การจ่ายค่าล่วงเวลาหรือค่าโอที (OT : Overtime) นั้น เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของลูกจ้างตามกฎหมายแรงงาน โดยนายจ้างจะต้องจ่ายค่าล่วงเวลาทำงานให้แก่ลูกจ้างที่ทำงานจำนวนชั่วโมง เกินกฎหมายกำหนดไว้ และเป็นเรื่องที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานอย่างเคร่งครัดอีกด้วย โดยเราขออธิบายวิธีคิดโอที ตามกฎหมายแรงงานในปี 2568 ดังนี้
ลูกจ้างหรือพนักงานประจำต้องทำงานวันละกี่ชั่วโมง
- กรณีพนักงานทั่วไป : ตามกฎหมายแรงงานกำหนดไว้ให้ลูกจ้างทั่วไป สามารถทำงานได้ไม่เกิน 8 ชั่วโมง/วัน หรือตามสัญญาที่นายจ้างและลูกจ้างได้ตกลงกันไว้ แต่ต้องไม่เกิน 48 ชั่วโมง/สัปดาห์ หากเกินกว่านี้จะถือว่าเป็นการทำงานล่วงเวลา
- กรณีพนักงานทำงานที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัย : ตามกฎหมายแรงงานกำหนดไว้ว่าให้ทำงานได้ไม่เกิน 7 ชั่วโมง/วัน และไม่เกิน 42 ชั่วโมง/สัปดาห์
นอกจากนี้ ยังมีข้อควรรู้อื่นๆ อีก เช่น
- ภายใน 1 วัน ลูกจ้างหรือพนักงานจะต้องมีเวลาพักไม่ต่ำกว่า 1 ชั่วโมง หลังจากที่ลูกจ้างได้ทำงานติดต่อกันไม่เกิน 5 ชั่วโมง โดยสามารถแบ่งเวลาการพักออกเป็นช่วง ๆ ได้ หรือขึ้นอยู่กับการตกลงกัน
- กรณีที่เป็นวันหยุด ลูกจ้างจะต้องมีวันหยุดอย่างน้อย 2 วัน/สัปดาห์ โดยมีระยะห่างกันไม่เกิน 6 วัน
- การทำงานล่วงเวลา หรือทำงานในวันหยุด หรือทำงานล่วงเวลาในวันหยุด รวมแล้วจะต้องไม่เกิน 36 ชั่วโมง/สัปดาห์
- กรณีที่พนักงานต้องทำงานล่วงเวลามากกว่า 2 ชั่วโมง นายจ้างจำเป็นจะต้องมีเวลาให้ลูกจ้างได้พักอย่างน้อย 20 นาที
สำหรับวันทำงานปกติ หากทำงานล่วงเวลา จะได้รับ OT ไม่น้อยกว่า 1.5 เท่าของค่าจ้างต่อชั่วโมง
วิธีคิดโอที ตามกฎหมายแรงงาน
สำหรับวิธีคิดโอทีนั้น มีรายละเอียด ดังนี้
- สำหรับวันทำงานปกติ หากต้องทำงานล่วงเวลา จะได้รับไม่น้อยกว่า 1.5 เท่าของค่าจ้างต่อชั่วโมง
- สำหรับวันหยุดเสาร์ - อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์
- กรณีเป็นลูกจ้างที่มีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุด จะได้เพิ่มขึ้นอีก 1 เท่า ตามชั่วโมงที่ทำงาน
- กรณีเป็นลูกจ้างที่ไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุด จะได้ไม่น้อยกว่า 2 เท่า ของค่าจ้างในวันทำงาน ตามชั่วโมงที่ทำงานในวันหยุด
- หากต้องทำงานในวันหยุด เกินเวลาปกติของวันทำงานด้วย จะได้เพิ่ม 3 เท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงาน ตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ
วิธีคิดโอทีสำหรับวันทำงานปกติ
กรณีลูกจ้างประจำ
วิธีคิดโอทีรายเดือนหรือลูกจ้างประจำนั้น มีสูตรการคำนวณ ดังนี้
(เงินเดือน ÷ 30 วัน ÷ ชั่วโมงงานปกติ) x (1.5 หรือ 3 เท่า) X (จำนวนชั่วโมงที่ทำโอที) = ค่าโอทีในวันนั้น |
ยกตัวอย่าง : กรณีได้ค่าโอที 1.5 เท่า และทำโอทีไป 2 ชั่วโมง
(15,000 ÷ 30 ÷ 8) x 1.5 x 2 = 187.50 บาท
สรุป จะได้ค่าโอทีเป็นจำนวนเงิน 187.50 บาท
กรณีลูกจ้างรายวัน
วิธีคิดโอทีของลูกจ้างรายวัน มีสูตรการคำนวณ ดังนี้
(ค่าจ้างต่อวัน ÷ ชั่วโมงงานปกติ) x (1.5 หรือ 3 เท่า) X (จำนวนชั่วโมงที่ทำโอที) = ค่าโอทีในวันนั้น |
ยกตัวอย่าง : กรณีได้ค่าโอที 3 เท่า และทำโอทีไป 3 ชั่วโมง
(350 ÷ 8) x 3 x 3 = 393.75 บาท
สรุป จะได้ค่าโอทีเป็นจำนวนเงิน 393.75 บาท
วิธีคิดโอทีสำหรับวันหยุด
สำหรับค่าโอทีที่พนักงานจะได้รับ กรณีที่มาทำงานวันหยุดทั่วไปและวันหยุดนักขัตฤกษ์ มีวิธีคิดค่าโอที ดังนี้
-
กรณีเป็นลูกจ้างที่มีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุด
หากเป็นลูกจ้างที่มีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุด ตามที่สัญญาระบุ แล้วต้องมาทำงานในวันหยุด ตามเวลาทำงานปกติของตัวเอง นายจ้างจะต้องจ่ายค่าทำงานหรือค่าโอทีให้แก่ลูกจ้างเพิ่มขึ้นอีก 1 เท่า ตามชั่วโมงที่ทำงาน โดยมีสูตรการคำนวณ ดังนี้
(เงินเดือน ÷ 30 วัน ÷ ชั่วโมงงานปกติ) x (1 เท่า) X (จำนวนชั่วโมงที่ทำงาน) = ค่าโอทีในวันนั้น |
ยกตัวอย่าง : ทำงานวันหยุดจำนวน 8 ชั่วโมง
(25,000 ÷ 30 ÷ 8) X 1 X 8 = 833.33 บาท
สรุป จะได้ค่าโอทีเป็นจำนวนเงิน 833.33 บาท
-
กรณีเป็นลูกจ้างที่ไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุด
หากเป็นลูกจ้างที่ไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุด แต่จำเป็นต้องมาทำงานในวันหยุด นายจ้างจะต้องจ่ายค่าทำงานหรือค่าโอทีให้แก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่า 2 เท่า ของค่าจ้างในวันทำงานตามชั่วโมงที่ทำงานในวันหยุด โดยมีสูตรการคำนวณ ดังนี้
(ค่าจ้างต่อวัน ÷ ชั่วโมงงานปกติ) x (2 เท่า) X (จำนวนชั่วโมงที่ทำงาน) = ค่าโอทีในวันนั้น |
ยกตัวอย่าง : ทำงานวันหยุดจำนวน 8 ชั่วโมง
(500 ÷ 8) X 2 X 8 = 1,000 บาท
สรุป จะได้ค่าโอทีเป็นจำนวนเงิน 1,000 บาท
หมายเหตุ - กรณีทำงานในวันหยุดเกินเวลาทำงานปกติของวันทำงาน นายจ้างต้องจ่าย ค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างในอัตรา 3 เท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมง ในวันทำงาน ตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ หรือ ตามจำนวนผลงานที่ทำได้สำหรับ ลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย (อ้างอิงจาก : เว็บไซต์กระทรวงแรงงาน)
การปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานในการจ่ายค่าโอทีให้กับลูกจ้างเมื่อมีการทำงานล่วงเวลา ถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญที่นายจ้างควรปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อประโยชน์และสิทธิของทั้งสองฝ่าย เพราะไม่เพียงแต่จะช่วยให้ลูกจ้างได้รับประโยชน์ตามสิทธิของพวกเขาอย่างเท่าเทียมแล้ว ยังสร้างความน่าเชื่อถือให้กับองค์กรด้วย
สำหรับมนุษย์เงินเดือนที่กำลังสนใจทำบัตรเครดิต เพื่อช่วยบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนให้สะดวกขึ้นระหว่างรอค่าโอทีออก บัตรเครดิต KTC พร้อมมอบสิทธิประโยชน์มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเครดิตเงินคืนที่ช่วยให้คุณประหยัดค่าใช้จ่ายรายเดือน เช่น ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ซื้อของออนไลน์ KTC FOREVER สะสมคะแนนเพื่อแลกรับรางวัล บริการผ่อนชำระ 0% นานสูงสุด 10 เดือน ฯลฯ สามารถสมัครบัตรเครดิต KTC ได้เลยตอนนี้
ใช้จ่าย คุ้มค่า นึกถึงบัตรเครดิต KTC