หากกำลังวางแผนขอสินเชื่อถูกกฎหมายเพื่อขยายธุรกิจ หรือนำเงินมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ปฏิเสธไม่ได้ว่าดอกเบี้ย คือ สิ่งที่ต้องศึกษาก่อนเป็นอันดับแรก เพราะเป็นต้นทุนทางการเงินที่เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งดอกเบี้ยเงินกู้ก็มีหลายแบบ เช่น ดอกเบี้ยบ้านที่คิดแบบ MRR, MLR และ MOR ถ้าสงสัยว่าทั้งหมดนั้น คือ ดอกเบี้ยอะไรกันแน่ บทความนี้มีคำตอบให้คุณแล้ว
เลือกอ่านตามหัวข้อ
ดอกเบี้ย คืออะไร ทำไมถึงมีการปรับขึ้นลง?
ดอกเบี้ย คือ ผลตอบแทนที่ได้รับกลับมาเมื่อปล่อยกู้ หรือออมเงินในบัญชีเงินฝาก โดยการขึ้นลงของดอกเบี้ยเป็นผลมาจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวคือ หากอัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับตัวเพิ่มขึ้น อัตราดอกเบี้ยทั้งระบบก็จะปรับตัวเพิ่มตาม ในทางกลับกันถ้าอัตราดอกเบี้ยนโยบายลดลง ดอกเบี้ยเงินฝากและดอกเบี้ยเงินกู้ ก็มีแนวโน้มลดลงด้วย ดังนั้นก่อนตัดสินใจซื้อบ้าน หรือผ่อนคอนโด จึงควรศึกษาให้ดีว่าอัตราดอกเบี้ยบ้านในช่วงนั้นสูงเกินไปหรือไม่ มิเช่นนั้นอาจทำให้ผ่อนไม่ไหวตามมา
ดอกเบี้ยเงินฝาก คือ อะไร
ดอกเบี้ยเงินฝาก คือ ผลตอบแทนที่ผู้ฝากได้รับเมื่อออมเงินในบัญชีเงินฝากตามที่กำหนด หากต้องการผลตอบแทนจากการออมจำนวนมาก เพื่อให้มีเงินต่อเงินไปลงทุนกับสินทรัพย์อื่นในอนาคต ก็ควรศึกษารายละเอียดของผลิตภัณฑ์เงินฝากให้ดีว่าแบบใดเหมาะกับคุณมากที่สุด ซึ่งอัตราดอกเบี้ยเงินฝากมีอยู่ทั้งหมด 2 ประเภทจำแนกตามลักษณะการถอนเงิน นั่นคือ 1. อัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ และ 2. อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ
โดยอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ผลตอบแทนต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ เพราะสามารถถอนเงินออกมาเมื่อใดก็ได้ ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำผลตอบแทนสูงกว่าบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ เนื่องจากมีเงื่อนไขระยะเวลาการถอนเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น เงินฝากประจำ 3 เดือน ผู้ฝากต้องคงเงินในบัญชีไว้อย่างน้อย 3 เดือน หากถอนออกมาก่อนครบกำหนด จะได้รับดอกเบี้ยในรูปแบบเงินฝากออมทรัพย์แทน ด้วยเหตุนี้ วิธีเก็บเงินในบัญชีเงินฝากประจำจึงช่วยให้มีเงินเก็บระยะยาวได้
หากอยากรู้ว่าเมื่อฝากเงินเข้าไปแล้ว จะได้ดอกเบี้ยเท่าไหร่ ก็สามารถหาได้จากสูตรคำนวณหาดอกเบี้ยเงินฝาก นั่นคือ
(เงินฝาก X อัตราดอกเบี้ย X ระยะเวลาการฝาก) / จำนวนวันในหนึ่งปี
ตัวอย่าง เช่น นาย B ฝากเงินในบัญชีออมทรัพย์ 100,000 บาท ในวันที่ 2 มกราคม 2567 อัตราดอกเบี้ย 0.5% ต่อปี โดยกำหนดจ่ายดอกเบี้ย 2 ครั้งต่อปี จะได้ว่า
ดอกเบี้ยเงินฝากที่ได้รับในงวดแรก คือ
100,000X0.5%X179(1)/365 = 245.20
เมื่อรวมเงินต้นเข้ากับดอกเบี้ยที่ได้รับจะได้ว่า
100,000+245.20 = 100,245.20 บาท
ดังนั้นดอกเบี้ยเงินฝากที่นาย B จะได้รับในครึ่งปีหลัง คือ
100,245.20X0.5%X184(2)/365 = 252.67 บาท
ด้วยกลไกของดอกเบี้ยเงินฝาก หากนาย B ฝากเงินต่อเนื่อง โดยไม่ถอนออกมาเลย นาย B จะได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากดอกเบี้ยทบต้น
(1)จำนวนวันตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม - 29 มิถุนายน คือ 179 วัน
(2)จำนวนวันตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน - 30 ธันวาคม คือ 184 วัน
ดอกเบี้ยเงินกู้ คืออะไร
เมื่อทราบกันไปแล้วว่าดอกเบี้ยเงินฝากคืออะไร อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ก็เป็นสิ่งสำคัญที่ควรรู้เช่นกัน เพราะดอกเบี้ยเงินกู้ส่งผลต่อการซื้อสินทรัพย์ใหญ่ อย่างการกู้ซื้อที่ดิน หรือซื้อบ้านโดยตรง โดยอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ คือ ผลตอบแทนที่สถาบันการเงิน หรือผู้ให้บริการที่มิใช่สถาบันการเงิน (Non-Bank) เรียกเก็บจากผู้กู้ในรูปแบบร้อยละต่อปี เช่น อัตราดอกเบี้ยบัตรกดเงินสด คือ ร้อยละ 25 ต่อปี ในขณะที่บัตรเครดิตอยู่ที่ร้อยละ 16 ต่อปี และดอกเบี้ยเงินกู้ประกอบด้วย 3 ประเภทดังต่อไปนี้
อัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบคงที่ (Fixed Rate)
ดอกเบี้ยคงที่ คือ ดอกเบี้ยที่ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ และนโยบายของธนาคาร โดยเมื่อทำสัญญากู้เงินแล้ว ผู้กู้จะจ่ายดอกเบี้ยในอัตรานั้นไปเรื่อยๆ จนกว่าจะครบกำหนดสัญญา ตัวอย่างของเงินกู้อัตราดอกเบี้ยคงที่ ที่พบเห็นได้บ่อยในชีวิตประจำวัน เช่น ดอกเบี้ยรถยนต์ ดอกเบี้ยบัตรกดเงินสด หรือในกรณีที่ผ่อนไอโฟน 24 เดือน โดยไม่ได้ใช้บัตรเครดิตที่เข้าร่วมรายการ
อัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบลอยตัว (Float Rate)
ดอกเบี้ยลอยตัว คือ ดอกเบี้ยที่มีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาตามอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยดอกเบี้ยประเภทนี้ไม่ได้ระบุอัตราดอกเบี้ยตรงตัว แต่จะแทนที่ด้วยตัวอักษรภาษาอังกฤษ พร้อมเครื่องหมายบวกลบ ตัวอย่างเช่น MRR+1 หรือ MLR-1 ซึ่งมักพบเห็นได้บ่อยในดอกเบี้ยบ้าน
โดย MRR คือ Minimum Retail Rate หรืออัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ธนาคารเรียกเก็บจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี เป็นอัตราดอกเบี้ยที่ใช้ในการคำนวณดอกเบี้ยบ้านมากที่สุด
MLR คือ Minimum Loan Rate เป็นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ธนาคารเรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี บางธนาคารพาณิชย์อาจใช้อัตราดอกเบี้ย MLR อ้างอิงในการคำนวณอัตราดอกเบี้ยบ้านแบบลอยตัว แทนที่จะเป็น MRR
ส่วนอัตราดอกเบี้ยลอยตัวอีกประเภทเรียกว่า MOR หรือก็คือ Minimum Overdraft Rate เป็นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ธนาคารเรียกเก็บกับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีที่ขอสินเชื่อ OD สำหรับเป็นเงินกู้หมุนเวียนทำธุรกิจระยะสั้น
อัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบผสม (Mixed Rate Loan)
ดอกเบี้ยแบบผสมเป็นการนำอัตราดอกเบี้ยคงที่รวมเข้ากับอัตราดอกเบี้ยลอยตัว โดยในช่วงแรกคิดดอกเบี้ยแบบคงที่ก่อน แต่เมื่อเวลาผ่านไปจะคิดแบบอัตราดอกเบี้ยลอยตัว เช่น สินเชื่อบ้านที่คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ 3.5% ในช่วง 3 ปีแรก แต่ดอกเบี้ยปีที่ 3 เป็นต้นไป อัตราดอกเบี้ยปรับเป็นเรตลอยตัว คิดแบบ MRR+1% เป็นต้น
จากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทั้ง 3 ประเภทสามารถจำแนกวิธีคำนวณดอกเบี้ยได้ออกเป็น 2 วิธีนั่นคือ ดอกเบี้ยลดต้นลดดอก (Effective Rate) และดอกเบี้ยคงที่ (Flat Rate) โดยวิธีคิดแบบลดต้นลดดอกได้รับความนิยมมากที่สุด มีสูตรคำนวณคือ
(เงินต้นคงเหลือ X อัตราดอกเบี้ยต่อปี X จำนวนวันในงวด) / จำนวนวันในหนึ่งปี
เช่น นาย A เบิกเงินสดจากบัตรกดเงินสด KTC PROUD จำนวนทั้งสิ้น 20,000 บาท โดยเบิกเงินสดก่อนถึงวันสรุปบัญชี 20 วัน ซึ่งบัตรกดเงินสดอัตราดอกเบี้ย 25% ต่อปี และคิดคำนวณดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอกจะได้ว่า
20,000X25%X20/365 = 273.97 บาท
ดังนั้นเมื่อรวมเงินต้นเข้ากับดอกเบี้ยในงวดนั้น นาย A จ่ายดอกเบี้ยรวมเงินต้นทั้งสิ้น 20,273.97 บาท ซึ่งหลักการคิดดอกเบี้ยดังกล่าว หากผ่อนชำระคืนเงินต้นสม่ำเสมอ จะช่วยให้ดอกเบี้ยในงวดถัดไปลดลง เนื่องจากการคำนวณดอกเบี้ยว่าเป็นเท่าไหร่ ขึ้นอยู่กับจำนวนเงินต้นเป็นหลัก
ดอกเบี้ยเกิดขึ้นตอนไหนได้บ้าง?
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าอัตราดอกเบี้ยมีทั้งหมด 2 ประเภท ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยเงินฝากและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ โดยการเกิดขึ้นของดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ไม่เหมือนกัน กล่าวคือ อัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์จ่ายดอกเบี้ย 2 ครั้งต่อปีในช่วงเดือนมิถุนายน กับธันวาคม ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำจ่ายดอกเบี้ยทั้งหมด 4 ครั้งภายในหนึ่งปี
ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบลดต้นลดดอกคิดคำนวณบนสมมติฐานว่าลูกหนี้ค้างชำระเป็นรายวัน ทำให้ยิ่งค้างชำระนานเท่าไหร่ ยิ่งจ่ายดอกเบี้ยยิ่งสูงขึ้นเท่านั้น แต่ถ้าจ่ายคืนเงินต้นมาก ดอกเบี้ยก็ยิ่งลดลงตามไปด้วย ส่วนดอกเบี้ยเงินกู้แบบคงที่ อย่างสินเชื่อรถยนต์ ไม่ได้อ้างอิงการคำนวณตามระยะเวลาที่ลูกหนี้ค้างชำระ แต่คำนวณบนสมมติฐานว่าระยะเวลาผ่อนชำระมีทั้งหมดกี่งวด ทำให้ยิ่งผ่อนนาน ดอกเบี้ยยิ่งสูงตามเวลาผ่อนส่ง
สรุป ดอกเบี้ย คือ อะไรกันแน่
ดอกเบี้ย คือ กลไกสำคัญที่ช่วยควบคุมเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ซึ่งประกอบด้วยดอกเบี้ยเงินกู้ และดอกเบี้ยเงินฝาก ไม่สามารถขาดดอกเบี้ยในส่วนใดส่วนหนึ่งได้ และในปัจจุบันเป็นช่วงที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ปรับตัวสูงทำให้เศรษฐกิจฝืดเคือง เพราะดอกเบี้ยนโยบายต่อปีล่าสุด คือ 2.5% ทำให้ต้นทุนทางการเงินสูงขึ้น จนมนุษย์เงินเดือนผ่อนชำระหนี้ก้อนเดิมไม่ไหว เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ควรมองหาตัวช่วยอย่าง บัตรกดเงินสด KTC PROUD บัตรกดเงินสดที่ให้วงเงินกู้สูงสุดถึง 1 ล้านบาท สมัครออนไลน์ง่ายๆ กดเงินสดได้ อนุมัติเร็ว
บัตรกดเงินสดตัวช่วยบริหารสภาพคล่องทางการเงิน
กู้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนไหว อัตราดอกเบี้ย คือ 25% ต่อปี