การทำธุรกิจหรือการลงทุนใดๆ การทำความเข้าใจโครงสร้างการแข่งขันในอุตสาหกรรมนับว่าเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งนี้ก็เพื่อช่วยให้เราสามารถตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ทางการตลาดได้อย่างแม่นยำ โดยหนึ่งในเครื่องมือที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง สำหรับการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมทางธุรกิจก็คือ Five Forces Model ของ Michael E. Porter ซึ่งช่วยให้นักธุรกิจ และนักลงทุนมองเห็นภาพรวมของการแข่งขันในอุตสาหกรรมได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น ดังนั้นบทความนี้ เราจะพาคุณไปทำความเข้าใจว่า 5 Forces Model คืออะไร มีองค์ประกอบอะไรบ้าง รวมไปถึงสามารถนำไปใช้ประโยชน์อย่างไรในการดำเนินธุรกิจและการลงทุน
Five Forces Model คืออะไร มีประโยชน์อย่างไร ?
5 Forces Model คือ แนวคิดที่พัฒนาโดย Michael E. Porter ศาสตราจารย์จาก Harvard Business School ซึ่งใช้ในการวิเคราะห์โครงสร้างการแข่งขันของอุตสาหกรรม Five Forces Model นี้ จะช่วยให้นักธุรกิจและนักลงทุนเข้าใจถึงปัจจัยภายนอก ที่อาจส่งผลต่อความสามารถในการทำกำไรและความได้เปรียบทางการแข่งขัน ซึ่งประโยชน์ของ Five Forces Model นั้นมีหลายอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น
- ใช้เป็นเครื่องมือวิเคราะห์คู่แข่งและความรุนแรงของการแข่งขันในอุตสาหกรรมที่กำลังดำเนินธุรกิจอยู่
- ช่วยให้นักธุรกิจและนักลงทุนสามารถประเมินศักยภาพของตลาดและโอกาสทางธุรกิจได้
- ช่วยในการกำหนดกลยุทธ์ที่เหมาะสม เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน
- ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยมุ่งเน้นจุดแข็งและลดจุดอ่อนขององค์กร
- ช่วยระบุความเสี่ยงและโอกาสที่เกิดจากปัจจัยภายนอกของอุตสาหกรรม
- ทำให้สามารถปรับกลยุทธ์ทางการผลิต การตลาด ฯลฯ เพื่อลดผลกระทบจากแรงกดดันต่างๆ ในอุตสาหกรรมตลาด
- ใช้เป็นแนวทางสำหรับการขยายธุรกิจหรือเข้าสู่ตลาดใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
Five Forces Model มีอะไรบ้าง ?
Five Forces Model ประกอบไปด้วย 5 ปัจจัยหลัก ที่มีอิทธิพลต่อการแข่งขันในอุตสาหกรรม ได้แก่
1. อำนาจต่อรองของลูกค้า (Bargaining Power of Buyers)
อำนาจต่อรองของลูกค้าจะเกิดขึ้นเมื่อผู้บริโภคมีข้อมูลมากขึ้น จึงสามารถเปรียบเทียบข้อมูลเพื่อเลือกสินค้าหรือบริการที่คุ้มค่าที่สุดให้กับตนเองได้ หากลูกค้ามีอำนาจต่อรองสูง โดยเฉพาะเรื่องราคา ธุรกิจก็อาจต้องปรับลดราคาหรือปรับกลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อรักษาฐานลูกค้าเอาไว้ โดยปัจจัยที่ส่งผลต่ออำนาจของลูกค้า เช่น จำนวนลูกค้าในตลาด, ลูกค้ารายใหญ่ ต้องการซื้อสินค้าในปริมาณมากในราคาที่ต่ำลง, การมีคู่แข่งทางตรงจำนวนมาก, การมีสินค้าทดแทน เป็นต้น
2. อำนาจต่อรองของซัพพลายเออร์ (Bargaining Power of Suppliers)
อำนาจต่อรองของซัพพลายเออร์ส่งผลต่อราคาต้นทุนและคุณภาพของวัตถุดิบ หากซัพพลายเออร์มีอำนาจต่อรองสูง จะทำให้พวกเขาสามารถกำหนดราคาสูงขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนการดำเนินธุรกิจสูงขึ้น โดยปัจจัยที่มีผลต่ออำนาจการต่อรองของซัพพลายเออร์ เช่น จำนวนซัพพลายเออร์ที่จำหน่ายวัตถุดิบที่เราใช้ในการผลิตมีน้อย, วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตขาดตลาด, การไม่มีวัตถุดิบทดแทน, การซื้อวัตถุดิบหรือสินค้าในปริมาณน้อย, ต้นทุนการผลิตหรือต้นทุนวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตมีการเปลี่ยนแปลง เป็นต้น
3. ภัยคุกคามจากสินค้าและบริการทดแทน (Threat of Substitute Products or Services)
ภัยคุกคามจากสินค้าและบริการทดแทน จะเกิดขึ้นเมื่อมีตัวเลือกอื่นที่สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้ดีในราคาที่ต่ำกว่า ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อยอดขายและความสามารถในการทำกำไร ยกตัวอย่างของภัยคุกคามนี้ เช่น บริการสตรีมมิ่งที่เข้ามาแทนที่ร้านเช่าแผ่นภาพยนตร์หรือโรงภาพยนตร์
หากธุรกิจที่ต้องการลดความเสี่ยงจากสินค้าและบริการทดแทน ควรวิเคราะห์จุดแข็ง วิเคราะห์จุดอ่อนของสินค้าและบริการทดแทน เพื่อพัฒนาธุรกิจของตนเองให้มีคุณค่ามากขึ้น โดยเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์หรือบริการ เช่น การนำเสนอคุณภาพที่เหนือกว่า, การเพิ่มฟีเจอร์ที่แตกต่าง, การนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ให้สินค้าหรือบริการดูน่าสนใจมากขึ้น, การพัฒนาโปรแกรมความภักดีของลูกค้าเพื่อรักษาฐานลูกค้า เป็นต้น
4. ภัยคุกคามจากคู่แข่งรายใหม่ (Threat of New Entrants)
ภัยคุกคามจากคู่แข่งรายใหม่ ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการแข่งขันทางธุรกิจ หากธุรกิจของเรามีอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดต่ำ คู่แข่งรายใหม่ก็อาจเข้ามาแข่งขันได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อส่วนแบ่งการตลาดด้วย
โดยปัจจัยที่ทำให้เกิดภัยคุกคามจากคู่แข่งรายใหม่ได้ เช่น นโยบายของรัฐที่ส่งผลต่ออุตสาหกรรมประเภทนั้นๆ, อุปสรรคด้านการกระจายสินค้าและจัดจำหน่าย, ต้นทุนในการผลิต, ความโดดเด่นของสินค้าและบริการ เป็นต้น
ทั้งนี้ธุรกิจสามารถสร้างข้อได้เปรียบในการแข่งขันได้ โดยการสร้างแบรนด์ที่แข็งแกร่ง พัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นเอกลักษณ์ หรือสร้างระบบสมาชิกที่ช่วยทำให้ลูกค้าเกิดความภักดีต่อแบรนด์
5. การแข่งขันภายในอุตสาหกรรม (Industry Rivalry)
ระดับของการแข่งขันภายในอุตสาหกรรม ส่งผลต่อการกำหนดกลยุทธ์ของธุรกิจ หากมีคู่แข่งจำนวนมากเสนอสินค้าและบริการที่คล้ายคลึงกัน ก็อาจเกิดสงครามด้านราคา ซึ่งส่งผลต่อการทำกำไรของธุรกิจ โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อความรุนแรงของการแข่งขัน เช่น ความแตกต่างของผลิตภัณฑ์, อัตราการเติบโตของอุตสาหกรรม, จำนวนคู่แข่งที่มากขึ้น, กำลังการผลิตของคู่แข่งมีมากกว่า เป็นต้น โดยกลยุทธ์ที่ช่วยให้ธุรกิจสามารถแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การสร้างความแตกต่างและการพัฒนาคุณภาพสินค้า, การให้บริการที่ดีเยี่ยม
เมื่อวิเคราะห์ Five Forces Model แล้วจะสามารถนำมาใช้ได้อย่างไร ?
นักธุรกิจ และนักลงทุนสามารถนำผลการวิเคราะห์ไปใช้ในเชิงกลยุทธ์ได้หลายวิธี ดังนี้
- ใช้ในการกำหนดกลยุทธ์การแข่งขัน : หากพบว่าการแข่งขันในอุตสาหกรรมรุนแรงขึ้น ธุรกิจอาจต้องเน้นสร้างความแตกต่างของผลิตภัณฑ์หรือพัฒนาแบรนด์ให้แข็งแกร่งขึ้น
- การเลือกซัพพลายเออร์และบริหารต้นทุน : หากซัพพลายเออร์ที่เราใช้อยู่มีอำนาจต่อรองสูง ก็อาจพิจารณาซัพพลายเออร์เจ้าอื่น หรือใช้ซัพพลายเออร์หลายเจ้าเพื่อลดการพึ่งพาและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น เช่น ราคาวัตถุดิบสูงขึ้น วัตถุดิบขาดตลาด
- การพัฒนาโปรแกรมความภักดีของลูกค้า : หากลูกค้ามีอำนาจต่อรองสูง ธุรกิจสามารถสร้างกลยุทธ์การตลาดที่มุ่งเน้นความภักดี เช่น การให้ส่วนลดพิเศษ หรือการทำระบบสมาชิกสะสมแต้ม
- ติดตามแนวโน้มตลาดและการลงทุนในนวัตกรรมใหม่ๆ : ธุรกิจควรลงทุนในนวัตกรรมและพัฒนาโซลูชันที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า เพื่อลดผลกระทบจากสินค้าและบริการทดแทน
- ใช้ในการวิเคราะห์โอกาสเพื่อขยายตลาด : หากพบว่าอุตสาหกรรมที่ดำเนินอยู่เปิดโอกาสให้ผู้เล่นรายใหม่เข้ามาได้ง่าย ธุรกิจสามารถใช้จังหวะนี้เพื่อขยายสินค้าหรือบริการใหม่ เพื่อเป็นการนำคู่แข่งและเพิ่มส่วนแบ่งการตลาด
เมื่อเข้าใจแนวทางการแข่งขันและการลงทุนแล้ว อย่าลืมเสริมความคล่องตัวทางการเงินให้ธุรกิจของคุณด้วย บัตรเครดิต KTC ที่มาพร้อมสิทธิประโยชน์มากมาย เช่น ส่วนลดในการซื้อสินค้าต่างๆ ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ อีกทั้งทุกการจ่ายผ่านบัตร 25 บาท จะได้รับ 1 คะแนน KTC FOREVER สามารถนำคะแนนไปแลกเป็นส่วนลด สินค้า/บริการ ณ ร้านค้าที่ร่วมรายการ และคะแนนไม่มีวันหมดอายุอีกด้วย หรือจะเปลี่ยนยอดชำระเต็ม เป็นยอดผ่อนก็ได้ ด้วยอัตราดอกเบี้ยพิเศษ 0.74% ต่อเดือน ทำได้ง่ายๆ ด้วยตัวเองผ่านแอป KTC Mobile สำหรับผู้ที่สนใจเพิ่มความได้เปรียบทางธุรกิจ สามารถสมัครบัตรเครดิต KTC ออนไลน์ ได้เลยตอนนี้ ทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง
ใช้จ่าย คุ้มค่า นึกถึงบัตรเครดิต KTC