การลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศในปัจจุบันไม่ได้เป็นเรื่องยากอีกต่อไป เพราะผู้ที่สนใจในการลงทุนสามารถเข้าถึงโอกาสการลงทุนทั่วโลกได้อย่างง่ายดายเพียงปลายนิ้ว แต่ทั้งนี้ก่อนที่จะก้าวเข้าสู่การลงทุนต่างประเทศ สิ่งสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งก็คือการทำความเข้าใจกับรายละเอียดสำคัญต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนการซื้อขาย การเสียภาษี และการเลือกโบรกเกอร์ที่เหมาะสม ฉะนั้น หากคุณเป็นคนหนึ่งที่สนใจในเรื่องการลงทุนหุ้นต่างประเทศ แล้วอยากจะเริ่มต้นเรียนรู้ วันนี้ KTC จะขอนำข้อมูลเบื้องต้นที่ควรรู้มาฝากกัน
ข้อดี–ข้อเสียของการลงทุนในหุ้นต่างประเทศ
“หุ้นต่างประเทศ” เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการลงทุน เพราะสามารถช่วยกระจายความเสี่ยงให้กับเหล่านักลงทุนเมื่อตลาดหุ้นในประเทศได้รับผลกระทบจากปัจจัยต่างๆ ได้ แต่ทั้งนี้นอกจากข้อดีที่น่าสนใจแล้ว หุ้นต่างประเทศก็ยังมีความเสี่ยงที่ควรรู้ไว้เช่นกัน
ข้อดีของการลงทุนในหุ้นต่างประเทศ
- มีหุ้นบางประเภทที่ตลาดหุ้นไทยไม่มี เช่น หุ้นทางนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ อาทิ Fintech, E-Commerce, AI, Mobile Applications และ Healthcare เป็นต้น
- เข้าถึงธุรกิจระดับโลก อย่างหุ้นที่มีการเติบโตที่ต่อเนื่องและประสบความสำเร็จมายาวนานมาก อาทิ บริษัทชั้นนำของโลกต่างๆ
- กำไรจากการขายหุ้นได้รับการยกเว้นภาษี โดยปกติแล้วหากไปลงทุนหุ้นต่างประเทศโดยตรง นักลงทุนมีโอกาสที่จะต้องเสียภาษีจากกำไรส่วนต่างราคา หรือจากเงินปันผล (Capital gain Tax) ตามที่ตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศนั้นกำหนดไว้ แต่ปัจจุบันมีเครื่องมือการลงทุนใหม่ๆ ที่ทำให้ลงทุนหุ้นต่างประเทศแบบไม่ต้องกังวลเรื่องภาษีดังกล่าว
- ขายชอร์ต (Short Sell) ได้คล่องตัวกว่าไทย จึงเป็นโอกาสดีที่จะสามารถทำเงินจากหุ้นต่างประเทศที่อยู่ในช่วงขาลงได้
ข้อเสียของการลงทุนในหุ้นต่างประเทศ
- ต้องยอมรับความเสี่ยงเกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยน
- มีความเสี่ยงเกี่ยวกับนโยบายการลงทุนในต่างประเทศ
- มีปัญหาด้านการสื่อสารและข้อมูลที่เป็นภาษาต่างประเทศ
- ไม่มีการกำหนดราคา “สูงสุด” (Ceiling) “ต่ำสุด” (Floor) ที่สามารถซื้อขายได้ในวันนั้น
ขอบคุณข้อมูลจาก : https://krungthai.com/th/krungthai-update/promotion-detail/1653
ปัจจุบันการลงทุนในหุ้นต่างประเทศไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป
ลงทุนหุ้นต่างประเทศผ่านช่องทางไหนได้บ้าง
ทุกวันนี้การลงทุนในหุ้นต่างประเทศอาจพูดได้ว่าไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป แม้เป็นมือใหม่ก็สามารถเริ่มต้นได้ง่ายๆ ผ่านหลายช่องทาง เช่น การลงทุนโดยตรงในตลาดหุ้นต่างประเทศ การลงทุนผ่านกองทุนรวม หรือการลงทุนผ่านตลาดหุ้นไทยด้วยเครื่องมืออย่าง ETF, DW, DR และ DRx ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถเลือกช่องทางได้อย่างเหมาะสม KTC ได้รวบรวมวิธีการลงทุนในหุ้นต่างประเทศมาแนะนำ ไว้เป็นแนวทางสำหรับผู้ที่กำลังมองหาโอกาสใหม่ๆ ดังนี้
1.ลงทุนผ่านตลาดหุ้นในต่างประเทศโดยตรง
โดยวิธีนี้เป็นวิธีที่เราต้องเปิดบัญชีลงทุนที่ประเทศนั้นๆ หรือเปิดบัญชีหุ้นต่างประเทศผ่านโบรกเกอร์ในไทย หลังจากนั้นก็ต้องแลกเงินเป็นสกุลเงินของประเทศที่จะไปลงทุน จึงจะสามารถซื้อขายหุ้นต่างประเทศได้ในเวลาทำการของตลาดหลักทรัพย์ประเทศนั้นๆ ซึ่งตัวอย่างแอปพลิเคชันจากโบรกเกอร์ชื่อดังในการเทรดหุ้นต่างประเทศ อาทิ InnovestX, Liberator, Dime! และ Webull โดยแต่ละที่ มีรายละเอียดเบื้องต้น ดังนี้
- InnovestX
- ลงทุนขั้นต่ำ: 1 หุ้น
- ค่าธรรมเนียม: 0.08 ดอลลาร์ต่อหุ้น โดยมีค่าคอมมิชชั่นขั้นต่ำ 4.99 ดอลลาร์ ต่อรายการ - Liberator
- ลงทุนขั้นต่ำ: เริ่มต้นด้วย 1 ดอลลาร์
- ค่าธรรมเนียม: มี 2 แบบ ได้แก่ จ่ายตามจริง เริ่มต้น 0.10% หรือ จ่ายเหมา 999 บาท/เดือน ไม่จำกัดมูลค่าการเทรดต่อเดือน - Dime!
- ลงทุนขั้นต่ำ: 50 บาท หรือ 1.50 ดอลลาร์
- ค่าธรรมเนียม : รายการแรกของเดือน เทรดฟรี รายการต่อไป 0.15% ของมูลค่าหุ้นที่ซื้อขาย - Webull
- ลงทุนขั้นต่ำ: เริ่มต้นที่ 0.0001 หุ้น ที่ขั้นต่ำ 5 ดอลลาร์
- ค่าธรรมเนียม: 2 ช่วงเวลา ได้แก่ 04:00 - 20:00 อยู่ที่ 0.10% (ไม่มีขั้นต่ำ) และ 20:00 - 04:00 อยู่ที่ 0.15% (ไม่มีขั้นต่ำ)
ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.thairath.co.th/money/investment/stocks/2812906
2.ลงทุนผ่านกองทุนรวมในไทย (Foreign Investment Fund : FIF)
การลงทุนผ่านกองทุนรวมเป็นวิธีที่เข้าใจง่ายและเหมาะสำหรับทุกคน โดยเฉพาะผู้เริ่มต้นหรือผู้ที่มีเวลาจำกัด ใช้เงินลงทุนเริ่มต้นเพียงเล็กน้อย การลงทุนผ่านกองทุนรวมในไทยนี้ สามารถเลือกกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในต่างประเทศ โดยผู้จัดการกองทุนจะนำเงินของนักลงทุนไปลงทุนในต่างประเทศและให้ผลตอบแทนกลับมาเป็นเงินบาท ซึ่งคุณสามารถเปิดบัญชีกองทุนรวมนี้ได้ผ่านบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน หรือ บลจ. นั่นเอง
3.ลงทุนผ่านตลาดหุ้นไทย
นับเป็นอีกหนึ่งช่องทางการลงทุนหุ้นต่างประเทศที่ง่ายสำหรับนักลงทุนไทย เพียงมีบัญชีหุ้นไทยก็สามารถซื้อหุ้นต่างประเทศได้ ไม่ต้องเปิดบัญชีใหม่เพิ่ม ทั้งยังสามารถลงทุนเป็นเงินบาท มีเงินน้อยก็ลงทุนได้ และที่สำคัญไม่ต้องกังวลเรื่องภาษีต่างๆ ด้วย ซึ่งรูปแบบการลงทุนต่างประเทศผ่านตลาดหุ้นไทย สามารถทำได้ผ่านช่องทางต่างๆ ดังนี้
- ETF (Exchange Traded Fund)
กองทุนรวมที่มีลักษณะเฉพาะ สามารถซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้เหมือนหุ้น โดย ETF จะลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ เช่น หุ้น ตราสารหนี้ สินค้าโภคภัณฑ์ ดัชนี และทองคำ ตามนโยบายการลงทุนที่กำหนดไว้ โดยจุดเด่นของ ETF ได้แก่ ความสะดวกในการซื้อขาย โดยสามารถซื้อขาย ETF ได้ในตลาดหลักทรัพย์ในช่วงเวลาทำการ เช่นเดียวกับหุ้นทั่วไป สามารถการกระจายความเสี่ยงได้ เนื่องจาก ETF ลงทุนในสินทรัพย์หลายตัวพร้อมกัน ค่าธรรมเนียมต่ำ และสามารถเริ่มได้โดยใช้เงินลงทุนเริ่มต้นไม่สูง - DW (Derivative Warrants)
เป็นตราสารที่ออกโดยบริษัทหลักทรัพย์ หรือโบรกเกอร์ และสามารถซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้เหมือนหุ้น ซึ่งเหมาะสำหรับนักลงทุนที่ต้องการผลตอบแทนสูงในระยะสั้น และยอมรับความเสี่ยงได้สูง หรือมีความเชี่ยวชาญในการคาดการณ์ทิศทางตลาด โดยจุดเด่นของ DW ได้แก่ ใช้เงินลงทุนต่ำ โดยนักลงทุนสามารถเข้าถึงหุ้นหรือดัชนีที่มีราคาสูงได้ ด้วยการลงทุนใน DW ที่มีราคาเริ่มต้นเพียงไม่กี่บาท มีโอกาสในการทำกำไรสูง ด้วย DW มีการเคลื่อนไหวของราคา (Leverage Effect) ที่เปลี่ยนแปลงมากกว่าหุ้นอ้างอิง ทำให้นักลงทุนสามารถทำกำไรได้มากขึ้นเมื่อทิศทางตลาดเป็นไปตามคาด และสามารถซื้อขายได้ในตลาดหลักทรัพย์ผ่านบัญชีหุ้นทั่วไป - DR (Depositary Receipt)
ตราสารแสดงสิทธิในหลักทรัพย์ต่างประเทศที่นำเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสในการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศให้สะดวกยิ่งขึ้น และลดขั้นตอนความยุ่งยากจากการลงทุน โดยหลักทรัพย์ที่นำมาทำเป็น DR นั้น มีทั้งหุ้นสามัญ และ ETF ที่ลงทุนในดัชนีและสินค้าโภคภัณฑ์ - DRx (Fractional Depositary Receipt)
ตราสารที่อ้างอิงสินทรัพย์หลากหลาย เช่น หุ้น, ETF, REITs, กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) และทรัสต์เพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Trust) ออกแบบมาเพื่อให้นักลงทุนไทยสามารถเข้าถึงการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศได้สะดวกยิ่งขึ้น แทนที่จะต้องเปิดบัญชีและซื้อขายหลักทรัพย์ในต่างประเทศโดยตรง นักลงทุนสามารถซื้อขาย DRx ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งมีบริษัทผู้ออก DRx คอยบริหารจัดการให้ ทำให้การลงทุนในต่างประเทศเป็นเรื่องง่ายขึ้น
ลงทุนหุ้นต่างประเทศ เสียภาษีหรือไม่
สิ่งที่ควรทราบอีกหนึ่งก็คือ รายได้ที่เกิดจากการลงทุนหุ้นต่างประเทศนั้น ต้องเสียภาษีหรือไม่ ทั้งนี้ การลงทุนในหุ้นต่างประเทศนั้นมีส่วนที่ต้องเสียภาษีและไม่ต้องเสียภาษี โดยแบ่งได้เป็นกรณีตามช่องทางการซื้อขาย ดังนี้
- ซื้อหุ้นโดยตรงต้องเสียภาษี ทั้งจากรายได้ที่เกิดจากส่วนต่างของอัตราแลกเปลี่ยน รายได้ที่เกิดจากเงินปันผล และรายได้ที่เกิดจากกำไรจากการขายหลักทรัพย์
- ซื้อกองทุนรวมหุ้นต่างประเทศที่จดทะเบียนจัดตั้งโดย บลจ. ในไทย ไม่ต้องเสียภาษี
- ซื้อ DR หรือ DRx ไม่ต้องเสียภาษี
การลงทุนในหุ้นต่างประเทศนับเป็นโอกาสที่น่าสนใจสำหรับการกระจายความเสี่ยงและเพิ่มศักยภาพในการเติบโตของพอร์ตการลงทุน ซึ่งข้อมูลทั้งหมดนี้เป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้นของผู้ที่สนใจในการลงทุนหุ้นต่างประเทศ ฉะนั้น หากเลือกได้แล้วว่าอยากจะลองลงทุนกับหุ้นต่างประเทศ สิ่งสำคัญก็คือการศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้าน ทั้งเรื่องค่าธรรมเนียม ความเสี่ยง อัตราแลกเปลี่ยน และภาษี รวมถึงเลือกเครื่องมือหรือช่องทางการลงทุนที่เหมาะสมกับเป้าหมายและสไตล์การลงทุนของตัวเอง
นอกจากนี้ อย่าลืมให้บัตรเครดิต KTC เป็นตัวช่วยในการลงทุนของคุณ อาทิ การซื้อกองทุนรวม เป็นต้น เพราะทุกๆ การใช้จ่ายผ่านบัตร 25 บาท จะได้รับ 1 คะแนน KTC FOREVER โดยสามารถนำไปแลกรับเป็นส่วนลดหรือเครดิตเงินคืนได้ และยังมีสิทธิประโยชน์ต่างๆ อีกมากมาย เรียกได้ว่าเป็นสิทธิพิเศษที่ช่วยสนับสนุนให้การลงทุนนั้นง่ายและคุ้มค่ามากยิ่งขึ้น สนใจสิทธิประโยชน์ดีๆ แบบนี้ แต่ยังไม่มีบัตร สามารถกดสมัครบัตรเครดิต KTC ผ่านช่องทางออนไลน์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ใช้จ่าย คุ้มค่า นึกถึงบัตรเครดิต KTC