไหนที่สามารถทำได้ เพียงแค่ต้องแจ้งดัดแปลงสภาพรถยนต์กับทางกรมขนส่งทางบกเท่านั้น และแน่นอนว่าการขับรถที่ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด ไม่เพียงแต่สร้างความสบายใจเพียงเท่านั้น แต่หากเกิดเหตุจำเป็นจะต้องใช้เงินก้อน ก็สามารถนำไปขอสินเชื่อได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งทาง KTC พี่เบิ้ม รถแลกเงิน ก็พร้อมเป็นทางเลือกให้กับคนที่จำเป็นจะต้องใช้เงินก้อน เพียงแค่มีรถเท่านั้น ก็สามารถขอสินเชื่อได้ทันที พร้อมวงเงินก้อนใหญ่ที่มีให้ สมัครได้ง่าย ขั้นตอนไม่เยอะ และยังมีบริการ พี่เบิ้ม Delivery ในการเดินทางไปตรวจสภาพรถ และประเมินราคาให้ถึงหน้าบ้าน โดยมีขั้นตอนอนุมัติไว ให้เงินก้อนทันที แบบไม่ต้องมีคนค้ำประกัน แถมยังผ่อนได้นานสูงสุด 84 เดือน อีกทั้งยังสามารถเลือกรับบัตรกดเงินสด KTC พี่เบิ้มสำหรับใช้เงินฉุกเฉิน โดยกดได้ฟรีไม่มีค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมอีกด้วย
สมัคร KTC พี่เบิ้ม รถแลกเงิน ทางออนไลน์วันนี้
อนุมัติไว รับเงินก้อนทันที โดยไม่ต้องมีคนค้ำประกัน
*กรุณาศึกษาข้อมูลผลิตภัณฑ์ก่อนทำการสมัคร*
*เงื่อนไขเป็นไปตามที่บริษัทฯ และธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด*
*กู้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนไหว อัตราดอกเบี้ย 21%-24% ต่อปี*