ไม่จ่ายค่าปรับจราจร อาจส่งผลเสียมากกว่าที่คิด
ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้มีผู้ใช้รถยนต์ส่วนตัวในการเดินทางมากขึ้น เพื่อความเป็นส่วนตัวและสะดวกสบายเวลาเดินทาง แต่ว่าในการใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัยจำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยของผู้ขับขี่และผู้ร่วมใช้รถใช้ถนน และถ้าทำผิดกฎจราจรต้องทำอย่างไร? หลายคนอาจเลือกที่จะปล่อยผ่านไปเพราะคิดว่าไม่สำคัญ แต่รู้ไหมค่าปรับจราจรหรือใบสั่งที่ค้างชำระอาจส่งผลต่อการใช้รถของคุณมากกว่าที่คิด
ไม่จ่ายค่าปรับจราจร 2566 จะเกิดอะไรขึ้น?
หากได้รับใบสั่งไม่ว่าจะเป็นใบสั่งแบบกระดาษหรือใบสั่งออนไลน์ หากไม่ทำการจ่ายค่าปรับจราจรทางด้านกรมการขนส่งทางบกและสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงเชื่อมโยงข้อมูลบังคับใช้กฎหมาย ข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก 2 มาตรการ คือ
1. ตัดคะแนนใบขับขี่
2. การชะลอการออกป้ายภาษี จนกว่าจะไปจ่ายค่าปรับภายใน 30 วัน โดยเริ่มมีผลตั้งแต่เมษายน 2566 เป็นต้นไป
สำหรับใครที่สงสัยว่าไม่จ่ายใบสั่ง ต่อภาษีได้ไหม? เมื่ออ้างอิงข้อมูลข้างต้น คำตอบคือ ถ้าได้รับใบสั่งไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดก็ตาม นับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2566 หากผู้ขับขี่ไม่จ่ายค่าปรับหรือมีใบสั่งค้างชำระ ยังสามารถนำรถไปต่อภาษีได้ตามตามปกติ แต่จะได้หลักฐานชั่วคราวแทนป้ายภาษี (มีอายุ 30 วัน) ถึงได้รับป้ายภาษีตัวจริง ส่วนใครที่อยากรับป้ายภาษีทันที สามารถจ่ายค่าปรับใบสั่งค้างชำระพร้อมกับการต่อภาษีรถยนต์ได้ที่กรมการขนส่งทางบก
รถไม่ติดป้ายภาษี มีความผิดหรือไม่
หากผู้ใช้รถยังไม่ดำเนินการชำระค่าปรับใบสั่งที่ค้างอยู่ภายในระยะเวลา 30 วัน หลังต่อภาษีรถยนต์ประจำปี ถือว่าเป็นการขับรถโดยไม่มีป้ายภาษี มีโทษตาม พ.ร.บ.รถยนต์ มาตรา 11 ซึ่งกำหนดว่ารถยนต์คันที่ต่อภาษีแล้วจะต้องแสดงเครื่องหมายตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนดให้ครบถ้วน หากฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท และโดนตัดคะแนนใบขับขี่ 1 คะแนน
ระบบตัดคะแนนใบขับขี่ด้วยกฎหมายใหม่
ระบบตัดคะแนนใบขับขี่ คืออะไร ?
ระบบคะแนนความประพฤติที่กำหนดไว้ในระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับระบบการบันทึกคะแนนความประพฤติในการขับรถของผู้ได้รับใบอนุญาตขับขี่ พ.ศ. 2565 ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 142/1 ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม 2566 เป็นต้นไป เพื่อเสริมสร้างวินัยในการขับขี่ มุ่งเน้นการขับขี่ปลอดภัย ให้โอกาสแก้ไขไม่ทำผิดซ้ำซาก สร้างความเท่าเทียมกันภายใต้กฎหมาย และเป็นมาตรฐานสากล โดยที่ผู้ขับขี่แต่ละรายจะมีคะแนนความประพฤติคนละ 12 คะแนน สำหรับใบอนุญาตขับขี่ทุกประเภท หากทำผิดตามกฎจราจรตามข้อหาที่ระบุจะถูกหักคะแนนตามเกณฑ์ คือ
กลุ่มความผิดหลักที่เป็นปัจจัยในการเกิดอุบัติเหตุ จำนวน 20 ฐานความผิด จะถูกตัดคะแนนเมื่อทำผิดทันที โดยแบ่งเป็น 4 ระดับ คือ
- ตัด 1 คะแนน สำหรับความผิด เช่น ขับรถเร็วเกินกำหนด ไม่สวมหมวกนิรภัย ไม่รัดเข็มขัดนิรภัย ไม่หยุดให้คนข้ามทางม้าลาย หรือใช้โทรศัพท์ขณะขับรถ เป็นต้น
- ตัด 2 คะแนน สำหรับความผิดเช่นในกรณีฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร
- ตัด 3 คะแนน สำหรับความผิดเช่นในกรณีขับรถชนแล้วหนี
- ตัด 4 คะแนน สำหรับความผิดเช่นในกรณีเมาแล้วขับ ขับรถในขณะเสพยาเสพติด
กลุ่มความผิดอื่น ๆ ตามกฎหมายจราจรทางบก และกฎหมายที่เกี่ยวกับรถหรือการใช้ทาง จำนวน 42 ฐานความผิด ความผิดกลุ่มนี้จะถูกตัดคะแนนเฉพาะกรณีไม่ชำระค่าปรับตามใบสั่งในเวลาที่กำหนดเท่านั้น เช่น กรณีจอดในที่ห้ามจอด ไม่แสดงใบอนุญาตขับขี่ขณะขับรถ หรือฝ่าฝืนเครื่องหมายจราจรในทาง เป็นต้น
สำหรับการตัดคะแนนจะใช้วิธีการดำเนินการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ระบบฐานข้อมูลใบสั่ง PTM ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติในการบันทึกการทำผิดกฎจราจรและตัดคะแนนในแต่ละครั้ง
ถ้าโดนตัดคะแนนใบขับขี่หมด มีโทษอย่างไร?
เมื่อถูกตัดคะแนนจนหมดก็จะมีโทษเช่นกัน โดยระดับความรุนแรงของโทษจะแตกต่างกันออกไป ดังต่อไปนี้
1. หากผู้ขับขี่ถูกตัดคะแนนจนเหลือ 0 คะแนน จะถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ (ทุกประเภท) เป็นเวลา 90 วัน โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเป็นผู้ทำหนังสือแจ้งคำสั่งดังกล่าว และหากฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 156
2. หากถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่เป็นครั้งที่ 3 ภายใน 3 ปี อาจถูกสั่งพักใช้มากกว่า 90 วัน และหากถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่อีกเป็นครั้งที่ 4 อาจถูกพิจารณาเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ทันที
ในส่วนของการการคืนคะแนน จะแบ่งออกเป็นการคืนคะแนนอัตโนมัติและการคืนคะแนนเมื่อผ่านการอบรมจากกรมการขนส่งทางบก โดยการคืนคะแนนอัตโนมัติ ในส่วนของคะแนนที่ถูกตัดไปในแต่ละครั้งจะได้รับคืนเมื่อครบกำหนด 1 ปี นับแต่วันกระทำผิด เว้นแต่เป็นกรณีที่ถูกตัดเหลือ 0 คะแนน จะได้รับคืนเมื่อพ้นกำหนดเวลาการสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ (จะได้รับคืนเพียง 8 คะแนน) การคืนคะแนนด้วยการเข้ารับการอบรมกับกรมการขนส่งทางบกอีกส่วนหนึ่ง มี 2 กรณี คือ
- กรณีคะแนนเหลือน้อยกว่า 6 คะแนน สามารถขอเข้ารับการอบรมจากกรมการขนส่งทางบกได้ปีละ 2 ครั้ง
- กรณีที่ถูกตัดคะแนนจนเหลือ 0 คะแนน และต้องการคะแนนกลับคืนมาทั้งหมด สามารถขอเข้ารับการอบรมจากกรมการขนส่งทางบกได้
ตรวจสอบใบสั่งจราจร
ช่องทางตรวจสอบใบสั่งจราจรออนไลน์
ปัจจุบันเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ทำให้สามารถตรวจสอบใบสั่งจราจรออนไลน์ รวมทั้งเสียค่าปรับจราจรออนไลน์ด้วยตัวเองได้ง่าย ๆ โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้จัดทำเว็บไซต์ตรวจสอบใบสั่งออนไลน์ ผ่านช่องทาง ptm.police.go.th ที่แสดงประวัติการได้รับใบสั่งจราจร ตรวจสอบการค้างชำระค่าปรับ และดำเนินการชำระเงินได้ทันที โดยมีขั้นตอนดังต่อไปนี้
1. ลงทะเบียนผู้ใช้งานเว็บไซต์ http://ptm.police.go.th ใช้หมายเลขบัตรประชาชนหรือหมายเลขใบขับขี่ หมายเลขทะเบียนรถ จากนั้นทำการตั้งค่ารหัสผ่านและทำการเข้าสู่ระบบ
2. ค้นหาใบสั่งโดยระบุวันที่กระทำผิด จากนั้นกดปุ่ม “ค้นหา” หรือเลือกกรองข้อมูลด้วยเลขทะเบียนรถหรือหมายเลขใบสั่งเพื่อการค้นหาที่ง่ายขึ้น
3. เมื่อหน้าจอปรากฏใบสั่งสามารถคลิกดูรายละเอียดของใบสั่งได้
4. จากนั้นดำเนินการชำระค่าปรับออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชัน Krungthai NEXT หรือชำระที่สถานีตำรวจ ธนาคารกรุงไทย สาขาของไปรษณีย์ไทย ตู้ ATM ธนาคารกรุงไทย หรือตู้บุญเติม
การขับขี่ตามกฎจราจรถือเป็นสิ่งที่ผู้ใช้รถใช้ถนนไม่ควรละเลย อย่างไรก็ตามหากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินที่จำเป็นต้องใช้เงินก้อนหรือเงินสำรองฉุกเฉิน เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าต่อเติมบ้าน หรือเสริมสภาพคล่องในชีวิตประจำวัน เพียงมีรถปลอดภาระขอแนะนำ KTC พี่เบิ้ม รถแลกเงิน ที่รับทั้งรถยนต์ รถกระบะ รถตู้ พร้อมอนุมัติไวภายใน 1 ชั่วโมง ให้วงเงินสูงสุด 1 ล้านบาท ไม่ว่าอาชีพไหนก็ยื่นสมัครได้แถมรถยังมีไว้ใช้ขับขี่ได้ สามารถฝากเรื่องผ่านช่องทางออนไลน์ของ KTC พี่เบิ้ม หรือกรอกข้อมูลด้านล่าง แล้วรอทีมงานพี่เบิ้ม Delivery ติดต่อกลับไปนัดหมายวันเวลา ก่อนเดินทางไปรับสมัครและตรวจสอบสภาพรถถึงที่ เมื่อผ่านการอนุมัติได้รับเงินโอนเข้าบัญชีทันที พร้อมรับบัตรกดเงินสด KTC พี่เบิ้ม ไปใช้ต่อเผื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน สามารถกดเงินจากตู้ ATM ได้ตลอด 24 ชั่วโมงแบบไม่มีค่าธรรมเนียมอีกด้วย
สมัคร KTC พี่เบิ้ม รถแลกเงิน ไม่หวั่นเรื่องเงินแม้ในยามฉุกเฉิน