การสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน และเพิ่มกำไรให้กับธุรกิจไม่ใช่เรื่องง่ายบนโลกที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน และเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การทำความเข้าใจในกลยุทธ์และกระบวนการต่างๆ ของธุรกิจจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยหนึ่งในเครื่องมือที่จะช่วยให้เราประสบความสำเร็จในการสร้างกำไรให้กับธุรกิจ รวมไปถึงปรับปรุงประสิทธิภาพของการดำเนินธุรกิจให้ดียิ่งขึ้นได้ก็คือ ห่วงโซ่คุณค่า หรือ การเข้าใจ Value Chain ของบริษัท
ห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) คืออะไร ?
Value Chain คือ กระบวนการที่เกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มต้นตั้งแต่จัดหาวัตถุดิบไปจนถึงผลิตภัณฑ์หรือบริการส่งถึงมือลูกค้า ซึ่งการวิเคราะห์และทำความเข้าใจใน Value Chain หรือห่วงโซ่คุณค่า ไม่เพียงแต่จะช่วยให้ธุรกิจมองเห็นภาพรวมของกระบวนการทำงานทั้งหมด แต่ยังช่วยให้ธุรกิจมองเห็นจุดที่สามารถปรับปรุงกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นได้ หรือแม้กระทั่งลดต้นทุนในบางขั้นตอนที่อาจไม่จำเป็นได้ด้วย
ยกตัวอย่างเช่น หากธุรกิจสามารถปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือหาวิธีในการลดต้นทุนในการขนส่งสินค้า ก็สามารถทำให้ธุรกิจประหยัดค่าใช้จ่ายได้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มกำไรในระยะยาว โดยที่ไม่จำเป็นต้องเพิ่มราคาสินค้าหรือบริการเพื่อให้ได้กำไรมากขึ้นนั่นเอง
Value Chain จะช่วยให้ธุรกิจมองเห็นภาพรวมของธุรกิจตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการอย่างมีประสิทธิภาพ
ห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง ?
ห่วงโซ่คุณค่า แบ่งออกเป็น 2 กิจกรรมหลัก ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าหรือบริการ และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจโดยรวม ดังนี้
1.กิจกรรมหลัก (Primary Activities)
กิจกรรมหลักเป็นกระบวนการที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการสร้างมูลค่าให้กับสินค้าหรือบริการ ตั้งแต่เริ่มต้นไปจนกระทั่งผลิตภัณฑ์หรือบริการส่งถึงมือผู้บริโภค ประกอบไปด้วย
- การนำเข้าหรือการจัดซื้อวัตถุดิบ (Inbound Logistics)
ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนของการจัดซื้อวัตถุดิบสำหรับผลิตสินค้า ซึ่งรวมถึงการขนส่งวัตถุดิบจากซัพพลายเออร์มายังโรงงาน การจัดเก็บวัตถุดิบ และการควบคุมสต็อก นับว่าเป็นขั้นตอนส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพสินค้าและต้นทุนการผลิต
- การดำเนินการหรือการผลิต (Operations)
ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนการแปรรูปวัตถุดิบให้กลายมาเป็นสินค้าหรือบริการ ซึ่งรวมถึงการควบคุมการผลิต การควบคุมคุณภาพสินค้าและบริการ และปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อส่งมอบสินค้าและบริการที่ดีที่สุดให้กับผู้บริโภค
- การจัดส่ง การส่งออก (Outbound Logistics)
เมื่อสินค้าผลิตเสร็จแล้วก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการจัดส่งสินค้าไปยังลูกค้าหรือจุดจำหน่าย ซึ่งรวมถึงการจัดเก็บสินค้าสำเร็จรูป การขนส่ง และการกระจายสินค้า เพื่อให้สินค้าถึงมือลูกค้าในเวลาที่กำหนดและเสียหายน้อยที่สุด
- การตลาดและการขาย (Marketing & Sales)
การตลาดและการขายเป็นกระบวนการที่ทำให้ลูกค้ารู้จักสินค้าและสนใจในผลิตภัณฑ์ โดยเน้นการส่งเสริมการขาย การโฆษณา และการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า กระบวนการนี้จะช่วยเพิ่มการรับรู้และกระตุ้นยอดขายได้
- การบริการ (Services)
ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนการดูแลหลังการขาย เช่น บริการซ่อมแซม การให้คำปรึกษาตลอด 24 ชั่วโมง การรับประกันสินค้า ซึ่งเป็นขั้นตอนที่จะช่วยสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าและสร้างความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนระหว่างแบรนด์กับลูกค้านั่นเอง
2.กิจกรรมสนับสนุน (Support Activities)
กิจกรรมสนับสนุนเป็นกระบวนการที่ช่วยสนับสนุนและเสริมสร้างประสิทธิภาพของกิจกรรมหลัก โดยไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับการผลิตสินค้าหรือบริการ แต่มีบทบาทสำคัญในการทำให้กระบวนการหลักทำงานได้ดีขึ้น ดังนี้
- โครงสร้างพื้นฐานองค์กร (Firm Infrastructure)
หมายถึงโครงสร้างภายในองค์กรที่สนับสนุนการดำเนินงานโดยรวม เช่น การจัดการการเงิน การวางแผนกลยุทธ์ การบัญชี และการบริหารจัดการองค์กรทั้งหมด ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้กิจกรรมหลักทำงานได้อย่างราบรื่น
- การบริหารทรัพยากรบุคคล (Human Resource Management)
การบริหารทรัพยากรบุคคลจะเริ่มตั้งแต่การสรรหาบุคลากรที่มีความสามารถมาทำงาน การฝึกอบรมพนักงาน การพัฒนาทักษะของพนักงาน ล้วนมีผลต่อการการสร้างมูลค่าให้กับบริษัท โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการ ที่พนักงานต้องใกล้ชิดกับลูกค้าโดยตรง ต้องให้ความสำคัญในเรื่องนี้มากเป็นพิเศษ
- การพัฒนาเทคโนโลยี (Technology Development)
การพัฒนาและนวัตกรรมทางเทคโนโลยี เช่น การวิจัยและพัฒนา (R&D) การพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ หรือการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ในการผลิต สามารถช่วยให้ธุรกิจมีความสามารถในการแข่งขันในตลาด ทำให้กระบวนการทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น และช่วยลดต้นทุนการผลิตสินค้าได้ด้วย
- การจัดซื้อวัตถุดิบและวัสดุ (Procurement)
การจัดซื้อวัตถุดิบและวัสดุที่จำเป็นสำหรับการผลิตสินค้าหรือบริการ โดยการเลือกแหล่งจัดหาวัตถุดิบที่มีคุณภาพ การเจรจาต่อรองราคากับซัพพลายเออร์ เป็นปัจจัยสำคัญในการลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มความคุ้มค่าของกระบวนการผลิตได้
Value Chain สำคัญต่อการเข้าใจและเพิ่มกำไรของธุรกิจอย่างไร ?
การเข้าใจ Value Chain ของบริษัท ไม่เพียงแต่จะช่วยให้ธุรกิจสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและลดต้นทุนการผลิตได้ แต่ยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ธุรกิจสามารถวางแผนกลยุทธ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นำไปสู่การเพิ่มกำไรให้กับธุรกิจได้ ดังนี้
• ช่วยให้มองเห็นกระบวนการทำงานชัดเจนขึ้น
การวิเคราะห์ห่วงโซ่คุณค่าจะช่วยให้ธุรกิจมองเห็นขั้นตอนที่มีประสิทธิภาพต่ำหรือเกิดการสูญเสียที่ไม่จำเป็น ซึ่งอาจทำให้ธุรกิจเสียต้นทุนโดยไม่รู้ตัว เช่น หากในกระบวนการผลิตมีการใช้เครื่องจักรที่ไม่ทันสมัยหรือทำงานช้ากว่าที่ควรจะเป็น การปรับปรุงในจุดนี้ก็สามารถลดเวลาในการผลิตและต้นทุนได้อย่างมาก
• เห็นความได้เปรียบในการแข่งขัน
การวิเคราะห์ห่วงโซ่คุณค่าจะช่วยให้ธุรกิจสามารถหาจุดเด่นหรือความได้เปรียบที่แตกต่างจากคู่แข่งในตลาดได้ ยกตัวอย่างเช่น การพัฒนาเทคโนโลยีในการผลิตที่มีความทันสมัยกว่าคู่แข่ง หรือการให้บริการหลังการขายที่รวดเร็ว เข้าใจในความต้องการของลูกค้า มีส่วนช่วยเพิ่มความภักดีจากลูกค้า และทำให้ธุรกิจได้เปรียบในการแข่งขันในระยะยาว
• ช่วยปรับปรุงการทำงานในแต่ละขั้นตอนได้ตรงจุด
การวิเคราะห์ห่วงโซ่คุณค่าให้ละเอียดจะทำให้ธุรกิจสามารถระบุจุดที่สามารถปรับปรุงได้ในแต่ละกิจกรรม เช่น การลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็นออกจากกระบวนการ หรือการพัฒนาทักษะของบุคลากรในแต่ละส่วนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน
• ช่วยวางกลยุทธ์การตลาดที่ตอบโจทย์ลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น
หากธุรกิจเข้าใจถึงความต้องการและพฤติกรรมของลูกค้า จะช่วยให้ธุรกิจสามารถออกแบบกลยุทธ์การตลาดที่มีประสิทธิภาพและตอบโจทย์ลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น หากธุรกิจรู้ว่าลูกค้าคาดหวังบริการหลังการขายที่รวดเร็ว การใช้แชทบอท หรือการเพิ่มช่องทางการติดต่อ 24 ชั่วโมง จะช่วยเพิ่มความพึงพอใจและสร้างความภักดีจากลูกค้าได้
วิธีวิเคราะห์ Value Chain ของธุรกิจ
1. ทำความเข้าใจกิจกรรมหลัก
อย่างแรกเลยคือต้องเริ่มต้นวิเคราะห์ Value Chain ของบริษัทก่อน โดยต้องสำรวจและทำความเข้าใจเกี่ยวกับกิจกรรมหลัก (Primary Activities) ทุกขั้นตอน เพราะจะช่วยให้เราสามารถระบุได้ว่าแต่ละส่วนควรได้รับการปรับปรุงหรือพัฒนาอย่างไร
2. วิเคราะห์กิจกรรมสนับสนุน
การวิเคราะห์กิจกรรมสนับสนุน (Support Activities) จะช่วยให้เราเห็นว่ากิจกรรมสนับสนุนช่วยเสริมสร้างหรือสนับสนุนกิจกรรมหลักได้อย่างไร เช่น การนำเทคโนโลยี ChatBot มาใช้ตอบคำถามลูกค้า ทำให้กระบวนการขายและการบริการในกิจกรรมหลัก ดำเนินการได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
3. ระบุจุดที่สามารถเพิ่มมูลค่า
หลังจากทำความเข้าใจกิจกรรมหลักและกิจกรรมสนับสนุนแล้ว การวิเคราะห์ห่วงโซ่คุณค่าจะช่วยให้ธุรกิจสามารถระบุจุดที่สามารถเพิ่มมูลค่าและผลกำไรได้ เช่น หากธุรกิจพบว่าลูกค้าต้องการบริการที่ตอบสนองอย่างรวดเร็ว การลงทุนในระบบ ChatBot หรือการเพิ่มทีมบริการลูกค้าจะช่วยเพิ่มความพึงพอใจของลูกค้าได้
4. มองหาจุดที่สามารถลดต้นทุนได้
การวิเคราะห์ห่วงโซ่คุณค่าไม่เพียงแต่จะช่วยเพิ่มมูลค่าและผลกำไร แต่ยังช่วยให้เห็นจุดที่สามารถลดต้นทุนได้อีกด้วย เช่น ในขั้นตอนการผลิต หากพบว่าใช้วัตถุดิบที่มีต้นทุนสูงเกินไป การหาซัพพลายเออร์ที่สามารถให้ราคาวัตถุดิบถูกกว่า โดยไม่กระทบกับคุณภาพสินค้า ก็สามารถช่วยลดต้นทุนได้
การเข้าใจ Value Chain คือกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้ธุรกิจสามารถวิเคราะห์จุดที่สามารถเพิ่มมูลค่า ลดต้นทุน และปรับปรุงประสิทธิภาพในแต่ละขั้นตอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังช่วยให้ธุรกิจสามารถเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและสร้างกำไรได้มากขึ้นด้วย
ไม่ว่าคุณจะเป็นเจ้าของธุรกิจขนาดใดก็ตาม การบริหารการงานและต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพเป็นเรื่องสำคัญ หากคุณต้องการเครื่องมือทางการเงินที่ช่วยให้การบริหารค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจเป็นเรื่องคล่องตัวมากยิ่งขึ้น สมัครบัตรเครดิต KTC วันนี้ เพื่อช่วยในการจัดการค่าใช้จ่ายเป็นเรื่องง่ายขึ้น ทั้งค่าจัดซื้อวัตถุดิบ ค่าการตลาด หรือแม้แต่ค่าบริการต่างๆ ที่จำเป็นต่อการดำเนินธุรกิจ พร้อมรับสิทธิประโยชน์มากมาย สนใจสามารถสมัครบัตรเครดิต KTC ออนไลน์ ได้เลยตอนนี้ ทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง
ใช้จ่าย คุ้มค่า นึกถึงบัตรเครดิต KTC