ไฟฟ้าถือเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการดำรงชีวิต ด้วยเหตุนี้ ค่าไฟจึงถือเป็นหนึ่งในรายจ่ายสำคัญประจำเดือนของทุกครัวเรือน หากคุณมีคำถามเกี่ยวกับค่าไฟฟ้า ว่าค่าไฟหน่วยละกี่บาท 2568
นี้ จะมีการปรับค่าไฟหน่วยละกี่บาท ดูตรงไหน สามารถค้างค่าไฟได้กี่เดือน จ่ายช้าได้กี่วัน และอื่นๆ อีกมากมาย วันนี้เราได้รวบรวมข้อมูลสำคัญมาไว้ให้แล้ว
ค่า Ft คืออะไร ?
ค่า Ft หรือ Fuel Adjustment Charge (at the given time) คือ ค่าไฟฟ้าผันแปร หรือสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้า ซึ่งจะเพิ่มขึ้น หรือลดลงตามการเปลี่ยนแปลงของต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิง และค่าซื้อไฟฟ้าจากเอกชนหรือประเทศเพื่อนบ้าน รวมไปถึงค่าใช้จ่ายที่การไฟฟ้าไม่สามารถควบคุมได้ ทั้งนี้ จะมีการปรับทุกๆ 4 เดือน โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานจะเป็นผู้พิจารณาปรับค่า Ft โดยค่า Ft ประจำเดือนมกราคม – เมษายน 2568 อยู่ที่หน่วยละ 0.3672 บาท
ค่าไฟหน่วยละกี่บาท 2568
สำหรับใครที่มีคำถามว่า ค่าไฟหน่วยละกี่บาท 2568 นี้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ประกาศอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับงวดเดือนมกราคม - เมษายน 2568 แล้ว ในอัตรา 4.15 บาทต่อหน่วย
วิธีดูค่าไฟมีกี่วิธี
ค่าไฟหน่วยละกี่บาท ดูตรงไหน บอกเลยว่ามีหลายวิธีที่คุณสามารถดูค่าไฟฟ้าของตัวเองได้ โดยทั่วไปมีดังนี้
- ดูจากใบแจ้งหนี้ค่าไฟฟ้าประจำเดือน ที่ทางการไฟฟ้าจะส่งมาให้ ซึ่งใบแจ้งหนี้จะระบุปริมาณการใช้ไฟฟ้าและค่าใช้จ่ายที่ต้องชำระ
- ดูผ่านเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน
สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวง (MEA) สามารถดูค่าไฟฟ้าได้ 2 ช่องทาง คือ
เว็บไซต์ https://eservice.mea.or.th และ แอปพลิเคชัน MEA Smart Life ทั้งนี้ ผู้ใช้ไฟฟ้าจะต้องสมัครใช้บริการรับใบแจ้งค่าไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ (MEA e-Bill) ก่อน โดยหลังสมัครแล้วจะมีผลในรอบบิลถัดไป ส่วนผู้ใช้ไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) สามารถดูค่าไฟฟ้าได้ 2 ช่องทาง คือ เว็บไซต์ https://eservice.pea.co.th และ แอปพลิเคชัน PEA e-Bill
ค่าไฟจ่ายที่ไหนได้บ้าง ? ปี 2568
การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)
อำนวยความสะดวกให้ลูกค้าเลือกชำระค่าไฟฟ้าได้หลายช่องทาง อาทิ
- ผ่าน PEA Smart Plus (ค่าบริการตามอัตราที่ผู้ให้บริการฯ กำหนด)
- ศูนย์บริการ PEA Front Office
- ผ่านตัวแทนเก็บเงินที่ได้รับแต่งตั้งจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
- ผ่านตัวแทนจุดบริการรับชำระเงิน (ค่าบริการตามอัตราที่ตัวแทนฯ กำหนด)
- หักบัญชีเงินฝากธนาคาร (PEA รับภาระค่าธรรมเนียม)
- หักบัญชีบัตรเครดิต
- ผ่าน PEA e-Pay (ค่าบริการตามอัตราที่ผู้ให้บริการฯ กำหนด)
- ผ่าน Mobile Application ของผู้ให้บริการภายนอก (ค่าบริการตามอัตราที่ผู้ให้บริการฯ กำหนด)
- ผ่าน Website ของผู้ให้บริการภายนอก (ค่าบริการตามอัตราที่ผู้ให้บริการฯ กำหนด)
- ตู้เติมเงิน (ค่าบริการตามอัตราที่ผู้ให้บริการฯ กำหนด)
สามารถตรวจสอบรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่
การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.)
สำหรับช่องทางการชำระค่าไฟของ “การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.)” มีดังนี้
- ณ ที่ทำการ กฟน. 18 แห่ง และสาขาย่อย 12 แห่ง
- ศูนย์ราชการเบ็ดเสร็จในห้างสรรพสินค้า
- ชำระผ่านเคาน์เตอร์ตัวแทน
- หักบัญชีธนาคาร
- หักบัญชีบัตรเครดิต
- ชำระผ่านทาง ATM
- ชำระผ่านทาง Internet Banking
- ชำระผ่านทาง Mobile Banking
- ชำระผ่านทาง MEA Smart Life Application
- ชำระผ่านทาง Mobile Phone
สามารถตรวจสอบรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่
ค้างค่าไฟได้กี่เดือน จ่ายค่าไฟช้าได้กี่วัน ปี 2568
การไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ได้สนองตามนโยบายกระทรวงมหาดไทย เห็นชอบให้ลดภาระและบรรเทาค่าใช้จ่ายแก่กลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัย ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 บาท/เดือน สามารถค้างค่าไฟได้ในจำนวนเดือนที่มากขึ้น เพื่อเป็นการบรรเทาภาระประชาชน โดยมีรายละเอียด ดังนี้
- เป็นผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัย ที่มีค่าไฟฟ้าไม่เกิน 300 บาท/เดือน
- ขยายระยะเวลางดจ่ายกระแสไฟฟ้า เป็นไม่เกิน 3 เดือน (หรือ รวมกันไม่เกิน 3 บิล)
- สำหรับใบแจ้งค่าไฟฟ้าประจำเดือน มกราคม - มีนาคม 2568 (ตั้งแต่ใบแจ้งค่าไฟฟ้าวันที่ 14 มกราคม – 13 เมษายน 2568)
ทั้งนี้ ผู้ใช้ไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่หมายเลข 1129 PEA Contact Center ตลอด 24 ชั่วโมง ส่วนผู้ใช้ไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวง สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ ได้แก่
- Facebook : การไฟฟ้านครหลวง MEA
- Line : MEA Connect (@MEAthailand) สัญลักษณ์โล่สีเขียวนำหน้าชื่อบัญชีทางการ
- X : @mea_news
- ศูนย์บริการข้อมูลผู้ใช้ไฟฟ้าการไฟฟ้านครหลวง MEA Call Center 1130 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
อ้างอิงจาก : https://www.mea.or.th/public-relations/corporate-news-activities/announcement/4jETgQavk
ทำอย่างไรเมื่อโดนตัดไฟ ?
ผู้ใช้ไฟของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) หากถูกงดจ่ายไฟฟ้าเกิน 90 วัน ให้ยื่นคำร้องขอติดตั้งมิเตอร์ใหม่ ส่วนผู้ใช้ไฟของการไฟฟ้านครหลวง (MEA) หากถูกตัดไฟเพราะไม่ชำระค่าไฟฟ้าตามกำหนด ทางการไฟฟ้านครหลวง มีสิทธิ์ที่จะงดจ่ายไฟฟ้า โดยสามารถขอต่อกลับได้ภายใน 1 ปี ซึ่งแบ่งเป็น 2 ช่วงเวลาดังนี้
1. กรณีขอต่อกลับภายใน 6 เดือน
- ติดต่อการไฟฟ้าเพื่อชำระค่าต่อกลับ
- ผู้ใช้จะต้องวางหลักประกันการใช้ไฟฟ้าใหม่ ในกรณีผู้ขอต่อกลับไม่เคยวางหลักประกันการใช้ไฟฟ้ามาก่อน (ยกเว้นผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็ก)
- ผู้ใช้ต้องชำระค่าตรวจสอบอุปกรณ์ภายใน กรณีที่มีการเปลี่ยนแปลง
- ในกรณีที่ MEA ต้องเสียค่าปรับปรุง เปลี่ยนแปลง อุปกรณ์ระบบจ่ายไฟฟ้า อันเนื่องมาจากการใช้ไฟฟ้าของผู้ต่อกลับ ผู้ใช้จะต้องชำระค่าอุปกรณ์ระบบจำหน่ายไฟฟ้าเหล่านั้นตามค่าใช้จ่ายจริง
- MEA จะต่อกลับไฟฟ้าภายใน 24 ชั่วโมง สำหรับกรณีค้างชำระค่าไฟฟ้า หรือไม่ได้วางหลักประกันการใช้ไฟฟ้า
2. กรณีขอต่อกลับ 6 เดือน แต่ไม่เกิน 1 ปี
- ติดต่อการไฟฟ้าเพื่อชำระค่าต่อกลับ
- ผู้ใช้จะต้องวางหลักประกันการใช้ไฟฟ้าใหม่ ในกรณีผู้ขอต่อกลับไม่เคยวางหลักประกันการใช้ไฟฟ้ามาก่อน (ยกเว้นผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็ก)
- ในกรณีที่ MEA ต้องเสียค่าปรับปรุง เปลี่ยนแปลง อุปกรณ์ระบบจ่ายไฟฟ้า อันเนื่องมาจากการใช้ไฟฟ้าของผู้ต่อกลับ ผู้ใช้จะต้องชำระค่าอุปกรณ์ระบบจำหน่ายไฟฟ้าเหล่านั้นตามค่าใช้จ่ายจริง
- ผู้ใช้ต้องชำระค่าตรวจอุปกรณ์ไฟฟ้าภายใน ไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในหรือไม่ก็ตาม
ทั้งนี้ผู้ให้บริการไฟฟ้าจะไม่สามารถงดจ่ายไฟได้ในกรณีต่อไปนี้
- วันเสาร์และวันอาทิตย์
- ผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีบุคคลในความดูแล หรือมีผู้ป่วยที่ต้องใช้ไฟฟ้าในการเดินเครื่องมือทางการแพทย์เพื่อรักษาพยาบาล ซึ่งลงทะเบียนรายชื่อไว้กับการไฟฟ้านครหลวงแล้ว
สำหรับสถานที่ติดต่อ สามารถติดต่อได้ที่แผนกบริการการไฟฟ้านครหลวงเขตทุกแห่ง หรือที่ทำการสาขาย่อย
แนะนำวิธีประหยัดไฟ
การประหยัดพลังงานไฟฟ้าเป็นหนึ่งในวิธีที่ช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ เพียงแค่เราปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่าง ก็ช่วยลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าได้อย่างมีนัยสำคัญแล้ว เช่น
- เลือกซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านที่มีฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 เช่น ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า เป็นต้น สำหรับสมาชิกบัตรเครดิต KTC สามารถช้อปเครื่องใช้ไฟฟ้าสุดคุ้มด้วยโปรโมชั่นผ่อน 0% นานสูงสุด 10 เดือน พร้อมรับเครดิตเงินคืนสูงสุด 3% ทั้งลด ทั้งรับ รวมสูงสุด 18%
- ปิดอุปกรณ์ไฟฟ้าเมื่อไม่ใช้งานและไม่ควรเสียบปลั๊กคาไว้ตลอดเวลา เพราะการปล่อยให้อุปกรณ์ไฟฟ้าทำงานขณะไม่ได้ใช้งาน จะสิ้นเปลืองพลังงานโดยเปล่าประโยชน์ จึงควรปิดสวิตช์เมื่อไม่ต้องการใช้งาน ไม่ควรเสียบปลั๊กคาไว้ตลอดเวลา
- ติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ หรือ Solar Roof เพื่อช่วยผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งนับเป็นแหล่งพลังงานทดแทนสะอาดที่ช่วยลดค่าไฟฟ้าลงได้อย่างมาก
- ใช้หลอดประหยัดไฟหรือหลอด LED เพราะจะช่วยลดการใช้ไฟฟ้าลงได้ถึง 75% เมื่อเทียบกับการใช้หลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ โดย LED ให้ความสว่างสูงแต่กินไฟน้อย
- ปรับอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศให้อยู่ระหว่าง 25-27 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นระดับที่เหมาะสมและประหยัดไฟ เพราะหากสูงหรือต่ำเกินไป จะทำให้เครื่องปรับอากาศต้องทำงานหนักและสิ้นเปลืองพลังงานมาก
- ใช้ผ้าม่านกันแสงแดด เพื่อไม่ให้เครื่องปรับอากาศทำงานหนักและช่วยรักษาความเย็นภายในห้องได้
- หากอากาศไม่ร้อนมาก แนะนำให้ใช้พัดลมแทนเครื่องปรับอากาศเพื่อช่วยประหยัดค่าไฟ
นอกจากเทคนิคประหยัดไฟที่จะช่วยประหยัดเงินในกระเป๋าได้แล้ว อีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยให้คุณบริหารจัดการการใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น คือการจ่ายค่าไฟฟ้าด้วยบัตรเครดิต เพราะมีข้อดีหลายอย่าง เช่น ได้รับคะแนนสะสมจากการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต ซึ่งสามารถนำไปแลกของรางวัลหรือส่วนลดต่างๆ ได้ด้วย และบางแอปพลิเคชันช้อปปิ้งออนไลน์ยังมีโปรโมชั่นส่วนลดสำหรับการจ่ายค่าไฟผ่านบัตรเครดิตอีกด้วย สำหรับผู้ที่สนใจสมัครบัตรเครดิต สามารถสมัครบัตรเครดิต KTC ออนไลน์ได้ง่ายๆ ตลอด 24 ชม.
ใช้จ่าย คุ้มค่า นึกถึงบัตรเครดิต KTC