ถ้าคุณเคยฟังเรื่องราวที่น่าตื่นเต้น ดูวิดีโอที่สนุกจนไม่อยากหยุดดู หรืออ่านเนื้อหาที่ดึงดูดใจจนวางไม่ลง นั่นคือพลังของ Storytelling หรือ ศิลปะการเล่าเรื่อง นั่นเอง ซึ่งนี่เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่ทรงพลังในการสื่อสาร ไม่ว่าจะในชีวิตประจำวัน ธุรกิจ หรือการสร้างแบรนด์ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า ยุคนี้คือยุคที่ผู้บริโภคไม่ได้สนใจแค่สินค้าและบริการเพียงอย่างเดียว แต่ต้องการประสบการณ์ใหม่ ๆ อยากได้อะไรที่มีคุณค่า หรืออยากสัมผัสเรื่องราวกับแบรนด์มากขึ้น Storytelling จึงกลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้แบรนด์สร้างความแตกต่าง และทำให้ลูกค้าจดจำได้ง่ายขึ้น และหากคุณเป็นคนหนึ่งที่กำลังทำแบรนด์หรืออยากทำธุรกิจอยู่แล้วล่ะก็ วันนี้เราจะพาคุณไปรู้จักกับ Storytelling ว่าคืออะไร และเพราะเหตุใดการเล่าเรื่องที่ดีจึงสามารถเปลี่ยนธุรกิจธรรมดาให้กลายเป็นแบรนด์ที่แข็งแกร่งและน่าจดจำได้
Storytelling คืออะไร ?
Storytelling หรือ การเล่าเรื่อง คือเทคนิคการสื่อสารที่ใช้เรื่องราว เพื่อสร้างประสบการณ์และดึงดูดความสนใจของผู้ฟัง ผ่านข้อความ รูปภาพ หรือวิดีโอ เพื่อให้เกิดอารมณ์ร่วมและจดจำได้ง่าย ซึ่งในปัจจุบัน Storytelling นั้นนับเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่ได้รับความนิยมในการทำการตลาด โดยเฉพาะใน การขายของออนไลน์ ตัวอย่างเช่น ช่องขายของบน TikTok ที่มักเล่าเรื่องราวจากชีวิตประจำวันเพื่อเชื่อมโยงกับสินค้า หรือ เพจ Facebook ที่แชร์เรื่องราวของเจ้าของธุรกิจเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ ก่อนนำเสนอผลิตภัณฑ์ของตนเอง ทั้งนี้ Storytelling ที่ดีไม่ใช่แค่การเล่าเรื่องให้ฟังสนุก แต่ต้องสามารถสร้างความเชื่อมโยงกับผู้ฟัง และทำให้พวกเขารู้สึกมีส่วนร่วมไปกับเรื่องราวนั้นได้ โดยการเล่าเรื่องนี้ ต้องคำนึงถึง 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่
- ผู้เล่าเรื่อง (Storyteller)
- ต้องรู้จักกลุ่มเป้าหมาย (Target Audience) และเลือกใช้วิธีเล่าเรื่องที่เหมาะสม
- ใช้ภาพ เสียง คำพูด หรืออารมณ์ร่วมเพื่อให้เนื้อหาน่าสนใจและตรึงใจผู้ฟัง
- เนื้อเรื่อง (Story Content)
- ควรเป็นเรื่องที่ตรงกับความสนใจของกลุ่มเป้าหมาย
- สื่อสารความเชื่อของแบรนด์หรือคุณค่าที่ต้องการถ่ายทอด
- ผู้ฟัง (Audience)
- โดยผู้เล่าต้องเข้าใจว่ากลุ่มเป้าหมายเป็นใคร และมีพฤติกรรมหรือความสนใจแบบใด
- รู้จักนำข้อมูลเชิงลึก (Insight) มาปรับแต่งเนื้อหาให้แนบเนียนและเป็นธรรมชาติ เพื่อดึงดูดผู้ฟัง
Storytelling ที่ดีมีองค์ประกอบอะไรบ้าง ?
Storytelling หากนึกง่าย ๆ ก็มีโครงสร้างที่คล้ายกับการเขียนเรียงความ ซึ่งต้องมีเกริ่นนำ เนื้อหา และบทสรุป แต่สิ่งที่ทำให้ Storytelling ทรงพลังและน่าติดตามยิ่งขึ้นคือการเพิ่ม ตัวละคร จุดเปลี่ยน และแนวคิดหลักลงไป เพื่อสร้างอารมณ์ร่วมและความเชื่อมโยงกับผู้ฟัง โดยหากจะสรุปองค์ประกอบสำคัญของ Storytelling ก็จะได้ดังต่อไปนี้
1.ตัวละคร (Character)
ตัวละครเป็นหัวใจสำคัญของการเล่าเรื่อง เพราะช่วยให้ผู้ฟังรู้สึกเชื่อมโยงและมีส่วนร่วมกับเรื่องราว ใน Digital Marketing ตัวละครที่ใช้มักจะเป็น เจ้าของธุรกิจที่เล่าถึงเส้นทางความสำเร็จ
ลูกค้า หรือบุคคลที่พบเจอปัญหา ก่อนค้นพบทางแก้ไข เป็นต้น
2.โครงเรื่อง (Plot)
เส้นทางของเรื่องราวที่ต้องมีการวางลำดับเหตุการณ์อย่างชัดเจน ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร มีจุดเปลี่ยนตอนไหน และบทสรุปเป็นอย่างไร โดยควรคำนึงถึง เหตุการณ์สำคัญ ที่ต้องเกิดขึ้นในลำดับก่อน-หลัง การเปลี่ยนแปลงของตัวละคร จากจุดเริ่มต้นไปสู่จุดสุดท้าย หรือจุดพีคของเรื่อง (Climax) ซึ่งเป็นช่วงที่สำคัญที่สุดของการเล่าเรื่อง
3.จุดเปลี่ยนและความขัดแย้ง (Conflict & Turning Point)
เรื่องราวที่ดีต้องมี ความขัดแย้ง หรืออุปสรรค ที่ตัวละครต้องเผชิญ ซึ่งทำให้เรื่องราวมีมิติและน่าติดตามมากขึ้น เช่น อุปสรรคที่แบรนด์ต้องเผชิญก่อนจะประสบความสำเร็จ ความท้าทายที่เจ้าของธุรกิจต้องก้าวข้าม หรือปัญหาที่ลูกค้าเคยเจอ และได้รับการแก้ไขจากผลิตภัณฑ์หรือบริการนั้น ๆ
4.แก่นเรื่องและแนวคิดหลัก (Theme)
ทุกเรื่องราวควรมี แนวคิดหลัก หรือ Message ที่ช่วยให้ผู้ฟังได้รับแรงบันดาลใจ เช่น ความพยายามนำไปสู่ความสำเร็จ ทุกปัญหามีทางออก การเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นที่ตัวเรา และอื่น ๆ
โดยแนวคิดเหล่านี้จะช่วยให้เรื่องราวมีพลังมากขึ้น และทำให้ผู้ฟังจดจำแบรนด์หรือสารที่ต้องการสื่อได้ง่าย
5.ฉากและบรรยากาศ (Setting)
ฉากใน Storytelling ไม่ใช่แค่สถานที่เท่านั้น แต่ยังรวมถึง เวลาและบรรยากาศ ที่ช่วยให้เรื่องราวมีความสมจริงและจับต้องได้
Storytelling คือเทคนิคการสื่อสารที่ใช้เรื่องราวเพื่อสร้างประสบการณ์และดึงดูดความสนใจของผู้ฟัง
Storytelling มีกี่ประเภท ?
จากทั้งหมดที่กล่าวไปข้างต้น คุณจะเห็นได้ว่า Storytelling เป็นเครื่องมือที่ทรงพลังในการทำธุรกิจ หรือ การตลาด โดยสามารถแบ่งออกเป็นหลายประเภท ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของแบรนด์และกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการสื่อสาร โดยแบ่งเป็นประเภทได้ดังนี้
1.Personal Storytelling
ในแง่มุมของการทำธุรกิจ จะเป็นการเล่าเรื่องราวของเจ้าของธุรกิจหรือผู้ก่อตั้งแบรนด์ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า เนื้อหาอาจรวมถึงแรงบันดาลใจและจุดเริ่มต้นของธุรกิจ อุปสรรคที่ต้องเผชิญและวิธีแก้ไข หรือความมุ่งมั่นและวิสัยทัศน์ของแบรนด์ ตัวอย่างเช่น แบรนด์อย่าง Apple และ Tesla ใช้ Founder Story ของ Steve Jobs และ Elon Musk เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและดึงดูดความสนใจจากผู้บริโภค
2.Brand Storytelling
หากธุรกิจขนาดใหญ่มีผู้ก่อตั้งหลายคน ก็มักจะเน้นไปที่การเล่าถึงตัวตนของแบรนด์ เพื่อสร้างอัตลักษณ์ที่ชัดเจนและเชื่อมโยงกับลูกค้า ซึ่งจุดเด่นของ Brand Storytelling มักจะเป็นคุณค่าหลัก (Core Values) ของแบรนด์ เป้าหมายและพันธกิจของธุรกิจ และวัฒนธรรมองค์กรและจุดยืนของแบรนด์
3.Business หรือ Product Storytelling
คือการเล่าเรื่องราวของสินค้า ซึ่งเป็นการเล่าเรื่องที่มุ่งเน้นไปที่ตัวสินค้าหรือบริการ เพื่อทำให้ลูกค้ารู้สึกถึงคุณค่าของสินค้ามากกว่าคุณสมบัติทั่วไป โดยมักจะเน้นกระบวนการพัฒนาสินค้า
วัสดุ และการผลิตที่มีคุณภาพ ฟังก์ชันที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของลูกค้า ตัวอย่างเช่น Nike ใช้ Product Storytelling ในการเล่าถึงเทคโนโลยีของรองเท้า ที่ออกแบบมาเพื่อช่วยให้นักวิ่งก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเอง เป็นต้น
4.Educational Story
Storytelling ที่เป็นเรื่องราวเพื่อให้ความรู้ เน้นการให้ข้อมูล ความรู้ หรือคำแนะนำที่เป็นประโยชน์แก่กลุ่มเป้าหมาย โดยมักจะถูกใช้ใน Inbound Marketing และ Content Marketing เช่น บทความหรือวิดีโอแนะนำการใช้สินค้า คู่มือ หรือ How-to เกี่ยวกับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับเทรนด์ใหม่ ๆ
5.Customer Story
การเล่าเรื่องผ่านประสบการณ์ของลูกค้า โดย Customer Storytelling จะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือ และเป็นหลักฐานว่าแบรนด์สามารถแก้ปัญหาให้กับลูกค้าได้จริง โดยอาจใช้รีวิวหรือคำบอกเล่าจากลูกค้าจริง หรือ การสัมภาษณ์หรือคลิปวิดีโอที่ลูกค้าแชร์ประสบการณ์ เป็นต้น
6.Emotional Story
Storytelling ที่เป็นการเล่าเรื่องแบบกระตุ้นอารมณ์และความรู้สึก เพื่อให้เกิดการจดจำและมีความรู้สึกร่วมกับแบรนด์ โดยคุณสามารถนึกตัวอย่างง่าย ๆ จากโฆษณาประกันภัยทั้งหลาย ที่
มักใช้ Emotional Storytelling ผ่านเรื่องราวที่อบอุ่นและลึกซึ้ง สะเทือนอารมณ์ จนทำให้ผู้ชมจดจำแบรนด์ได้
Storytelling สำคัญต่อธุรกิจอย่างไร ?
ด้วยพฤติกรรมการเสพสื่อของผู้คนในสมัยนี้ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม จากที่เคยติดตามรับข่าวสารทางโทรทัศน์ วิทยุ ป้ายโฆษณา หรือนิตยสาร ก็หันมาเสพสื่อออนไลน์ผ่านโทรศัพท์มือถือ ดังนั้น เทคนิค Storytelling เป็นเทคนิคหรือกลยุทธ์หนึ่งที่มีความสำคัญต่อธุรกิจ เพราะ Storytelling จะช่วยสร้างความเชื่อมโยงทางอารมณ์ ระหว่างแบรนด์และกลุ่มเป้าหมาย โดยเรื่องราวที่ดี ก็สามารถทำให้ลูกค้ารู้สึกมีส่วนร่วม เข้าใจคุณค่า และจดจำแบรนด์ได้ดียิ่งขึ้น
นอกจากนี้ การเล่าเรื่องที่มีเอกลักษณ์ผ่านการทำ Storytelling ยังช่วยสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง ทำให้ธุรกิจโดดเด่นในตลาดที่มีการแข่งขันสูง ด้วยการทำให้กลุ่มเป้าหมายรู้สึกได้ถึงแรงบันดาลใจและเปิดใจทำความรู้จักกับแบรนด์มากขึ้น
เทคนิคในการสร้าง Storytelling ให้มีประสิทธิภาพ
หากคุณเป็นนักการตลาดหรือเจ้าของธุรกิจ มาถึงตรงนี้หากคุณอยากจะสร้าง Storytelling ให้มีประสิทธิภาพ เหล่านี้คือเทคนิคที่คุณควรพิจารณา
- รู้จักกลุ่มเป้าหมาย – เริ่มต้นด้วยการทำความเข้าใจว่าผู้ฟังหรือกลุ่มเป้าหมายของคุณเป็นใคร ต้องการอะไร และมีปัญหาอะไรที่ต้องการแก้ไข เพื่อให้เนื้อหาเข้าถึงและสร้างความเชื่อมโยงทางอารมณ์ได้
- สร้าง Storytelling อย่างมีเป้าหมาย – เมื่อวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายได้แล้ว อย่าลืมที่จะเลือกประเภทการเล่า Storytelling ว่าคุณอยากจะเล่าผ่านมุมมองใด มุมมองผู้ก่อตั้ง แบรนด์ ผลิตภัณฑ์ ลูกค้า และอื่น ๆ ที่กล่าวไปในส่วนของประเภทของ Storytelling
- กำหนดโครงเรื่องและช่องทางการสื่อสาร – จากนั้นกำหนดโครงเรื่องและเนื้อหาของการเล่าเรื่อง และกำหนดช่องทางการสื่อสาร อาทิ ช่องทางออนไลน์ เป็นต้น
- ติดตามและวัดผลลัพธ์ – ไม่ว่าจะเป็น Storytelling หรือการสร้างคอนเทนต์แบบอื่น ๆ สิ่งสำคัญคือการวัดประสิทธิภาพของชิ้นงาน ดังนั้น เมื่อคุณปล่อยเรื่องที่คุณเล่าออกไปแล้ว อย่าลืมที่จะวัดผลและสำรวจ Insights เพื่อพัฒนางานชิ้นต่อไปด้วยเช่นกัน
ตัวอย่าง Storytelling
Land Rover – The Land of Land Rovers
เพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 70 ปี Land Rover แบรนด์รถสำหรับสายลุยได้หยิบเรื่องราวจากชีวิตจริงมาถ่ายทอดผ่านแคมเปญสุดพิเศษ โดยวิดีโอ Storytelling นี้ได้พาผู้ชมเดินทางสู่ Maneybhanjang หมู่บ้านกลางเทือกเขาหิมาลัย ซึ่งชาวบ้านที่นี่พึ่งพารถ Land Rover ในการเดินทางและขนส่งเสบียงไปยัง Sandakphu หมู่บ้านบนความสูง 3,636 เมตร เส้นทางที่เต็มไปด้วยอุปสรรคเหล่านี้ถูกพิชิตด้วย Land Rover
Storytelling นี้จึงถ่ายทอดเรื่องราวจากผู้ใช้งานจริง ผ่านเส้นทางสุดโหด และตอกย้ำถึงความแข็งแกร่งและความทนทานของ Land Rover นั่นเอง
The Underdogs: Swiped Mac | Apple at Work
Apple – The Underdogs
Apple เองก็ใช้ Storytelling เพื่อแสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยีของพวกเขา ช่วยให้ผู้คนครีเอทีฟและทำงานได้ดีขึ้น เช่นในวิดีโอ The Underdogs ก็บอกเล่าเรื่องราวของกลุ่มพนักงานออฟฟิศ ที่ต้องพรีเซนต์งานสำคัญ แต่ Macbook ที่ต้องใช้ดันถูกขโมยไป แต่โชคดีที่ Macbook ของพวกเขามีฟีเจอร์ความปลอดภัยที่ทรงพลัง จึงทำให้ข้อมูลไม่สูญหาย
ทั้งนี้ Storytelling ของ Apple นี้สร้างเรื่องราวที่สะท้อนชีวิตจริงของคนทำงาน ทำให้หลายคนสามารถเชื่อมโยงกับตัวละครและสถานการณ์ได้ Apple จึงไม่ใช่แบรนด์ที่ขายแต่สินค้าและบริการที่ดีออกมา แต่ยังขายวิธีการคิดในการสื่อสารทางการตลาดที่สามารถจับใจกลุ่มเป้าหมายได้เป็นอย่างดี
ข้อควรระวังในการเล่า Storytelling
นอกจากเทคนิคและ Case Study ตามข้างต้นแล้วนั้น หากคุณอยากจะลองทำ Storytelling ก็มีข้อควรระวังเพิ่มเติม อาทิ อย่าแต่งเรื่องจนเกินจริง แน่นอนว่า Storytelling ควรมีความดึงดูดใจ แต่ก็ควรมีความน่าเชื่อถือเช่นกัน ถ้าเรื่องราวดูไม่สมจริงหรือเกินจริงเกินไป อีกด้านก็อาจทำให้แบรนด์เสียความน่าเชื่อถือได้ นอกจากนี้ ด้วยการที่ปัจจุบันหลาย ๆ คนรับชมคอนเทนต์ต่าง ๆ ผ่านช่องทางโทรศัพท์มือถือ และบางทีก็ใช้เวลาสั้น ๆ ดังนั้น การไม่ทำให้เรื่องราวซับซ้อนเกินไป หรือมีความยืดเยื้อเกินความจำเป็น ก็เป็นสิ่งที่ต้องพิจารณา โดย Storytelling ควรมีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจน เช่น ต้องการสร้างการรับรู้ กระตุ้นให้เกิดการซื้อ หรือสร้างแรงบันดาลใจ หากเรื่องราวไม่สอดคล้องกับเป้าหมาย ก็อาจทำให้เสียเวลาและทรัพยากรไปโดยเปล่าประโยชน์ได้
ขอบคุณข้อมูลจาก :
https://thedigitaltips.com/blog/marketing/what-is-storytelling/#-storytelling
https://zortout.com/blog/what-is-storytelling
https://talkatalka.com/blog/5-example-brand-storytelling/
และนี่คือข้อมูลทั้งหมดของการทำ Storytelling ที่เรานำมาฝากกัน อย่าลืมว่า Storytelling ที่ดีต้องสร้างความเชื่อมโยงทางอารมณ์ ดึงดูดความสนใจ และนำเสนอคุณค่าของแบรนด์ได้อย่างแนบเนียน ลองนำเทคนิคเหล่านี้ไปปรับใช้ เพื่อสร้างเรื่องราวที่น่าจดจำและสร้าง Value ให้แบรนด์ของคุณดู
ในขณะเดียวกัน หากคุณมีไอเดีย อยากจะเริ่มต้นสร้าง Storytelling ของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการซื้ออุปกรณ์ เช่น กล้อง ไมโครโฟน ซอฟต์แวร์ตัดต่อ หรือแม้แต่การลงคอร์สเรียนเพื่อพัฒนาทักษะการเล่าเรื่องให้โดดเด่นยิ่งขึ้น ก็อย่าลืมใช้บัตรเครดิต KTC มาเป็นผู้ช่วยสำคัญในการใช้จ่าย ด้วยบัตรเครดิต KTC มาพร้อมสิทธิพิเศษมากมาย ทั้งโปรโมชั่นผ่อน 0% นานสูงสุด 10 เดือน รับเครดิตเงินคืนเมื่อช้อปตามเงื่อนไข และการสะสมคะแนน KTC FOREVER จึงทำให้คุณลงทุนกับการเล่าเรื่องได้อย่างคุ้มค่ายิ่งขึ้น
ใช้จ่าย คุ้มค่า นึกถึงบัตรเครดิต KTC