ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าทุกวันนี้มีโรคภัยไข้เจ็บมากมายอยู่รอบตัว ทั้งโรคเก่าและโรคใหม่แบบไม่ทันได้ตั้งตัว เพื่อเป็นการป้องกันก่อนจะสาย การตรวจสุขภาพประจำปีจึงกลายเป็นสิ่งสำคัญ KTC อยากชวนคุณมาทำความรู้จักกับข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับการตรวจสุขภาพประจำปี สำหรับคนอยากหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพอย่างจริงจัง ว่าการตรวจสุขภาพประจำปี ตรวจอะไรบ้าง อีกทั้งการตรวจสุขภาพประจำปี ต้องเตรียมตัวยังไง รวมถึงตรวจได้ที่ไหนบ้าง และมีราคาค่าใช้จ่ายประมาณเท่าไหร่ ไปดูกันเลย
ตรวจสุขภาพสำคัญแค่ไหน
เพราะโรคภัยไข้เจ็บไม่ได้มีแจ้งเตือนล่วงหน้า หลายคนจึงพบว่าตัวเองมีโรคร้ายแรงในวันที่สายเกินไป การตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอจึงเปรียบเสมือนฟิลเตอร์ที่จะช่วยคัดกรองปัจจัยเสี่ยงโรคร้ายและหาสัญญาณบ่งชี้ตั้งแต่เนิ่นๆ โดยทั่วไปเราควรตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง แม้จะไม่เคยมีอาการผิดปกติใดๆ หากผลตรวจพบว่าคุณกำลังมีความเสี่ยงต่อโรคชนิดใด แพทย์ผู้ตรวจจะได้เริ่มวางแผนการรักษาได้ทันท่วงที ซึ่งโรคร้ายแรงหลายชนิดสามารถรักษาให้หายขาดได้หากตรวจพบในระยะเริ่มต้น
การตรวจสุขภาพประจำปีเริ่มตั้งแต่การพิจารณาข้อมูลพื้นฐาน ทั้งเพศ อายุ พฤติกรรม และความเสี่ยงของโรคที่เกิดจากพันธุกรรม
ตรวจสุขภาพประจำปี ตรวจอะไรบ้าง
การตรวจสุขภาพประจำปีมักจะเริ่มต้นจากการพิจารณาข้อมูลพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็น เพศ อายุ พฤติกรรมการดำเนินชีวิต และความเสี่ยงของโรคที่เกิดจากพันธุกรรม แพทย์ผู้ตรวจจะใช้ข้อมูลเหล่านี้ในการประเมินความเสี่ยงเบื้องต้น และแนะนำโปรแกรมตรวจสุขภาพที่เหมาะสม โดยขั้นตอนในการตรวจสุขภาพประจำปี มักมีดังนี้
1. ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง วัดความดันเลือด
ขั้นตอนนี้จะช่วยเก็บข้อมูลสำหรับวินิจฉัยสุขภาพว่ามีค่าเฉลี่ยอยู่ในมาตรฐานหรือไม่ มีความเสี่ยงต่อโรคอ้วน หรือมีน้ำหนักน้อยจนผิดจากมาตรฐานโดยทั่วไปหรือเปล่า ซึ่งข้อมูลเหล่านี้อาจถูกนำไปใช้ในการประเมินความเสี่ยงต่อโรคต่างๆ ได้
2. เก็บตัวอย่างเลือด
การเก็บตัวอย่างเลือดจะถูกนำไปใช้ในการตรวจสอบความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด ทั้งเม็ดเลือดแดงและเม็ดเลือดขาว ซึ่งบ่งบอกถึงภูมิคุ้มกันของร่างกาย ตรวจวัดความเข้มข้นของเลือดเพื่อวินิจฉัยอาการโลหิตจาง ตรวจสอบปริมาณเกล็ดเลือด ตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดเพื่อหาปัจจัยเสี่ยงเบาหวาน ตรวจหาปริมาณไขมันสะสมในเลือด ซึ่งจะแบ่งเป็นไขมันดีและไขมันเลว ซึ่งมีผลต่อความเสี่ยงการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง นอกจากนี้ยังสามารถตรวจวัดระดับกรดยูลิกในเลือด ตรวจสอบการทำงานของต่อมไทรอยด์จากระดับฮอร์โมนในเลือด ตรวจการทำงานของไตจากการวัดของเสียในเลือด และตรวจวัดสมรรถภาพการทำงานของตับ เป็นต้น
3. เก็บตัวอย่างปัสสาวะ
การเก็บปัสสาวะตรวจช่วยให้แพทย์วิเคราะห์ปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับไต หรือกรวยไต โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ โรคนิ่วในไต การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ภาวะไตวายเฉียบพลันและเรื้อรัง โรคเบาหวาน และอีกมากมาย
4. ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG)
เป็นการตรวจหาความผิดปกติของหัวใจ ไม่ว่าจะเป็นภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ การนำไฟฟ้าที่ผิดปกติของกล้ามเนื้อหัวใจ หรือภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ซึ่งอาจนำไปสู่โรคอื่นๆ ได้ โดยปกติแล้วมักจะจำเป็นต้องตรวจเป็นประจำหากมีอายุ 35 ปีขึ้นไป
5. เอกซเรย์ปอด
เพื่อดูความผิดปกติในทรวงอก เช่น ขนาดของหัวใจ หรือจุดดำและสิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้นภายในปอด ซึ่งอาจเป็นจุดเริ่มต้นของวัณโรคและโรคต่างๆ ได้
6. ตรวจความสามารถในการมองเห็น
จะเป็นการตรวจเพื่อหาความผิดปกติของสายตาหรือดวงตา เช่น อาการสายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง รวมถึงดูความเสี่ยงของโอกาสการเกิดต้อชนิดต่างๆ
7. ตรวจอัลตราซาวนด์ช่องท้อง
เป็นการตรวจเพื่อหาความผิดปกติของอวัยวะสำคัญหลักๆ ที่อยู่ภายในช่องท้อง ไม่ว่าจะเป็น ตับ ไต ตับอ่อน ม้าม เส้นเลือดใหญ่ภายในช่องท้อง รวมถึงมดลูกและรังไข่ในผู้หญิง หรือต่อมลูกหมากในผู้ชาย
8. การตรวจเพิ่มเติมสำหรับคุณผู้หญิง
เพราะอวัยวะต่างๆ ของสุภาพสตรีนั้นค่อนข้างจะมีความซับซ้อนมากกว่า ในการตรวจสุขภาพประจำปีจึงไม่ควรมองข้ามการตรวจคัดกรองที่สำคัญ เช่น การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก และการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม ซึ่งเป็นโรคร้ายที่สามารถรักษาให้หายได้หากตรวจพบในระยะเริ่มต้น
การเตรียมตัวสำหรับการตรวจสุขภาพประจำปีที่ถูกต้องจะทำให้ได้ผลการตรวจที่ค่อนข้างแม่นยำ
ตรวจสุขภาพประจำปี เตรียมตัวยังไง
อีกหนึ่งขั้นตอนสำคัญที่คุณต้องใส่ใจก็คือการเตรียมตัวก่อนการตรวจสุขภาพประจำปี เพราะการเตรียมตัวที่ถูกต้อง จะทำให้ได้ผลการตรวจที่ค่อนข้างแม่นยำ ดังนี้
1. พักผ่อนให้เพียงพอ
ในวันก่อนการตรวจสุขภาพประจำปี ควรนอนหลับให้เต็มที่อย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง เพราะการนอนหลับไม่เพียงพอนั้นส่งผลต่อการทำงานของหัวใจและความดันโลหิตโดยตรง
2. งดอาหารและเครื่องดื่ม
ก่อนวันตรวจสุขภาพประจำปี ต้องงดการกินอาหารและเครื่องดื่มเป็นเวลา 8-10 ชั่วโมง และควรงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกประเภทอย่างน้อย 24 ชั่วโมง รวมถึงหลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสหวานหรือไขมันสูง เพราะอาจมีส่วนทำให้ผลตรวจคลาดเคลื่อนได้
3. เตรียมเอกสารแสดงโรคประจำตัว
หากมีโรคประจำตัวที่กำลังรักษาหรือต้องกินยาต่อเนื่อง ควรนำยาและใบรับรองอาการป่วยไปแสดงให้แพทย์ผู้ตรวจสุขภาพรับทราบ เพื่อช่วยในการวิเคราะห์ผลตรวจร่างกายให้แม่นยำขึ้น
4. สวมใส่เสื้อผ้าที่เหมาะสม
การสวมใส่เสื้อผ้าที่เหมาะสมช่วยให้สะดวกต่อขั้นตอนการตรวจ เช่น การเจาะเลือดที่บริเวณข้อพับแขน การเอกซเรย์ปอด โดยควรสวมเสื้อแบบเรียบๆ แขนสั้น ถอดใส่ง่าย ไม่รัดแน่นจนเกินไป และไม่ควรสวมใส่เครื่องประดับ
5. แจ้งอาการทางสุขภาพก่อนการตรวจ
สำหรับคุณผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ ควรแจ้งแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ก่อนทำการตรวจทุกครั้ง เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อครรภ์ ควรหลีกเลี่ยงการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก หรือมะเร็งรังไข่ ในช่วง 7 วัน ก่อนและหลังมีประจำเดือน อีกทั้งไม่ควรตรวจปัสสาวะในขณะมีประจำเดือน เพราะอาจมีเลือดปนเปื้อนในปัสสาวะ ซึ่งจะทำให้ผลตรวจคลาดเคลื่อนได้
นอกจากการตรวจสุขภาพพื้นฐานแล้ว ยังมีโปรแกรมตรวจสุขภาพพิเศษเช่นการตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน
โปรแกรมตรวจสุขภาพประจำปีอื่นๆ ที่น่าสนใจ
นอกจากการตรวจสุขภาพพื้นฐานแล้ว ยังมีโปรแกรมตรวจสุขภาพอื่นๆ ที่น่าสนใจ และอยากแนะนำให้คุณได้ลองตรวจเพิ่มเติมเมื่อมีโอกาส ไม่ว่าจะเป็น
- โปรแกรมตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน
ก่อนการเริ่มต้นชีวิตคู่ หนึ่งในข้อมูลที่คุณควรทราบก็คือปัญหาสุขภาพของอีกฝ่าย เพื่อจะได้เตรียมพร้อมในการดูแลซึ่งกันและกัน รวมถึงการมีทายาทในอนาคต ที่สำคัญที่สุดคือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยส่วนใหญ่แล้วมักประกอบไปด้วยการตรวจมะเร็งปากมดลูก และตรวจอัลตราซาวนด์เพื่อประเมินมดลูกและรังไข่ (TVS) สำหรับคุณสุภาพสตรี นอกจากนี้ยังมีการตรวจหมู่เลือด ตรวจชนิดของหมู่เลือด ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด ตรวจคัดกรองภาวะโลหิตจางธาลัสซีเมีย ตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ตรวจหาภูมิคุ้มกันไวรัสตับอักเสบบี ตรวจหาเชื้อไวรัสเอดส์ ตรวจคัดกรองเชื้อซิฟิลิส ตรวจหาภูมิคุ้มกันหัดเยอรมัน และตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบซี เป็นต้น
- โปรแกรมตรวจสุขภาพหลังจากเป็น COVID-19
โปรแกรมนี้ถือเป็นอีกหนึ่งโปรแกรมตรวจสุขภาพที่จำเป็นในยุคปัจจุบัน เพราะแม้จะรักษาอาการป่วยจาก COVID-19 หายแล้ว หลายคนยังคงมีอาการที่เรียกว่า Long Covid โดยจะมีการตรวจการทำงานของหัวใจ ตับ ไต ตรวจดูความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด ตรวจวัดระดับน้ำตาล ไขมันและไตรกลีเซอไรด์ในเลือด ตรวจการทำงานของต่อมไทรอยด์ ตรวจหาการอักเสบของหลอดเลือดแดง คัดกรองความเสี่ยงภาวะลิ่มเลือด ตรวจปัสสาวะ และตรวจหาปริมาณภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัส COVID-19 เป็นต้น
ตรวจสุขภาพตามช่วงอายุราคาเท่าไหร่
โดยปกติแล้วการตรวจสุขภาพในแต่ละช่วงวัยนั้นจะมีราคาแตกต่างกัน เพราะด้วยอายุที่มากขึ้น จึงทำให้การตรวจสุขภาพต้องมีรายละเอียดเพิ่มขึ้นด้วย เช่น การตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง โดยมีราคาตรวจสุขภาพตามช่วงอายุคร่าวๆ ดังนี้
- สำหรับคนที่อายุ 20-40 ปี จะมีราคาประมาณ 5,000-7,000 บาท
- สำหรับคนที่มีอายุ 41-60 ปี จะมีราคาประมาณ 10,000-15,000 บาท
- สำหรับคนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป จะมีราคาประมาณ 15,000-20,000 บาท
ตรวจสุขภาพประจำปี ใช้สิทธิ์อะไรได้บ้าง
หนึ่งในอุปสรรคที่ทำให้หลายคนไม่กล้าไปตรวจสุขภาพประจำปีก็คือค่าใช้จ่าย อย่างไรก็ดี ปัจจุบันมีโปรแกรมการตรวจสุขภาพประจำปีแบบประหยัด ที่จะทำให้คุณรักษาทั้งสุขภาพและเงินในกระเป๋าไปพร้อมๆ กันได้
1. ตรวจสุขภาพประจำปีโดยใช้สิทธิ์ประกันสังคม
หลายคนอาจยังไม่รู้ว่านอกจากรักษาอาการเจ็บป่วยแล้ว ยังสามารถใช้สิทธิ์ประกันสังคมตรวจสุขภาพประจำปีได้ฟรี โดยครอบคลุมการตรวจสุขภาพด้านต่างๆ ดังนี้
- ตรวจคัดกรองการได้ยิน (Finger Rub Test)
- ตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม (สำหรับสุภาพสตรีที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป)
- การตรวจสายตาโดยจักษุแพทย์ตามแบบมาตรฐาน (สำหรับผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป) และการตรวจโดยใช้สาย Snellen Eye Chart (สำหรับผู้ที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไป)
- การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (CBC)
- การตรวจปัสสาวะ (สำหรับผู้ที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไป)
- การตรวจน้ำตาลในเลือด (สำหรับผู้ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป)
- การตรวจการทำงานของไต (สำหรับผู้ที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไป)
- การตรวจไขมันในเลือด (สำหรับผู้ที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป)
- การตรวจเชื้อไวรัสตับอักเสบ
- การตรวจมะเร็งปากมดลูกแบบ Pap Smear และวิธี VIA (สำหรับผู้ที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป)
- การตรวจเลือดในอุจจาระ FOBT (สำหรับผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป)
- การเอกซเรย์ทรวงอก
2. ตรวจสุขภาพประจำปีในโรงพยาบาลของรัฐ
หลายโรงพยาบาลในเครือของรัฐบาลนั้นเปิดให้สามารถตรวจสุขภาพประจำปีได้ในราคาประหยัด โดยบางแพ็กเกจของโรงพยาบาลหลายแห่งมีราคาเริ่มต้นที่หลักร้อยปลายๆ เท่านั้น อย่างไรก็ดีราคาแพ็กเกจมักปรับตามอายุ ยิ่งอายุน้อยยิ่งราคาถูก และมักเปิดให้บริการเฉพาะวันจันทร์-ศุกร์ ภายในเวลาทำการเท่านั้น
3. ตรวจสุขภาพประจำปีโดยใช้บัตรเครดิต
การชำระค่าตรวจสุขภาพประจำปีด้วยบัตรเครดิตทำให้ไม่ต้องจ่ายเงินก้อน และยังเลือกผ่อนชำระเป็นงวดได้ นอกจากนี้หลายสถานพยาบาลยังมีโปรโมชั่นร่วมกับบัตรเครดิตชั้นนำ ที่เพียบพร้อมด้วยอุปกรณ์และการบริการที่ทันสมัย ทั้งโปรแกรมการตรวจสุขภาพประจำปีในราคาพิเศษ โปรโมชั่นส่วนลดเพิ่มเติม หรือโปรโมชั่นผ่อนชำระแบบ 0% ซึ่งช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการตรวจสุขภาพประจำปีได้มากขึ้น
ตรวจสุขภาพควรทำแต่เนิ่นๆ ยิ่งอายุน้อยยิ่งราคาไม่แพง
ตรวจสุขภาพประจำปีได้ที่ไหนบ้าง
หากคุณสนใจเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี สามารถมองหาโปรแกรมตรวจสุขภาพที่เหมาะสมในราคาที่คุณพอใจ ได้ทั้งจากโรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลเอกชน และคลินิกทั่วไป โดยแต่ละแห่งก็จะมีโปรแกรมตรวจสุขภาพประจำปีซึ่งครอบคลุมประเภทของการตรวจที่แตกต่างกันไปตามความพร้อมของอุปกรณ์และบุคลากร
ตรวจสุขภาพประจำปีพร้อมโปรโมชั่นดีๆ จากบัตรเครดิต KTC ลดสูงสุด 50% ณ โรงพยาบาลและคลินิก ที่ร่วมรายการ ทั่วประเทศ ทั้งส่วนลดค่าห้อง ค่ายา ค่าทันตกรรม โปรแกรมตรวจสุขภาพ พิเศษสำหรับสมาชิกบัตรเครดิต KTC เท่านั้น
- ระยะเวลาโปรโมชั่น : 1 ม.ค. 67 - 31 ธ.ค. 67
ดูรายละเอียดโปรโมชั่นและสถานพยาบาลที่ร่วมรายการกับบัตรเครดิต KTC ได้ที่นี่
การไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ เพราะหากสุขภาพร่างกายแข็งแรง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ เราก็สามารถใช้ชีวิตได้อย่างเต็มที่ ไม่ต้องกังวลกับปัญหาสุขภาพและไม่ต้องสูญเงินไปกับการรักษาโรค สนใจสมัครบัตรเครดิต KTC พร้อมรับสิทธิประโยชน์ดีๆ เพื่อสุขภาพผ่านช่องทางออนไลน์ได้
ใช้จ่าย คุ้มค่า นึกถึงบัตรเครดิต KTC