สำหรับนักลงทุนมือใหม่ "ตราสารอนุพันธ์" หรือ Derivatives อาจจะเป็นเรื่องที่ฟังแล้วดูซับซ้อน และยากต่อการเข้าใจ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ตราสารอนุพันธ์เป็นเครื่องมือที่สามารถใช้บริหารความเสี่ยง และเพิ่มโอกาสในการทำกำไรจากตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในบทความนี้เราจะพาคุณไปทำความรู้จักกับตราสารอนุพันธ์ คืออะไรให้มากยิ่งขึ้น รวมไปถึงตราสารอนุพันธ์ มีกี่ประเภท ประโยชน์และความเสี่ยงที่ควรรู้ เพื่อให้คุณสามารถนำไปใช้ในการตัดสินใจลงทุนได้ในอนาคต
ตราสารอนุพันธ์ คืออะไร
ตราสารอนุพันธ์ คือ สัญญาทางการเงินที่มูลค่าของตัวเองอิงจาก “สินทรัพย์อ้างอิง” (Underlying Asset) เช่น หุ้น พันธบัตร ทองคำ ซึ่งตราสารเหล่านี้ไม่ได้มีมูลค่าโดยตรงจากตัวของมันเอง แต่จะมีมูลค่าโดยอิงตามการเคลื่อนไหวของสินทรัพย์อ้างอิงในอนาคต ซึ่งหมายความว่า มูลค่าของตราสารอนุพันธ์จะผันแปรไปตามราคาของสินทรัพย์นั้นๆ
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณทำการลงทุนในสัญญาฟิวเจอร์ส ทองคำ มูลค่าของสัญญาจะถูกกำหนดจากราคาของทองคำในอนาคตที่คุณตกลงซื้อขายกัน และคุณสามารถเลือกที่จะทำกำไรจากการเปลี่ยนแปลงของราคาทองคำในอนาคต
ตราสารอนุพันธ์ มีกี่ประเภท พร้อมตัวอย่าง
ตราสารอนุพันธ์ สามารถแบ่งออกเป็น 4 ประเภทหลัก ได้แก่
1.ฟอร์เวิร์ด (Forwards)
สัญญาที่ผู้ซื้อและผู้ขายตกลงกัน 2 ฝ่าย ว่าจะทำการซื้อขายสินค้าหรือสินทรัพย์ทางการเงิน โดยจะทำการซื้อขายในวันและเวลาในอนาคตที่กำหนดไว้ โดยตราสารอนุพันธ์ประเภทฟอร์เวิร์ดนี้ เหมาะสำหรับการใช้ป้องกันความเสี่ยงในการลงทุน โดยเฉพาะสำหรับนักลงทุนที่ต้องการล็อกราคาสินทรัพย์หรืออัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้า เพื่อลดผลกระทบจากความผันผวนในตลาด
ยกตัวอย่าง : คุณ A ต้องการซื้อหุ้นบริษัท XYZ ในอีก 3 เดือนข้างหน้า แต่กังวลว่าราคาหุ้นอาจขึ้นไปมากกว่านี้ในอนาคต ดังนั้น คุณ A จึงทำสัญญาฟอร์เวิร์ดกับคุณ B ซึ่งตกลงกันว่าจะซื้อขายหุ้น XYZ ในราคา 50 บาทต่อหุ้นในอีก 3 เดือนข้างหน้า และไม่ว่าราคาหุ้นจะสูงหรือต่ำกว่าราคา 50 บาทในตอนนั้น คุณ A ก็จะซื้อหุ้นในราคานี้ตามที่ตกลงกันไว้
ทั้งนี้ ฟอร์เวิร์ดเป็นสัญญาแบบไม่เป็นทางการ เพราะคู่สัญญาตกลงทำสัญญากันเอง โดยไม่มีหน่วยงานที่ดูแลควบคุม จึงทำให้อาจเกิดการผิดสัญญาต่อกันได้ เช่น เมื่อถึงเวลาที่หุ้นบริษัท XYZ ราคาขึ้น คุณ B อาจจะนำหุ้นไปขายให้กับผู้อื่นได้
2.ฟิวเจอร์ส (Futures)
สัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่กำหนดราคาซื้อขายสินทรัพย์อ้างอิงในอนาคตเหมือนกับสัญญาฟอร์เวิร์ด แต่เป็นสัญญาแบบเป็นทางการ มีหน่วยงานคอยดูแลรูปแบบสัญญาการซื้อขาย ซึ่งก็คือ ตลาด TFEX (Thailand Futures Exchange) ส่วนผู้ดูแลการทำตามสัญญา ก็คือ สำนักหักบัญชี (Clearing House) เพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีการผิดสัญญาเกิดขึ้น
3.ออปชัน (Options)
ออปชันเป็นตราสารอนุพันธ์ที่ได้รับความนิยมสูงในหมู่นักลงทุน เนื่องจากมอบ “สิทธิ์” ให้ผู้ถือสัญญาซื้อหรือขายสินทรัพย์อ้างอิงในราคาที่ตกลงกันไว้ล่วงหน้าในช่วงเวลาที่กำหนด (วันที่หมดอายุของออปชัน) โดยที่ผู้ถือสัญญาจะ “ใช้สิทธิ์” หรือ “ไม่ใช้สิทธิ์” ก็ได้
ยกตัวอย่างการใช้สิทธิ์ออปชันซื้อ : คุณ A เชื่อว่าราคาหุ้นบริษัท ABC ซึ่งมีราคาปัจจุบันอยู่ที่ 100 บาท จะขึ้นในอนาคต เลยตัดสินใจซื้อออปชันจำนวน 1 สัญญา โดยให้สิทธิ์ในการซื้อหุ้น ABC ในราคา 105 บาท ภายใน 1 เดือนข้างหน้า พร้อมจ่ายค่าออปชันพรีเมียม 3 บาทต่อหุ้น (ออปชันพรีเมียม คือ เงินที่จ่ายเพื่อซื้อสิทธิ์ในการซื้อหุ้น)
เมื่อถึงวันที่หมดอายุของออปชัน หุ้นขึ้นเป็น 120 บาท ซึ่งคุณ A สามารถใช้สิทธิ์ซื้อหุ้น ABC ได้ในราคา 105 บาท และขายออกที่ราคา 120 บาท ทำให้คุณ A ได้กำไรจากส่วนต่าง 15 บาท และหักค่าออปชันพรีเมียมที่จ่ายไป 3 บาท เพราะฉะนั้นได้กำไรสุทธิจะอยู่ที่ 12 บาทต่อหุ้น
4.สวอป (Swaps)
สวอปเป็นสัญญาแลกเปลี่ยนกระแสเงินสดระหว่าง 2 ฝ่าย เป็นตราสารอนุพันธ์ที่มักใช้กับการลงทุนในต่างประเทศ โดยฝ่ายหนึ่งอาจตกลงจ่ายดอกเบี้ยแบบคงที่ ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งจ่ายดอกเบี้ยแบบลอยตัว หรือทั้ง 2 ฝ่ายอาจเลือกการจ่ายดอกเบี้ยแบบลอยตัวทั้งคู่ก็ได้เช่นกัน สัญญาสวอปนี้มักใช้ในการบริหารความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยหรือการจัดการกับกระแสเงินสดในอนาคต
ตราสาร อนุพันธ์ เหมาะกับผู้ลงทุนที่มีความรู้และประสบการณ์ในตลาดการเงิน เพราะความซับซ้อนและความเสี่ยงสูง
ตราสารอนุพันธ์ ประโยชน์มีอะไรบ้าง
- ช่วยบริหารความเสี่ยงได้ โดยนักลงทุนที่ถือหุ้นอาจใช้ตราสารอนุพันธ์ประเภทฟิวเจอร์ส หรือออปชันมาป้องกันความเสี่ยงจากราคาหุ้นตกในอนาคตได้
- แม้ในตลาดขาลง ตราสารอนุพันธ์ก็ยังสามารถใช้ทำกำไรจากการเก็งกำไรได้ ทำให้นักลงทุนมีโอกาสสร้างผลตอบแทนในทุกสภาพตลาด
- การลงทุนในตราสารอนุพันธ์มักใช้เงินลงทุนน้อยกว่าการซื้อสินทรัพย์จริง
- สามารถลงทุนได้แม้มีเงินจำกัด เช่น การลงทุนในดัชนีตลาดหรือกลุ่มสินทรัพย์
- สามารถเลือกทำกำไรจากการขึ้นหรือลงของตลาด ด้วยการซื้อหรือขายก่อนตามความต้องการ
ความเสี่ยงที่ควรรู้ของตราสารอนุพันธ์
- ความเสี่ยงจากการเคลื่อนไหวของราคาราคาของสินทรัพย์อ้างอิงที่เปลี่ยนแปลง สามารถทำให้เกิดกำไรหรือขาดทุนได้ ดังนั้นก่อนตัดสินใจลงทุนจะต้องศึกษารายละเอียดให้ดีและต้องยอมรับผลตอบแทนจากการลงทุนไม่เป็นไปตามที่คาดหวังด้วย
- ความเสี่ยงจากตลาดที่ไม่คงที่ ตลาดที่มีความผันผวนสูงอาจส่งผลให้ราคาของตราสารอนุพันธ์เปลี่ยนแปลงได้ ทำให้นักลงทุนต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่สูงขึ้น
- ความเสี่ยงจากการไม่ได้ใช้สิทธิ์สำหรับตราสารอนุพันธ์ประเภทออปชัน หากไม่ใช้สิทธิ์ในช่วงเวลาที่เหมาะสม นักลงทุนอาจสูญเสียค่าออปชันพรีเมียมที่จ่ายไป และไม่สามารถได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนได้
- ความเสี่ยงจากคู่สัญญา หากคู่สัญญาไม่สามารถปฏิบัติตามข้อตกลงได้ เช่น ผิดนัดชำระหนี้ อาจทำให้การลงทุนล้มเหลว
ทุกการลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินในลงทุน และหากคุณเป็นนักลงทุนที่ต้องการความสะดวกและคล่องตัวในการบริหารการลงทุน บัตรเครดิต KTC คือเครื่องมือที่ช่วยให้คุณเข้าถึงโอกาสการลงทุนได้ง่ายขึ้น พร้อมรับคะแนน KTC FOREVER ทุกครั้งที่ใช้จ่ายผ่านบัตรฯ สมัครบัตรเครดิต KTC วันนี้ เพื่อเปิดประตูสู่การลงทุนและโอกาสใหม่ๆ ในชีวิต สนใจ สามารถสมัครบัตรเครดิต KTC ผ่านทางออนไลน์ ได้ทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง
ใช้จ่าย คุ้มค่า นึกถึงบัตรเครดิต KTC
อ้างอิงข้อมูล
https://www.finnomena.com/investment-reader/financial-assets-4-derivative/