อยากมีชีวิตคู่ที่สดใส กำลังเก็บเงินแต่งงาน สร้างเนื้อสร้างตัว การเปิดบัญชีคู่รักก็เป็นอีกวิธีที่คู่รักหลายคู่มักจะทำกัน เพราะเมื่อเรามีการจัดสรรปันส่วนเรื่องเงินอย่างเป็นระบบ แผนการใช้จ่ายต่างๆ ก็จะเป็นระเบียบด้วยเช่นกัน เพื่อชีวิตคู่ที่ราบรื่นไม่มีสะดุด ชวนทุกคนไปทำความรู้จัก ข้อควรรู้ การเปิดบัญชีคู่รัก รวมไปถึง เปิดบัญชีคู่ ธนาคารไหนได้บ้าง
บัญชีคู่คืออะไร
บัญชีคู่ คือ บัญชีเงินฝากทั้งแบบบัญชีออมทรัพย์ บัญชีฝากประจำ และกองทุน แต่จะมีความแตกต่างตรงที่มีสองคนเป็นเจ้าของบัญชีร่วมกัน ซึ่งทั้งคู่จะมีสิทธิ์ในการจัดการเงินในบัญชีอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นการฝาก ถอน หรือทำธุรกรรมทางการเงินต่างๆ ส่วนใหญ่แล้วบัญชีคู่มักจะมีวัตถุประสงค์เพื่อเก็บเงินร่วมกัน แบ่งเงินสำหรับกองกลางของครอบครัว หรือเพื่อการวางแผนในอนาคต
และถึงจะมีคำจำกัดความว่าบัญชีคู่แต่การร่วมกันเปิดบัญชีไม่ได้จำกัดไว้เพียงคู่สมรสเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัว เพื่อน หรือคู่รักแบบแฟนก็สามารถเปิดบัญชีคู่ร่วมกันได้
ความแตกต่างระหว่าง บัญชีออมทรัพย์คู่ บัญชีฝากประจำคู่ และบัญชีกองทุนคู่
บัญชีออมทรัพย์คู่ : โดยทั่วไปแบ่งออกได้ 4 แบบ คือ “และ”, “หรือ”, “เพื่อ”, “โดย” แต่ก็จะมี 2 รูปแบบ ที่เป็นที่นิยม คือ
- บัญชีคู่ กรณี “และ” คือ เจ้าของบัญชีทั้งสองฝ่ายจะต้องมีการเซ็นรับรองในทุกธุรกรรม เช่น การเปิดบัญชี การปิดบัญชี หรือถอนเงิน เป็นต้น
- บัญชีคู่กรณี “หรือ” คือ บัญชีที่มีเพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็สามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้ แต่จะมีส่วนที่ต้องเซ็นแสดงความยินยอมก็คือขั้นตอนเปิดบัญชีและปิดบัญชีเท่านั้น
- บัญชีฝากประจำคู่ : เหมาะสำหรับคนที่ต้องการสะสมเงินเย็น เพราะการเปิดบัญชีฝากประจำคู่จะต้องฝากเงินตามระยะเวลาที่ธนาคารกำหนด ซึ่งก็จะได้รับผลตอบแทนเป็นอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าบัญชีออมทรัพย์
- บัญชีกองทุนคู่ : เหมาะสำหรับคนที่ต้องการลงทุน ซึ่งบัญชีกองทุนคู่จะกำหนดจำนวนซื้อ-ขายหน่วยลงทุนขั้นต่ำเอาไว้ ขึ้นอยู่กับแต่ละกองทุน ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นชื่อว่าเป็นการลงทุนการเปิดบัญชีประเภทดังกล่าวจึงมีโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทน แต่ก็มีความเสี่ยงที่จะขาดทุนเช่นกัน
เปิดบัญชีคู่มีข้อดีอะไรบ้าง?
- สามารถวางแผนการเงินร่วมกันได้ เจ้าของบัญชีทั้งสองฝ่ายสามารถวางแผนบริหาร รายรับ-รายจ่าย รวมไปถึงเงินเก็บร่วมกันได้
- มีวินัยในการออมเงิน เนื่องจากเป็นบัญชีคู่ ทั้งสองฝ่ายจึงสามารถสร้างข้อตกลงร่วมกันได้ว่าแต่ละเดือนต้องมีเงินออมเท่าไหร่นั่นเอง
- ได้เป็นเจ้าของเงินฝากร่วมกัน ด้วยความที่เป็นบัญชีคู่ ทั้งสองคนจึงมีสิทธิ์ในการจัดการเงินในบัญชีอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นการฝาก ถอน หรือทำธุรกรรมทางการเงินอื่นๆ ผู้รับผิดชอบเงินจึงไม่ตกเป็นอำนาจของคนใดคนหนึ่งเพียงฝ่ายเดียว
- บริหารจัดการค่าใช้จ่ายส่วนรวมได้อย่างเป็นระบบ หลายคนมักพบปัญหาอยู่บ่อยๆ กับการออกค่าจ่ายอย่างไรให้เท่าเทียมกัน การเปิดบัญชีคู่ก็เป็นอีกวิธีช่วยลดความยุ่งยากในการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายส่วนรวมได้มากเลยทีเดียว
- ในกรณีฉุกเฉินสามารถใช้เป็นบัญชีสำรองได้ หากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน เช่น หนึ่งในเจ้าของบัญชีไม่สามารถทำธุรกรรมได้ อีกคนจะสามารถทำธุรกรรมทางการเงินต่างๆ แทนได้ (ในกรณีที่เปิดบัญชีคู่กรณี “หรือ”)
เปิดบัญชีคู่มีข้อเสียอะไรบ้าง?
1. มีภาระหนี้สินร่วมกัน
ในกรณีที่บัญชีคู่ถูกใช้เป็นหลักประกันสำหรับการกู้ยืมเงิน และถ้าหากมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่สามารถชำระหนี้ได้ อีกฝ่ายที่ร่วมเปิดบัญชีก็อาจถูกฟ้องร้องได้ด้วยเช่นกันในฐานะผู้รับผิดชอบร่วมนั่นเอง
2. ปัญหาเกี่ยวกับกฎหมายและภาษี
ในทางกฎหมายกรณีที่ฝ่ายหนึ่งเสียชีวิต อาจมีปัญหาเรื่องมรดกและการแบ่งเงินเกิดขึ้นได้ หรือในกรณีที่บัญชีได้รับดอกเบี้ย ก็อาจต้องคำนึงถึงภาระภาษีของทั้งสองฝ่าย ซึ่งบ่อยครั้งที่พบว่าทั้งสองฝ่ายตกลงกันไม่ได้ว่าใครจะเป็นผู้เสียภาษี
3. อาจเกิดความซับซ้อนในการบริหารจัดการเงิน
เป็นอีกปัญหาที่พบอยู่บ่อยครั้ง เมื่อทั้งสองฝ่ายแบ่งสัดส่วนการฝาก-ถอนเงินอย่างไม่เท่าเทียม ตัวอย่างเช่นกรณีที่ฝ่ายหนึ่งถอนเงินออกไปมากกว่า ในขณะที่อีกฝ่ายฝากเงินเยอะกว่า เป็นต้น
4. ความยุ่งยากเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน
หากมีเหตุฉุกเฉินกรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียชีวิต การจะทำธุรกรรมการเงินต่างๆ อาจยุ่งยากและมีขั้นตอนทางกฎหมายเพิ่มมากขึ้น และบางธนาคารอาจมีการระงับบัญชีชั่วคราวจนกว่าจะได้รับหลักฐานทางกฎหมายตามข้อกำหนด
5. มีความเสี่ยงที่จะเกิดความขัดแย้งตามมาในภายหลัง
ในกรณีที่มีการเลิกราหรือเกิดความขัดแย้งทางธุรกิจ ก็อาจมีปัญหาเรื่องการแบ่งเงินตามมาได้
เปิดบัญชีคู่ หรือ บัญชีเงินฝากคู่ ไม่ได้จำกัดเฉพาะคู่รักเท่านั้น แต่ยังสามารถเปิดกับครอบครัว หรือหุ้นส่วนธุรกิจก็ได้ด้วยเช่นกัน
เปิดบัญชีคู่ใช้เอกสารอะไรบ้าง?
โดยทั่วไปแล้วจะแบ่งออกได้ 2 กรณี ดังนี้
กรณีที่เจ้าของบัญชีถือสัญชาติไทยทั้ง 2 ฝ่าย จะต้องมีการจัดเตรียมเอกสารเพิ่มเติม ดังนี้
- บัตรประชาชนของทั้ง 2 ฝ่าย (ต้องเป็นบัตรที่ยังไม่หมดอายุ)
- ทะเบียนบ้าน (อาจใช้ในบางธนาคาร)
- เอกสารยืนยันรายได้ เช่น สลิปเงินเดือน / หนังสือรับรองเงินเดือน (อาจต้องใช้ในบางกรณี)
- หนังสือจดทะเบียนสมรส (ถ้ามี)
- ทะเบียนการค้า / หนังสือรับรองบริษัท (กรณีเปิดบัญชีคู่เพื่อธุรกิจ)
- ข้อตกลงการใช้บัญชีร่วมกัน (บางธนาคารอาจให้เซ็นเอกสารกำหนดเงื่อนไขการใช้บัญชี)
กรณีเป็นชาวต่างชาติ จะต้องมีการจัดเตรียมเอกสารเพิ่มเติม ดังนี้
- หนังสือเดินทาง (Passport) หรือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว (กรณีที่ใช้ใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว ต้องแนบสำเนาทะเบียนบ้านเพิ่มเติม)
- กรณีชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย เอกสารที่ใช้คือ Work Permit หรือ VISA ที่มีอายุ 3 เดือนขึ้นไป และหนังสือรับรองการทำงานจากนายจ้างเพิ่มเติม
- กรณีนักศึกษา เอกสารที่ใช้คือหนังสือรับรองจากสถานศึกษา และบัตรนักศึกษา/นักเรียน
- กรณีถือสัญชาติ พม่า ลาว กัมพูชา และมาเลเซีย (เขตชายแดน) และทำงานรับจ้างในประเทศไทย เอกสารที่ใช้คือหนังสือเดินทาง (Passport) หรือเอกสารสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว หรือบัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทย หรือเอกสารหลักฐานแสดงตนที่ออกและรับรองโดยหน่วยงานราชการ เช่น แบบ ทร. 38/1 ที่ยังไม่หมดอายุและต้องมีหนังสือรับรองการทำงานจากนายจ้าง ทั้งนี้ ใบผ่านแดน (Bording pass) จะไม่สามารถใช้เป็นเอกสารประกอบการเปิดบัญชีได้
เปิดบัญชีคู่ธนาคารไหนได้บ้าง ธนาคารไหนให้ดอกเบี้ยสูงในปี 2568
ตัวอย่าง 5 ธนาคารเปิดบัญชีคู่เงินฝากแบบออมทรัพย์ ได้ดอกเบี้ยสูง มีธนาคารไหนน่าสนใจบ้าง ไปดูกัน
1. บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย (KTB)
- บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ คล่องตัวทุกกิจกรรมการเงิน ให้ดอกเบี้ยสูงพร้อมรับดอกเบี้ยปีละ 2 ครั้ง
- จำนวนเงินฝากขั้นต่ำ : 500 บาท
- วงเงินฝาก ไม่เกิน 2 ล้านบาทอัตราดอกเบี้ย 1.50% ต่อปี
- วงเงินฝาก ส่วนที่เกิน 2 ล้านบาท ขึ้นไป อัตราดอกเบี้ย 0.55% ต่อปี
- การจ่ายดอกเบี้ย :คำนวณดอกเบี้ยให้ทุกวัน รับดอกเบี้ยปีละ 2 ครั้ง (ทุกเดือนมิถุนายน และธันวาคม)
2. บัญชีออมทรัพย์ TISCO My Savings ธนาคารทิสโก้ (TISCO)
- ให้ดอกเบี้ยสูงสุด 2.00% ต่อปี รับดอกเบี้ยทุกเดือน ฟรีค่าธรรมเนียมฝาก-ถอนข้ามเขตฟรีจ่ายบิลไม่จำกัดจำนวนครั้ง ฟรีโอนเงินไม่จำกัดจำนวนครั้ง เมื่อทำรายการที่สาขาและตู้ ATM ของธนาคารทิสโก้
- จำนวนเงินฝากขั้นต่ำ : 1,000 บาท
- วงเงินฝาก 0 - 70,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 0.25% ต่อปี
- วงเงินฝาก 70,000 - 100,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 2.00% ต่อปี
- วงเงินฝาก 100,000 - 1 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 0.80% ต่อปี
- วงเงินฝากส่วนที่เกิน 1 ล้านบาทขึ้นไป อัตราดอกเบี้ย 0.25% ต่อปี
- การจ่ายดอกเบี้ย :จ่ายดอกเบี้ยเป็นรายเดือน ทุกวันที่ 25 ของเดือน
3. บัญชีออมทรัพย์ ทีทีบี โนฟิกซ์ ธนาคารทหารไทยธนชาต (TTB)
- รับดอกเบี้ยสูงในบัญชีเงินฝากตั้งแต่บาทแรก และรับดอกเบี้ยทุกสิ้นเดือน มีตัวช่วยเลือกออมเงินตามเป้าหมายด้วยบริการ savings goal สามารถแยกเก็บออมเงินบัญชีเป็นบัญชีย่อยตามเป้าหมายการออมได้ในบัญชีหลักบัญชีเดียว
- จำนวนเงินฝากขั้นต่ำ : ไม่มีขั้นต่ำ
- วงเงินฝาก บาทแรก - 50 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 0.20% ต่อปี (มีโอกาสได้ดอกเบี้ยโบนัสเพิ่มเป็น 0.70 - 1.50% ต่อปี เมื่อทำตามเงื่อนไขที่กำหนดวงเงินฝาก)
- วงเงินฝากส่วนที่เกิน 50 ล้านบาท ขึ้นไป ไม่ได้รับดอกเบี้ย (แต่หากทำตามเงื่อนไขที่กำหนดจะได้รับดอกเบี้ยโบนัส รวมได้รับดอกเบี้ย 0.50 - 1.30% ต่อปี)
- การจ่ายดอกเบี้ย :จ่ายดอกเบี้ยเป็นรายเดือน ทุกวันสุดท้ายของเดือนในแต่ละเดือน
4. บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารไทยเครดิต (TCR)
- บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ที่ให้ดอกเบี้ยสูง 0.40% ต่อปี สามารถ ฝาก-ถอน ได้ทุกวัน โดยไม่จำกัดจำนวนเงินและจำนวนครั้ง
- จำนวนเงินฝากขั้นต่ำ : 500 บาท
- วงเงินฝาก บุคคลธรรมดา อัตราดอกเบี้ย 0.00% - 0.40% ต่อปี
- การจ่ายดอกเบี้ย :คิดดอกเบี้ยให้ทุกวัน รับดอกเบี้ยปีละ 2 ครั้ง (ทุกวันที่ 25 เดือนมิถุนายน และธันวาคม เบิกถอนดอกเบี้ยได้ในวันถัดไป)
5. บัญชีออมทรัพย์ ยูโอบี วีแคร์ ธนาคารยูโอบี (UOB)
- รับความคุ้มครองอุบัติเหตุ 10 เท่าของยอดเงินฝาก สูงสุด 20 ล้านบาท สะดวกสบาย ฝาก-ถอน ได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง ไม่ต้องจ่ายเบี้ยประกันและไม่ต้องตรวจสุขภาพ
- จำนวนเงินฝากขั้นต่ำ : 1,000 บาท
- วงเงินฝาก น้อยกว่า 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 0.35% ต่อปี
- วงเงินฝาก 50,000 - 1 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 0.55% ต่อปี
- วงเงินฝาก 1 ล้าน - 10 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 1.00% ต่อปี
- วงเงินฝากส่วนที่เกิน 10 ล้านบาท ขึ้นไป อัตราดอกเบี้ย 0.55% ต่อปี
- การจ่ายดอกเบี้ย :จ่ายดอกเบี้ยเป็นรายเดือน
โดยทั่วไปแล้วอัตราดอกเบี้ยเงินฝากแบบออมทรัพย์จะได้เฉลี่ยประมาณ 0.25 - 1.00% ต่อปี ผู้ที่สนใจธนาคารไหนเป็นพิเศษสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ธนาคารนั้นๆ ได้เลย และด้วยความสะดวกสบายในยุคนี้บอกเลยว่าใครที่กำลังเก็บเงินสร้างตัว ต้องการวางแผนการเงินในอนาคต ก็สามารถทำได้ง่ายๆ ด้วยการ เปิดบัญชีผ่านออนไลน์ ที่เว็บไซต์หรือแอปพลิเคชั่นของแต่ละธนาคารได้อย่างสะดวกสบาย และสำหรับใครที่ต้องการปลดล็อกสิทธิประโยชน์สุดพิเศษในเรื่องของการเงิน ที่ปรับให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของคุณได้ทุกช่วงจังหวะ ก็สามารถสมัครบัตรเครดิต KTC ได้เลย ใช้จ่ายคุ้มค่า เพราะมีโปรโมชั่น และสิทธิประโยชน์กับแบรนด์ชั้นนำมากมาย คลิกเลย สมัครง่ายอาชีพไหนก็สมัครได้ สมัครบัตรเครดิตได้ทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง
ใช้จ่าย คุ้มค่า นึกถึงบัตรเครดิต KTC