ข้อควรรู้! ประกันลดหย่อนภาษีช่วยให้คนไทยเสียภาษีน้อยลง
เมื่อมีรายได้เกิดขึ้น ไม่ว่าคุณจะอายุเท่าไหร่ก็จำเป็นต้องเสียภาษีให้กับแผ่นดิน เพราะการเสียภาษีเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับอายุ แต่สัมพันธ์กับการดำเนินชีวิต และรายได้สุทธิของประชาชนทั่วประเทศ ดังนั้นแม้ว่าคุณจะเป็นผู้เยาว์ นักเรียน นักศึกษา ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ แต่มีการทำธุรกิจก่อเกิดรายได้ อาทิ การขายของออนไลน์ การสร้างรายได้จาก YouTube Chanel และการเป็นอินฟลูเอนเซอร์ หากมีเงินได้สุทธิเกิน 150,001 บาทขึ้นไปต่อปี ก็ต้องจ่ายภาษีเช่นเดียวกับบุคคลอื่น ๆ ซึ่งในวันนี้ KTC มีเกร็ดความรู้ของการทำประกันลดหย่อนภาษี ที่คุณอาจไม่เคยรู้ว่าการทำประกันชีวิต และประกันสุขภาพให้กับตนเอง รวมถึงครอบครัว จะทำให้คุณเสียภาษีบุคคลธรรมดาน้อยลง หรือไม่ต้องเสียเลย และบางครั้งอาจได้รับเงินภาษีคืนกลับมาอีกด้วย
แนะนำสิทธิประโยชน์ของประกันลดหย่อนภาษี รู้ไว้ก่อนยื่นภาษี 2566
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า “ยื่นภาษี” และ “เสียภาษี” ไม่ใช่ขั้นตอนเดียวกัน อันดับแรกผู้ที่มีเงินได้สุทธิ 120,000 บาทต่อปี ทั้งจากการทำงานบริษัท หรือการทำธุรกิจส่วนตัว จะต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษี ก่อนเสียภาษีทุกครั้ง ในช่วงเดือนมกราคม ถึง เดือนมีนาคมของทุกปี (การยื่นภาษีอาจมีการยืดระยะเวลาออกไปในแต่ละปี ตามที่กรมสรรพากรกำหนด) อาทิ ผู้มีเงินได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษี ปี 2565 ต้องยื่นภาษีระหว่างช่วง เดือนมกราคม 2566 - เดือนมีนาคม 2566 เพื่อแจ้งรายได้และรายการลดหย่อนต่าง ๆ แก่กรมสรรพากร สามารถยื่นภาษีได้ที่สำนักงานกรมสรรพากรโดยตรง หรือ ยื่นภาษีออนไลน์ที่บ้านได้ทุกเวลา
สิทธิประโยชน์ของประกันลดหย่อนภาษี
สำหรับรายการลดหย่อนภาษีเตรียมยื่นภาษีนั้น มีให้เลือกหลายรายการ อาทิ ค่าลดหย่อนภาษีส่วนตัว ค่าลดหย่อนคู่สมรส ค่าลดหย่อนบุตร ค่าลดหย่อนบิดามารดา ค่าฝากครรภ์และทำคลอด รวมถึงค่าเบี้ยประกันลดหย่อนภาษีต่าง ๆ ถือเป็นสิทธิประโยชน์ทางภาษีอันดับต้น ๆ ที่หลายคนเลือกนำมาใช้เป็นค่าลดหย่อนภาษีเงินได้สุทธิ ซึ่งการเลือกทำประกันแต่ละแบบ ต่างมอบสิทธิประโยชน์ให้แตกต่างกันไป ดังนี้
สิทธิประโยชน์ของ “ประกันชีวิต” ลดหย่อนภาษี
ผู้มีเงินได้ที่ทำประกันชีวิตให้ตนเอง โดยกรมธรรม์ต้องมีอายุ 10 ปีขึ้นไป สามารถนำค่าเบี้ยประกันที่จ่ายในทุก ๆ เดือน หรือจ่ายเป็นรายปี มาหักค่าลดหย่อนและได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ เท่าที่จ่ายจริงสูงสุด 100,000 บาท กรณีที่คู่สมรสมีประกันชีวิตแต่ไม่มีรายได้ สามารถลดหย่อนค่าเบี้ยประกันของคู่สมรสได้สูงสุด 10,000 บาท แต่กรมธรรม์ต้องมีอายุ 10 ปีขึ้นไป และต้องไม่มีการเวนคืนกรมธรรม์ก่อนครบ 10 ปี มิเช่นนั้นจะถือว่าผิดเงื่อนไข ไม่สามารถนำเบี้ยประกันมาลดหย่อนภาษีได้
สิทธิประโยชน์ของ “ประกันชีวิตบำนาญ” ลดหย่อนภาษี
เตรียมความพร้อมรับมือวัยเกษียณ ด้วยการเลือกทำประกันชีวิตแบบบำนาญ ความคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป และจ่ายผลประโยชน์เงินบำนาญ เมื่อผู้มีเงินได้อายุตั้งแต่ 55 - 85 ปีหรือมากกว่านั้น โดยไม่เวนคืนกรมธรรม์ก่อนครบกำหนด สามารถนำค่าเบี้ยประกันมาลดหย่อนภาษีในอัตราร้อยละ 15 ของเงินได้ในแต่ละปี สูงสุด 200,000 บาทต่อปี หรือหากไม่ได้ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีประกันชีวิตทั่วไป สามารถลดหย่อนภาษีได้ สูงสุด 300,000 บาท
สิทธิประโยชน์ของ “ประกันสุขภาพ” ลดหย่อนภาษี
ทำประกันสุขภาพลดหย่อนภาษีได้ทุกปี
กรณีผู้มีเงินได้ที่ทำประกันสุขภาพให้ตนเอง
สามารถนำค่าเบี้ยประกันสุขภาพ มาหักค่าลดหย่อนเท่าที่จ่ายจริง สูงสุด 25,000 บาท สำหรับผู้มีเงินได้ที่มีทั้งประกันสุขภาพ ประกันชีวิต (กรมธรรม์อายุ 10 ปีขึ้นไป) และเงินฝากแบบพ่วงประกันชีวิต จะหักค่าลดหย่อนภาษีเท่าที่จ่ายจริงได้ สูงสุด 100,000 บาทเท่านั้น
กรณีผู้มีเงินได้ หรือ คู่สมรส ทำประกันสุขภาพให้บิดา-มารดา
สามารถนำค่าเบี้ยประกันสุขภาพของบิดามารดา มาหักค่าลดหย่อนเท่าที่จ่ายจริงได้ สูงสุด 15,000 บาท โดยมีเงื่อนไขว่า บิดามารดาของผู้มีเงินได้ หรือ คู่สมรส ต้องมีรายได้ทั้งปีไม่เกิน 30,000 บาท หากเกินจากนี้จะไม่สามารถนำค่าเบี้ยประกันมาลดหย่อนภาษีได้
ทำประกันสุขภาพให้บิดา-มารดาหักค่าลดหย่อนภาษีได้
กรณีผู้มีเงินได้หลายคนร่วมกันทำประกันสุขภาพสำหรับบิดา-มารดา
ในกรณีนี้จะต้องเฉลี่ยค่าเบี้ยประกันลดหย่อนภาษี ตามจำนวนของผู้ร่วมกันจ่ายจริง สูงสุด 15,000 บาท อาทิ ค่าเบี้ยประกันสุขภาพบิดา-มารดา จำนวน 12,000 บาท มีบุตรผู้มีเงินได้ร่วมจ่าย จำนวน 3 คน บุตรแต่ละคนจะได้รับการหักลดหย่อนภาษี คนละ 4,000 บาท จากเพดานสูงสุดของการลดหย่อนภาษี จำนวน 15,000 บาท
เมื่อทำการเตรียมข้อมูลแสดงรายได้ และหลักฐานรายการลดหย่อนภาษี สำหรับนำมายื่นภาษีเรียบร้อยแล้ว ขั้นต่อมาคือ การคำนวณเงินได้สุทธิ จากรายได้รวมตลอดทั้งปี ที่หักลบค่าลดหย่อนภาษีต่าง ๆ แล้ว เพื่อให้ได้ฐานภาษีมาคำนวณภาษีสำหรับบุคคลธรรมดา
ผู้มีรายได้ต้องมีเงินได้สุทธิเท่าไหร่ถึงไม่ต้องเสียภาษี
สำหรับอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หากมีเงินได้สุทธิเกิน 150,001 บาทขึ้นไปต่อปี ผู้มีเงินได้จะต้องดำเนินการเสียภาษีตามอัตราภาษีที่กฎหมายกำหนด ขึ้นอยู่กับเงินได้สุทธิในแต่ละปี แต่หากหักลบสิทธิประโยชน์ และรายการลดหย่อนแล้ว เงินได้สุทธิกลับต่ำกว่า 150,000 บาทต่อปี กรณีนี้ไม่จำเป็นต้องเสียภาษีในปีนั้น ๆ เนื่องจากเงินได้สุทธิไม่ถึงเกณฑ์
วิธีชำระภาษีและขั้นตอนการขอคืนเงินภาษีอย่างถูกต้อง
การชำระภาษีสามารถทำได้ 2 วิธี ได้แก่ การชำระภาษีที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่ต่าง ๆ และการชำระภาษีออนไลน์ โอน จ่าย ชำระง่าย ๆ ดังนี้
วิธีการชำระภาษี ณ กรมสรรพากร
- ชำระด้วยเงินสด
- ชำระด้วยบัตรเครดิต
- ชำระด้วยเช็คหรือดราฟต์
- ชำระด้วยธนาณัติ
วิธีชำระภาษีออนไลน์
- ชำระด้วย E-Payment (ทุกธนาคารที่ร่วมรายการ)
- ชำระด้วย Internet / Mobile Banking (ทุกธนาคารที่ร่วมรายการ)
- ชำระด้วย ATM (ทุกธนาคารที่ร่วมรายการ)
- ชำระด้วยบัตรเครดิตออนไลน์
- ชำระผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส และ ไปรษณีย์ไทย
ขั้นตอนการขอคืนเงินภาษี
สำหรับพนักงานบริษัท ที่ได้มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย จากเงินเดือน เมื่อถึงช่วงคำนวณรายได้และมีรายการหักลดหย่อนภาษีเพิ่มเข้ามา อาทิ ประกันลดหย่อนภาษี การบริจาค และกองทุน ทำให้มีการปรับเพิ่มค่าลดหย่อนภาษี เงินได้สุทธิลดลงจากเดิม หลังจากยื่นแบบแสดงภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.) เสร็จเรียบร้อย และกรมสรรพากรอนุมัติ จะทำให้ได้รับเงินภาษีที่ถูกหักไว้ “เกิน” คืน โดยจะโอนผ่านเข้าพร้อมเพย์ ตรวจสอบ สถานะ “คืนเงินภาษี” ได้ที่เว็บไซต์ http://www.rd.go.th
กล่าวได้ว่า การทำประกันชีวิตและประกันสุขภาพ นอกจากจะเป็นแผนสำรองของชีวิตในยามเจ็บป่วยฉุกเฉินแล้ว ยังเป็นประกันลดหย่อนภาษี ที่สามารถช่วยผ่อนปรนค่าใช้จ่ายต่อการเสียภาษีได้อีกทางหนึ่ง สำหรับสมาชิกบัตรเครดิต KTC ที่กำลังมองหาผลิตภัณฑ์ประกันภัยต่าง ๆ แต่มีความกังวลเรื่องค่าเบี้ยประกัน KTC ให้คุณชำระเบี้ยประกันภัยอย่างคุ้มค่าที่สุด กับโปรโมชั่นผ่อนชำระ การเก็บคะแนนสะสม และรับเครดิตเงินคืนทุกการใช้จ่าย พร้อมมอบสิทธิประโยชน์สุดคุ้มอีกมากมาย
อ้างอิงข้อมูลจาก: กรมสรรพากร, itax, efiling
จ่ายเบี้ยประกันราคาสุดคุ้มกับโปรโมชั่นจาก KTC รับเครดิตเงินคืน…ได้ที่นี่