ภาษีย้อนหลัง เรื่องที่แม่ค้าออนไลน์พึงระวังเมื่อมีการซื้อขาย
ปฏิเสธไม่ได้ว่าในปัจจุบันอาชีพขายของออนไลน์ กลายเป็นอีกสายอาชีพยอดนิยมของคนไทยในปัจจุบัน เป็นธุรกิจที่สร้างรายได้ง่าย ๆ ไม่ต้องลงทุนเยอะ ไม่ต้องสต็อกของจำนวนมาก อีกทั้งขอเพียงแค่มีสินค้า สมาร์ทโฟน และอินเทอร์เน็ต ใคร ๆ ก็สามารถผันตัวมาเป็นพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์กันได้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน นักศึกษาที่ต้องการหารายได้เสริมระหว่างเรียน รวมไปถึงพนักงานประจำกับการขายของออนไลน์เป็นอาชีพเสริมหลังเลิกงาน
ทว่าสิ่งหนึ่งที่คนทำธุรกิจออนไลน์มักมองข้ามอยู่เสมอ คือ การยื่นภาษี โดยมองว่าเป็นเรื่องห่างไกลตัวจึงไม่ได้วางแผนภาษีตั้งแต่เนิ่น ๆ อีกทั้งบางคนยังคิดว่าขายของออนไลน์ได้กำไรน้อย หรือขายของราคาถูกไม่จำเป็นต้องยื่นภาษี ซึ่งนั่นเป็นความเข้าใจที่ผิดมาก และอาจเป็นสาเหตุของการถูกเรียกเก็บภาษีย้อนหลังได้ วันนี้ KTC มีเคล็ดลับง่าย ๆ ให้คนทำธุรกิจออนไลน์เตรียมรับมือกับการยื่นแบบภาษีอย่างถูกต้อง หลีกเลี่ยงการโดนภาษีย้อนหลัง รวมถึงแนะนำข้อปฏิบัติหากคุณคือหนึ่งในผู้ที่ถูกเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง ต้องปฎิบัติตัวอย่างไรมาฝากกัน
เริ่มต้นธุรกิจขายของออนไลน์ ยื่นภาษีแบบไหนให้ถูกต้อง
เริ่มต้นธุรกิจขายของออนไลน์ต้องยื่นภาษีทุกปี
สำหรับพ่อค้า แม่ค้าออนไลน์มือใหม่ต้องเริ่มทำความเข้าใจเรื่องภาษีก่อนว่า การยื่นแบบภาษีและการเสียภาษีไม่มีกำหนดอายุของผู้เสียภาษี ดังนั้นเมื่อคุณเริ่มต้นธุรกิจขายของออนไลน์มีรายได้เกิดขึ้นจริง ไม่ว่าคุณจะเป็นเพียงนักเรียน นักศึกษา หรือเป็นบุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ แต่มีรายได้เกินจากการทำธุรกิจ จำเป็นต้องยื่นภาษีหรือยื่นภาษีออนไลน์ อีกทั้งหากมีเงินได้สุทธิตลอดปีหลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนภาษีตั้งแต่ 150,001 บาทต่อปีขึ้นไป ต้องเสียภาษีอย่างถูกต้องตามกฎหมายทุกปี (กรณีเงินได้สุทธิต่อปีต่ำกว่า 150,001 บาท สามารถยื่นภาษีได้แต่ไม่ต้องเสียภาษี)
ร้านค้าออนไลน์ไม่จดทะเบียนการค้าต้องเสียภาษีบุคคลธรรมดา
กรณีที่ร้านค้าออนไลน์ไม่ได้จดทะเบียนการค้า หรือไม่ได้จดทะเบียนพาณิชย์ จะถือเป็นการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งจัดอยู่ในเงินได้ประเภทที่ 8 ได้แก่ เงินได้จากการธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่ง การขายอสังหาริมทรัพย์ ทำให้เวลาดำเนินการยื่นภาษีต้องเลือกกรอกแบบฟอร์มภาษีเงินได้บุคคล ม.40 (8) เท่านั้น นอกจากนี้หากการทำธุรกิจค้าขายออนไลน์เป็นไปได้ด้วยดี ส่งผลให้คุณมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี จะต้องยื่นจดทะเบียน VAT หรือภาษีมูลค่าเพิ่ม และเมื่อดำเนินการจดทะเบียน VAT แล้ว จำเป็นต้องปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้นอีก 7% ไม่เช่นนั้นอาจส่งผลกระทบต่อรายได้ รวมถึงมีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายในการยื่นภาษีประจำปี
จ่ายภาษีน้อยลงอย่างถูกกฎหมายด้วยสิทธิประโยชน์ทางภาษี
เริ่มต้นก่อนจ่ายภาษีและรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอื่น ๆ ผู้เสียภาษีทุกคนต้องคำนวณรายได้ ดังนี้
1. การคำนวณหาเงินได้สุทธิ เพื่อให้ได้ตัวเลขรายได้นำไปใช้คำนวณภาษีที่ต้องจ่าย โดยใช้สูตร
เงินได้ - หักค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อนภาษี = เงินได้สุทธิ
2. การคำนวณหาภาษีที่ต้องชำระจากเงินได้สุทธิ เพื่อชำระต่อกรมสรรพกรทุกปี โดยใช้สูตร
(เงินได้สุทธิ x อัตราภาษี (%)) + ภาษีสะสมสูงสุดของลำดับขั้นก่อนหน้า = จำนวนภาษีที่ต้องชำระ
คำนวณภาษีหลังหักค่าใช้จ่าย
หากคุณเปิดร้านค้าออนไลน์ผ่านหลายแพลตฟอร์ม อาทิ Website Facebook Instagram Twitter TikTok รวมถึงขายผ่านทาง Shopee และ Lazada จำเป็นต้องรวมรายได้ทั้งหมดจากทุกแพลตฟอร์มมาเป็นรายได้ก้อนเดียว เพื่อใช้ในการคำนวณภาษี และเพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระของผู้เสียภาษี ทางกรมสรรพกรจึงมีข้อกำหนดตามกฎหมาย ในการหักค่าใช้จ่ายก่อนนำไปคำนวณกับรายได้ 2 แบบ ดังนี้
แบบที่ 1 หักค่าใช้จ่ายตามจริง
สำหรับร้านค้าออนไลน์ที่มีการผลิตสินค้าเองหรือมีต้นทุนสูงในการผลิตสินค้า การหักค่าใช้จ่ายตามจริงสำหรับเตรียมยื่นแบบภาษี จะทำให้สามารถหักค่าใช้จ่ายได้มากขึ้น ซึ่งเมื่อหลังหักค่าใช้จ่ายแล้ว เงินได้สุทธิที่ต้องนำมาคำนวณภาษีก็จะลดลงด้วย แต่การจะเลือกใช้วิธีนี้คุณต้องมั่นใจว่ามีเอกสารการเดินบัญชีอย่างละเอียดและครบถ้วน เพื่อง่ายต่อการกรอกข้อมูลและตรวจสอบจากทางกรมสรรพกร
แบบที่ 2 หักค่าใช้จ่ายแบบเหมา 60%
แต่สำหรับใครที่ไม่นิยมความยุ่งยากในการกรอกเอกสารและจัดเตรียมเอกสารอย่างละเอียด การหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา 60% เป็นอีกหนึ่งวิธีที่เหมาะมาก เพราะคุณสามารถกรอกข้อมูลรายได้และค่าใช้จ่ายได้ทันที โดยไม่ต้องแสดงหลักฐานค่าใช้จ่ายใด ๆ กับทางกรมสรรพากร
ตัวอย่าง ตารางการคำนวณหาเงินได้สุทธิ ประเภทที่ 8
รายการ | จำนวนเงิน (บาท) |
เงินได้จากการขายของออนไลน์ต่อปี | 700,000 บาท |
หักค่าใช้จ่ายแบบเหมา 60% ของเงินได้ | 420,0000 บาท |
หักค่าลดหย่อนภาษีส่วนตัวสูงสุด | 60,000 บาท |
เงินได้สุทธิ | 220,000 บาท |
ตารางแสดงอัตราภาษีแบบขั้นบันได สำหรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
เงินได้สุทธิ | อัตราภาษี (%) | ภาษีสะสมสูงสุด |
150,000 บาทแรก | 0% | ได้รับการยกเว้นภาษี |
150,001 - 300,000 บาท | 5% | 7,500 บาท |
300,001 – 500,000 บาท | 10% | 27,500 บาท |
500,001 - 750,000 บาท | 15% | 65,000 บาท |
750,001 - 1,000,000 บาท | 20% | 115,000 บาท |
1,000,001 - 2,000,000 บาท | 25% | 365,000 บาท |
2,000,001 - 5,000,000 บาท | 30% | 1,265,000 บาท |
5,000,001 บาทขึ้นไป | 35% | - |
หากตัวเลขเงินได้สุทธิที่คำนวณออกมา ปรากฏชัดว่าคุณมีเงินได้สุทธิตั้งแต่ 150,001 บาทต่อปีขึ้นไป ต้องนำเงินได้สุทธินั้นมาเทียบกับตารางแสดงอัตราภาษีแบบขั้นบันได เพื่อคำนวณหาจำนวนยอดภาษีที่ต้องชำระตามจริง ดังนี้
จากตัวอย่างข้างต้น [(เงินได้สุทธิ 220,000 บาท - เงินได้สุทธิก่อนหน้าของอัตราภาษีขั้นบันได 150,000) x 5%] = จำนวนยอดภาษีที่ต้องชำระ 3,500 บาท
วางแผนภาษีดีด้วยการเลือกซื้อประกันลดหย่อนภาษี จ่ายภาษีลดลงกว่าเดิม
เมื่อได้ตัวเลขของรายได้และตัวเลขหลังหักค่าใช้จ่ายแล้ว อีกสิทธิประโยชน์ดี ๆ ทางภาษีที่หลายคนไม่ควรมองข้ามนั่นก็คือ รายการลดหย่อนภาษี อาทิ สิทธิลดหย่อนส่วนตัวและครอบครัว สิทธิลดหย่อนจากเงินบริจาค สิทธิลดหย่อนจากกลุ่มเงินออม-การลงทุน และสิทธิประกันลดหย่อนภาษี อาทิ ประกันสุขภาพที่ทำไว้อุ่นใจกว่า นอกจากกรณีเจ็บป่วยจะไม่ต้องสำรองค่ารักษาพยาบาลแล้ว เมื่อถึงช่วงยื่นภาษีประจำปียังสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย ดังนั้นหากคุณวางแผนเสียภาษีอย่างรอบคอบด้วยการเลือกใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี อาจทำให้คุณเสียภาษีน้อยลง
ตัวอย่าง ตารางการคำนวณภาษีเมื่อใช้สิทธิประโยชน์ประกันลดหย่อนภาษี
จากข้อมูลตัวอย่างตารางการคำนวณหาเงินได้สุทธิ ประเภทที่ 8 ข้างต้น และจำนวนยอดภาษีที่ต้องชำระ หากคุณมีการวางแผนภาษีตั้งแต่เนิ่น ๆ ด้วยการเลือกซื้อประกันลดหย่อนภาษีต่าง ๆ จะสามารถนำมาเปรียบเทียบได้เลยว่า ภาษีที่คุณต้องจ่ายเมื่อมีประกันลดหย่อนภาษี ทำให้คุณจ่ายภาษีได้น้อยลงกว่าเดิม ดังนี้
เงินได้สุทธิหลังหักค่าใช้จ่ายอื่น ๆ (ไม่มีประกันลดหย่อนภาษี) | 220,000 บาท |
จำนวนภาษีที่ต้องชำระ | 3,500 บาท |
เงินได้สุทธิหลังหักค่าใช้จ่ายอื่น ๆ (รวมหักประกันสุขภาพลดหย่อนภาษี สูงสุด 25,000 บาท) | 195,000 บาท |
จำนวนภาษีที่ต้องชำระ | 2,250 บาท |
ซึ่งการจะเสียภาษีแม้คุณจะพอทราบตัวเลขแล้ว แต่ต้องดำเนินการเป็นขั้นตอนเสียก่อน โดยการยื่นแบบภาษี และสำหรับธุรกิจขายของออนไลน์ทางกรมสรรพกรกำหนดให้ ยื่นภาษีได้ 2 ช่วงเวลา ได้แก่
- ยื่นภาษีครึ่งปี (ยื่นแบบ ภ.ง.ด.94) เป็นการยื่นภาษีเงินได้ช่วงครึ่งปีแรก ตั้งแต่เดือน ม.ค. - มิ.ย. ภายในวันที่ 1 ก.ค. - 30 ก.ย. ในปีเดียวกัน เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระของผู้มีรายได้ไม่ให้เสียภาษีหนักครั้งเดียวในช่วงปลายปี
- ยื่นภาษีปลายปี (ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90) เป็นการยื่นภาษีเงินได้ทั้งปีจากการสรุปรายได้ ภายในวันที่ 1 ม.ค. - 31 มี.ค. ของปีถัดไป อาทิ เงินได้ปี 2565 ควรต้องยื่นภายในช่วงต้นปี 2566
จ่ายภาษีได้ทุกช่องทางการชำระเงิน
และเมื่อดำเนินการยื่นภาษีเสร็จสิ้น หากคุณอยู่ในเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษี สามารถชำระจ่ายได้ง่าย ๆ ผ่านนช่องทางการชำระด้วยเงินสด ชำระด้วยบัตรเครดิต หรือชำระเงินออนไลน์ด้วย Internet / Mobile Banking ที่สำคัญหากช่วงชำระภาษีเป็นช่วงที่คุณมีรายจ่ายรุมเร้า แต่ต้องปฎิบัติตามข้อบังคับให้ถูกต้องตามกฎหมาย สามารถขอผ่อนชำระภาษีได้ เมื่อมีภาษีที่ต้องชำระตั้งแต่ 3,000 บาทขึ้นไป ทั้งภาษีครึ่งปีและภาษีปลายปีโดยขอผ่อนชำระภาษีได้ 3 งวดเท่า ๆ กัน โดยไม่ต้องเสียเงินเพิ่มใด ๆ
ยื่นภาษีที่ไหนได้บ้าง? จำเป็นต้องเดินทางไปกรมสรรพกรหรือไม่
ยื่นภาษีออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ E-Filing
พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์มือใหม่ไม่ต้องเป็นกังวลใจ ยุคสมัยเปลี่ยนไปทุกคนไม่จำเป็นต้องหอบเอกสาร และไปรับบัตรคิวตั้งแต่เช้าตรู่ เพื่อเตรียมดำเนินการยื่นภาษีที่สำนักงานสรรพกรอย่างเดียวอีกต่อไป สามารถยื่นภาษีออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์ https://efiling.rd.go.th/rd-cms หรือดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน RD Smart Tax ที่รองรับผู้ใช้งานผ่านระบบปฏิบัติการ iOS และ Android
แม่ค้าออนไลน์ต้องรู้ ขายของออนไลน์โดนภาษีย้อนหลังต้องทำอย่างไร
จากกรณีศึกษาที่เป็นข่าวโด่งดังในโลกโซเชียล แม่ค้าออนไลน์โดนเรียกเก็บภาษีย้อนหลังกว่า 4 ล้านบาท ทำให้ผู้ทำธุรกิจขายของออนไลน์เริ่มตระหนักรู้ถึงการยื่นและเสียภาษีมากขึ้น ซึ่งการถูกเรียกเก็บภาษีย้อนหลังอาจเกิดจากการยื่นแบบภาษีภายในเวลาที่กำหนดแต่เสียภาษีไม่ครบ ไม่ได้ยื่นแบบภาษีภายในเวลาที่กำหนด หรือเจตนาละเลยไม่ยื่นแบบภาษี
ภาษีย้อนหลังไม่ใช่เรื่องไกลตัวต้องวางแผนภาษีให้ดี
ภาษีย้อนหลังได้กี่ปี ? คำถามยอดฮิตของคนที่ยื่นภาษีผิดวิธีและเสี่ยงต่อการถูกเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง ซึ่งหากว่าตามกระบวนการทางกฎหมายแล้ว กรณีเป็นการขายของออนไลน์จากบุคคลธรรมดา ไม่ใช่นิติบุคคล ทางกรมสรรพากรมีอำนาจตรวจสอบและประเมินภาษีย้อนหลังได้ในเวลา 2 ปี หรืออาจขยายอำนาจตรวจสอบและประเมินภาษีย้อนหลังเป็น 5 ปีเลยทีเดียว แต่ทางที่ดีควรยื่นแบบภาษีและเสียภาษีให้ถูกต้องตามกฎหมายจะดีกว่า
แล้วถ้าหากคุณคือหนึ่งในผู้ที่ถูกทางกรมสรรพกรเรียกเก็บภาษีย้อนหลังเล่า ? จะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร เมื่อมั่นใจว่ายื่นภาษีถูกต้องตามกฎหมายแล้วทั้งยื่นภาษีครึ่งปีและยื่นภาษีปลายปี ให้ท่องหลักปฏิบัติ 4 ต. ดังนี้
- ตั้งสติและนึกคิดให้ดีว่าคุณยื่นภาษีแบบใด กรอกข้อมูลอะไรลงไปบ้าง ครบถ้วนหรือไม่
- ติดต่อสอบถามไปที่กรมสรรพากร เพื่อสอบถามข้อมูลและรายละเอียดทั้งหมด
- เตรียมเอกสารให้พร้อม ไม่ว่าจะเป็นหลักฐานแสดงบัญชีรายรับรายจ่าย และ Statement ย้อนหลังของบัญชีธนาคารที่ใช้ขายของออนไลน์
- เตรียมเงินจ่ายภาษีย้อนหลัง เบี้ยปรับ และเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือนของภาษีที่ต้องจ่าย
ภาษีย้อนหลังเป็นเรื่องใหญ่และไม่ไกลตัวอย่างที่คิด อีกทั้งยังอาจร้ายแรงถึงขั้นทำให้คุณเสียประวัติก็เป็นได้ หากเข้าข่ายกรณีจงใจ แจ้งข้อความเท็จ หรือแสดงหลักฐานเท็จหรือฉ้อโกง เพื่อหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือนถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 บาท ถึง 200,000 บาท
สรรพกรรู้ได้อย่างไรว่าคุณทำธุรกิจขายของออนไลน์
ขายของออนไลน์ ภาษีย้อนหลังเป็นของคู่กันในปัจจุบัน ด้วยธุรกิจการขายของออนไลน์เป็นสิ่งใหม่ และผู้เริ่มทำธุรกิจหลายคนอายุยังน้อย จึงไม่ได้ตระหนักถึงเรื่องภาษีมากเท่าที่ควร หรือคิดเพียงว่าเปิดร้านขายเล็ก ๆ ไม่ใช่ร้านใหญ่โตสรรพกรคงไม่มีทางรู้ นี่เป็นอีกหนึ่งความเชื่อผิด ๆ ที่ควรปรับความเข้าใจใหม่ว่า สรรพกรรู้ทุกความเคลื่อนไหวและความผิดปกติของบัญชีจาก ภาษีอีเพย์เมนต์ (e-Payment)
กล่าวโดยสรุปคือ ภาษีอีเพย์เมนต์ (e-Payment) เป็นข้อกำหนดให้ทุกสถาบันการเงิน ต้องส่งข้อมูลการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของร้านค้าออนไลน์ ให้แก่ทางสรรพากรตรวจสอบ โดยมีเงื่อนไขการตรวจสอบ ดังนี้
- เมื่อมีการฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชี 3,000 ครั้งต่อปีขึ้นไป ไม่ว่ายอดรวมทั้งหมดจะกี่บาทก็ตาม
- ฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกัน 400 ครั้งขึ้นไป และมียอดเงินรวมกันเกิน 2 ล้านบาทต่อปีขึ้นไป
หากคุณไม่อยากต้องมานั่งเสียภาษีย้อนหลัง KTC ขอแนะนำให้วางแผนภาษีให้ดีและไม่ควรเพิกเฉยต่อการยื่นแบบและเสียภาษีประจำปี ซึ่งการยื่นภาษีและยื่นภาษีออนไลน์ 2565 ได้ผ่านพ้นไปแล้ว และอีกไม่นานก็ใกล้เข้าสู่ช่วงยื่นภาษี 2566 ในช่วงเดือน ม.ค. - มี.ค. 2566 ขอให้พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์มือใหม่ทุกคนเตรียมเอกสารรายรับรายจ่ายให้พร้อม เพื่อใช้ยื่นแบบภาษีที่ไม่ยากอย่างที่คิด อีกทั้งยังมีสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เลือกทำง่าย ๆ ช่วยหักลบค่าใช้จ่าย ให้เงินได้สุทธิของคุณน้อยลงและเสียภาษีในอัตราที่ต่ำกว่าเดิม อาทิ ประกันสุขภาพ ประกันชีวิต การลงทุนซื้อหุ้น หรือแม้แต่การเลี้ยงดูบุตรและบิดามารดาอายุ 60 ปีขึ้นไป ยังสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย ถือเป็นข้อดีของประกันลดหย่อนภาษีที่ไม่ควรมองข้าม ง่าย ๆ เพียงเท่านี้แต่ส่งผลดีในระยะยาวไม่ต้องมัวกังวลว่าจะถูกเรียกเก็บภาษีย้อนหลังหรือไม่
อ้างอิงข้อมูลจาก: กรมสรรพากร, itax, efiling, กรุงเทพธุรกิจ
ชำระค่าเบี้ยประกันลดหย่อนภาษี ด้วยโปรโมชั่นพิเศษจาก KTC…คลิกที่นี่