ฝนตก แดดออก บวกฝุ่น PM 2.5 คนที่ออกจากบ้านมาทำงานทุกวันมีโอกาสเจ็บป่วยได้เสมอ ซึ่งแต่ละองค์กรอาจมีข้อกำหนดให้ลาป่วยไม่เหมือนกัน แต่ทุกหน่วยงานก็จะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนด ครั้งนี้ KTC จึงรวบรวมสิทธิ์ตามกฎหมายที่พนักงานต้องรู้ พร้อมไขข้อข้องใจ ลาป่วยต้องใช้ใบรับรองแพทย์หรือไม่ มาหาคำตอบไปพร้อมกัน
พนักงานสามารถลาป่วยได้กี่วัน กฎหมายแรงงาน?
ลาป่วย ตามกฎหมายแรงงาน คือสิทธิ์ที่ให้ความคุ้มครองแก่ลูกจ้างในการลาหยุดงานเพื่อรักษาตัวเมื่อเจ็บป่วยหรือประสบอุบัติเหตุที่ทำให้ไม่สามารถทำงานได้ โดยเป็นสิทธิ์ขั้นพื้นฐานของความคุ้มครองลูกจ้างในด้านสุขภาพและการทำงาน ทั้งนี้ สิทธิ์ในการลาป่วยไม่จำเป็นต้องใช้ในกรณีที่ป่วยหนักเท่านั้น
สำหรับข้อกำหนดกฎหมายแรงงาน ระบุให้ลูกจ้างสามารถลาป่วยได้ตามระยะเวลาเท่าที่ป่วยจริง โดยที่ไม่ถูกหักเงินเป็นเวลา 30 วันทำงานต่อ 1 ปี ไม่ว่าจะลูกจ้างจะมีระยะเวลาทำงานมากน้อยเพียงใด หรือเป็นลูกจ้างประเภทใด คือไม่ว่าจะเป็นลูกจ้าง รายวัน รายเดือน หรือลูกจ้างทดลองงาน ก็ต้องได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานอย่างเท่าเทียม
ลาป่วย ถูกหักเงินเดือนหรือไม่ ?
ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน มาตรา 57 บัญญัติว่า ลูกจ้างมีสิทธิ์ได้รับค่าจ้างในวันลาป่วย เท่ากับค่าจ้างในวันทำงานปกติตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ภายใน 1 ปี จะต้องไม่เกิน 30 วันทำงาน หมายความว่า ลูกจ้างมีสิทธิ์ได้รับค่าจ้างในวันที่ลาป่วย ตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ไม่เกิน 30 วันทำงานต่อปี
ส่วนการลาป่วยตั้งแต่วันที่ 31 เป็นต้นไป หากยังไม่หายป่วยก็สามารถลาพักรักษาตัวได้ต่อเนื่องจนกว่าจะหาย ทั้งนี้ นายจ้างมีสิทธิ์ไม่จ่ายค่าจ้างได้ แต่นายจ้างอาจตกลงจ่ายค่าจ้างกรณีลาป่วยเกิน 30 วันได้ เนื่องจากเป็นสภาพการจ้างที่เป็นคุณแก่ลูกจ้างที่กฎหมายอนุญาตให้ทำได้
อีกหนึ่งทางเลือก กรณีจำเป็นต้องลาป่วยเกิน 30 วัน คือการหยุดงานแบบไม่รับค่าจ้าง เพราะอาการป่วยหรือโรคบางโรคอาจต้องใช้การรักษาเป็นระยะเวลานาน ลูกจ้างและนายจ้างสามารถทำข้อตกลงการหยุดงานแบบไม่จ่ายค่าจ้างได้ (Leave without pay) หรือหยุดงานโดยไม่จ่ายค่าจ้างตามหลักสัญญาต่างตอบแทน (No work no pay)
ลูกจ้าง ลาป่วย 1 วัน หรือ 2 วัน ไม่จำเป็นต้องมีใบรับรองแพทย์
ลาป่วย ต้องใช้ใบรับรองแพทย์ไหม ?
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 32 กำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิ์ลาป่วยได้เท่าที่ป่วยจริง ซึ่งการลาป่วยตั้งแต่ 3 วันทำงานขึ้นไป กฎหมายกำหนดให้นายจ้าง “อาจ” ให้ลูกจ้างแสดงใบรับรองแพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่ง หรือของสถานพยาบาลของทางราชการ ดังนั้น การลาป่วยเพียง 1 วัน หรือ 2 วัน จึงไม่จำเป็นต้องมีใบรับรองแพทย์มาแสดง
หากสังเกตตัวบทกฎหมายให้ดี จะพบว่ากฎหมายไม่ได้วางบทบังคับว่าลูกจ้าง “ต้อง” แสดงใบรับรองแพทย์ทุกครั้งที่ลาป่วย เนื่องจากบางรายอาจเจ็บป่วยจริงแต่พักรักษาพยาบาลที่สถานีอนามัย หรือซื้อยามากินเอง โดยไม่ได้ไปพบแพทย์หรือนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลจึงไม่มีใบรับรองแพทย์มาแสดงต่อนายจ้าง ตรงนี้กฎหมายก็เปิดกว้างให้ลูกจ้างสามารถชี้แจงให้นายจ้าง เพื่อทราบถึงการลาป่วยได้
ลาป่วยมากกว่า 3 วัน ควรทำยังไงดี ?
ในกรณีที่เราจำเป็นต้องใช้สิทธิ์ลาป่วยมากกว่า 3 วันทำงานติดต่อกัน (ไม่นับรวมวันหยุด เนื่องจากเป็นวันที่สามารถหยุดได้ตามปกติโดยไม่ต้องใช้สิทธิ์การลา) เช่น การลาป่วยเนื่องจากติดโควิด 19 โรคไข้หวัดใหญ่ โรคไข้เลือดออก หรือการผ่าตัดที่ใช้เวลาพักรักษาตัวนานกว่า 3 วันทำงาน แบบนี้แนะนำให้ไปหาพบแพทย์เพื่อขอใบรับรองแพทย์เป็นหลักฐานการลาป่วย จะได้สบายใจทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง
สำหรับกรณีที่ลาป่วยมากกว่า 3 วัน แต่ไม่มีใบรับรองแพทย์ ลูกจ้างก็สามารถชี้แจงต่อนายจ้าง โดยอาจมีหลักฐานที่เป็นภาพถ่ายแสดงอาการป่วย ใบเสร็จค่ายา ซองยา เอกสารการรักษาตามแพทย์แผนไทยหรือแผนจีน หรือหลักฐานอื่น รวมถึงการใช้พยานบุคคล ก็ได้เช่นกัน
สำหรับการลาป่วยเท็จ ถือเป็นการละทิ้งหน้าที่ หากเกิน 3 วันนายจ้างอาจใช้สิทธิ์เลิกจ้างได้ ส่วนการลาป่วยบ่อย ถือเป็นการหย่อนสมรรถภาพในการทำงาน ที่ทำให้นายจ้างใช้สิทธิ์เลิกจ้างได้เช่นกัน แต่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย
ลาป่วยกี่วัน ต้องมีใบรับรองแพทย์
สรุปว่า ลาป่วยกี่วัน ต้องมีใบรับรองแพทย์ คำตอบคือ ลูกจ้างมีสิทธิ์ลาป่วยได้เท่าที่ป่วยจริง สำหรับการลาป่วยเพียง 1 วัน หรือ 2 วัน ไม่จำเป็นต้องมีใบรับรองแพทย์มาแสดง ส่วนการลาป่วยตั้งแต่ 3 วันทำงานติดต่อกัน นายจ้างสามารถขอให้ลูกจ้างแสดงใบรับรองแพทย์ แต่ไม่ได้บังคับว่าลูกจ้างต้องแสดงใบรับรองแพทย์ทุกครั้งที่ลาป่วยเสมอไป
ลาป่วย หัวหน้าไม่อนุมัติ สามารถทำได้ หากมีหลักฐานว่า “ป่วยเท็จ”
ลาป่วย หัวหน้าไม่อนุมัติ
มาทางฝั่งของนายจ้างกันบ้าง หากลูกจ้างขอใช้สิทธิ์ลาป่วย แล้วหัวหน้าไม่อนุมัติ กรณีนี้สามารถทำได้ หากมีหลักฐานว่า “ป่วยเท็จ” เมื่อลูกจ้างมีพฤติการณ์น่าสงสัยว่าป่วยเท็จ เพื่อใช้สิทธิ์วันลาและได้รับค่าจ้าง นายจ้างสามารถสอบสวนข้อเท็จจริงว่าลูกจ้างป่วยจริงหรือไม่ แม้จะมีใบรับรองแพทย์มาแสดง หากปรากฏว่าป่วยจริงและใช้สิทธิ์ลาโดยสุจริต ก็นับเป็นผลดีแก่ลูกจ้างถือว่าเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม ซึ่งลูกจ้างจะต้องไปดำเนินการตามคำสั่ง
ส่วนเรื่องที่นายจ้างต้องรู้คือ นายจ้างจะออกข้อบังคับห้ามลาป่วย ปิดหัวปิดท้ายวันหยุดไม่ได้ เพราะหากป่วยจริงต้องมีสิทธิ์ลา และหากนายจ้างไม่ปฏิบัติตามกฎหมายแรงงาน เรื่องการลาป่วย ถือเป็นความผิดตามกฎหมายแรงงาน แต่ไม่มีโทษทางอาญา
สุดท้าย หากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมเกี่ยวกับกฎหมายแรงงาน เราสามารถร้องเรียนได้ที่
- สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด 76 จังหวัด
- สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กรุงเทพมหานคร พื้นที่ 1-10
- ร้องผ่านระบบ E-Service ของกรมได้ที่ https://www.labour.go.th/index.php/e-services
- สายด่วนโทร 1506 กด 3
- หรือสายด่วน 1546
รู้แบบนี้แล้วใครชอบลาหยุดทั้งที่ไม่ได้ป่วย ก็ต้องระมัดระวังการป่วยเท็จ ที่เป็นเหตุให้นายจ้างมีสิทธิ์เลิกจ้างคุณได้ตามกฎหมาย ส่วนใครที่ป่วยแต่ไม่กล้าลาหยุด ก็สามารถใช้สิทธิ์ความคุ้มครองลูกจ้างในด้านสุขภาพและการทำงานได้ สำหรับคนที่อยากได้สิทธิประโยชน์ดีๆ ด้านการเงิน เพื่อไปลงทุนกับสุขภาพ อาทิ ส่วนลดค่าห้อง และค่ายา 5-20% เมื่อเข้ารับบริการที่โรงพยาบาลกรุงเทพ ด้วยบัตรเครดิต KTC - BANGKOK HOSPITAL GROUP VISA PLATINUM หรือส่วนลด สำหรับรถพยาบาลฉุกเฉิน และส่วนลด
สำหรับโปรแกรมตรวจสุขภาพประจำปี ที่โรงพยาบาลเวชธานี ด้วยบัตรเครดิต KTC - VEJTHANI HOSPITAL PLATINUM MASTERCARD เป็นต้น พร้อมผ่อนชำระ 0% นาน 3-10 เดือน บัครเครดิต KTC ตัวช่วยให้ทุกการใช้จ่ายคล่องตัว ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ที่ใช่ สามารถเลือกดูสิทธิประโยชน์ต่างๆ ของสมาชิกบัตรเครดิต KTC พร้อมกดสมัครบัตรเครดิตออนไลน์ได้เลย สมัครง่าย ได้ทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง
ใช้จ่าย คุ้มค่า นึกถึงบัตรเครดิต KTC