จากการเปลี่ยนแปลงทั้งเรื่องของนวัตกรรม เทคโนโลยีในยุค Disruption รวมถึงผลกระทบด้านเศรษฐกิจและภัยธรรมชาติ ทำให้หลายบริษัทบอบช้ำจนต้องประกาศเลิกกิจการเพราะแบกรับภาระไม่ไหว หรืออาจต้องแก้ปัญหาด้วยการเปลี่ยนโครงสร้างภายในด้วยการลดจำนวนพนักงาน เกิดการเลิกจ้างบางส่วน ทำให้หลายคนตกงานแบบไม่ทันตั้งตัว เมื่อถูกเลิกจ้างแบบนี้ ในฐานะของลูกจ้าง เรามีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชยตามที่กฎหมายกำหนดอย่างไร มาดูกันว่า เงินชดเชย การเลิกจ้างตามกฎหมายแรงงาน ต้องได้เท่าไหร่ ภายในกี่วัน ?
เงินชดเชย การเลิกจ้าง คืออะไร ?
เงินชดเชย หรือค่าชดเชย ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน(ฉบับที่7)พ.ศ. 2562คือเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้าง เมื่อถูกเลิกจ้าง หรือถูกให้ออกจากงานโดยไม่สมัครใจ และไม่มีความผิดใดๆ โดยไม่เข้าข้อยกเว้น ซึ่งเป็นเงินนอกเหนือจากเงินประเภทอื่นที่นายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้าง โดยพิจารณาอัตราค่าชดเชยตามอายุงานของลูกจ้าง
ข้อยกเว้น ที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายเงินชดเชย ในกรณีต่อไปนี้
- ลูกจ้างลาออกเอง
- ลูกจ้างทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง เช่น โกงเงิน ยักยอกเงิน ฯลฯ
- ลูกจ้างจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
- ลูกจ้างประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
- ลูกจ้างฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน หรือระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีร้ายแรง นายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือน
- ลูกจ้างละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา3วันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร
- ลูกจ้างได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก
- กรณีการจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน และนายจ้างเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้น ได้แก่ การจ้างงานในโครงการ งานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราว และงานที่เป็นไปตามฤดูกาล
อัตราค่าชดเชยการเลิกจ้างคิดอย่างไร ?
เมื่อถูกเลิกจ้าง หรือให้ออกจากงานโดยไม่สมัครใจและไม่มีความผิดใดๆ บริษัทจะต้องจ่ายค่าชดเชย ตามกฎหมายแรงงาน มาตรา 118 โดยคำนวณจากเงินเดือนหรือค่าจ้างงวดสุดท้าย ดังนี้
- ลูกจ้างทำงานครบ120วัน แต่ไม่ครบ1ปี ได้รับค่าชดเชย เท่ากับค่าจ้างสุดท้าย30วัน
- ลูกจ้างทำงานครบ1ปี แต่ไม่ครบ3ปี ได้รับค่าชดเชย เท่ากับค่าจ้างสุดท้าย90วัน
- ลูกจ้างทำงานครบ3ปี แต่ไม่ครบ6ปี ได้รับค่าชดเชย เท่ากับค่าจ้างสุดท้าย180วัน
- ลูกจ้างทำงานครบ6ปี แต่ไม่ครบ10ปี ได้รับค่าชดเชย เท่ากับค่าจ้างสุดท้าย240วัน
- ลูกจ้างทำงานครบ10ปีขึ้นไป ได้รับค่าชดเชย เท่ากับค่าจ้างสุดท้าย300วัน
- ลูกจ้างทำงานครบ20ปีขึ้นไป ได้รับค่าชดเชย เท่ากับค่าจ้างสุดท้าย400วัน
ค่าตกใจ คืออะไร ?
ค่าตกใจ คือเงินค่าชดเชยแทนการบอกล่วงหน้า ในกรณีเลิกจ้างทันที หรือให้ออกจากงานโดยไม่สมัครใจและไม่มีความผิดใดๆ โดยนายจ้างต้องจ่ายเงินแทน “คำบอกกล่าวล่วงหน้า” เป็นจำนวนเงินเท่ากับ 1งวดของการจ่ายค่าจ้าง เช่น หากลูกจ้างได้ค่าจ้างทุก30วัน นายจ้างจะต้องแจ้งเลิกจ้างเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างน้อย30วัน ไม่เช่นนั้นจะต้องจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้า30วันแทน
เงินชดเชย การเลิกจ้าง ต้องหัก ณ ที่จ่ายไหม ?
ในส่วนของการคำนวณหักภาษี ณ ที่จ่าย กรณี “เงินชดเชยเลิกจ้าง”จะต้องพิจารณาถึงอายุการทำงาน และเงื่อนไขอื่นประกอบด้วย แต่หากเป็นเงินชดเชยส่วนอื่น เช่น เงินสมทบพิเศษ เงินวันหยุดวันลาที่ไม่ได้ใช้ นายจ้างจะต้องทำการหักภาษี ณ ที่จ่าย และนำส่งภาษีให้กรมสรรพากร
ทั้งนี้ เงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน เป็นเงินได้ที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา นอกเหนือจากค่าจ้างทั่วไป
- กรณีลูกจ้างทำงานมาแล้วครบ 5 ปี นายจ้างจะต้องคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่าย ด้วยวิธีพิเศษ โดยฝ่ายลูกจ้างสามารถเลือกเสียภาษีโดยไม่นำไปรวมคำนวณภาษีกับเงินได้อื่นๆ ก็ได้ ซึ่งมักจะช่วยให้เสียภาษีน้อยกว่าวิธีคำนวณภาษีแบบปกติ แต่ยังต้องยืนภาษีพร้อมกับการยืนภาษีประจำปี (ภ.ง.ด. 90 และ ภ.ง.ด. 91) เพราะไม่สามารถปล่อยให้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายแล้วเป็นภาษีสุดท้ายทันทีได้ หรือลูกจ้างจะเลือกเสียภาษีเหมือนค่าจ้างและโบนัสทั่วไปก็ได้
- กรณีลูกจ้างทำงานยังไม่ครบ 5 ปี เงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน จะถูกภาษี ณ ที่จ่ายด้วยวิธีปกติ และลูกจ้างต้องเสียภาษีเหมือนค่าจ้างและโบนัสทั่วไป
เงินชดเชยเลิกจ้าง นายจ้างต้องจ่ายเงินในวันที่เลิกจ้าง
เงินชดเชย การเลิกจ้าง จ่ายภายในกี่วัน ?
ระยะเวลาการจ่ายเงินชดเชย ตามที่กฎหมายแรงงานกำหนด ทั้งค่าชดเชยเลิกจ้าง (มาตรา 118) ค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกล่วงหน้าและค่าชดเชยพิเศษในกรณีที่นายจ้างจะเลิกจ้างลูกจ้าง เพราะเหตุที่นายจ้างปรับปรุงหน่วยงานกระบวนการผลิต การจำหน่าย หรือการบริการ อันเนื่องมาจากการนำเครื่องจักรมาใช้หรือเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรหรือเทคโนโลยี (มาตรา 120, 121 และ 122) จะต้องจ่ายเงินในวันที่เลิกจ้าง
ทั้งนี้ หากนายจ้างไม่คืนหรือไม่จ่าย แต่ไม่จงใจ ต้องเสียดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี แต่หากนายจ้างไม่คืนไม่จ่าย โดยจงใจ หรือโดยปราศจากเหตุอันสมควร เมื่อพ้น 7 วันนายจ้างต้องเสียเงินเพิ่มทุกระยะเวลา 7 วัน รวมถึงเสียดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี
แม้ยุคนี้เรื่องของการทำงานจะไม่แน่นอน แต่หากเราเตรียมพร้อมเรื่องการเงิน ไม่ว่าจะกี่อุปสรรคที่เข้ามา เราก็สามารถผ่านทุกวิกฤตไปได้ เริ่มต้นด้วยการวางแผนการใช้จ่ายให้ดี และหากกรณีฉุกเฉิน ต้องใช้เงินด่วน บัตรเครดิต ถือเป็นตัวช่วยที่ดีเช่นกัน อย่างบัตรเครดิต KTC มีสิทธิประโยชน์สำหรับสมาชิกมากมาย พร้อมด้วยส่วนลดโปรโมชั่นจากพาร์ทเนอร์ที่หลากหลาย ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของสมาชิกได้อย่างครอบคลุม สำหรับใครยังไม่มีบัตรเครดิต KTC สามารถสมัครออนไลน์ได้เลย ทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง สมัครง่าย อาชีพไหนก็สมัครได้
ใช้จ่าย คุ้มค่า นึกถึงบัตรเครดิต KTC