หากใครเป็นมนุษย์เงินเดือน ไม่ว่าจะองค์กรขนาดเล็ก หรือองค์กรขนาดใหญ่ ทุกองค์กรต่างก็ต้องมีแผนกทรัพยากรมนุษย์ หรือที่เรียกกันติดปากว่า HR ถือเป็นอีกแผนกที่มีความสำคัญกับองค์กร ทั้งด้านพนักงาน และการพัฒนาองค์กรให้ดียิ่งขึ้น วันนี้ KTC จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับแผนกทรัพยากรมนุษย์ หรือ HR กันให้มากขึ้น ว่าคืออะไร และมีหน้าที่อย่างไรกันบ้าง?
HR คือตำแหน่งอะไร?
HR คือตำแหน่งงานที่อยู่ภายใต้แผนกทรัพยากรบุคคล หรือชื่อภาษาอังกฤษเรียกว่า Human Resources มีหน้าที่หลักในการดูแล จัดหา และพัฒนาพนักงานภายในองค์กร และบริษัท ให้มีสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมกับการทำงาน พร้อมทั้งส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของพนักงาน ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อให้องค์กรสามารถทำงานได้อย่างมีคุณภาพ
HR ย่อมาจากอะไร?
คำว่า HR ย่อมาจาก Human Resources หมายถึงฝ่ายทรัพยากรบุคคล โดย HR นั้นมีหน้าที่หลักในการดูแล จัดหาพนักงานในตำแหน่งต่างๆ รวมไปถึงดูแลสวัสดิภาพ และจัดหากิจกรรมเพื่อส่งเสริม พัฒนาศักยภาพของพนักงานให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยให้สามารถทำงาน และนำพาองค์กรไปสู่เป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
HR แบ่งได้เป็นฝ่ายบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลและฝ่ายพัฒนาทรัพยากรบุคคล
HR มีกี่ประเภท?
ในส่วนของประเภทของ Human Resources หรือ HR สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลักๆ ได้แก่
- Human Resources Management (HRM)
หรือในภาษาไทยเรียกว่า ฝ่ายบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล มีหน้าที่ดูแลภาพรวมของทั้งองค์กรที่มีความเกี่ยวข้องกับพนักงาน ไม่ว่าจะเป็น
- จัดหาพนักงานเข้าทำงาน
- ดูแลสวัสดิการของพนักงาน
- วางแผนการประเมินพนักงาน
- จัดหาการฝึกอบรม และพัฒนาศักยภาพด้านต่างๆ ของพนักงาน
- Human Resources Development (HRD)
หรือ ฝ่ายพัฒนาทรัพยากรบุคคล โดยเนื้องานของ HR ในฝั่งนี้ จะเน้นไปที่การพัฒนาศักยภาพ ความสามารถ และทักษะของพนักงานภายในองค์กรให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของทักษะอาชีพ การทำงาน ด้านคุณธรรม จริยธรรม และการเสริมสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกันภายในองค์กร ที่จะทำให้องค์กรสามารถเดินหน้าได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
HR แต่ละตำแหน่งมีหน้าที่อะไรบ้าง?
หน้าที่ของ HR คือการดูแลสวัสดิการด้านต่างๆ ของพนักงาน เพื่อให้พนักงานสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยสามารถแบ่งหน้าที่หลักๆ ได้ดังนี้
- ตำแหน่งจัดหาพนักงาน (Recruitment and Selection)
หน้าที่หลักของตำแหน่งนี้คือการเฟ้นหา และคัดสรรบุคลากรที่มีศักยภาพเหมาะสมกับตำแหน่งงานต่างๆ ขององค์กร เพื่อให้องค์กรมีบุคลากรที่มีคุณภาพในการทำงาน รวมไปถึงดูแลด้านการประเมิน และการปฏิบัติตามระเบียบ ข้อบังคับ ซึ่งหากมีพนักงานฝ่าฝืน ทาง HR ก็จะต้องเป็นผู้ตักเตือน หรือลงโทษพนักงาน
- ตำแหน่งสวัสดิการ และค่าตอบแทน (Salary and Benefits)
ในส่วนของสวัสดิการ และค่าตอบแทน จะเน้นไปที่การดูแลเรื่องของเงินเดือน ให้สอดคล้องกับความสามารถ รวมไปถึงสวัสดิการพื้นฐานต่างๆ ที่พนักงาน หรือบุคลากรภายในองค์กรพึงได้รับตามกฎหมาย เช่น ประกันสังคม ประกันสุขภาพ เงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และสวัสดิการด้านอื่นๆ ที่จะช่วยให้พนักงานมีความเป็นอยู่ในการทำงานที่ดีขึ้น ช่วยรักษาพนักงานคุณภาพ ให้อยู่กับองค์กรได้นานๆ
- ตำแหน่งพัฒนาองค์กร และบุคลากร (Human Resource Development)
สำหรับในตำแหน่งนี้ HR มีหน้าที่หลักคือการหาเครื่องมือ หลักสูตร อุปกรณ์ใหม่ และคอร์สเรียนต่างๆ ที่จะช่วยส่งเสริม พัฒนาพนักงานให้มีความรู้ ความสามารถ และทักษะในด้านต่างๆ เพื่อให้พนักงานสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และนำพาองค์กร หรือบริษัทในการบรรลุเป้าหมายได้เป็นอย่างดี
- ตำแหน่งพนักงานสัมพันธ์ภายในองค์กร (Employee Engagement)
ภายในองค์กร ต่างเต็มไปด้วยผู้คนที่หลากหลาย ดังนั้นการจะสานสัมพันธ์ให้คนในองค์กรมีความเป็นหนึ่งเดียวกัน จึงเป็นหน้าที่หลักของ HR ในตำแหน่งนี้ โดยจะต้องคอยหากิจกรรมในการสานสัมพันธ์ระหว่างแผนก หรือเจ้านายกับลูกน้อง รวมไปถึงรับบทคนกลางในการสื่อสารกรณีเกิดข้อพิพาท เพื่อคงไว้ซึ่งความสัมพันธ์ที่ดีของคนภายในองค์กร
งาน HR ต้องใช้ทักษะหลากหลาย ทั้งการสื่อสาร การมีมนุษยสัมพันธ์ และข้อกฎหมาย เป็นต้น
ทำงาน HR ต้องมีคุณสมบัติอะไร?
การจะเป็น HR ที่มีคุณภาพ ควรมีคุณสมบัติด้านอื่นๆ ร่วมด้วย อาทิ
- มีทักษะในการสื่อสาร
งานหลักของ HR คือการดูแลเรื่องต่างๆ ระหว่างพนักงาน และองค์กร ดังนั้นจึงต้องมีการสื่อสารตลอดเวลา ทักษะการสื่อสารจึงมีความจำเป็น ทั้งลักษณะการพูด และบุคลิกท่าทางต่างๆ
- เรียนรู้ตลอดเวลา
ต้องมีความใฝ่รู้ และเรียนรู้อยู่เสมอ เนื่องจากเป็นงานที่ทำงานโดยตรงกับคน ซึ่งมีความหลากหลาย และเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ รวมไปถึงยังต้องคอยอัพเดทความรู้ใหม่ๆ ทั้งในด้านกฎหมาย และเทรนด์ต่างๆ ที่จะสามารถนำมาปรับใช้ในการพัฒนาคนในองค์กรได้
- มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี
เรียกได้ว่าเป็นหัวใจหลักของการเป็น HR เนื่องจากต้องคอยประสานงาน และสื่อสารกับผู้คนหลากหลายแผนก จึงควรมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการทำงานร่วมกันภายในองค์กร
- มีความรู้ด้านกฎหมายแรงงานเบื้องต้น
เนื่องจากต้องทำงานในด้านการดูแลสวัสดิการ และความเป็นอยู่ของพนักงาน จึงควรต้องมีความรู้ในด้านกฎหมายแรงงานเบื้องต้น เพื่อใช้เป็นความรู้ในการต่อรองเจรจา และรักษาผลประโยชน์ของพนักงาน รวมไปถึงป้องกันไม่ให้องค์กร หรือบริษัทมีการกระทำที่ละเมิดต่อกฎหมายแรงงาน
- มีความซื่อสัตย์ และซื่อตรง
บางสถานการณ์ HR อาจจะต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการเจรจา หรือตัดสินข้อพิพาทต่างๆ ระหว่างแผนก ดังนั้นจึงต้องมีความเป็นกลาง ไม่เอนเอียง ซึ่งรวมถึงการคัดเลือกบุคลากรเข้าทำงานด้วย
งานฝ่ายบุคคล หรือ HR มีอะไรบ้าง?
งานหลักๆ ของฝ่ายบุคคล หรือ HR สามารถแบ่งแยกย่อยได้ดังนี้
- จัดหาและคัดเลือกพนักงาน
คอยจัดหา และคัดเลือกบุคลากรที่มีคุณภาพ และเหมาะสมกับตำแหน่งงานในด้านต่างๆ
- ดูแลค่าตอบแทน และสวัสดิการ
ดูแลเรื่องสวัสดิการในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นประกันชีวิต ประกันสังคม เงินสมทบกองทุนฯ Outing ประจำปี กิจกรรมต่างๆ ภายในองค์กร และค่าตอบแทนที่เหมาะสมของพนักงานในแต่ละตำแหน่ง
- พัฒนาศักยภาพบุคลากร
จัดหากิจกรรม เครื่องมือ และคอร์สฝึกอบรม เพื่อพัฒนาบุคลากรให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น
- ประเมินการทำงาน
วางแผนในการทำแบบประเมินประจำปีร่วมกับหัวหน้างานในแผนกต่างๆ เพื่อทำการประเมิน วัดผลประสิทธิภาพการทำงานของบุคลากรภายในองค์กร ให้ออกมาครอบคลุม และได้คุณภาพมากที่สุด
โดยส่วนใหญ่แล้ว เรามักเรียกแผนกนี้รวมๆ ว่า HR ซึ่งในความเป็นจริง แต่ละคนต่างก็มีหน้าที่การทำงานที่แตกต่างกันไป แต่ภาพรวมคือการพัฒนาคนในองค์กรให้มีความสุขในการทำงาน และมีประสิทธิภาพในการทำงานมากยิ่งขึ้นนั่นเอง เมื่อพนักงานมีคุณภาพ ย่อมส่งผลให้บริษัท หรือองค์กร สามารถก้าวไปสู่ความมั่นคง และความสำเร็จได้ง่ายยิ่งขึ้น ส่วนพนักงานที่ต้องการสร้างความมั่นคงในการใช้จ่ายให้กับตัวเอง การมีบัตรเครดิตที่ตอบโจทย์การใช้งาน ย่อมช่วยแบ่งเบาภาระ และถือเป็นการสร้างเครดิตที่ดีสำหรับการยื่นกู้ในอนาคต สนใจสมัครบัตรเครดิตที่มาพร้อมสิทธิประโยชน์หลากหลาย ทั้งส่วนลดจากร้านค้าชั้นนำมากมาย ครอบคลุมทุกไลฟ์สไตล์ เลือกสมัครบัตรเครดิต KTC ออนไลน์ ไม่มีค่าธรรมเนียมรายปี รับคะแนนสะสม KTC FOREVER ได้แบบไม่จำกัด สามารถใช้แลกรับส่วนลด หรือเครดิตเงินคืนได้ ให้ทุกการใช้จ่ายคุ้มค่ากว่าที่เคย
ใช้จ่าย คุ้มค่า นึกถึงบัตรเครดิต KTC