แนะนำถ้ากำลังวางแผนลดหย่อนภาษี ต้องเตรียมตัวตั้งแต่เนิ่นๆ ไม่ควรเร่งรัดช่วงท้ายปี เพราะนอกเหนือจากการศึกษารายละเอียดเงื่อนไขที่สามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้ ทั้งยังต้องเตรียมเอกสารสำคัญต่างๆ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการคำนวณค่าลดหย่อนภาษี โดย “กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” (Provident Fund) เป็นอีกหนึ่งวิธีนำไปลดหย่อนภาษีได้ หากใครมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอย่าลืมตระเตรียมข้อมูลไว้ยื่นภาษี ซึ่งบทความนี้ได้รวบรวมข้อมูลการลดหย่อนภาษีด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จะมีข้อมูลอะไรบ้างไปดูรายละเอียดกัน
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สามารถลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริงไม่เกิน 15% ของค่าจ้าง
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ลดหย่อนภาษีได้ยังไง
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริงไม่เกิน 15% ของค่าจ้างและไม่เกิน 500,000 บาท ในส่วนเงินของลูกจ้างที่จ่ายสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ลดหย่อนภาษีคำนวณอย่างไร
การใช้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพลดหย่อนภาษี ลูกจ้างสามารถนำเงินที่จ่ายสะสม (ไม่รวมกับเงินสมทบจากนายจ้าง) ไปลดหย่อนได้ไม่เกิน 15% ของค่าจ้าง หรือไม่เกิน 500,000 บาท ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าจำนวนใดที่น้อยกว่ากัน ให้ลดหย่อนตามนั้น ยกตัวอย่างเช่น
- นาย A มีเงินเดือนตลอดทั้งปี 2,000,000 บาท โดยจ่ายเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพไป 400,000 บาท จะหักตามที่จ่ายจริงแค่ 300,000 บาทเท่านั้น เพราะ 15% ของ 2,000,000 จะเท่ากับ 300,000 บาท
- นาย B มีเงินเดือนตลอดทั้งปี 4,000,000 บาท จ่ายเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพไป 600,000 บาท แต่จะลดหย่อนภาษีได้เพียงแค่ 500,000 บาทเท่านั้น เพราะติดเพดานหักลดหย่อน ถึงแม้ว่าเงินที่ถูกจ่ายไปจะไม่ 15% ของเงินได้ก็ตาม
รับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอย่างไรให้ไม่เสียภาษี
ถ้าหากคุณยังไม่นำเงินออกมาจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จะไม่ถูกนำไปคำนวณค่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ต้องจ่ายประจำทุกปี โดยเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะถูกแบ่งออกเป็น 4 ส่วนด้วยกัน ดังนี้
- เงินสะสมของลูกจ้าง
- ผลประโยชน์ของเงินสะสมของลูกจ้าง
- เงินสมทบของนายจ้าง
- ผลประโยชน์ของเงินสมทบของนายจ้าง
ซึ่งถ้าหากว่าคุณนำเงินออกไป เงินส่วนที่ 1 จะไม่ถูกนำไปคำนวณภาษี แต่เงินได้ส่วนที่ 2-4 จะถูกนำไปคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยมีรายละเอียด ดังนี้
- รับเงินเนื่องจากเกษียณ
ลูกจ้างมีอายุไม่น้อยกว่า 55 ปีบริบูรณ์ และเป็นสมาชิกต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 5 ปี จะได้รับการยกเว้นภาษี แต่ในกรณีที่ไม่เข้าเงื่อนไข เงินส่วนที่ 2-4 จะถูกนำมาคำนวณภาษี ซึ่งผู้เกษียณแล้วสามารถขอให้คงเงินไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยที่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมรายปี หรือโอนไปยัง RMF for PVD จนถึงระยะเวลาในเงื่อนไข แล้วค่อยถอนเงินออกมาก็ได้
- ในกรณีลาออกจากงานก่อนอายุ 55 ปี
หากคุณลาออกจากงานโดยอายุยังไม่ครบ 55 ปีบริบูรณ์ ให้สอบถามบริษัทใหม่ว่ามีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือไม่ ถ้าหากว่า “มี” สามารถโอนย้ายได้ โดยเงินทั้งหมดจะไม่ถูกนำมาคำนวณภาษี แต่ถ้าหากว่าไม่มี เงินส่วนที่ 2-4 จะถูกไปคำนวณภาษี แต่สามารถขอคงเงินทุนไว้จนครบเงื่อนไขโดยจ่ายธรรมเนียมรายปี หรือโอนไปยัง RMF for PVD จนถึงระยะเวลาในเงื่อนไขก็ได้เช่นกัน
ในกรณีที่คุณไม่ได้ลาออกจากงาน แต่ “ลาออกจากกองทุน” เงินส่วนที่ 2-4 จะถูกมาคำนวณภาษีไม่ว่าคุณจะลาออกจากกองทุนด้วยเหตุผลใดก็ตาม
ข้อควรรู้อื่นๆ เกี่ยวกับการลดหย่อนภาษีด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
การลดหย่อนภาษีด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไม่ซับซ้อน สามารถเข้าใจได้ง่าย โดยเงื่อนไขของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพคือ เงินทุนจะไม่ถูกนำไปคำนวณภาษี ในกรณีที่คุณมีอายุ 55 ปีบริบูรณ์ และเป็นสมาชิกครบ 5 ปี แต่ก็มีข้อควรรู้อื่นๆ สำหรับคนที่ไม่ได้มีแผนที่จะทำงานบริษัทเดิมจนถึงเกษียณ ดังนี้
- เงินสะสมของลูกจ้าง เป็นเงินที่คุณสะสมไว้ในกองทุน จะไม่ถูกนำมาคำนวณภาษีบุคคลเงินได้ ไม่ว่าจะด้วยเงื่อนไขใดก็ตาม
- เงินสมทบจากนายจ้าง ไม่ว่าจะด้วยกรณีใดก็ตาม ไม่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้
- ลาออกจากงานก่อน 55 ปี และเป็นสมาชิกน้อยกว่า 5 ปี ในกรณีนี้คุณจะต้องนำเงินส่วน 2-4 ไปคำนวณภาษี โดยรวมกับเงินได้ประจำปี
- ลาออกจากงานก่อน 55 ปี และเป็นสมาชิกมากกว่า 5 ปี จะมีทางเลือกในการคำนวณภาษีทั้งหมด 2 ทาง ได้แก่
- นำเงินส่วน 2-4 ไปคำนวณภาษี โดยรวมกับเงินได้ประจำปี
- นำ 7,000 x จำนวนปีที่ทำงาน แล้วนำไปหักออกจากเงินส่วนที่ 2-4 และนำเงินที่เหลือจากขั้นที่ 1 หักออกอีกครึ่งหนึ่ง แล้วนำไปคำนวณภาษีเงินได้ประจำปีอีกที
- ค่าธรรมเนียมรายปีในกรณีคงเงินไว้ในกองทุน จะต้องเสีย 500 บาทต่อปี ซึ่งถ้าคำนวณแล้วคุ้มค่ามากกว่าการถูกนำไปคำนวณภาษี สามารถแจ้งความประสงค์คงเงินไว้ในกองทุนได้
การวางแผนเงินออมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นเรื่องที่ดี เพราะเป็นเสมือนเข็มทิศนำทางชีวิตที่จะช่วยให้คุณบรรลุเป้าหมายและฝ่าฟันอุปสรรคทางการเงินได้อย่างมั่นคง และถ้าใครอยากเพิ่มความยืดหยุ่นทางด้านการเงิน บัตรเครดิต KTC เบิกถอนเงินสดได้ หรือโอนเข้าบัญชีออมทรัพย์ได้ผ่านแอป KTC Mobile และทุกการใช้บัตรเครดิต KTC ยังได้รับคะแนน KTC FOREVER ทุกยอดการใช้จ่าย โดย 1,000 คะแนน สามารถใช้ชำระเงินแทนเงินสดได้ 100 บาท นอกจากนั้นยังรวมถึงโปรโมชั่นมากมายที่จะช่วยให้การใช้จ่ายคุ้มค่ามากยิ่งขึ้น ทั้งโปรโมชั่นผ่อน 0% และใช้คะแนนแลกรับเครดิตเงินคืน สนใจสมัครบัตรเครดิต KTC ออนไลน์ได้เลย
ใช้จ่าย คุ้มค่า นึกถึงบัตรเครดิต KTC