ในยุคที่ค่าครองชีพสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง บวกกับปัจจุบันที่เราทุกคนนั้นอยู่ในสังคมไร้เงินสด การเอาเงินในอนาคตมาใช้ไม่ใช่เรื่องใหม่ การเป็นหนี้บัตรเครดิตจึงไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่การปล่อยให้หนี้เหล่านี้คงค้างโดยไม่มีแผนการชำระที่ชัดเจนต่างหาก ที่อาจนำไปสู่ปัญหาทางการเงินที่ร้ายแรงในอนาคตได้
การจัดการกับหนี้บัตรเครดิตอย่างชาญฉลาด นอกจากการมีกฎเหล็กอย่างการชำระคืนเต็มจำนวนเมื่อถึงกำหนดชำระแล้วนั้น สมาชิกบัตรเครดิตทุกคนยังควรต้องเข้าใจสถานะทางการเงินของตัวเองอย่างถ่องแท้ด้วย จำเป็นต้องรู้ว่ามีหนี้กี่บัตรฯ แต่ละบัตรฯ มียอดหนี้เท่าไร และมีอัตราดอกเบี้ยเท่าใด เพราะข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้สามารถวางแผนการชำระหนี้ได้อย่างเหมาะสม เช่น หากมีเงินก้อนอย่างโบนัส ก็จะได้นำข้อมูลเหล่านี้มาตัดสินใจได้ว่าควรปิดหนี้บัตรไหนก่อน เพื่อให้สามารถปลดภาระหนี้ได้เร็วที่สุดและเสียดอกเบี้ยน้อยที่สุดนั่นเอง
หนี้บัตรเครดิตคืออะไร ?
หนี้บัตรเครดิตคือภาระผูกพันทางการเงินที่เกิดจากการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต ซึ่งเป็นรูปแบบสินเชื่อระยะสั้นที่ธนาคารหรือสถาบันการเงินมอบให้แก่สมาชิกบัตร ทั้งนี้ การใช้บัตรเครดิตนับเป็นเครื่องมือทางการเงินรูปแบบหนึ่ง โดยไม่ใช่การสร้างหนี้เสียทีเดียว ด้วยบัตรเครดิตมีระยะเวลาปลอดดอกเบี้ย เช่น บัตรเครดิต KTC มีระยะเวลาการชำระคืนโดยปลอดดอกเบี้ย กรณีชำระเต็มจำนวน สูงสุด 45 วัน นับจากวันสรุปยอด (ยกเว้น รายการเบิกถอนเงินสด จะคิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ทำรายการ) ในระหว่างนี้ หากรับผิดชอบชำระยอดใช้จ่ายบัตรเครดิตได้เต็มจำนวนและตรงเวลา ก็จะไม่มีภาระดอกเบี้ยให้ต้องกังวลใจ
หนี้บัตรเครดิตจึงหมายถึงการที่สมาชิกบัตรไม่สามารถชำระยอดค่าใช้จ่ายทั้งหมดได้ครบจำนวนภายในวันที่กำหนดให้ชำระเงิน ทำให้ยอดคงค้างกลายเป็นหนี้บัตรเครดิต ซึ่งจะถูกนำมาคิดดอกเบี้ยสะสมวันต่อวันตามสูตรคำนวณดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย
สูตรคำนวณดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย
(จำนวนเงินที่ใช้จ่ายผ่านบัตร x อัตราดอกเบี้ยต่อปี x จำนวนวันนับตั้งแต่วันที่บันทึกรายการ) / 365
* โดยอัตราดอกเบี้ย บัตรเครดิต KTC ทุกประเภทบัตร คือ 16% ต่อปี
จะเห็นได้ว่าบัตรเครดิตสามารถเป็นเครื่องมือทางการเงินที่มีประโยชน์ได้ หากใช้อย่างรับผิดชอบ แต่ก็อาจนำไปสู่ปัญหาหนี้สินได้เช่นกัน หากไม่มีการจัดการที่ดี เนื่องจากดอกเบี้ยที่สูงนั่นเอง
การใช้จ่ายที่เกินตัวอาจทำให้เกิดหนี้พร้อมดอกเบี้ยสะสมจำนวนมาก
รวม 5 วิธีปิดหนี้บัตรเครดิต พร้อมเทคนิคเลือกปิดใบไหนให้หนี้หมดไว
แม้ว่าบัตรเครดิตจะมีข้อดี แต่หากใช้จ่ายเกินงบจนบานปลาย สะสมยอดค้างชำระจนเป็นยอดหนี้บัตรเครดิต รวมกับดอกเบี้ยที่สูงก็อาจกลายเป็นฝันร้ายและสร้างปัญหาด้านการเงินที่คิดไม่ตก หากกำลังเผชิญกับฝันร้ายนี้อยู่ สิ่งที่ควรทำนอกจากการตั้งสติแล้ว ควรรีบวางแผนปิดหนี้บัตรเครดิตอย่างเป็นขั้นตอน เพื่อให้หนี้บัตรเครดิตหมดไวที่สุด
1.ลิสต์รายการรายรับรายจ่าย ตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออก
สิ่งแรกที่ควรทำเมื่อเป็นหนี้บัตรเครดิตคือการตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออก ลองตัดใจจากการซื้อของฟุ่มเฟือย เพื่อนำเงินมาจ่ายหนี้ ควบคู่กับการวางแผนการเงินให้รัดกุมมากยิ่งขึ้น เพราะเป้าหมายคือการปิดหนี้ให้เร็วที่สุด เพื่อป้องกันดอกเบี้ยพุ่ง จนจ่ายไม่ไหวแล้วกลายเป็นหนี้ก้อนโต
2.เลี่ยงการจ่ายขั้นต่ำ ให้จ่ายเต็มจำนวน
การปิดหนี้บัตรเครดิตอย่างชาญฉลาดไม่เพียงแต่จะช่วยลดภาระทางการเงินเท่านั้น แต่ยังช่วยปรับปรุงสุขภาพทางการเงินโดยรวมของคุณ ลดความเครียด และเพิ่มโอกาสในการบรรลุเป้าหมายทางการเงินในระยะยาวได้ ซึ่งการเลี่ยงการจ่ายขั้นต่ำ และจ่ายเต็มจำนวนตามยอดชำระทุกครั้งคือสิ่งที่ควรทำมากที่สุดเมื่อมีหนี้บัตรเครดิต
จำไว้เสมอว่า การจ่ายขั้นต่ำคือการสร้างดอกเบี้ยให้ยอดเดิมที่ค้างชำระอยู่ ทั้งยังเพิ่มภาระให้การปิดหนี้บัตรเครดิตให้เพิ่มขึ้นไปอีก หากพอมีเงินเก็บ ควรจ่ายมากกว่าขั้นต่ำหรือให้ใกล้เคียงยอดชำระเต็มจำนวนมากที่สุด เพื่อให้เงินที่ชำระเข้าไป ไปช่วยลดทอนยอดหนี้รวมก้อนใหญ่ ยิ่งยอดคงค้างเหลือน้อยเท่าไหร่ ดอกเบี้ยที่ต้องชำระก็จะน้อยลงตามไปด้วย
3.โฟกัสกับการปิดหนี้บัตรเครดิต
หากไม่สามารถเลี่ยงการจ่ายขั้นต่ำ และไม่สามารถชำระเต็มจำนวนได้ การเลือกวิธีปิดหนี้บัตรเครดิตที่เหมาะสมและการตัดสินใจว่าควรปิดบัตรใบไหนก่อน เป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้หลุดพ้นจากวงจรหนี้ได้เร็วขึ้น ด้วย 2 กลยุทธ์สำหรับการปิดหนี้บัตรเครดิต ได้แก่
- กลยุทธ์ Snowball Method เป็นวิธีชำระหนี้ที่มีประสิทธิภาพและได้รับความนิยม โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่มีหนี้บัตรเครดิตหลายใบ โดยกลยุทธ์นี้จะมุ่งเน้นการชำระหนี้บัตรที่มียอดน้อยที่สุดก่อน โดยโปะจ่ายเพิ่มเติมมากกว่าขั้นต่ำ สำหรับบัตรใบอื่นๆ ให้ชำระขั้นต่ำ เพื่อรักษาสถานะบัญชี เมื่อปิดบัตรที่มียอดน้อยที่สุดได้แล้ว ให้นำเงินที่เหลือนั้นไปโปะบัตรใบต่อไปที่เหลือยอดหนี้คงค้างน้อยที่สุดเป็นลำดับถัดมา
ตัวอย่างเช่น
บัตร A: ยอดหนี้ 10,000 บาท
บัตร B: ยอดหนี้ 30,000 บาท
บัตร C: ยอดหนี้ 50,000 บาท
ให้ทุ่มการชำระเงินที่บัตร A ก่อน ในขณะที่จ่ายขั้นต่ำสำหรับ B และ C เมื่อปิดยอดบัตร A ได้แล้ว ให้นำเงินที่เหลือ ไปโปะจ่ายบัตร B ต่อไป
- กลยุทธ์ Avalanche Method เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพสูงในการลดภาระดอกเบี้ยโดยรวม แม้อาจไม่ให้ความรู้สึกประสบความสำเร็จในการปิดบัตรได้เร็วเท่ากับวิธี Snowball Method แต่ในระยะยาวจะช่วยประหยัดเงินได้มากกว่า โดยกลยุทธ์นี้เหมาะสำหรับผู้ที่มีหนี้บัตรเครดิตที่มีอัตราดอกเบี้ยแตกต่างกันมาก เพราะจะมุ่งเน้นการชำระหนี้บัตรที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงที่สุดก่อน และชำระเงินขั้นต่ำสำหรับบัตรอื่นๆ เพื่อรักษาสถานะบัญชี
ตัวอย่างเช่น
บัตร A: ยอดหนี้ 30,000 บาท, ดอกเบี้ย 20%
บัตร B: ยอดหนี้ 20,000 บาท, ดอกเบี้ย 18%
บัตร C: ยอดหนี้ 10,000 บาท, ดอกเบี้ย 15%
ให้เริ่มทุ่มการชำระบัตร A ก่อน แม้จะมียอดสูงที่สุด เพราะมีดอกเบี้ยมากกว่าบัตรใบอื่นๆ เมื่อปิดยอดได้แล้ว ให้นำเงินที่เหลือมาโปะจ่ายบัตรที่มีดอกเบี้ยสูงเป็นลำดับถัดมา
4.วิธีการรวบหนี้ (Debt Consolidation)
อีกวิธีสำหรับปิดหนี้บัตรเครดิตที่น่าสนใจคือ การรวบหนี้ (Debt Consolidation) ซึ่งหลักการของวิธีนี้คือ รวมหนี้บัตรเครดิตหลายใบเป็นสินเชื่อเดียว เพื่อแบ่งเบาภาระจากการแบกรับดอกเบี้ยหลายๆ ใบ ลดทอนความลำบากจากการผ่อนจ่ายหลายๆ แห่งให้เหลือผ่อนเพียงแค่ที่เดียว ซึ่งข้อดีของวิธีนี้คือสามารถลดอัตราดอกเบี้ยโดยรวม และทำให้ง่ายต่อการจัดการ เพราะชำระเพียงที่เดียว รวมถึงยอดรวมในการชำระคืนต่อเดือนลดลงด้วย แต่วิธีนี้ก็อาจทำให้มีระยะเวลาผ่อนชำระที่นานมากขึ้น ทั้งนี้ ขั้นตอนการรวบหนี้ถือเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการจัดการหนี้บัตรเครดิต แต่ต้องใช้อย่างระมัดระวังและมีวินัยในการชำระ เพื่อไม่ให้กลับไปเป็นหนี้ซ้ำอีก การวางแผนการใช้จ่ายและการสร้างนิสัยทางการเงินที่ดีควบคู่ไปด้วยจะช่วยให้การรวบหนี้เป็นก้าวสำคัญสู่อิสรภาพทางการเงินในระยะยาวได้
5.เจรจากับธนาคารเจ้าของบัตร
การปิดหนี้บัตรเครดิตให้สำเร็จ แน่นอนว่าคนสำคัญที่จะช่วยได้ก็คือ ธนาคารเจ้าของบัตร โดยคุณสามารถตรงไปที่ธนาคารเจ้าของบัตรเพื่อเจรจาปรับเปลี่ยนโครงสร้างหนี้บัตรเครดิต ซึ่งจะเกิดผลดีในการวางแผนการจ่ายหนี้ โดยหากมีประวัติการชำระที่ดีมาโดยตลอด การเจรจากับทางธนาคารเจ้าของบัตรก็มีข้อดี เช่น อาจได้รับการพิจารณาลดอัตราดอกเบี้ยหรือหยุดการคิดอัตราดอกเบี้ยชั่วคราวได้ ทั้งนี้ ทาง KTC ก็มีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ในระยะยาว หรือโทรเข้ามาปรึกษาได้ทาง KTC PHONE 02 123 5000 ตลอด 24 ชั่วโมง
ไม่ว่าจะเลือกใช้วิธีใดในการจัดการหนี้ สิ่งสำคัญที่สุดคือการสร้างนิสัยทางการเงินที่ดีในระยะยาว การใช้จ่ายอย่างมีสติ รู้จักวางแผนการเงิน และการเก็บออม จะช่วยป้องกันไม่ให้กลับไปเป็นหนี้ในอนาคต เพราะบัตรเครดิตที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ เป็นเครื่องมือทางการเงินที่ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นในการใช้จ่ายและมอบสิทธิประโยชน์ที่หลากหลายพร้อมความคุ้มค่า สำหรับผู้ที่สนใจสมัครบัตรเครดิต KTC สามารถกดสมัครบัตรเครดิต KTC ผ่านช่องทางออนไลน์ ได้ทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง
ใช้จ่าย คุ้มค่า นึกถึงบัตรเครดิต KTC