ทุกองค์กรไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดเล็กหรือองค์กรขนาดใหญ่ล้วนต้องมีแผนกสำคัญ ที่ช่วยให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ แผนกเหล่านี้ทำหน้าที่แตกต่างกันไป ตั้งแต่การพัฒนากลยุทธ์ทางธุรกิจ บริหารทรัพยากรบุคคล ดูแลการเงิน หรือการตลาด ซึ่งแต่ละแผนกนั้นต่างมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรไปสู่ความสำเร็จ
นอกจากแผนกที่แตกต่างกันแล้ว โครงสร้างตำแหน่งงานของพนักงานออฟฟิศ ก็เป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบที่ช่วยให้บริษัททำงานได้อย่างมีระบบ ตำแหน่งพนักงานออฟฟิศสามารถแบ่งออกเป็นหลายระดับ ตั้งแต่ ระดับปฏิบัติการ (Entry-Level) ไปจนถึง ระดับผู้บริหาร (Executive-Level) โดยแต่ละระดับมีบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบที่แตกต่างกัน ฉะนั้น วันนี้เราจะพาคุณไปรู้จักกันตั้งแต่แผนกสำคัญของบริษัท รวมถึงระดับของตำแหน่งพนักงานออฟฟิศ เพื่อให้คุณเข้าใจโครงสร้างองค์กรได้ดีขึ้น ไม่ว่าคุณจะเป็นพนักงานที่กำลังเริ่มต้นทำงาน หรือผู้ที่ต้องการเติบโตในสายอาชีพของตนเอง
โครงสร้างบริษัทมีกี่แบบ ?
รูปแบบโครงสร้างบริษัทนั้นมีทั้งหมด 7 แบบ โดยแต่ละแบบจะความเหมาะสมกับองค์กรหรือบริษัทที่มีวัฒนธรรมการทำงานที่แตกต่างกันไป ซึ่งรายละเอียดทั้ง 7 แบบมีดังต่อไปนี้
- โครงสร้างองค์กรแบบลำดับขั้น (Hierarchical Structure) เป็นโครงสร้างองค์กรแบบลำดับขั้น คือโครงสร้างแบบพีระมิด โดยมี CEO อยู่สูงสุดและไล่ลำดับตำแหน่งตามสายงานลงมา
- โครงสร้างองค์กรตามสายงาน (Functional Structure) เป็นรูปแบบของโครงสร้างองค์กรที่มีการแบ่งแผนกหรือหน่วยงานตามลักษณะหน้าที่ เช่น ฝ่ายการตลาด ฝ่ายการเงิน ฝ่ายทรัพยากรบุคคล เป็นต้น
- โครงสร้างองค์กรแบบเมทริกซ์ (Matrix Structure) โครงสร้างองค์กรที่มีลักษณะเหมือนตาราง ผสมระหว่างโครงสร้างตามสายงานและโครงสร้างแบบมีสาขา ทำให้พนักงานในองค์กรจะมีสายการรายงาน กับผู้จัดการหลายคนในเวลาเดียวกัน
- โครงสร้างองค์กรแบบมีสาขาหรือหน่วยงานย่อย (Divisional Structure) โครงสร้างองค์กร ที่แบ่งแยกเป็นหน่วยงานย่อยหรือสาขาตามผลิตภัณฑ์ บริการ หรือภูมิภาคต่างๆ โดยแต่ละหน่วยงาน จะมีความเป็นอิสระในการดำเนินงาน และมีการจัดการแยกจากหน่วยงานอื่นๆ เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดได้อย่างรวดเร็ว
- โครงสร้างองค์กรแบบเครือข่าย (Network Structure) เป็นโครงสร้างองค์กรแบบศูนย์กลางและกระจายออกไปตามภูมิภาค หรือ รูปแบบการจัดโครงสร้างองค์กรที่มีการเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานหรือองค์กรที่แตกต่างกัน โดยมีการทำงานร่วมกันในรูปแบบของเครือข่ายภายนอก
- โครงสร้างองค์กรแบบทีม (Team-based Structure) โครงสร้างองค์กรที่เน้นการจัดตั้งหน่วยงานย่อยแบบทีม มุ่งเน้นการทำงานร่วมกันในทีมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความคิดสร้างสรรค์
- โครงสร้างองค์กรแนวนอนหรือแบนราบ (Horizontal or Flat Structure) โครงสร้างองค์กรที่มีลำดับชั้นน้อย หรือแทบไม่มีลำดับชั้นระหว่างผู้บริหารและพนักงาน จึงเหมาะและเป็นที่นิยมในองค์กรที่เป็น Startup
ขอบคุณข้อมูลจาก https://www.ktc.co.th/article/knowledge/business/organization-structure-types
แผนกสำคัญของบริษัทมีอะไรบ้าง ?
บริษัทที่มีประสิทธิภาพส่วนใหญ่ จะประกอบไปด้วยแผนกต่างๆ ที่ทำงานร่วมกัน เพื่อให้ธุรกิจดำเนินไปได้อย่างราบรื่น โดยแต่ละแผนกมีบทบาทและตำแหน่งงานที่แยกหน้าที่เฉพาะเจาะจง ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น แผนกหลักที่สำคัญๆ ได้ดังนี้
1.แผนกบริหาร (Management Department)
เป็นแผนกที่กำหนดทิศทางและกลยุทธ์ของบริษัท โดยจะประกอบไปด้วยผู้บริหารระดับสูง (C-Level) เช่น CEO, CFO, COO ทำหน้าที่กำหนดนโยบาย แผนธุรกิจ และการตัดสินใจที่สำคัญๆ ต่างๆ
2.แผนกทรัพยากรบุคคล (Human Resources หรือ HR)
แผนกที่ดูแลเกี่ยวกับการสรรหา อบรมพนักงาน เงินเดือนและสวัสดิการ วัฒนธรรมองค์กร และกิจกรรมต่างๆ ของพนักงาน เพื่อให้พนักงานสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยลดอัตราการลาออก
3.แผนกการเงินและบัญชี (Finance & Accounting)
แผนกที่มีบุคลากรที่จัดการเรื่องงบประมาณ ดูแลรายรับ-รายจ่าย ภาษี และการวางแผนทางการเงิน เพื่อให้บริษัทมีสภาพคล่องและสามารถทำกำไรได้
4.แผนกการตลาด (Marketing Department)
ทำหน้าที่ วางกลยุทธ์การตลาด โฆษณา ประชาสัมพันธ์ และดูแลแบรนด์ เพื่อให้สินค้าและบริการเป็นที่รู้จักและดึงดูดลูกค้า
5.แผนกขาย (Sales Department)
แผนกที่รับผิดชอบ การปิดการขาย หาลูกค้าใหม่ และสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า เพื่อเพิ่มรายได้ให้บริษัท
6.แผนกไอที (Information Technology - IT)
แผนกที่ดูแลด้านระบบคอมพิวเตอร์ ซอฟต์แวร์ ความปลอดภัยของข้อมูล และอื่นๆ เพื่อสนับสนุนการทำงานของทุกแผนก
7.แผนกบริการลูกค้า (Customer Service & Support)
แผนกที่มีตำแหน่งงานที่รับผิดชอบในการให้ข้อมูล แก้ไขปัญหา และดูแลลูกค้า เพื่อสร้างความพึงพอใจและรักษาฐานลูกค้าให้ยั่งยืน
นอกจากนี้ ก็ยังมีแผนกอื่นๆ อีกมากมาย อาทิ แผนกปฏิบัติการ (Operations Department) แผนกวิจัยและพัฒนา (Research & Development - R&D) แผนกวิศวกรรม (Engineering) แผนกวิทยาการข้อมูล (Data) ทั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับตัวธุรกิจของบริษัทนั้นๆ อย่างไรก็ตาม แผนกต่างๆ ในองค์กรนั้นล้วนมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนธุรกิจไปข้างหน้าไม่ต่างกัน
โครงสร้างของออฟฟิศเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบที่ช่วยให้บริษัททำงานได้อย่างเป็นระบบ
ตำแหน่งงานพนักงานออฟฟิศ มีกี่ระดับ ? มีตำแหน่งอะไรบ้าง ?
ตำแหน่งพนักงานออฟฟิศสามารถแบ่งออกเป็น 5 ระดับหลัก ตั้งแต่ ผู้บริหารระดับสูง ผู้จัดการ หัวหน้างาน พนักงานปฏิบัติการ เจ้าหน้าที่สนับสนุน โดยแต่ละตำแหน่งมีหน้าที่ที่แตกต่างกัน และสามารถแบ่งออกเป็น ระดับของพนักงานออฟฟิศ ได้ดังนี้
1.ระดับผู้บริหาร (Executive Level / C-Level)
อย่างที่กล่าวไป ว่าผู้บริหารเป็นระดับที่กำหนดทิศทางธุรกิจ วางกลยุทธ์ และบริหารองค์กรโดยรวม ทั้งนี้แต่ละบริษัทอาจมีชื่อเรียกแตกต่างกันไป ทั้งนี้ ตำแหน่งงานที่สำคัญ ได้แก่
- CEO (Chief Executive Officer) – ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดูแลภาพรวมของบริษัท
- CFO (Chief Financial Officer) – ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน ควบคุมด้านงบประมาณและการเงิน
- COO (Chief Operating Officer) – ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ ดูแลกระบวนการทำงานขององค์กร
- CMO (Chief Marketing Officer) – ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด วางกลยุทธ์และสร้างแบรนด์
- CTO (Chief Technology Officer) – ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี ดูแลระบบไอทีและนวัตกรรม
นอกจากนี้ ก็ยังมีตำแหน่งงานอื่นๆ เช่น ผู้อำนวยการ (Director) และ รองประธาน (Vice President) ก็อยู่ในตำแหน่งผู้บริหารเช่นกัน
2.ระดับผู้จัดการ (Manager Level)
ทำหน้าที่บริหารทีม ควบคุมการดำเนินงานของแต่ละแผนก และส่งต่อกลยุทธ์จากผู้บริหารไปสู่พนักงาน ตำแหน่งในระดับนี้ ได้แก่
- General Manager (GM) – ผู้จัดการทั่วไป ดูแลการดำเนินงานโดยรวมขององค์กร
- Marketing Manager – ผู้จัดการฝ่ายการตลาด ดูแลกลยุทธ์และแคมเปญโฆษณา
- Sales Manager – ผู้จัดการฝ่ายขาย ควบคุมยอดขายและบริหารทีมขาย
- HR Manager – ผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคล ดูแลการสรรหาพนักงานและสวัสดิการ
- Finance Manager – ผู้จัดการฝ่ายการเงิน ดูแลบัญชีและงบประมาณ
3.ระดับหัวหน้างาน (Supervisor Level)
ดูแลพนักงานระดับปฏิบัติการ ควบคุมงานประจำวัน และรายงานผลให้กับผู้จัดการ ในองค์กรทั่วไป Supervisor Level และ Senior Level เป็นตำแหน่งที่อยู่เหนือพนักงานทั่วไป (Staff / Officer) แต่ยังไม่ถึงระดับผู้จัดการ (Manager) และทั้งสองตำแหน่งอาจไม่ได้อยู่ในลำดับเดียวกันเสมอไป ขึ้นอยู่กับโครงสร้างของแต่ละองค์กร ทั้งนี้ ตำแหน่งงานในระดับหัวหน้างาน ก็อย่างเช่น
- Team Leader – หัวหน้าทีม ดูแลการทำงานของทีมและกระจายงาน
- Customer Service Supervisor – หัวหน้างานบริการลูกค้า ควบคุมคุณภาพการให้บริการ
- Sales Supervisor – หัวหน้าฝ่ายขาย ดูแลยอดขายและให้คำแนะนำทีมขาย
4.ระดับปฏิบัติการ (Operational Level / Staff Level)
Operational Level หรือ Staff Level คือระดับพนักงานปฏิบัติการที่เป็นกำลังหลักขององค์กร ทำงานตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายในแต่ละแผนก โดยมุ่งเน้นการดำเนินงานให้เป็นไปตามเป้าหมายขององค์กร ยกตัวอย่างตำแหน่งงานได้ต่อไปนี้
- Marketing Executive / Marketing Coordinator – เจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด
- Sales Representative – พนักงานขาย
- HR Officer – เจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคล
- Accountant – นักบัญชี
- Customer Service Representative – เจ้าหน้าที่บริการลูกค้า
- IT Support – เจ้าหน้าที่ไอที
5.ระดับเจ้าหน้าที่สนับสนุน (Administrative Level)
เป็นกลุ่มพนักงานที่มีหน้าที่ช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกให้กับแผนกต่างๆ ในองค์กร ทำให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างราบรื่น โดยงานในระดับนี้มักเน้นที่การจัดการเอกสาร ระบบข้อมูล การประสานงาน และการสนับสนุนด้านทรัพยากรต่างๆ เช่น
- Administrative Officer (Admin) – เจ้าหน้าที่ธุรการ
- Secretary – เลขานุการผู้บริหาร
- Receptionist – พนักงานต้อนรับ
- Office Assistant – ผู้ช่วยสำนักงาน
จากที่กล่าวไปทั้งหมดจะเห็นได้ว่าแต่ละบริษัทอาจมีโครงสร้างองค์กร แผนก และตำแหน่งงานที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับประเภทและขนาดของธุรกิจ ดังนั้นแล้ว การเข้าใจโครงสร้างบริษัท แผนก และเส้นทางความก้าวหน้าในสายงานของตนเองย่อมเป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะช่วยให้คุณสามารถวางแผนพัฒนาทักษะ และก้าวสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้นได้อย่างมั่นใจ ไม่ว่าคุณจะเป็นพนักงานปฏิบัติการ เจ้าหน้าที่สนับสนุน หรือผู้บริหาร ทุกบทบาทล้วนมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรสู่ความสำเร็จ
แต่ถ้าคุณกำลังมองหาตัวช่วยในการจัดการการเงินให้ประสบความสำเร็จ สร้างความคล่องตัวและยืดหยุ่นมากขึ้น บัตรเครดิต KTC คือตัวเลือกที่ตอบโจทย์ ด้วยสิทธิประโยชน์มากมาย ไม่ว่าจะเป็น ส่วนลดจากร้านค้าชั้นนำ, คะแนน KTC FOREVER ที่สามารถแลกรับเป็นส่วนลด หรือเครดิตเงินคืน นอกจากนี้ ไม่มีค่าธรรมเนียมแรกเข้าและรายปี สมัครง่ายผ่านระบบออนไลน์ พร้อมเลือกบัตรฯ ที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของคุณ รับรองว่าทุกการใช้จ่ายจะคุ้มค่ายิ่งขึ้น
ใช้จ่าย คุ้มค่า นึกถึงบัตรเครดิต KTC