เด็กรุ่นใหม่หลายคนคงเคยคิดว่าเรื่องภาษีเป็นเรื่องยุ่งยาก ซับซ้อน และเป็นหน้าที่ของคนที่มีเงินเดือนประจำเท่านั้น แต่ความจริงแล้ว ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน นักศึกษา ฟรีแลนซ์ หรือแม้แต่คนที่เพิ่งเริ่มทำงาน การทำความเข้าใจเรื่องภาษีและการยื่นภาษีถือเป็นทักษะสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม เพราะการเข้าใจและปฏิบัติตามกฎหมายภาษีตั้งแต่เริ่มต้นจะช่วยให้เราร้างนิสัยทางการเงินที่ดี หลีกเลี่ยงปัญหาในอนาคต และใช้ประโยชน์จากระบบภาษีได้อย่างเต็มที่ บทความวันนี้จะพาไปทำความเข้าใจกับการยื่นภาษีแบบง่าย ๆ ที่ไม่ว่าใครก็สามารถทำตามได้
ภาษีคืออะไร? ทำไมต้องจ่าย
ภาษี คือเงินที่ประชาชนจ่ายให้รัฐบาลตามกฎหมาย เปรียบเสมือนการ "ร่วมทุน" เพื่อพัฒนาประเทศและสร้างสวัสดิการต่าง ๆ ให้กับทุกคนในสังคม การจ่ายภาษีจึงไม่ใช่การ "เสียเงิน" แต่เป็นการ "ลงทุน" ในสังคมและประเทศที่เราอาศัยอยู่ เพื่อให้ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งเงินภาษีที่เราจ่ายไปจะถูกนำไปใช้ประโยชน์ต่าง ๆ อาทิ
- สร้างและบำรุงรักษาสาธารณูปโภค เช่น ถนน สะพาน ระบบไฟฟ้า ประปา
- จัดการศึกษาและสาธารณสุข เช่น โรงเรียนรัฐ โรงพยาบาลรัฐ การรักษาพยาบาลที่ราคาประหยัด
- สวัสดิการสังคม เช่น เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เบี้ยคนพิการ การประกันสังคม
- การป้องกันประเทศและรักษาความปลอดภัย เช่น กองทัพ ตำรวจ หน่วยดับเพลิง
- การพัฒนาเศรษฐกิจ เช่น โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การส่งเสริมการลงทุน
ใครต้องยื่นภาษีบ้าง
การยื่นภาษีไม่ใช่เรื่องของคนที่มีรายได้สูงเท่านั้น แต่จริง ๆ แล้ว ตั้งแต่วันที่เริ่มมีรายได้ ไม่ว่าจะเป็นการทำงานพาร์ทไทม์ขณะเรียน การขายของออนไลน์ การรับจ้างเขียนบทความ หรือแม้แต่การสตรีมเกม ก็อาจต้องเสียภาษีและยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีแล้ว เพราะกฎหมายภาษีไทยกำหนดให้บุคคลธรรมดาที่มีรายได้เกิน 120,000 บาทต่อปี ต้องยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษี
ดังนั้นสำหรับ Gen z ที่อาจจะมีรายได้การขายสินค้าออนไลน์ผ่าน Social Commerce, Content Creator, การรับจ้างงานฟรีแลนซ์, การลงทุนในหุ้น คริปโต หรือ กองทุน, การให้เช่าทรัพย์สิน แม้แต่ห้องเช่าย่อย รายได้เหล่านี้ล้วนเกี่ยวข้องกับภาษี และการไม่รู้กฎเกณฑ์อาจทำให้เสียประโยชน์หรือเจอปัญหาได้
ยื่นภาษีเมื่อไหร่
ช่วงเวลาการยื่นภาษี
แบบกระดาษ: 1 มกราคม - 31 มีนาคม ของปีถัดไป
แบบออนไลน์: 1 มกราคม - 8 เมษายน ของปีถัดไป (มีระยะเวลาพิเศษให้)
แต่หากไม่ได้ชำระเงินภาษีภายในวันที่ 31 มีนาคม ของทุกปี ถือว่าไม่ได้ยื่นแบบและต้องไปยื่นแบบ ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา และชำระเงินภาษี พร้อมเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ รวมทั้งค่าปรับบ
ภาษีประเภทไหนที่เกี่ยวข้องกับเรา?
1. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (Personal Income Tax)
คือ ภาษีจากรายได้ของคนคนหนึ่งตลอดทั้งปี ที่มีรายได้เกินกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ไม่ว่าจะเป็น เงินเดือน ค่าจ้าง จากการทำงาน รายได้จากการประกอบอาชีพ เช่น ฟรีแลนซ์ ขายของออนไลน์ รายได้จากการลงทุน เช่น ดอกเบี้ย เงินปันผล กำไรจากการขายหุ้น รายได้จากการให้เช่า อสังหาริมทรัพย์ รายได้อื่น ๆ เช่น รางวัล ของขวัญที่มีมูลค่าสูง ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 / 91 ทุกปี ช่วง 1 ม.ค. – 31 มี.ค. ปีถัดไป ยื่นออนไลน์ได้ถึง 8 เม.ย.
ใครต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา?
- บุคคลที่มีรายได้รวมเกิน 120,000 บาทต่อปี
- คนที่มีรายได้น้อยกว่า 120,000 บาทต่อไป
- มีการหักหย่อนภาษี ณ ที่จ่าย และต้องการเงินคืน
- ต้องการสร้างประวัติการยื่นภาษีเพื่อขอสินเชื่อ
- มีรายได้จากหลายแหล่งและต้องการความแม่นยำ
ระบบการคำนวณภาษี
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาใช้ระบบ Progressive Tax หรือ อัตราภาษีแบบขั้นบันได หมายความว่ายิ่งมีรายได้มาก ยิ่งเสียภาษีในอัตราที่สูงขึ้น
ตารางภาษีขั้นบันได ปี 2568
เงินได้สุทธิต่อปี (บาท) | เงินได้สุทธิจำนวนสูงสุดของขั้น | อัตราภาษี (ร้อยละ) | ภาษีสูงสุดในแต่ละขั้น | ภาษีสะสมสูงสุดของขั้น |
---|---|---|---|---|
1 - 150,000 | 150,000 | 5 | ยกเว้น | 0 |
เกิน 150,000 - 300,000 | 150,000 | 5 | 7,500 | 7,500 |
เกิน 300,000 - 500,000 | 200,000 | 10 | 20,000 | 27,500 |
เกิน 500,000 - 750,000 | 250,000 | 15 | 37,500 | 65,000 |
เกิน 750,000 - 1,000,000 | 250,000 | 20 | 50,000 | 115,000 |
เกิน 1,000,000 - 2,000,000 | 1,000,000 | 25 | 250,000 | 365,000 |
เกิน 2,000,000 - 5,000,000 | 3,000,000 | 30 | 900,000 | 1,265,000 |
เกิน 5,000,001 บาทขึ้นไป | - | 35 | ไม่จำกัด | ไม่จำกัด |
ตัวอย่างสำหรับผู้ที่มีเงินเดือน 50,000 บาท
- รายได้รวมประจำปี : 50,000 × 12 = 600,000 บาท
- หักค่าใช้จ่าย : 50% ของ 600,000 = 300,000 บาท (แต่ใช้ได้สูงสุดเพียง 100,000 บาท)
- หักลดหย่อนส่วนตัว : 60,000 บาท
- คำนวณรายได้สุทธิ : 600,000 - 100,000 - 60,000 = 440,000 บาท
- คำนวณภาษี:
- รายได้ 150,000 แรก : 0 บาท
- ส่วนที่เกิน 150,000 : 440,000 - 150,000 = 290,000 บาท
- 150,000 บาทแรกในส่วนนี้คิด 5% = 150,000 × 0.05 = 7,500 บาท
- ส่วนที่เหลือ 290,000 - 150,000 = 140,000 บาท คิด 10% = 140,000 × 0.10 = 14,000 บาท
- ภาษีที่ต้องจ่าย: 7,500 + 14,000 = 21,500 บาท
2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax)
นอกจากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแล้ว ยังมีภาษีอีกประเภทหนึ่งที่เราเจอในชีวิตประจำวันแต่อาจไม่ค่อยสังเกต นั่นคือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT
ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) คืออะไร?
ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax หรือ VAT) คือภาษีที่เรียกเก็บจากการซื้อ-ขายสินค้าและบริการ โดยเก็บจากผู้บริโภคคนสุดท้าย ในอัตรา 7% ของราคาสินค้าหรือบริการ
ตัวอย่าง
- ซื้อกาแฟราคา 100 บาท → จ่ายจริง 107 บาท (รวม VAT 7 บาท)
- ซื้อเสื้อผ้าราคา 1,000 บาท → จ่ายจริง 1,070 บาท (รวม VAT 70 บาท)
ใครต้องจัดเก็บ VAT?
ผู้ประกอบการ ที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ต้อง
- จดทะเบียน VAT กับกรมสรรพากร
- เก็บ VAT จากลูกค้า 7%
- ต้องออกใบกำกับภาษี
- ยื่นแบบ VAT ทุกเดือน
- ส่ง VAT ทุกเดือน (แบบ ภ.พ.30)
สำหรับคนรุ่นใหม่ที่ขายของออนไลน์
- รายได้ยังไม่ถึง 1.8 ล้าน = ไม่ต้องจดทะเบียน VAT
- แต่ยังต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามปกติ
3. ภาษีหัก ณ ที่จ่าย (Withholding Tax)
ภาษีหัก ณ ที่จ่าย (Withholding Tax) เป็นกลไกสำคัญอย่างหนึ่งในการจัดเก็บภาษีของประเทศไทย ถือเป็นการเก็บภาษีล่วงหน้าสำหรับเงินได้บางประเภท เพื่ออำนวยความสะดวกในการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากร และลดภาระของผู้เสียภาษีในการชำระภาษีครั้งเดียวตอนสิ้นปี
หลักการทำงานของภาษีหัก ณ ที่จ่าย
ภาษีหัก ณ ที่จ่ายจะเกี่ยวข้องกับ 3 ฝ่ายหลักๆ คือ
- ผู้จ่ายเงินได้ คือ บุคคลหรือนิติบุคคลที่มีหน้าที่จ่ายเงินได้บางประเภทตามที่กฎหมายกำหนด (เช่น บริษัท, นายจ้าง, ผู้ว่าจ้าง)
- ผู้รับเงินได้ คือ บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่ได้รับเงินจากผู้จ่าย
- กรมสรรพากร น่วยงานที่จัดเก็บภาษี
เมื่อมีการจ่ายเงินได้บางประเภท ผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่ หักภาษีส่วนหนึ่งไว้ จากยอดเงินที่จะจ่ายให้ผู้รับเงิน จากนั้นก็นำส่งเงินภาษีที่หักไว้นั้นให้กับกรมสรรพากรภายในเวลาที่กำหนด ผู้รับเงินได้ก็จะได้รับเงินในยอดที่ถูกหักภาษีไปแล้ว พร้อมกับ "หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย" (ใบ 50 ทวิ) เพื่อเป็นหลักฐาน
วัตถุประสงค์ของภาษีหัก ณ ที่จ่าย
- จัดเก็บภาษีล่วงหน้า เพื่อช่วยให้กรมสรรพากรสามารถจัดเก็บภาษีได้อย่างต่อเนื่องและทันเวลา ไม่ต้องรอจนถึงสิ้นปีภาษี
- ลดภาระผู้เสียภาษี เพื่อช่วยให้ผู้เสียภาษีไม่ต้องแบกภาระภาษีก้อนใหญ่ในคราวเดียวตอนสิ้นปี เนื่องจากมีการทยอยหักและนำส่งไปแล้ว
- ป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษี เพื่อเป็นการตรวจสอบข้อมูลรายได้ของผู้รับเงินได้ล่วงหน้า และลดโอกาสในการหลีกเลี่ยงการเสียภาษี
- เป็นหลักฐานในการยื่นภาษีประจำปี เพื่อหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (ใบ 50 ทวิ) ที่ผู้รับเงินได้ได้รับ จะถูกนำไปใช้เป็นเครดิตหักออกจากภาษีที่ต้องชำระจริงเมื่อยื่นภาษีประจำปี หากหักไว้เกินก็จะได้คืน หากหักไว้น้อยไปก็ต้องจ่ายเพิ่ม
ประเภทเงินได้ที่ต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย และอัตราภาษี
อัตราการหักภาษี ณ ที่จ่ายจะแตกต่างกันไปตามประเภทของเงินได้ และสถานะของผู้รับเงินได้ (บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล) ตัวอย่างที่พบบ่อย:
- เงินเดือน ค่าจ้าง โบนัส (เงินได้ประเภทที่ 1): ผู้จ่าย (นายจ้าง) จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายตามอัตราภาษีก้าวหน้าของบุคคลธรรมดา
- ค่าบริการ ค่าจ้างทำของ (เงินได้ประเภทที่ 2, 7, 8):
- ค่าบริการ/ค่าจ้างทั่วไป: หัก 3% (เช่น ค่าจ้างฟรีแลนซ์, ค่าคอมมิชชั่น)
- ค่าบริการวิชาชีพอิสระ (กฎหมาย, การประกอบโรคศิลปะ, วิศวกรรม, สถาปัตยกรรม, บัญชี, ประณีตศิลปกรรม): หัก 3%
- ค่าโฆษณา: หัก 2%
- ค่าเช่า (เงินได้ประเภทที่ 5): หัก 5%
- เงินปันผล (เงินได้ประเภทที่ 4): หัก 10%
- ดอกเบี้ย (เงินได้ประเภทที่ 4): โดยทั่วไปหัก 15% (ยกเว้นบางกรณี)
- ค่าขนส่ง: หัก 1%
- รางวัลจากการประกวด/แข่งขัน/ชิงโชค: หัก 5%
ผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย:
โดยหลัก ๆ แล้วผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายคือ นิติบุคคล ได้แก่ บริษัท, ห้างหุ้นส่วนจำกัด, มูลนิธิ, สมาคม และบุคคลธรรมดา ในบางกรณี เช่น ผู้ให้เช่าที่จ่ายค่าเช่าให้กับผู้รับที่เป็นนิติบุคคล หรือบุคคลธรรมดาจ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(5)-(8) ให้แก่ผู้รับซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตั้งแต่ 10,000 บาทขึ้นไป (แม้แบ่งจ่ายไม่ถึง 10,000 บาทก็ตาม)
การนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่าย
ผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย จะต้องนำส่งเงินภาษีที่หักไว้ให้กับกรมสรรพากรภายใน วันที่ 7 ของเดือนถัดไป ที่มีการจ่ายเงินได้ (หรือวันที่ 15 ของเดือนถัดไป หากยื่นผ่านระบบ e-Withholding Tax) โดยมีแบบฟอร์มที่ใช้ในการนำส่ง เช่น ภ.ง.ด.3 (สำหรับบุคคลธรรมดา) และ ภ.ง.ด.53 (สำหรับนิติบุคคล)
เตรียมอะไรบ้างก่อนยื่นภาษี
ก่อนจะเริ่มกรอกแบบแสดงรายการเสียภาษี การเตรียมเอกสารให้ครบถ้วนจะช่วยให้กระบวนการยื่นภาษีเป็นไปอย่างราบรื่นและไม่พลาดสิทธิประโยชน์ใด ๆ
1. หนังสือรับรองรายได้ (หลักฐาน 50 ทวิ)
สำหรับคนทำงาน ให้ขอหนังสือรับรองรายได้ หรือ "หลักฐาน 50 ทวิ" จากที่ทำงาน เอกสารนี้จะระบุ ซึ่งเอกสารนี้จะระบุ รายได้รวมตลอดปี, ภาษีที่บริษัทหักไว้ ณ ที่จ่าย และ เงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (ถ้ามี) ส่วนฟรีแลนซ์/ผู้ประกอบการ ให้เตรียมบันทึกรายรับ-รายจ่าย และใบกำกับภาษีต่าง ๆ ที่ได้รับตลอดปี
2. เอกสารค่าลดหย่อนภาษี
ให้รวบรวมใบเสร็จและเอกสารสำคัญเหล่านี้
ประกันและการออม
- ใบเสร็จเบี้ยประกันชีวิต (ลดหย่อนได้สูงสุด 100,000 บาท)
- ใบรับเงินกองทุน SSF/RMF (Super Savings Fund/Retirement Mutual Fund)
- ใบเสร็จเบี้ยประกันสุขภาพ (ลดหย่อนได้สูงสุด 25,000 บาท)
ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพและการศึกษา
- ใบเสร็จค่ารักษาพยาบาล (ตนเองและครอบครัว)
- ใบเสร็จค่าตรวจสุขภาพประจำปี
- ใบเสร็จค่าเล่าเรียน/อบรม/สัมมนา
การบริจาค
- ใบเสร็จการบริจาคเพื่อการศึกษา การกุศล หรือสาธารณประโยชน์
อื่น ๆ
- ใบเสร็จดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัย
- ใบเสร็จค่าซื้อหนังสือ
3. ข้อมูลบัญชีธนาคารสำหรับรับเงินคืน
เตรียมข้อมูลบัญชีธนาคารของตนเอง
- ชื่อธนาคาร
- ชื่อสาขา
- เลขที่บัญชี (10 หลัก)
- ชื่อเจ้าของบัญชี (ต้องตรงกับผู้ยื่นภาษี)
วิธีการยื่นภาษีเบื้องต้น (Step-by-Step)
- เข้าเว็บไซต์กรมสรรพากร: www.rd.go.th
- คลิกที่เมนู "ยื่นแบบออนไลน์" หรือ "ยื่น ภ.ง.ด.90/91"
- เข้าสู่ระบบ:
- สำหรับผู้ยื่นครั้งแรก: ลงทะเบียนเพื่อขอ Username และ Password
- สำหรับผู้เคยยื่นแล้ว: ใช้ Username (เลขบัตรประชาชน) และ Password เดิม
- สามารถใช้ Digital ID ผ่านแอปพลิเคชัน ThaiID หรือ NDID ได้เช่นกัน
- กรอกข้อมูลส่วนตัวและตรวจสอบข้อมูลพื้นฐาน
- เมื่อเข้าสู่ระบบได้แล้ว ระบบจะแสดงข้อมูลส่วนตัวของเราตรวจสอบให้ถูกต้อง
- เลือกปีภาษีที่ต้องการยื่น (เช่น ปีภาษี 2567 ที่ยื่นในปี 2568)
- เลือกประเภทแบบฟอร์มที่ต้องการยื่น (ภ.ง.ด.90 หรือ ภ.ง.ด.91)
- กรอกข้อมูลรายได้
- ประเภทที่ 1 (เงินเดือน): ระบบจะดึงข้อมูลเงินเดือนที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายจากนายจ้างมาแสดงให้ หากข้อมูลไม่ถูกต้องหรือมีรายได้อื่นที่นายจ้างไม่ได้แจ้ง ต้องกรอกเพิ่มเติมม
- ประเภทที่ 2-8 (สำหรับ ภ.ง.ด.90): กรอกข้อมูลรายได้อื่น ๆ ของเรา (เช่น รายได้ฟรีแลนซ์, ค่าเช่า, เงินปันผล) ตามใบ 50 ทวิ หรือหลักฐานที่เกี่ยวข้อง
- สำหรับรายได้ประเภท 40(2)-(8) สามารถเลือกหักค่าใช้จ่ายได้ 2 แบบคือ:
- หักค่าใช้จ่ายตามจริง: ต้องมีใบเสร็จ/หลักฐานค่าใช้จ่ายครบถ้วน
- หักค่าใช้จ่ายแบบเหมา: เป็นเปอร์เซ็นต์ตามที่กฎหมายกำหนด (สะดวกกว่าหากไม่มีใบเสร็จ)
- กรอกข้อมูลค่าลดหย่อน
- ระบบจะแสดงค่าลดหย่อนพื้นฐานบางส่วน เช่น ค่าลดหย่อนส่วนตัว ค่าลดหย่อนคู่สมรส (ถ้ามี)
- กรอกค่าลดหย่อนอื่นๆ ที่มีสิทธิ์ เช่น ประกันชีวิต RMF/SSF ดอกเบี้ยบ้าน ค่าบริจาค เป็นต้น โดยยึดตามหลักฐานที่รวบรวมมา
- ตรวจสอบผลการคำนวณและยืนยัน
- เมื่อกรอกข้อมูลครบถ้วน ระบบจะคำนวณภาษีให้โดยอัตโนมัติ
- ตรวจสอบยอดเงินได้สุทธิ ว่าถูกต้องหรือไม่
- ตรวจสอบภาษีที่ต้องชำระเพิ่ม หรือภาษีที่ได้รับคืน
- หากมีภาษีที่ต้องชำระเพิ่ม ระบบจะแจ้งยอดที่ต้องชำระ
- หากมีภาษีที่ได้รับคืน ระบบจะแจ้งยอดที่ได้รับคืน และให้เลือกช่องทางการรับเงินคืน (เช่น พร้อมเพย์)
- ตรวจสอบข้อมูลทั้งหมดอีกครั้งอย่างละเอียด ก่อนกดยืนยันการยื่นแบบ
- ชำระภาษี (ถ้ามี) หรือรอรับเงินคืน
- กรณีต้องชำระภาษีเพิ่ม
- ชำระออนไลน์: ผ่าน QR Code, Mobile Banking, Internet Banking, บัตรเครดิต/เดบิต
- พิมพ์ใบ Pay-in Slip: เพื่อนำไปชำระที่ธนาคาร, ตู้ ATM, ไปรษณีย์ หรือจุดรับชำระอื่น ๆ
- สามารถขอผ่อนชำระได้ 3 งวด หากภาษีที่ต้องชำระมีจำนวนตามที่กฎหมายกำหนด
- กรณีได้รับภาษีคืน:
- กรมสรรพากรจะตรวจสอบข้อมูล และจะดำเนินการคืนเงินให้ผ่านช่องทางที่เลือกไว้ (แนะนำผูกบัญชีพร้อมเพย์กับเลขบัตรประชาชน จะได้รับเร็วที่สุด)
- กรณีต้องชำระภาษีเพิ่ม
- เก็บหลักฐานการยื่นภาษี
- ดาวน์โหลด/พิมพ์ "ใบตอบรับการยื่นแบบ" และ "ใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์" (ถ้ามี) เก็บไว้เป็นหลักฐานสำคัญ
ลดหย่อนภาษีคืออะไร? มีอะไรใช้ลดหย่อนได้บ้าง
คือ สิทธิที่กฎหมายให้เรา "หักออกจากรายได้" ก่อนนำไปคำนวณภาษี ยิ่งใช้ลดหย่อนได้มาก ส่งผลให้รายได้สุทธิลดลง และเสียภาษีน้อยลง หรือ ขอคืนภาษี ได้มากขึ้น
กลุ่มหลักของค่าลดหย่อนภาษี
1. ค่าลดหย่อนพื้นฐาน (ได้ทุกคน)
ประเภท | ลดหย่อนได้ |
---|---|
ตัวเราเอง | 60,000 บาท |
คู่สมรสไม่มีรายได้ | 60,000 บาท |
บุตร (อายุไม่เกิน 20 ปี หรือเรียนต่อไม่เกิน 25 ปี) | 30,000 บาท/คน (คนที่ 2 ขึ้นไปได้เพิ่มอีก 30,000 ต่อคน) |
พ่อแม่ของเรา (อายุ 60 ปีขึ้นไป) | 30,000 บาท/คน (ต้องมีเงื่อนไขอื่นร่วมด้วย) |
2. ประกันและการลงทุนน
ประเภท | ลดหย่อนได้ |
---|---|
ประกันชีวิต | สูงสุด 100,000 บาท |
ประกันสุขภาพตนเอง | สูงสุด 25,000 บาท (รวมกับประกันชีวิตไม่เกิน 100,000) |
ประกันสุขภาพพ่อแม่ | สูงสุด 15,000 บาท |
กองทุน RMF | สูงสุด 30% ของรายได้ (ไม่เกิน 500,000 บาท รวมหุ้น/กองทุนอื่น) |
กองทุน SSF | สูงสุด 30% ของรายได้ (ไม่เกิน 200,000 บาท) |
3. บ้านและครอบครัว
ประเภท | ลดหย่อนได้ |
---|---|
ดอกเบี้ยบ้าน | สูงสุด 100,000 บาท |
ค่าเลี้ยงดูพ่อแม่ | 30,000 บาท/คน (ต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนด) |
4. เงินบริจาค / สนับสนุนสังคม
ประเภท | ลดหย่อนได้ |
---|---|
เงินบริจาคทั่วไป | สูงสุด 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน |
บริจาคให้ รพ.รัฐ/ครู/กีฬา/อุทยาน | หักได้ 2 เท่า ของที่จ่ายจริง (ตามเงื่อนไขรัฐ) |
อะไรจะเกิดขึ้นถ้าเราไม่ยื่นภาษี
สิ่งที่จะเกิดขึ้นหากไม่ยื่นภาษี
1. มีความผิดตามกฎหมาย
ผิดตามประมวลรัษฎากร หากมีรายได้ถึงเกณฑ์ที่ต้องยื่น (เช่น รายได้รวมปีละ 120,000 บาทขึ้นไปสำหรับบุคคลโสด) แล้วไม่ยื่น จะถือว่า “หลีกเลี่ยงภาษี”
โทษทางอาญา
- ปรับสูงสุดไม่เกิน 2,000 บาท กรณี “ไม่ยื่น”
- หากเป็นการ “จงใจหลีกเลี่ยงภาษี” อาจมีโทษ จำคุกไม่เกิน 1 ปี และ/หรือ ปรับ 2,000–200,000 บาท
2. ถูกเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง + ดอกเบี้ย + เบี้ยปรับ
ถ้าสรรพากรตรวจสอบพบภายหลัง จะต้องจ่ายภาษีที่ค้างอยู่, เสียดอกเบี้ย 1.5% ต่อเดือน ของยอดค้าง, เสียเบี้ยปรับ สูงสุด 100% ของยอดภาษีที่ต้องชำระ
3. กระทบต่อเครดิตทางการเงิน
หากใครต้องการกู้เงิน ทำบัตรเครดิต หรือขอสินเชื่อ ธนาคารหรือสถาบันการเงินอาจขอเอกสารแสดงการยื่นภาษีย้อนหลัง และถ้าหากไม่เคยยื่น อาจถูกมองว่าไม่มีรายได้ชัดเจน หรือมีความเสี่ยง
4. เสียสิทธิประโยชน์จากรัฐ
เมื่อไม่ได้ยื่นภาษีก็จะทำให้เสียสิทธิ์ต่าง ๆ ที่ควรได้จากรัฐบาล เช่น การขอคืนภาษี การลดหย่อนภาษีต่าง ๆ เช่น บุตร, ประกัน, กองทุน RMF/SSF หรือการยื่นเอกสารประกอบเพื่อสมัครโครงการรัฐบางโครงการ
การยื่นภาษีไม่ได้หมายความว่าต้องเสียภาษีเสมอไป หากมีรายได้น้อยหรือมีค่าใช้จ่ายที่สามารถนำมาลดหย่อนได้และอาจได้รับเงินคืนจากกรมสรรพากรแทน นอกจากนี้ การมีประวัติการยื่นภาษีที่สม่ำเสมอยังเป็นประโยชน์ในระยะยาว เพราะ ธนาคารและสถาบันการเงินใช้ประวัติการยื่นภาษีประกอบการพิจารณาสินเชื่อ เป็นหลักฐานรายได้ที่เป็นทางการสามารถใช้เป็นเอกสารสำหรับการขอวีซ่าต่างประเทศ ช่วยสร้างเครดิตประวัติทางการเงินที่ดี สามารถวางแผนการเงินได้อย่างเป็นระบบแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการเลือกใช้เครื่องมือทางการเงินที่จะช่วยให้การจัดการเงินของเราง่ายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ซึ่งก็คือการใช้บัตรเครดิต เพราะถ้าใช้บัตรเครดิตแล้วชำระยอดตรงเวลา ก็จะทำให้มีเครดิตดีได้เช่นกัน ดังนั้นอย่าลืมยื่นภาษี วางแผนทางการเงิน และมีวินัยในการใช้บัตรเครดิตเพื่อสร้างเครดิตทางการเงินที่ดีตั้งแต่วันนี้ และสำหรับใครยังไม่มีบัตรเครดิต ก็สามารถถสมัครบัตรเครดิต KTC ผ่านช่องทางออนไลน์ได้ ทุกที่ทุกเวลา พร้อมรับคะแนน KTC FOREVER จากทุกการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต สะสมได้ไม่จำกัด และไม่มีวันหมดอายุ สามารถใช้คะแนนแลกรับส่วนลดหรือเครดิตเงินคืนได้ สมัครบัตรเครดิต KTC ไม่ยาก กดสมัครได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ใช้จ่าย คุ้มค่า นึกถึงบัตรเครดิต KTC