รู้ไหมครับว่า ในปี ๆ หนึ่ง ผู้สูงอายุในเมืองไทยล้มบ่อยมาก สำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค ได้ให้ข้อมูลว่า ผู้สูงอายุ 1 ใน 3 ล้มทุกปี และในแต่ละวันมีผู้สูงอายุเรียกรถฉุกเฉินเพราะล้มประมาณ 140 ครั้ง และที่น่าตกใจไปกว่านั้นก็คือผู้สูงอายุล้มแล้วเสียชีวิตวันละ 2 คนเลยทีเดียว ประกอบกับเมื่อไม่กี่วันก่อนพี่เบิ้มได้ดูรายการ Before and After ของประเทศญี่ปุ่น ที่มีการปรับปรุงบ้านเก่าเพื่อให้คุณพ่อคุณแม่ที่อายุมากและไขข้อเริ่มไม่ดีได้ใช้ชีวิตภายในบ้านอย่างมีความสุข พี่เบิ้มเลยไฟลุกโชน อยากปรับปรุงบ้านใหม่ให้เหมาะกับพ่อแม่ผู้สูงอายุ เลยมีไอเดียการปรับปรุงบ้านแบบง่าย ๆ มาฝากทุกคนกันครับ
พื้นเรียบแต่ไม่ลื่น
สิ่งแรกเลยที่พี่เบิ้มขอแนะนำ โดยแปะดาวไว้ดวงใหญ่ ๆ สำหรับการปรับปรุงบ้านสำหรับผู้สูงอายุคือ พื้นบ้าน ที่ต้องเรียบเสมอเท่ากันหมด แต่ต้องไม่เป็นพื้นขัดมัน หรือทำให้ลื่นล้มได้ง่าย เคล็ดลับในการเลือกพื้นสำหรับกันพื้นลื่น ให้เลือกวัสดุที่มีค่า R สูง ซึ่งค่า R ในที่นี้คือ Slip Resistance ซึ่งเป็นค่าใช้วัดความลื่น ยิ่งมีค่า R สูงก็จะยิ่งกันลื่นได้ดี วัสดุที่ควรหลีกเลี่ยงก็คือพื้นกระเบื้องที่มีความมันและลื่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อโดนน้ำ และพื้นไม้ขัดมันครับ
สำหรับใครที่งบน้อย หรือไม่อยากจะปูพื้นใหม่ พี่เบิ้มขอแนะนำให้ใช้สเปรย์กันลื่นหรือน้ำยาทากันพื้นลื่น มาฉีดพ่นหรือทาบริเวณพื้นบ้าน ก็จะช่วยเพิ่มความหนืด และช่วยไม่ให้พื้นลื่นได้ง่าย ทาหนึ่งรอบสามารถกันลื่นได้ประมาณ 1 ปี อีกวิธีก็คือ การใช้สีกันลื่น ทาบริเวณพื้นบ้าน หรืออาจจะใช้เทปกาวกันลื่นแปะไว้ตามบริเวณที่ลื่นล้มได้ง่ายอย่างตามขั้นบันไดก็ได้ครับ เพียงแค่นี้คุณพ่อคุณแม่ก็จะปลอดภัยมากยิ่งขึ้นแล้ว พี่เบิ้มคอนเฟิร์ม
ประตูควรเป็นบานเลื่อน ไม่มีธรณีประตู
สาเหตุของการล้มในผู้สูงอายุ นอกจากพื้นลื่นแล้ว การสะดุดล้มก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นพื้นไม่เท่ากัน หรือเกิดขึ้นเพราะธรณีประตู แม้ว่าบ้านยุคใหม่จะไม่ค่อยมีการสร้างธรณีประตูอย่างบ้านไม้เก่า ๆ แต่สำหรับบ้านที่สร้างขึ้นเกิน 10 ปี 20 ปี อาจจะมีบางหลังที่ยังคงมีธรณีประตูอยู่ จึงควรปรับให้เรียบไปกับพื้น และประตูควรจะปรับเป็นประตูบานเลื่อน หรือเปิดออกจากห้อง เพื่อที่เวลาที่ผู้สูงอายุล้มบริเวณประตูจะได้เข้าไปช่วยเหลือได้ง่ายยิ่งขึ้น แต่หากว่าใครยังไม่สะดวก ก็สามารถเปลี่ยนบานประตูบานเดิมให้เปิดออกจากห้องไปก่อนก็ได้เช่นเดียวกันครับ
ห้องน้ำแยกส่วนเปียกและแห้ง
ลองทายดูสิครับว่าส่วนไหนของบ้านที่เสี่ยงต่อการล้มมากที่สุด ใช่แล้วครับ ส่วนของห้องน้ำนั่นเอง เพราะทั้งเปียก ทั้งมีคราบสบู่ แชมพู ยาสระผม ถ้าทำความสะอาดไม่ดี พื้นหนืดแค่ไหนก็ลื่นได้ง่าย ๆ ดังนั้น การปรับปรุงห้องน้ำสำหรับผู้สูงอายุสิ่งแรกที่ควรทำมีดังต่อไปนี้ครับ
1. แยกส่วนแห้งและส่วนเปียกออกจากกัน
2. เพิ่มความฝืดให้พื้น ไม่ว่าจะเป็นการทาน้ำยากันลื่น เปลี่ยนพื้นให้มีความหนืด หรือการติดตั้งแผ่นยางหรือพื้นกันลื่นบริเวณพื้นห้องน้ำ
3. เพิ่มราวจับบริเวณโถชักโครก เพื่อให้ผู้สูงอายุใช้เป็นหลักในการพยุงตัว
4. เพิ่มเก้าอี้สำหรับอาบน้ำ และติดตั้งฝักบัวให้ต่ำลง เพื่อใช้งานได้อย่างสะดวก
5. หากผู้สูงอายุใช้รถเข็นควรจะปรับระดับอ่างล้างหน้า และก็อกต่าง ๆ ให้พอดีกับระดับของการนั่งรถเข็นด้วย
6. เพิ่มปุ่มฉุกเฉิน เผื่อเกิดเหตุไม่คาดฝัน
เพิ่มแสงสว่างภายในบ้าน
เมื่อครั้งที่เราเป็นหนุ่มเป็นสาว เรามักจะชอบบรรยากาศสลัว ๆ เพิ่มความโรแมนติกภายในบ้าน แต่พออายุมากขึ้น เชื่อพี่เบิ้มเถอะครับ ว่าบ้านสว่าง ๆ จะช่วยให้เราเดินได้ง่ายกว่า ปลอดภัยกว่าอย่างแน่นอน
ดังนั้น เราจึงต้องกำจัดจุดมืด จุดเสี่ยงภายในบ้าน โดยติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่างให้เพียงพอ จุดไหนมืด จุดไหนมองเห็นลำบาก ติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่างไปเลยครับ โดยเฉพาะบริเวณบันได ให้เลือกหลอดไฟที่มีค่าลูเมนหรือค่าความส่องสว่างของไฟมากหน่อย และให้เลือกสีของไฟเป็นแสงขาวแบบเดย์ไลท์ ก็จะช่วยให้มองเห็นสิ่งของหรือทางเดินได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
หากว่าใครอยากเพิ่มความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ลองหาซื้อไฟที่มีเซนเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหว สามารถเปิดปิดได้อัตโนมัติมาติดตั้งก็ได้ครับ สะดวกและปลอดภัยดีเหมือนกัน
ติดตั้งราวจับในการทรงตัวตามห้องและโถงทางเดินต่าง ๆ
สำหรับผู้สูงอายุที่ข้อเข่าและการทรงตัวเริ่มถดถอย ราวจับภายในบ้านเปรียบเสมือนเพื่อนแท้เลยครับ ด้วยเหตุนี้ สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับการปรับปรุงบ้านเพื่อผู้สูงอายุคือ การติดตั้งราวจับตามห้องและโถงทางเดินต่าง ๆ ถ้าใครยังนึกไม่ออกว่าจะต้องติดตรงไหนบ้าง ให้นึกตามพี่เบิ้มครับ บริเวณที่ต้องติดราวจับจะต้องเป็นจุดหรือพื้นที่ดังต่อไปนี้
1. เป็นจุดที่ต้องเดินขึ้นเดินลง หรือเดินต่อเนื่อง
2. เป็นจุดที่ต้องลุกขึ้นยืน หรือนั่ง ไม่ว่าจะเป็นโซฟา ที่นอน ชักโครก หรืออ่างอาบน้ำ หากว่าเป็นจุดที่ต้องพยุงตัวขึ้นลง ควรติดตั้งราวจับที่มั่นคงและแข็งแรง
ในปัจจุบันมีราวจับให้เลือกมากมาย ทั้งรูปตัวไอ ตัวแอล และรูปทรงอื่น ๆ ซึ่งเราสามารถเลือกซื้อได้ตามความเหมาะสมของพื้นที่ที่จะติดตั้งนั่นเอง ส่วนความสูงของราวจับ บริเวณทางเดินควรจะสูงประมาณ 80-90 ซม. หรือสามารถวัดจากความสูงและความถนัดของผู้สูงอายุภายในบ้าน
ปรับระดับพื้นทั้งบ้านให้เท่ากัน
ยิ่งมีพื้นต่างระดับหรือเล่นระดับภายในบ้านมากเท่าไร ยิ่งทำให้ผู้สูงอายุเสี่ยงต่อการล้มมากยิ่งขึ้น หากว่าบ้านใครมีพื้นสูง ๆ ต่ำ ๆ อยู่ พี่เบิ้มขอแนะนำให้ปรับให้เท่ากันให้หมดเลยครับ เพื่อที่ผู้สูงอายุจะสามารถเดินได้ไม่สะดุด
สำหรับบ้านใครมีผู้สูงอายุที่ใช้รถเข็น แนะนำให้เปลี่ยนจุดต่างระดับที่เป็นบันไดเป็นทางลาดให้หมด โดยทางลาดควรกว้างอย่างน้อย 90 เซนติเมตร และมีชานพักทุก 9.6 เมตร ที่สำคัญจะต้องไม่ลาดชันจนเกินไป คือ ไม่ควรเกิน 1:12 หมายความว่า หากทางลาดยาว 12 ฟุต ความสูงจะต้องไม่เกิน 1 ฟุต นั่นเอง
ห้องนอนอยู่ชั้นล่าง ใกล้ห้องน้ำ และเป็นสัดส่วน
พี่เบิ้มคิดว่าหลายคนคงจัดให้ผู้สูงอายุอยู่ในห้องนอนชั้นล่างมากกว่าชั้นบนที่ต้องขึ้นลงบันได แต่สิ่งที่พี่เบิ้มอยากจะย้ำอีกสักนิดคือ เราควรจะจัดห้องนอนให้ผู้สูงอายุเป็นสัดส่วน เพราะแม้ว่าท่านจะสูงวัยแล้ว แต่พี่เบิ้มคิดว่าท่านก็อยากจะมีพื้นที่ส่วนตัวไว้ทำกิจกรรมต่าง ๆ อย่างการอ่านหนังสือหรือฟังเพลงที่ท่านชื่นชอบ ไม่ต้องมีใครมารบกวน
นอกจากนี้ พออายุมากขึ้น ผู้สูงอายุหลายคนเข้าห้องน้ำบ่อยในตอนกลางคืนครับ ควรจัดให้ห้องนอนของท่านมีห้องน้ำส่วนตัว หรืออยู่ใกล้ห้องน้ำ เพื่อความสะดวกและความปลอดภัยมากยิ่งขึ้นครับ
หากว่าใครอยากปรับปรุงบ้านเพื่อคุณพ่อคุณแม่แบบเร่งด่วน แต่ยังไม่มีเงินก้อน สามารถขอสินเชื่อทะเบียนรถยนต์ KTC พี่เบิ้ม ที่ให้วงเงินสูงถึง 1,000,000 บาท ทะยอยผ่อนได้นานสูงสุดถึง 84 งวดสามารถกรอกข้อมูลที่นี่ หรือเดินเข้าจุดบริการ KTC TOUCH แต่ถ้าใครไม่สะดวกจริง ๆ ก็ไม่เป็นไร พี่เบิ้ม Delivery มีบริการไปรับสมัครและอนุมัติวงเงินกันถึงหน้าประตูบ้านได้เช่นเดียวกันครับ