จ่ายค่าบัตรเครดิตไม่ไหว ทำยังไงดี
ทุกวันนี้บัตรเครดิตถือเป็นปัจจัยหลักในการดำเนินชีวิตของผู้คนในยุคสังคมไร้เงินสด เพราะสามารถนำบัตรเครดิต ไปรูดซื้อสินค้าและบริการได้ตามวงเงินที่ได้รับอนุมัติจากธนาคารหรือสถาบันการเงินแล้วค่อยชำระคืนทีหลัง หากผู้ถือบัตร ชำระเงินคืนครบเต็มจำนวนที่ใช้และตรงตามระยะเวลาปลอดดอกเบี้ยที่กำหนด ย่อมไม่ก่อให้เกิดปัญหาอะไรตามมา แต่ถ้าเผลอใช้เงินเกินตัวและมีแนวโน้มว่าไม่สามารถชำระคืนได้ในอนาคต ควรมองหาทางแก้หนี้บัตรเครดิตเพื่อไม่ให้หนี้บานปลาย และบทความนี้ขอพาทุกคนไปดูผลเสียของการเป็นหนี้บัตรเครดิต รวมถึงขั้นตอนการประนอมหนี้บัตรเครดิต ต้องทำอย่างไรบ้าง
เป็นหนี้บัตรเครดิต ส่งผลเสียด้านใดบ้าง
(1) ประวัติการเงินไม่ดี
หลายคนอาจไม่รู้ว่าประวัติทางการเงินหรือเครดิตทางการเงิน มีความสำคัญอย่างมากเวลาสมัครบัตรเครดิต หรือขอสินเชื่อประเภทอื่น ๆ ในอนาคต เนื่องจากก่อนอนุมัติบัตรเครดิต หรืออนุมัติสินเชื่อ เช่น สินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถยนต์ ธนาคารหรือสถาบันการเงินผู้ออกบัตร หรือผู้ให้สินเชื่อจะต้องทำการตรวจสอบประวัติการชำระหนี้ของผู้สมัครหรือผู้ขอสินเชื่อกับบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) ซึ่งทำหน้าที่จัดเก็บข้อมูลการชำระหนี้ตามพฤติกรรมที่เกิดขึ้นจริง
เพื่อให้ธนาคารหรือสถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกเครดิตบูโรสามารถนำข้อมูลการชำระหนี้ดังกล่าวมาวิเคราะห์ถึงความสามารถในการชำระหนี้ของผู้สมัครหรือผู้ขอสินเชื่อก่อนอนุมัติบัตรเครดิตหรือสินเชื่อนั้นๆ ดังนั้นหากพบว่าผู้สมัครหรือผู้ขอสินเชื่อมีหนี้บัตรเครดิตอยู่ โอกาสที่จะได้รับการอนุมัติบัตรเครดิตหรือสินเชื่อก็จะยิ่งน้อยลง เพราะธนาคารหรือสถาบันการเงินจะมองว่าผู้สมัครหรือผู้ขอสินเชื่อขาดความน่าเชื่อถือในการผ่อนชำระหนี้
การประนอมหนี้ช่วยรักษาประวัติทางการเงิน
(2) ดอกเบี้ยเพิ่มพูน
หากมีเหตุให้ผู้ถือบัตรต้องชำระเงินคืนค่าบัตรเครดิตด้วยยอดขั้นต่ำติดต่อกัน อาจทำให้ผู้ถือบัตรเครดิต ต้องเผชิญกับอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้จากที่เคยสามารถชำระหนี้ได้อย่างรวดเร็ว กลายเป็นต้องจ่ายหนี้ในระยะยาวแทน ดังนั้น ผู้ถือบัตรควรจ่ายเงินคืนค่าบัตรเครดิตเต็มจำนวนและให้ตรงเวลา เพื่อจะได้ไม่ต้องกังวลเรื่องดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมบัตรเครดิต
(3) ธนาคารหรือสถาบันการเงินผู้ออกบัตรอาจใช้สิทธิทางศาลเพื่อเรียกหนี้คืน
นี่ถือเป็นผลเสียที่ร้ายแรงที่สุด ในกรณีที่ผู้ถือบัตรผิดนัดชำระเงินค่าบัตรเครดิตจนกลายเป็นหนี้เสีย (NPL) และยังเพิกเฉยไม่ดำเนินการชำระหนี้ตามที่ธนาคารหรือสถาบันการเงินผู้ออกบัตรได้ติดตามทวงถามให้ชำระหนี้ ธนาคารหรือสถาบันผู้ออกบัตรอาจใช้สิทธิทางศาลเพื่อดำเนินคดีและบังคับชำระหนี้ เพราะฉะนั้นหากเป็นหนี้บัตรเครดิตให้พยายามหาเงินมาทยอยชำระคืนให้เร็วที่สุด แต่หากเห็นว่าตนเองจะไม่สามารถหาเงินมาชำระคืนได้ แนะนำให้ติดต่อกับธนาคารหรือสถาบันการเงินซึ่งเป็นเจ้าหนี้โดยเร็วที่สุด เพื่อหาทางประนอมหนี้ว่าจะจ่ายหนี้อย่างไร จ่ายวิธีไหนดีที่สุด
การประนอมหนี้บัตรเครดิต ข้อตกลงที่ลูกหนี้ไม่ควรมองข้าม
เมื่อหนี้บัตรเครดิตเริ่มสร้างปัญหาให้กับชีวิต จนไม่สามารถแบกภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นได้ การประนอมหนี้บัตรเครดิตหรือการขอผ่อนปรนหนี้ เป็นแนวทางในการลดภาระหนี้ที่รวดเร็ว เพราะเป็นการหาทางออกร่วมกันระหว่างลูกหนี้และเจ้าหนี้ เพื่อเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขในการชำระหนี้และช่วยให้ลูกหนี้สามารถปลดหนี้บัตรเครดิตได้ง่ายขึ้น เช่น
- การเจรจาประนอมหนี้ ภายใต้การทำงานตามขั้นตอนปกติ ที่ลูกหนี้สามารถเลือกวิธีเคลียร์หนี้คงค้าง ทั้งแบบชำระเงินคืนในครั้งเดียว หรือขอผ่อนชำระเงินคืนเป็นรายงวด โดยอยู่ภายใต้จำนวนเงินและระยะเวลาที่ได้มีการตกลงร่วมกันระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้
- การเจรจาประนอมหนี้ ภายใต้การร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ มีการจัดกิจกรรมทั้งในและนอกสถานที่ โดยเป็นความร่วมมือระหว่างธนาคารหรือสถาบันการเงินกับหน่วยงานงานภาครัฐ เช่น กรมบังคับคดี ศาล และธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อตกลงหาทางออกร่วมกัน โดยมีเงื่อนไขการผ่อนปรนเป็นกรณีพิเศษ ตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบัน
การประนอมหนี้บัตรเครดิตช่วยหาแนวทางการชำระหนี้ได้
ประนอมหนี้บัตรเครดิต มีขั้นตอนอย่างไร
แม้การประนอมหนี้ถือเป็นทางออกที่ดีต่อเจ้าหนี้และลูกหนี้ แต่ก่อนเริ่มต้นการเจรจากับเจ้าหนี้ลูกหนี้ควรศึกษาขั้นตอนประนอมหนี้อย่างละเอียด เพื่อให้การทำข้อตกลงใหม่เป็นไปอย่างราบรื่น และได้ประโยชน์อย่างแท้จริง
ประนอมหนี้ก่อนธนาคารหรือสถาบันการเงินใช้สิทธิทางศาล
คือ กรณีที่ลูกหนี้ขอเจรจากับธนาคารหรือสถาบันการเงินที่อยู่ในฐานะเจ้าหนี้ ก่อนมีการดำเนินคดีตามขั้นตอนกฎหมาย หลังมีการผิดชำระหนี้มาระยะเวลาหนึ่ง โดยมีขั้นตอนเจรจาประนอมหนี้ที่ควรรู้ดังนี้
- ให้ลูกหนี้ติดต่อเจ้าหน้าที่ธนาคารหรือสถาบันการเงินที่ดูแลในเรื่องของการประนอมหนี้โดยตรง
- เตรียมเอกสารที่ใช้ในการขอประนอมหนี้ เช่น สลิปเงินเดือน บิลที่ค้างชำระ และบัตรประชาชน เป็นต้น แต่ทั้งนี้เอกสารที่ใช้ยื่นอาจมีความแตกต่างกันออกไป ฉะนั้นควรสอบถามเจ้าหน้าที่โดยตรง เพื่อเตรียมเอกสารให้พร้อมก่อนนำไปยื่นในวันที่นัดหมาย
- แจ้งยอดหนี้และเสนอแผนการชำระหนี้กับสถาบันการเงิน เช่น ขอปรับเปลี่ยนจำนวนเงินที่จะชำระหนี้ต่อเดือนเป็นเท่าไหร่ หรือขอยืดระยะการชำระหนี้ออกไปกี่ปี รวมถึงสอบถามข้อเสนอจากสถาบันการเงิน เพื่อให้ได้แนวทางการผ่อนชำระหนี้ที่สามารถทำได้จริง และเป็นทางออกร่วมกันของทั้ง 2 ฝ่าย
แม้การประนอมหนี้ก่อนฟ้องร้องช่วยให้ลูกหนี้ไม่ถูกฟ้อง แต่หลังเจรจาจนได้แนวทางในการชำระหนี้ที่ยืดหยุ่นกว่าเดิม ควรชำระเงินคืนตามข้อตกลงประนอมหนี้อย่างเคร่งครัด เพราะหากมีการผิดนัดหลังประนอมหนี้จะส่งผลเสียต่อการประนอมหนี้ครั้งถัดไป สำหรับสมาชิกบัตร KTC ที่สนใจเข้าร่วมโครงการประนอมหนี้สามารถติดต่อได้ที่คู่สายกลาง งานประนอมหนี้ 02-631-3399, 02-631-3600, 02-631-3666, 02-631-3700, 02-631-3555 เวลา 08.00 น.-17.00 น. หรือติดต่อผ่าน KTC PHONE 02 123 5000 ได้ 24 ชั่วโมง