อยากเกษียณอย่างสบายใจ แต่ยังไม่รู้จะเริ่มออมเงินอย่างไรดี ? กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่ต้องการออมเงินเพื่ออนาคต ด้วยเงินสมทบจากรัฐและสิทธิประโยชน์อีกมากมาย วันนี้ KTC จะพาคุณไปทำความรู้จักกับกองทุนการออมแห่งชาติให้มากยิ่งขึ้น เพื่อช่วยสร้างหลักประกันในวัยเกษียณได้อย่างมั่นคง
กองทุนการออมแห่งชาติ คืออะไร ?
‘กองทุนการออมแห่งชาติ’ หรือ กอช. เป็นกองทุนที่จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมให้คนไทยมีเงินออมไว้ใช้ในยามเกษียณ โดยรัฐบาลมีส่วนช่วยสมทบเงินออมให้กับสมาชิก ทำให้คุณสามารถออมเงินได้แบบสบายใจ มีการบริหารจัดการอย่างมั่นคง และเป็นเครื่องมือสร้างหลักประกันรายได้ในวัยเกษียณ
กองทุนการออมแห่งชาติ เหมาะกับใคร ?
กองทุนการออมแห่งชาติ ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยให้กลุ่มคนที่ไม่มีระบบบำเหน็จบำนาญหรือไม่มีสวัสดิการทางการเงินในวัยเกษียณสามารถเริ่มต้นออมเงินได้ง่ายๆ ซึ่งกลุ่มที่เหมาะสมกับการเข้าร่วมกองทุนนี้ ได้แก่
- แรงงานนอกระบบคนกลุ่มนี้มักไม่มีการออมเพื่อเกษียณผ่านระบบประกันสังคมหรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ การเข้าร่วม กอช. จะช่วยสร้างหลักประกันทางการเงินในอนาคตได้ เช่น พ่อค้าแม่ค้า, เกษตรกร, ผู้ประกอบอาชีพอิสระ, ฟรีแลนซ์ หรือแรงงานที่ไม่ได้มีรายได้ประจำ
- ผู้ที่ไม่ได้อยู่ในระบบสวัสดิการของรัฐคนที่ไม่ได้มีสิทธิประโยชน์ด้านบำนาญจากภาครัฐ เช่น ผู้ที่ไม่ได้อยู่ในระบบราชการ หรือไม่มีบำเหน็จบำนาญในบริษัทเอกชน
- ผู้ที่ต้องการออมเงินด้วยต้นทุนต่ำและความยืดหยุ่นสูงกอช. เปิดโอกาสให้ผู้ที่มีรายได้น้อยสามารถออมเงินเริ่มต้นได้เพียง 50 บาทต่อครั้ง โดยไม่มีการกำหนดจำนวนเงินฝากประจำรายเดือน
- นักเรียนหรือนักศึกษา (อายุ 15 ปีขึ้นไป)แม้ยังไม่ได้เริ่มทำงานเต็มตัว การเริ่มต้นออมเงินผ่าน กอช. ตั้งแต่อายุยังน้อยสามารถช่วยสะสมเงินออมให้เติบโตในระยะยาว พร้อมรับเงินสมทบจากรัฐบาล
การเข้าร่วม กอช. ไม่เพียงแค่ช่วยวางแผนการเงินระยะยาว แต่ยังเหมาะสำหรับคนที่ต้องการสร้างความมั่นคงทางการเงินในแบบที่ตัวเองสามารถควบคุมได้ ถือเป็นกองทุนที่ตอบโจทย์กลุ่มคนหลากหลาย
กองทุนการออมแห่งชาติ มีลักษณะเงื่อนไขอย่างไร ?
การเข้าร่วมกองทุนการออมแห่งชาติมีลักษณะและเงื่อนไขที่ออกแบบมาเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ง่าย มีความยืดหยุ่นสูง และช่วยส่งเสริมการออมในระยะยาว โดยมีเงื่อนไขสำคัญดังนี้
คุณสมบัติผู้ที่มีสิทธิ์สมัครสมาชิก
- มีสัญชาติไทย
- อายุ 15-60 ปี
- ไม่เป็นผู้ประกันตนตามกฎหมายประกันสังคม
- เป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 (1) สามารถสมัครได้
- ไม่เป็นข้าราชการ หรือสมาชิก กบข.
- ไม่เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
- มีอาชีพอิสระ ไม่มีนายจ้าง หรือ ไม่มีอาชีพ
เงื่อนไขการออม
- ออมขั้นต่ำ 50 บาทต่อครั้ง ตลอดทั้งปี (ม.ค. - ธ.ค.) ส่งเงินออมรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 13,200 บาท
- ในระหว่างปี (ม.ค. - ธ.ค.) จะส่งเงินออมอย่างไรก็ได้ตามความสะดวก ไม่จำเป็นต้องส่งทุกเดือน ยอดเงินที่ออมก็ไม่จำเป็นต้องเท่ากันทุกครั้งที่ส่ง แต่ในหนึ่งเดือนส่งเงินได้ 1 ครั้งเท่านั้น
- มีสิทธิ์ออมได้จนถึงอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ แล้วต้องยุติการออม โดย กอช. จะแจ้งให้สมาชิกขอรับเงินคืน
- กอช. จะจ่ายเงินคืนสมาชิกแบบแบ่งจ่ายเป็นรายเดือนเท่านั้น โดยจะจ่ายคืนให้เดือนละเท่าไหร่ขึ้นอยู่กับจำนวนเงินทั้งหมดที่สมาชิกมีอยู่กับกองทุน ซึ่งประกอบด้วย
ส่วนที่ 1) เงินออมของสมาชิก
ส่วนที่ 2) เงินสมทบจากรัฐบาล
ส่วนที่ 3) ดอกผลของเงินส่วนที่ 1 และ 2 รวมกัน แล้วนำมารวมกัน เพื่อคำนวณหายอดเงินคืนแต่ละเดือน - ถ้าเมื่อคำนวณแล้วได้ผลลัพธ์ไม่น้อยกว่า 600 บาทต่อเดือน สมาชิกจะได้รับเงินคืนเป็นประจำทุกเดือนตามผลลัพธ์ที่คำนวณได้ไปจนกว่าสมาชิกจะเสียชีวิต ถึงแม้ว่าเงินในบัญชีของสมาชิกจะหมดลงแล้ว เรียกว่า บำนาญตลอดชีพ
- ถ้าเมื่อคำนวณแล้วได้ผลลัพธ์น้อยกว่า 600 บาทต่อเดือน สมาชิกจะได้รับเงินคืนเดือนละ 600 บาททุกเดือน จนเมื่อเงินในบัญชีของสมาชิกหมดลง กอช. จะหยุดจ่ายคืน เรียกว่า เงินดำรงชีพ
- ถ้าสมาชิกขอลาออกจากกองทุนก่อนอายุครบ 60 ปี สมาชิกจะได้รับเงินคืนเฉพาะในส่วนที่ 1) เงินออมของสมาชิก และดอกผลของเงินออมส่วนที่ 1 โดย กอช. จะรวมจ่ายคืนให้ในครั้งเดียว
- ถ้าสมาชิกเสียชีวิต กอช. จะจ่ายเงินทั้งหมด คือส่วนที่ 1) เงินออมของสมาชิก ส่วนที่ 2) เงินสมทบจากรัฐบาล และส่วนที่ 3) ดอกผลของเงินส่วนที่ 1 และ 2 รวมกัน แล้วจ่ายคืนให้กับผู้รับผลประโยชน์/ทายาทของสมาชิกในครั้งเดียว
กองทุนการออมแห่งชาติ เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่มีสวัสดิการทางการเงิน ผู้ที่ต้องการวางแผนเกษียณ ต้องการออมเงินอย่างมีระบบ
ผลประโยชน์ของกองทุนการออมแห่งชาติมีอะไรบ้าง ?
สำหรับผลประโยชน์จากการเข้าร่วมกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ไม่เพียงแต่ช่วยวางแผนการเงินระยะยาว แต่ยังมอบสิทธิประโยชน์ที่คุ้มค่าในหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น
- เงินสมทบจากรัฐบาลในแต่ละปีที่ออม (มกราคม-ธันวาคม)
- อายุ 15 - 30 ปี : รัฐสมทบให้ 50% หรือครึ่งหนึ่งของเงินออมแต่ละครั้ง โดยรวมกันทั้งปีไม่เกิน 600 บาท
- อายุ > 30 - 50 ปี : รัฐสมทบให้ 80% ของเงินออมแต่ละครั้ง โดยรวมกันทั้งปีไม่เกิน 960 บาท
- อายุ > 50 - 60 ปี : รัฐสมทบให้ 100% หรือเท่ากันกับเงินออมแต่ละครั้ง โดยรวมกันทั้งปีไม่เกิน 1,200 บาท
- ดอกผลจากการลงทุนที่รัฐบาลค้ำประกันผลตอบแทนไม่ต่ำกว่าดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือนของ 7 ธนาคาร
- โอกาสได้รับบำนาญทุกเดือนตลอดชีวิต
กองทุนการออมแห่งชาติ สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้เท่าไหร่ ?
เงินที่ส่งเข้ากองทุนสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ ตามที่จ่ายจริงไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี ถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางช่วยประหยัดภาษีที่น่าสนใจ
กองทุนการออมแห่งชาติ สมัครที่ไหน ?
การสมัครกองทุนการออมแห่งชาตินั้นสามารถทำได้ง่ายๆ โดยมีขั้นตอนดังนี้
สมัครสมาชิกผ่านแอปพลิเคชัน กอช.
- เมื่อดาวน์โหลด ติดตั้งแอป กอช. แล้ว อ่านเงื่อนไขการสมัครให้ชัดเจนและกด “ยอมรับ”
- กรอกข้อมูลการสมัคร จากนั้นกด “ตรวจสอบข้อมูล”
- กรอกข้อมูลทั่วไปให้ครบถ้วน
- กรอกข้อมูลผู้รับผลประโยชน์ จากนั้นกด “ตกลง”
- กรอกข้อมูล (เพิ่มบุคคลที่ติดต่อได้) จากนั้นกด “ถัดไป”
- เมื่อกรอกข้อมูลครบถ้วนแล้วให้กด “ตกลง”
- ส่งเงินออมงวดแรก
+ กรอก จำนวนเงินออม
+ เลือก วิธีการส่งเงินสะสม
+ เลือก รหัสโครงการตามที่หน่วยงาน หรือ กอช. กำหนด (ไม่จำเป็นต้องระบุ)
+ กดปุ่มบันทึก
- เมื่อกดปุ่มบันทึกแล้ว ระบบจะแสดง “ใบนำส่งเงิน” (NSF Payment)
เพียงเท่านี้ก็สามารถสมัครสมาชิก และส่งเงินออมสะสมกับ กอช. ได้แล้ว
แต่หากไม่สะดวกสมัครผ่านแอปพลิเคชัน ยังมีช่องทางการสมัครอื่นๆ ที่สามารถทำได้ เช่น การสมัครผ่านธนาคาร หรือ สำนักงานคลังจังหวัดทั่วประเทศ
กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่คุ้มค่าสำหรับการสร้างเงินออมในวัยเกษียณ ด้วยข้อดีที่มีทั้งเงินสมทบจากรัฐ สิทธิประโยชน์ทางภาษี และความยืดหยุ่นในการออมเงิน นอกจากการออมเงินเพื่ออนาคตแล้ว การมีบัตรเครดิต KTC ติดตัวก็เป็นอีกเครื่องมือที่ช่วยจัดการการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันหรือการสะสมคะแนนเพื่อแลกรับสิทธิประโยชน์ที่หลากหลาย รวมถึงเครดิตเงินคืน ส่วนลดที่ร้านอาหาร โรงแรม ร้านค้า ฯลฯ สำหรับใครที่สนใจสมัคร สามารถสมัครบัตรเครดิต KTC ผ่านทางออนไลน์ได้ทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง
ใช้จ่าย คุ้มค่า นึกถึงบัตรเครดิต KTC