ได้เวลาแห่งการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษี 2567 กันแล้ว สำหรับใครที่จะต้องเสียภาษีเป็นครั้งแรกแล้วสงสัยว่า ทำอย่างไรได้ลดหย่อนภาษี หากยื่นภาษีแล้ว จะได้รับเงินคืนภาษีหรือไม่ ถ้าได้จะได้เงินภาษีคืนเท่าไหร่ เช็คยังไง หากคืนเงินภาษีผ่านพร้อมเพย์ กี่วันถึงจะได้รับเงิน แล้วมีขั้นตอนยื่นภาษีอย่างไรบ้าง บทความนี้จะมาไขข้อสงสัยทุกอย่างให้กับคุณ
เงินคืนภาษีคืออะไร ?
เงินคืนภาษี คือ เงินที่กรมสรรพากรคืนให้แก่ผู้เสียภาษี หากคุณมีเงินได้สุทธิตั้งแต่ 150,000 บาทต่อปีขึ้นไป ก็จำเป็นจะต้องเสียภาษีตามที่กำหนด กรณีที่ผู้เสียภาษีมีการเสียภาษีเกินกว่าจำนวนภาษีที่ต้องชำระตามกฎหมาย ก็จะได้รับเงินคืนภาษี โดยเงินจำนวนนี้ก็จะถูกโอนเข้าบัญชีธนาคารของผู้เสียภาษีนั่นเอง
วิธีคิดเงินคืนภาษี
สำหรับการคำนวณเงินคืนภาษีคร่าวๆ มีวิธีคิด ดังนี้
เงินได้สุทธิ x อัตราภาษี = ภาษีที่ต้องจ่าย
แต่อย่าเพิ่งจ่ายภาษีทันที เพราะว่ามนุษย์เงินเดือนทุกคนนั้นได้มีการถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ไว้ตลอดทุกเดือนอยู่แล้ว ดังนั้นให้นำ
ภาษีที่ต้องจ่าย - ภาษีหัก ณ ที่จ่าย = เงินคืนภาษี
หากคำนวณออกมาแล้ว
- ภาษีที่ต้องจ่าย เท่ากับ ภาษีหัก ณ ที่จ่าย หมายถึง ไม่ต้องเสียภาษี
- ภาษีที่ต้องจ่าย มากกว่า ภาษีหัก ณ ที่จ่าย หมายถึง ต้องเสียภาษี
- ภาษีที่ต้องจ่าย น้อยกว่า ภาษีหัก ณ ที่จ่าย หมายถึง ได้รับเงินคืนภาษี
หรือถ้าจะให้ง่ายที่สุดก็ยื่นภาษีออนไลน์ โดยให้ระบบคำนวณให้เลยเพื่อความแม่นยำ
ยื่นภาษีออนไลน์ สามารถยื่นได้ถึงวันที่ 8 เม.ย. 2567
ยื่นภาษีในปี 2567 สุดท้ายวันที่เท่าไหร่ ?
สำหรับปี 2568 นี้ ผู้เสียภาษีจะต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี 2567 ด้วยตัวเอง สำหรับการยื่นแบบกระดาษ สามารถยื่นได้ที่สำนักงานสรรพากรได้ถึงวันที่ 31 มี.ค. 2568 ส่วนการยื่นภาษีออนไลน์ สามารถยื่นได้ถึงวันที่ 8 เม.ย.2568
ขั้นตอนการขอเงินคืนภาษี
หลังจากยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด. 90/91) ด้วยตัวเองหรือผ่านเว็บไซต์ของกรมสรรพากรเรียบร้อยแล้ว ในขั้นตอนสุดท้ายจะมีข้อมูลแสดงว่าเราสามารถขอเงินคืนภาษีได้เท่าไหร่ที่ช่อง “ยอดภาษีสุทธิ ชำระไว้เกิน”
จากนั้นระบบจะถามเราว่า “คุณต้องการขอคืนเงินภาษีที่ชำระเกินไว้หรือไม่?” หากต้องการขอเงินคืนภาษี ให้คลิก “ต้องการขอคืน” แล้วคลิก “ถัดไป” จากนั้นหน้าเว็บไซต์จะแสดงผลการยื่นภาษีแบบสำเร็จ เมื่อยื่นสำเร็จแล้วก็รอเงินคืนภาษีเข้าบัญชีได้เลย
ช่องทางรับเงินคืนภาษี
สำหรับช่องทางรับเงินภาษีคืนนั้น สามารถรับได้ 3 ช่องทาง ได้แก่
- พร้อมเพย์ที่ผูกบัญชีด้วยเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก
- บัญชีธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
- บัตร e-Money / e-Wallet เฉพาะธนาคารกรุงไทย
โดยปกติกรมสรรพากรจะดำเนินการคืนเงินภาษีภายใน 3 เดือน
ยื่นภาษีเสร็จแล้วจะได้รับเงินคืนภาษีเมื่อไหร่ ภายในกี่วัน ?
โดยปกติแล้วกรมสรรพากรจะดำเนินการคืนเงินภาษีภายใน 3 เดือน กรณีมีเอกสารชัดเจนแสดงว่า ได้มีการเสียภาษีไว้เกิน ผิด ซ้ำ หรือไม่มีหน้าที่ต้องเสีย นับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอคืนเงินภาษีด้วยแบบ ภ.ง.ด.90/91 ที่แจ้งความประสงค์ขอคืนเงินภาษี (ค.10) อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาในการรับเงินคืนภาษีอาจเร็วหรือช้ากว่า 3 เดือน ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่น
- ความถูกต้องครบถ้วนของข้อมูลในแบบแสดงรายการภาษี
- เอกสารประกอบ
- ประวัติการเสียภาษีของผู้เสียภาษี
คืนเงินภาษีผ่านพร้อมเพย์ กี่วันได้?
กรณีที่กรมสรรพากรคืนเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารแบบพร้อมเพย์ จะได้รับเงินคืนภายใน 3 เดือนเช่นกัน
วิธีตรวจสอบสถานะการขอเงินคืนภาษี
สำหรับใครที่ทำการขอคืนภาษีไปแล้วแต่ยังไม่ได้รับเงินคืนภาษี สามารถตรวจสอบได้ตามช่องทางต่างๆ ดังนี้
- เข้าเว็บไซต์กรมสรรพากร https://rd.go.th >> เลือกเมนู My Tax Account ตรวจสอบข้อมูลทางภาษี >> ระบุหมายเลขผู้ใช้ รหัสผ่าน Laser ID หลังบัตรประจำตัวประชาชน หรือเข้าสู่ระบบด้วย Digital ID >> เลือกเบอร์โทรศัพท์ หรืออีเมลที่ได้แจ้งไว้ เพื่อรับรหัส OTP >> กรอกรหัส OTP และกดยืนยัน >> ติดตามสถานะและส่งเอกสาร
- ติดต่อศูนย์สารนิเทศสรรพากร (RD Intelligence Center) ที่เบอร์ 1161
- สำนักงานสรรพากรพื้นที่ตามภูมิลำเนาที่ปรากฏในหน้าแบบแสดงรายการ
อยากได้เงินคืนภาษี ประกันและกองทุนช่วยคุณได้
สำหรับใครที่ไม่เคยได้เงินคืนภาษีเลย แล้วสงสัยว่า "มีวิธีไหนบ้างที่ทำให้เราได้รับเงินคืนภาษี?" เราขอแนะนำวิธีง่ายๆ นั่นก็คือการทำประกันที่จะช่วยให้คุณมีสิทธิลดหย่อนและได้รับเงินคืนภาษี เช่น
- ประกันชีวิตและประกันแบบสะสมทรัพย์ สามารถใช้ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท
- ประกันสุขภาพและประกันอุบัติเหตุที่คุ้มครองสุขภาพ สามารถลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 25,000 บาท และเมื่อรวมกับประกันชีวิตและประกันแบบสะสมทรัพย์ ต้องไม่เกิน 100,000 บาท
- ประกันสุขภาพของบิดา มารดา สามารถนำมาลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท (บิดา มารดามีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี แต่ไม่จำเป็นต้องมีอายุ 60 ปีขึ้นไป)
- กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF : Retirement Mutual Fund) สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท
- กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF : Super Saving Funds) สามารถนำมาลดหย่อนได้ 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท
และยังมีประกันรวมถึงกองทุนอื่นๆ อีกมากมาย ที่สามารถช่วยคุณได้ ทั้งนี้ สำหรับกลุ่มค่าลดหย่อนประกันชีวิตและการลงทุนในการวางแผนเกษียณ ได้แก่ กองทุน RMF กองทุน SSF กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนสงเคราะห์ครูเอกชน กองทุนการออมแห่งชาติ และประกันชีวิตแบบบำนาญ เมื่อรวมกันทั้งหมดแล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
ซื้อประกันและกองทุนตอนไหนดี?
แนะนำให้ซื้อประกันช่วงต้นปี เพราะเบี้ยประกันส่วนใหญ่จะถูกกว่าปลายปี ซึ่งจะทำให้เบี้ยประกันเฉลี่ยต่อเดือนถูกลง ที่สำคัญคือบริษัทประกันมักจะมีโปรโมชั่นพิเศษสำหรับประกันบางแผนในช่วงต้นปีให้กับลูกค้า อีกทั้งเราสามารถวางแผนการเงินตลอดทั้งปีได้ง่ายขึ้นด้วย
การวางแผนภาษีที่ดี จะช่วยให้คุณได้รับเงินคืนภาษีสูงสุด แนะนำให้ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิการลดหย่อนภาษีต่างๆ รวมถึงวางแผนการเงินอย่างรอบคอบ และบัตรเครดิต KTC เอง ก็เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยให้คุณวางแผนการเงินในแต่ละเดือนได้ง่ายขึ้นเช่นกัน สนใจสมัครบัตรเครดิต KTC และ สมัครบัตรกดเงินสด KTC PROUD พร้อมสิทธิประโยชน์มากมายที่ช่วยให้คุณวางแผนภาษีได้มากขึ้นด้วย หากสนใจบัตรเครดิต KTC สามารถสมัครออนไลน์ ได้เลย
อ้างอิงจาก :
- https://www.rd.go.th/63437.html
- https://brandinside.asia/howto-refund-tax/
- https://www.moneybuffalo.in.th/tax/how-to-tax-refund
ใช้จ่าย คุ้มค่า นึกถึงบัตรเครดิต KTC