ภ.ง.ด. 90 และ ภ.ง.ด. 91 เรื่องสำคัญที่ผู้มีเงินได้ต้องรู้!
สำหรับใครที่เป็นผู้มีเงินได้ ไม่ว่าจะได้รับเงินมาในรูปแบบไหน ก็มีหน้าที่ในการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามที่กฎหมายกำหนด โดยแบบยื่นภาษีเพื่อแสดงรายการภาษีนี้เรียกว่า “ภ.ง.ด.” ซึ่งมีรูปแบบแตกต่างกันไปตามประเภทของการยื่นภาษี เช่น ภ.ง.ด. 90 และ 91 จึงถือเป็นสิ่งสำคัญที่คนวัยทำงานทุกคนควรรู้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ First Jobber ที่เพิ่งเริ่มต้นทำงานใหม่ ควรจะศึกษาเรื่องการยื่นภาษีไว้ เพื่อให้สามารถยื่นได้อย่างถูกต้อง ทั้งประเภทภาษีที่ต้องยื่นอย่าง ภ.ง.ด. 90 หรือ 91, เอกสารที่ต้องใช้ยื่น เช่น หนังสือรับรองเงินเดือน, เอกสารที่ใช้เพื่อลดหย่อนภาษีจากสวัสดิการพนักงานต่าง ๆ และอีกมากมาย ในบทความนี้ KTC จึงพาผู้มีเงินได้ทุกคนมาทำความรู้จักแบบยื่นภาษี ภ.ง.ด. 90 และ 91 หากพร้อมแล้ว ไปดูกันเลย!
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- ทำความเข้าใจ ภ.ง.ด. 90 และ 91 คืออะไร? ในการยื่นภาษี
- ความแตกต่างระหว่าง ภ.ง.ด. 90 และ ภ.ง.ด. 91
- ใครบ้างที่ต้องยื่น ภ.ง.ด. 90 และ ภ.ง.ด. 91 ?
- เอกสารที่ต้องใช้ในการยื่น ภ.ง.ด. 90 และ 91 มีอะไรบ้าง?
- ภ.ง.ด 90 มีกําหนดเวลายื่นแบบเมื่อใด?
- เราสามารถยื่น ภ.ง.ด. 90 และ 91 ได้ที่ไหนบ้าง?
- ยื่น ภ.ง.ด 90 และ 91 ไม่ทัน ทำอย่างไรได้บ้าง?
- สรุป ภ.ง.ด. 90 และ ภ.ง.ด. 91 แบบยื่นภาษีสำหรับผู้มีเงินได้
ทำความเข้าใจ ภ.ง.ด. 90 และ 91 คืออะไร? ในการยื่นภาษี
ก่อนจะไปรู้จักความแตกต่างของ ภ.ง.ด. 90 และ 91 ผู้มีเงินได้ทุกคนจำเป็นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ทั้ง ภ.ง.ด. 90 และ 91 นั้นคืออะไร จะได้รู้ว่าตนเองเป็นผู้มีเงินได้ประเภทไหน เพื่อให้สามารถยื่นภาษีได้อย่างถูกต้อง ดังนี้
ภ.ง.ด. 90 คืออะไร?
ภ.ง.ด. 90 คือ แบบแสดงรายการภาษีของผู้ที่มีเงินได้ในกรณีทั่วไป หรือผู้มีเงินได้ตามประเภทที่ 1-8 หรือตามมาตรา 40 (1) ถึง (8) ทั้งแบบหลายประเภทหรือประเภทเดียว โดยเงินได้ตาม ภ.ง.ด. 90 นี้ ได้แก่
- เงินได้จากการจ้างแรงงาน
- เงินได้จากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ หรือจากการรับทำงานให้
- เงินได้จากค่าลิขสิทธิ์
- เงินได้จากค่าดอกเบี้ย และเงินปันผล
- เงินค่าให้เช่าทรัพย์สิน
- เงินค่าวิชาชีพอิสระ
- เงินได้จากการรับเหมา ทั้งในส่วนของค่าแรงและค่าของ
- เงินได้จากการธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่ง และอื่น ๆ
ภ.ง.ด. 91 คืออะไร?
ภ.ง.ด. 91 คือ แบบแสดงรายการภาษีของผู้มีเงินได้จากการจ้างแรงงานประเภทที่ 1 หรือผู้มีเงินได้ตามมาตรา 40 (1) เพียงอย่างเดียว กล่าวง่าย ๆ คือ เป็นผู้มีเงินได้จากการรับเงินเดือนเพียงอย่างเดียวนั่นเอง โดยเงินได้ประเภทที่ 1 ได้แก่
- เงินเดือน, ค่าจ้าง, เบี้ยเลี้ยง, โบนัส, เบี้ยหวัด, บำเหน็จ และบำนาญ
- เงินค่าเช่าบ้านที่ได้รับจากนายจ้าง
- เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใด ๆ ที่ได้จากการจ้างแรงงาน
ความแตกต่างระหว่าง ภ.ง.ด. 90 และ ภ.ง.ด. 91
เมื่อรู้แล้วว่า ภ.ง.ด. 90, 91 คืออะไร ทุกคนคงพอจะทราบแล้วว่าตนเองเป็นผู้มีเงินได้ประเภทไหน ทั้งนี้ คุณสามารถตรวจสอบสถานะของตนเองได้ว่า ต้องยื่น ภ.ง.ด. 90 หรือ 91 จากตารางด้านล่างนี้
ใครบ้างที่ต้องยื่น ภ.ง.ด. 90 และ ภ.ง.ด. 91 ?
สำหรับใครที่เป็น First Jobber ที่เพิ่งเข้าสู่ชีวิตการทำงาน หรือใครก็ตามที่เพิ่งเริ่มต้นเป็นมนุษย์เงินเดือน อาจยังสงสัยว่าตนเองต้องเสียภาษีหรือไม่ ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด. 90 หรือ 91 แล้วมีเงินเดือนเท่าไหร่ต้องเสียภาษี? เราจะพาไปดูเกณฑ์บุคคลที่ต้องยื่น ภ.ง.ด. 90 และ 91 กัน
บุคคลที่ต้องยื่น ภ.ง.ด. 90
ผู้ที่มีหน้าที่ต้องยื่น ภ.ง.ด. 90 ได้แก่ ผู้มีรายได้ตามมาตรา 40 (1) ถึง (8) หลายประเภทหรือประเภทเดียว ดังนี้
- ผู้ที่เป็นโสด มีเงินได้เกิน 60,000 บาท
- ผู้ที่เป็นคู่สมรส ที่มีเงินได้ ไม่ว่าฝ่ายเดียว หรือสองฝ่ายรวมกันเกิน 120,000 บาท
- กองมรดก ที่ยังไม่ได้แบ่ง มีเงินได้เกิน 60,000 บาท
- ห้างหุ้นส่วนสามัญที่ไม่ใช่นิติบุคคล มีเงินได้เกิน 60,000 บาท
- คณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล มีเงินได้ 60,000 บาท
- วิสาหกิจชุมชน ตามกฎหมาย มีเงินได้เกิน 60,000 บาท แต่ไม่เกิน 1,800,000 บาท
บุคคลที่ต้องยื่น ภ.ง.ด. 91
ผู้ที่มีหน้าที่ยื่น ภ.ง.ด. 91 คือ ผู้มีเงินได้จากการจ้างงาน ตามมาตรา 40 (1) ประเภทเดียว ดังนี้
- ผู้ที่เป็นโสด มีเงินได้เกิน 120,000 บาท
- ผู้ที่มีคู่สมรส มีเงินได้ ไม่ว่าฝ่ายเดียวหรือสองฝ่ายรวมกันเกิน 220,000 บาท
เอกสารที่ต้องใช้ในการยื่น ภ.ง.ด. 90 และ 91 มีอะไรบ้าง?
ไม่ว่าจะเป็นผู้มีเงินได้ประเภทที่ต้องยื่น ภ.ง.ด. 90 หรือเป็นผู้มีเงินได้ที่ต้องยื่น ภ.ง.ด. 91 ก็ตาม โดยหลัก ๆ แล้วจะต้องใช้เอกสารประกอบการยื่นภาษีแบบเดียวกัน ดังนี้
1. หนังสือรับรองเงินเดือนตามมาตรา 50 ทวิ จากนายจ้าง เพื่อเป็นหลักฐานแสดงรายได้
2. เอกสารลดหย่อนภาษีต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น เอกสารจากการยื่นประกันสังคมออนไลน์ ทั้งประกันชีวิตและประกันสุขภาพ, กองทุนต่าง ๆ เช่น กองทุนสํารองเลี้ยงชีพ กองทุนรวมเพื่อการออม หรือกองทุนการออมแห่งชาติ เป็นต้น, การบริจาคเงิน, ใบกำกับภาษีหรือใบเสร็จรับเงิน “ช้อปดีมีคืน” และเบี้ยประกันสุขภาพตนเองและบิดามารดา
ทั้งนี้ ในกรณีที่ผู้ยื่น ภ.ง.ด. 90 หรือ 91 มีคู่สมรส ผู้มีเงินได้ต้องใช้ทะเบียนสมรสและเอกสารรับรองบุตร มาประกอบการยื่นภาษีร่วมด้วย
ภ.ง.ด 90 มีกําหนดเวลายื่นแบบเมื่อใด?
สำหรับใครที่สงสัยว่า ภ.ง.ด. 90 หรือ ภ.ง.ด 91 ยื่นเมื่อไหร่นั้น ปกติจะแบ่งการยื่นภาษีออกเป็น 2 รูปแบบ คือ
1. การยื่นภาษีแบบกระดาษ จะต้องทำการยื่นภายในเดือนมีนาคมของทุกปี หรือ ระหว่างวันที่ 1 มกราคม - 31 มีนาคม ของทุกปี
2. การยื่นภาษีทางออนไลน์ ในปี 2567 นี้ สามารถยื่นได้ถึงวันที่ 9 เมษายน 2567 โดยสามารถยื่นแบบออนไลน์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ยื่น ภ.ง.ด 90 และ 91 ไม่ทัน ทำอย่างไรได้บ้าง?
หากใครเป็นผู้มีเงินได้ แต่ยื่นภาษี ภ.ง.ด 90 หรือ 91 ไม่ทันตามกำหนดภายในวันที่ 31 มีนาคม คุณสามารถยื่นภาษี ภ.ง.ด 90 หรือ 91 ย้อนหลังด้วยตนเองได้ที่สำนักงานสรรพากรในพื้นที่สาขาของแต่ละเขต แต่อาจต้องเสียค่าปรับตามกฎหมายไม่เกิน 2,000 บาท และชำระเงินภาษี พร้อมเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน ดังนั้่น หากใครไม่อยากเสียเงินเพิ่ม อย่าลืมยื่นภาษีให้ทันตามกำหนดเวลากันด้วย!
เราสามารถยื่น ภ.ง.ด. 90 และ 91 ได้ที่ไหนบ้าง?
สำหรับการยื่น ภ.ง.ด. 90 และ 91 ผู้มีเงินได้สามารถยื่นภาษีประจำปี 2567 ทั้งสองประเภทผ่านช่องทางต่าง ๆ ได้ ดังนี้
- ยื่น ภ.ง.ด. 90 หรือ 91 ด้วยตนเองได้ที่สำนักงานสรรพากรในพื้นที่สาขาของแต่ละเขต
- ส่งแบบยื่นภาษี ภ.ง.ด. 90 หรือ 91 ทางไปรษณีย์ไปยังกรมสรรพากร ซึ่งวิธีนี้จะสามารถทำได้ก็ต่อเมื่อ ผู้ยื่นภาษีมีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพมหานครเท่านั้น
- ยื่น ภ.ง.ด. 90 หรือ 91 แบบออนไลน์ด้วยตนเอง ผ่านทางเว็บไซต์ของกรมสรรพากร ที่ https://efiling.rd.go.th/rd-cms หรือแอปพลิเคชัน RD smart tax
สรุป ภ.ง.ด. 90 และ ภ.ง.ด. 91 แบบยื่นภาษีสำหรับผู้มีเงินได้
การยื่น ภ.ง.ด. 90 และ 91 เป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับผู้มีเงินได้ และต้องยื่นภาษีเหล่านี้ตามที่กฎหมายกำหนด มิฉะนั้นคุณอาจต้องจ่ายภาษีย้อนหลัง ซึ่งอาจวุ่นวายทั้งด้านขั้นตอน เอกสาร ตลอดจนเสียค่าปรับเป็นจำนวนมากได้
ให้การยื่นภาษีเป็นเรื่องง่ายสำหรับผู้ที่มีรายได้ตั้งเเต่ 12000 สามารถสมัครบัตรกดเงินสด KTC PROUD บัตรกดเงินสดที่สามารถกดเงินสดที่ตู้ ATM ได้ทั่วไทย หรือกดโอนผ่านแอปเข้าบัญชีธนาคาร ได้ตามวงเงิน ตลอด 24 ชั่วโมง แบบไม่เสียค่าธรรมเนียมใด ๆ ตลอดชีพ รับเงินทันที เพื่อชำระภาษี หรือใครจะชำระด้วยเช็คธนาคาร ธนาณัติ หรือบัตรอิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ ก็ได้เช่นกัน
อีกทั้งหากคุณใช้จ่ายผ่านบัตรกดเงินสด จะทำให้แบบยื่นภาษี ภ.ง.ด. 90 หรือ 91 สามารถทำได้สะดวกยิ่งขึ้น เพราะบัตรกดเงินสดช่วยให้คุณติดตามการใช้จ่ายได้ง่ายขึ้น เนื่องจากมีบันทึกประวัติทางการเงินของคุณระบุไว้อย่างแน่นอน ดังนั้น การยื่นภาษีจึงไม่ใช่เรื่องยุ่งยากอีกต่อไป บัตรกดเงินสด KTC PROUD สมัครง่าย รู้ผลอนุมัติไว มนุษย์เงินเดือนที่มีเงินเดือนรวม 12,000 บาทก็สมัครได้
ต้องการเงินสด อย่าลืมมองหาบัตรกดเงินสด KTC PROUD สมัครออนไลน์ได้ที่นี่
ฟรีค่าธรรมเนียมแรกเข้าและรายปีตลอดชีพ
*กู้เท่าที่จําเป็นและชําระคืนได้ตามกําหนด จะได้ไม่เสียดอกเบี้ย 20% - 25% ต่อปี