เวลาที่คุณเห็นสินค้าบางอย่างที่ราคาพุ่งสูงขึ้น หรือบางครั้งก็ลดลงอย่างรวดเร็ว รู้หรือไม่ว่าอะไรคือตัวกำหนดราคาของพวกนั้น ? คำตอบก็คือ อุปสงค์ (Demand) และอุปทาน (Supply) โดยอุปสงค์ อุปทาน คือปัจจัยสำคัญที่อธิบายให้เราเข้าใจว่า ทำไมสินค้าหรือบริการบางอย่างถึงมีราคาสูงหรือต่ำลงตามความต้องการของตลาด อีกทั้งส่งผลต่อการตัดสินใจของนักธุรกิจและนักลงทุนในการจับจังหวะทำกำไรด้วย
อุปสงค์และอุปทานไม่เพียงแต่กำหนดราคาสินค้าในตลาดเท่านั้น แต่ยังมีผลต่อการวางกลยุทธ์ทางธุรกิจและการลงทุน ดังนั้น การเข้าใจถึงแนวคิดและหลักการเหล่านี้ จะช่วยให้นักธุรกิจและนักลงทุนสามารถตัดสินใจกำหนดราคาขายได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถแข่งขันในตลาดได้
อุปสงค์ คืออะไร ?
อุปสงค์ หมายถึง ปริมาณสินค้าหรือบริการที่ผู้บริโภคพร้อมที่จะซื้อในราคาที่แตกต่างกันในช่วงเวลาหนึ่ง โดยมักจะมีความสัมพันธ์กันระหว่างราคาของสินค้าและปริมาณที่ผู้บริโภคต้องการซื้อ ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว ยิ่งราคาสินค้าสูงขึ้น ความต้องการซื้อสินค้านั้นจะลดลง และในทางกลับกัน ราคาต่ำลงจะทำให้ความต้องการเพิ่มขึ้น
อุปทาน คืออะไร ?
อุปทาน หมายถึง ปริมาณสินค้าหรือบริการที่ผู้ผลิตหรือผู้จัดจำหน่ายพร้อมที่จะนำออกขายในราคาที่แตกต่างกันในช่วงเวลาหนึ่ง ซึ่งมักจะมีความสัมพันธ์กับราคาสินค้า โดยราคาสูงจะกระตุ้นให้ผู้ผลิตผลิตสินค้าเพิ่มขึ้น เพราะจะได้รับผลตอบแทนมากขึ้น ในขณะที่ราคาต่ำอาจทำให้ผู้ผลิตไม่สามารถผลิตสินค้าหรือบริการได้ตามต้องการ
กฎของอุปสงค์และอุปทาน
กฎอุปสงค์ อุปทาน คือหลักการที่อธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่างราคาและปริมาณความต้องการซื้อ-ขายของสินค้าและบริการในตลาด
กฎของอุปสงค์ (Law of Demand)
คือ เมื่อราคาสินค้าสูงขึ้น ปริมาณความต้องการซื้อจะลดลง และเมื่อราคาสินค้าลดลง ปริมาณความต้องการซื้อจะเพิ่มขึ้น
กฎของอุปทาน (Law of Supply)
เมื่อราคาสินค้าสูงขึ้น ปริมาณการผลิตหรือการขายจะเพิ่มขึ้น และเมื่อราคาสินค้าลดลง ปริมาณการผลิตหรือการขายจะลดลงด้วยเช่นกัน
อุปสงค์และอุปทานเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยกำหนดราคาและปริมาณสินค้าในตลาดก็จริง แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับผู้บริโภคด้วยเช่นกัน
ปัจจัยที่มีผลต่ออุปสงค์และอุปทาน
อุปสงค์และอุปทานไม่ได้ขึ้นอยู่กับราคาเพียงอย่างเดียว แต่ยังได้รับอิทธิพลจากปัจจัยอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งส่งผลต่อพฤติกรรมของทั้งผู้บริโภคและผู้ผลิตในตลาด ดังนี้
ปัจจัยที่มีผลต่ออุปสงค์
1.รายได้ของผู้บริโภค
เมื่อรายได้ของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น ก็จะมีความสามารถในการซื้อมากขึ้น ทำให้อุปสงค์ต่อสินค้าหรือบริการต่างๆ เพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น รถยนต์หรู เครื่องประดับ เครื่องสำอาง ในทางกลับกัน หากรายได้ลดลง อุปสงค์ต่อสินค้าจำเป็นอาจไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แต่สินค้าฟุ่มเฟือยจะมีความต้องการลดลงนั่นเอง
2.รสนิยมและความชื่นชอบของผู้บริโภค
เทรนด์หรือกระแสสังคมมีผลต่ออุปสงค์โดยตรง เช่น หากมีดาราหรือ Influencer ช่วยโฆษณาสินค้าใดๆ สินค้านั้นมักจะได้รับความนิยมมากขึ้น ส่งผลให้อุปสงค์สูงขึ้น และในทางตรงกันข้าม หากผู้บริโภคเลิกให้ความสนใจหรือมีสินค้าทดแทนที่ดีกว่า อุปสงค์ต่อสินค้านั้นก็จะลดลง
3.ราคาสินค้าทดแทนและสินค้าประกอบกัน
หากราคาของสินค้าทดแทน (Substitutes) เช่น น้ำอัดลมแบรนด์ A สูงขึ้น ผู้บริโภคอาจหันไปซื้อแบรนด์ B แทน ทำให้ความต้องการสินค้าแบรนด์ B เพิ่มขึ้น
ซึ่งสินค้าประกอบกัน (Complementary Goods) ก็มีผลเช่นกัน เช่น หากราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อุปสงค์ต่อรถยนต์ก็อาจลดลง
4.ความคาดหวังของผู้บริโภค
หากผู้บริโภคคาดการณ์ว่าราคาสินค้าจะสูงขึ้นในอนาคตก็อาจจะรีบซื้อสินค้าทันที ส่งผลให้อุปสงค์เพิ่มขึ้น แต่หากคาดว่าราคาจะลดลง ก็อาจจะชะลอการซื้อ ส่งผลให้อุปสงค์ลดลง
ปัจจัยที่มีผลต่ออุปทาน
1.เทคโนโลยีและนวัตกรรม
การพัฒนาเทคโนโลยีมีส่วนช่วยให้การผลิตมีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยลดต้นทุน และเพิ่มผลผลิต ส่งผลให้อุปทานเพิ่มขึ้น ยกตัวอย่างเช่น เทคโนโลยีเครื่องจักรอัตโนมัติที่ช่วยให้โรงงานผลิตสินค้าได้มากขึ้นโดยใช้แรงงานน้อยลง
2.ต้นทุนการผลิต
หากต้นทุนวัตถุดิบ ค่าแรง หรือค่าขนส่งเพิ่มขึ้น ผู้ผลิตอาจต้องลดปริมาณการผลิตลง เนื่องจากต้นทุนสูงขึ้น ทำให้อุปทานลดลง ในทางกลับกัน หากต้นทุนลดลง เช่น ราคาน้ำมันลดลง ต้นทุนการขนส่งก็จะลดลง ทำให้ผู้ผลิตสามารถเพิ่มอุปทานสินค้าได้
3.ภาษีและนโยบายของรัฐบาล
การขึ้นภาษีสินค้าอาจทำให้ต้นทุนของผู้ผลิตสูงขึ้น ส่งผลให้อุปทานลดลง ในทางกลับกัน หากรัฐบาลให้เงินอุดหนุนหรือลดภาษีสำหรับอุตสาหกรรมบางประเภท อุปทานของสินค้านั้นก็อาจเพิ่มขึ้น
4.จำนวนผู้ผลิตในตลาด
หากมีผู้ผลิตรายใหม่เข้าสู่ตลาดมากขึ้น อุปทานของสินค้านั้นก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ทำให้เกิดการแข่งขันด้านราคาสูงขึ้น แต่หากมีผู้ผลิตลดลง เช่น โรงงานบางแห่งปิดตัวลง อุปทานก็จะลดลงตามไปด้วย
5.สภาพอากาศและภัยธรรมชาติ
สำหรับสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรและทรัพยากรธรรมชาติ เช่น อาหาร หากเกิดภัยพิบัติตามธรรมชาติ ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรเสียหายหรือลดลง อุปทานก็จะลดลง แต่หากสภาพอากาศเอื้ออำนวย ผลผลิตก็จะออกมามากขึ้น อุปทานก็จะเพิ่มขึ้นนั่นเอง
ถ้าอุปสงค์ต่อสินค้ามีมากกว่าอุปทานจะเป็นอย่างไร
เมื่ออุปสงค์สูงกว่าอุปทานก็จะทำให้ราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคพร้อมที่จะจ่ายในราคาที่สูงขึ้น เพื่อให้ได้สินค้าตามที่ต้องการ เหตุการณ์นี้จะทำให้ธุรกิจที่สามารถตอบสนองอุปสงค์ได้มีโอกาสทำกำไรสูง และบางครั้งอาจนำไปสู่การลงทุนในธุรกิจที่มีศักยภาพในการผลิตสินค้าที่มีความต้องการสูง
สำหรับนักลงทุน การเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างอุปสงค์และอุปทานเป็นสิ่งสำคัญในการวิเคราะห์ตลาดและการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีศักยภาพ เช่น การลงทุนในหุ้นของบริษัทที่ผลิตสินค้าที่มีอุปสงค์สูงในตลาด
นอกจากนี้ การเข้าใจอุปสงค์และอุปทานเป็นสิ่งสำคัญสำหรับนักธุรกิจและนักลงทุน เพราะช่วยให้สามารถวางแผนการผลิต กำหนดราคา และวิเคราะห์แนวโน้มของตลาดได้อย่างแม่นยำ ยิ่งสามารถจับจังหวะของตลาดได้ดีเท่าไร โอกาสในการทำกำไรก็จะมากขึ้น
เท่านั้นยังไม่พอ การบริหารการเงินก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญสำหรับผู้ที่ต้องการประสบความสำเร็จในการลงทุน บัตรเครดิต KTC พร้อมเป็นตัวช่วยที่ทำให้การบริหารเงินของคุณสะดวกยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะใช้จ่ายเพื่อสร้างโอกาสในการลงทุนหรือใช้เป็นวงเงินสำรองเพื่อหมุนเวียนธุรกิจก็สามารถสมัครได้ง่าย พร้อมสิทธิพิเศษมากมายที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของนักลงทุนยุคใหม่ สำหรับใครที่สนใจสมัคร สามารถสมัครบัตรเครดิต KTC ผ่านทางออนไลน์ได้ทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง
ใช้จ่าย คุ้มค่า นึกถึงบัตรเครดิต KTC