เมื่อเข้าสู่วงการมนุษย์เงินเดือน เรื่องของการ “ลา” ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่มนุษย์เงินเดือนจำเป็นต้องมีความรู้และความเข้าใจ เพื่อจะได้สามารถใช้วันลาได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ซึ่งเหตุผลในการลางานที่หลายคนมักเกิดข้อสงสัย ก็คือการ “ลากิจ” ว่าสามารถใช้ลาได้เมื่อใด และสามารถลาสูงสุดได้กี่วันตามกฎหมายแรงงาน วันนี้ KTC จะพาทุกคนไปหาคำตอบในเรื่องนี้พร้อมๆ กัน
ลากิจคือการลาเพื่อไปทำกิจธุระส่วนตัวที่ไม่สามารถให้ผู้อื่นทำแทนได้
ลากิจคืออะไร?
ลากิจ หรือที่ในภาษาอังกฤษส่วนใหญ่เรียกว่า Personal Leave ก็คือการลาเพื่อไปทำธุระส่วนตัว ที่ไม่สามารถให้ผู้อื่นทำแทนได้ การลากิจนั้นเรียกได้ว่ามีความหลากหลายทางด้านเหตุผลในการลา ซึ่งแต่ละคนต่างมีเหตุผลในการลากิจที่แตกต่างกัน แต่โดยภาพรวมการลากิจ มักจะใช้ในการลาเพื่อไปทำกิจธุระสำคัญ มีความจำเป็นที่ไม่สามารถให้ใครไปแทนได้ หรือต้องทำในวันธรรมดาเท่านั้น
ลากิจมีอะไรบ้าง?
อย่างที่กล่าวไปว่าการลากิจนั้น มีเหตุผลในการลาที่หลากหลาย โดยสามารถสรุปตัวอย่างการลากิจได้ดังนี้
- ลากิจเพื่อไปติดต่อหน่วยงานราชการ
- ลากิจเพื่อไปงานศพของคนในครอบครัว (พ่อ แม่ พี่น้อง สามี ภรรยา หรือลูก)
- ลากิจเพื่อไปสอบ (กรณีกำลังศึกษาในระดับปริญญาโท และมีการสอบในวันทำงาน)
- ลากิจเพื่อไปงานรับปริญญาตนเอง
- ลากิจเพื่อพาสมาชิกในครอบครัวไปพบแพทย์ (มักให้ยื่นใบนัดแพทย์ประกอบการลา)
- ลากิจเพื่อไปเป็นพยานตามหมายศาล
- ลากิจฉุกเฉิน (กรณีเกิดอุบัติเหตุฉุกเฉินขณะไปทำงาน จึงไม่สามารถไปทำงานได้แบบกะทันหัน)
กรณีเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน เช่น มีการเสียชีวิตกะทันหันของคนในครอบครัว หรือต้องรีบพาสมาชิกในครอบครัวไปพบแพทย์อย่างเร่งด่วน แต่นายจ้างไม่อนุญาตให้ลา แต่ลูกจ้างต้องไปเพราะถือเป็นเหตุผลอันสมควร เป็นไปตามกฎหมาย ในกรณีนี้นายจ้างหรือบริษัท ไม่สามารถเลิกจ้าง หรือหากบังคับให้ลาออก นายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายด้วยเช่นกัน ซึ่งเราในฐานะลูกจ้าง จะต้องอ่านรายละเอียดกฎของบริษัทหรือองค์กรที่ทำงานให้ดี ว่ามีการเขียนรายละเอียดการลากิจว่าอย่างไรบ้าง จะได้ไม่ถูกนายจ้างเอาเปรียบได้
ลากิจได้สูงสุดกี่วันตามกฎหมายแรงงาน?
อ้างอิงจาก พรบ. คุ้มครองแรงงาน มาตรา 34 กำหนดไว้ว่า นายจ้างจะต้องอนุญาตให้ลูกจ้างลากิจได้ไม่น้อยกว่า 3 วันทำงานต่อปี โดยลูกจ้างทุกประเภทมีสิทธิ์ในการลากิจ และให้สิทธิ์กับนายจ้างในการกำหนดวันลากิจของแต่ละองค์กร หรือบริษัทกี่วันก็ได้ แต่ต้องไม่น้อยกว่า 3 วันทำงาน ซึ่งหากลูกจ้างต้องการลากิจมากกว่าจำนวนที่นายจ้างกำหนดไว้ สามารถใช้เป็นการลาโดยไม่รับค่าจ้าง หรือลาพักร้อนแทนได้ โดยเป็นไปตามระเบียบและข้อบังคับของนายจ้างนั้นๆ
หากลากิจ นายจ้างหักเงินได้หรือไม่?
ตามที่ พรบ. คุ้มครองแรงงานได้กำหนดให้ลูกจ้าง สามารถมีสิทธิ์ในการลากิจได้ไม่น้อยกว่า 3 วันทำงานต่อปี หมายความว่าลูกจ้างสามารถลากิจได้ 3 วัน โดยนายจ้างไม่สามารถหักเงินลูกจ้างได้ แต่ถ้าหากมีการลากิจมากกว่า 3 วัน หรือมากกว่าจำนวนวันลากิจที่นายจ้างกำหนดไว้ในสัญญาจ้างงาน นายจ้างสามารถที่จะหักเงินลูกจ้างได้
ลากิจ กับ ลาฉุกเฉิน มีความแตกต่างกันอย่างไร?
เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งคำถามที่หลายคนสงสัย ว่าการลาฉุกเฉินนั้นเหมือนลากิจหรือไม่ ซึ่งตามที่ได้กล่าวไปว่าการลาฉุกเฉิน ถือเป็นการลากิจรูปแบบหนึ่ง หรือจะให้เรียกอย่างถูกต้องก็คือ “การลากิจฉุกเฉิน” ดังนั้นเรียกได้ว่าการลากิจ และการลาฉุกเฉินนั้นเป็นการลาแบบเดียวกัน โดยจะใช้ในกรณีที่มีเหตุเร่งด่วนที่ไม่สามารถทราบล่วงหน้าได้ เช่น การเสียชีวิตกะทันหันของสมาชิกในครอบครัว การต้องพาสมาชิกในครอบครัวไปพบแพทย์อย่างเร่งด่วน หรือเกิดอุบัติเหตุฉุกเฉินที่ไม่สามารถมาทำงานได้ในวันทำงาน ซึ่งเงื่อนไขในการลากิจฉุกเฉินนั้น อาจต้องมีการยื่นหลักฐานเพื่ออ้างอิงการใช้สิทธิ์สำหรับบางบริษัท หรือองค์กร โดยมีความแตกต่างกันไปตามเงื่อนไขของนายจ้าง
การลากิจ ถือเป็นอีกหนึ่งสิทธิ์ของลูกจ้างที่พึงได้รับจากนายจ้าง ซึ่งมนุษย์เงินเดือนทุกคน ควรมีความรู้ และความเข้าใจพื้นฐานของสิทธิพื้นฐานของตนเอง ซึ่งแต่ละบริษัทต่างมีข้อกำหนด และกฎระเบียบที่แตกต่างกัน จึงควรศึกษาให้เข้าใจ เพื่อไม่ให้โดนเอาเปรียบ เข้าใจข้อมูลเรื่องการลากิจแล้ว อย่าลืมเตรียมตัวให้พร้อมเรื่องการใช้จ่าย เมื่อเริ่มเข้าสู่วัยทำงาน รายจ่ายก็ย่อมมากขึ้น ดังนั้นควรเลือกใช้จ่ายอย่างคุ้มค่า ด้วยบัตรเครดิต KTC บัตรเครดิตที่เต็มไปด้วยสิทธิพิเศษมากมาย ครอบคลุมทุกไลฟ์สไตล์การช้อป ไม่มีค่าธรรมเนียมตลอดชีพ พร้อมสะสมคะแนน KTC FOREVER สะสมได้ไม่มีวันหมดอายุ เพื่อใช้แลกส่วนลด เครดิตเงินคืนจากร้านค้า และห้างสรรพสินค้าชั้นนำ รวมไปถึงสามารถเลือกโปรโมชั่นผ่อน 0% นานสูงสุด 10 เดือน ณ ร้านค้าที่ร่วมรายการเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้ และทำให้ทุกการใช้จ่ายสะดวกสบาย และคุ้มค่ากว่าที่เคย สมัครบัตรเครดิต KTC ออนไลน์
ด้วยตนเองง่ายๆ ผ่านเว็บไซต์ได้เลย
ใช้จ่าย คุ้มค่า นึกถึงบัตรเครดิต KTC