สิทธิ์ของคนทำงานที่เป็นผู้ประกันตน ในระบบประกันสังคม นอกจากจะได้รับสิทธิ์การรักษาพยาบาล กรณีเจ็บป่วย เกิดอุบัติเหตุ ทุพพลภาพ คลอดบุตร หรือเสียชีวิตแล้ว ยังมีสิทธิ์ได้รับเงินชราภาพประกันสังคม เมื่อก้าวเข้าสู่วัยเกษียณ ซึ่งจะมีเงื่อนไขอย่างไร ได้รับเงินชราภาพ บำเหน็จ บำนาญ เท่าไหร่ KTC รวมทุกข้อควรรู้เกี่ยวกับเงินชราภาพ ประกันสังคม อัพเดทล่าสุดมาให้แล้ว
เงินชราภาพ ประกันสังคม คืออะไร
เงินชราภาพ หรือเงินบำเหน็จบำนาญ ในระบบประกันสังคม คือหลักประกันของมนุษย์เงินเดือนที่ทำให้ผู้ประกันตนอุ่นใจว่าจะมีเงินออมไว้ใช้จ่ายยามเกษียณ คิดเป็นจำนวน 5% ของเงินเดือน(สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท) หรือตั้งแต่ 250–750 บาท โดยแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ
- สมทบกองทุน กรณีเจ็บป่วย / อุบัติเหตุ / ทุพพลภาพ / คลอดบุตร และเสียชีวิต จำนวน 1.5% (225 บาท)
- เงินออม กรณีสงเคราะห์บุตร / ชราภาพ จำนวน 3% (450 บาท) จะได้คืนเมื่ออายุครบ 55 ปี
- หลักประกันการว่างงาน จำนวน 0.5% (75 บาท)
เงินชราภาพ คือ หลักประกันของมนุษย์เงินเดือนว่าจะมีเงินออมไว้ใช้จ่ายยามเกษียณ
เงินชราภาพ ประกันสังคม จ่ายตอนไหน
เงินชราภาพ ประกันสังคม จ่ายตามเงื่อนไข ดังนี้
1.จ่ายให้กับผู้ประกันตน
- กรณีผู้ประกันตน มาตรา 33 หรือมาตรา 39 ที่มีอายุ 55 ปีบริบูรณ์ และแจ้งสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตน
- กรณีผู้ประกันตน มาตรา 40 ที่มีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ และแจ้งสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตน
2.จ่ายให้กับทายาท (เงินชราภาพ กรณีเสียชีวิต)
- บุตร หรือบุตรบุญธรรมที่ชอบด้วยกฎหมาย
- สามี หรือภรรยาที่ถูกต้องตามกฎหมาย
- บิดามารดาที่ยังมีชีวิตอยู่
เงินชราภาพ ประกันสังคม จ่ายอย่างไร
เงินชราภาพ ประกันสังคม ยามเกษียณจะจ่ายเป็นเงินก้อน (จ่ายครั้งเดียว) หรือจ่ายเป็นรายเดือน ตลอดชีวิต ผู้ประกันตนไม่สามารถเลือกรับเป็นบำเหน็จ หรือบำนาญได้เอง แต่จะขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ส่งเงินสมทบตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด ดังนี้
เงินบำเหน็จชราภาพ
กรณีรับบำเหน็จ เงินชราภาพ ประกันสังคม (จ่ายครั้งเดียว)
เงื่อนไข ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบไม่ถึง 180 เดือน หรือน้อยกว่า 15 ปี แบ่งเป็น 2 กรณีคือ
- ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบน้อยกว่า 12 เดือน จะได้รับเงินชราภาพของผู้ประกันตนฝ่ายเดียว โดยจะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเท่าที่ผู้ประกันตนจ่ายให้กับสำนักงานประกันสังคม หรือคิดเป็นร้อยละ 3 ของค่าจ้างแต่ละปี
- ผู้ประกันตนจ่ายสมทบมากกว่า 12 เดือน แต่ไม่ถึง 180 เดือน จะได้รับเงินออมชราภาพของผู้ประกันตน + เงินสมทบนายจ้าง + ผลประโยชน์ตอบแทน ตามยอดเงินชราภาพ หรือคิดเป็นร้อยละ 6 ของค่าจ้างแต่ละปี
เงินบำนาญชราภาพ
กรณีรับบำนาญ เงินชราภาพ ประกันสังคม (จ่ายรายเดือน ตลอดชีพ หลังอายุ 55 ปี)
เงื่อนไข ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบครบ 180 เดือน หรือ 15 ปี แบ่งเป็น 2 กรณีคือ
- ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบครบ 180 เดือน จะได้รับบำนาญชราภาพ เท่ากับ 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย (คำนวณจากฐานค่าจ้างขั้นต่ำ 1,650 บาท สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท)
- ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบมากกว่า 180 เดือน จะได้รับเงินบำนาญชราภาพ เพิ่มขึ้นอีก 1.5% ต่อระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบครบทุก 12 เดือน
ตัวอย่าง วิธีคำนวณเงินชราภาพ กรณีผู้ประกันตนได้เงินเดือนเฉลี่ยสูงสุด 15,000 บาทต่อเดือน และส่งเงินสมทบมาแล้ว 20 ปี มีวิธีคำนวณ 2 ส่วน ดังนี้
ส่วนที่ 1 ผู้ประกันตนส่งเงินสมทบครบ 180 เดือน (15 ปี) จะได้รับเงินบำนาญ 20%
ส่วนที่ 2 ปีที่ 16–20 (รวม 5 ปี) จะได้รับเงินบำนาญ เพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 1.5 ต่อปี
รวมเงินบำนาญ 20 ปี เท่ากับ 20% + 7.5% = 27.5%
ดังนั้น ผู้ประกันตนจะได้รับเงินบำนาญ (จ่ายรายเดือน ตลอดชีพ) = 27.5% ของ 15,000 บาท คิดเป็นเงิน 4,125 บาทต่อเดือน
ตารางเงินสมทบชราภาพ ประกันสังคม
ระยะเวลาที่ส่งเงินสมทบ |
เงินบำนาญที่จะได้รับ |
|
ร้อยละของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย |
จำนวนเงิน (ต่อเดือน) |
|
15-20 ปี |
20.00-27.50% |
3,000-4,125 บาท |
21-25 ปี |
29.00-35.00% |
4,350-5,250 บาท |
26-30 ปี |
36.50-42.50% |
5,475-6,375 บาท |
31-35 ปี |
44.00-50.00% |
6,600-7,500 บาท |
ความแตกต่างของเงินชราภาพ มาตรา 33 และมาตรา 39
ความแตกต่างของการคำนวณเงินชราภาพประกันสังคม ระหว่างมาตรา 33 และมาตรา 39 คือฐานเงินเดือนที่ใช้คิด ดังนี้
- ผู้ประกันตนมาตรา 33 รับสิทธิ์กรณีชราภาพ โดยใช้ฐานเงินเดือนตามฐานที่มีการนำส่งเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท
- ผู้ประกันตนมาตรา 39 รับสิทธิ์กรณีชราภาพ โดยใช้ฐานเงินเดือน 4,800 บาท
ดังนั้น ถ้า 60 เดือนสุดท้าย เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 จะใช้ฐานของมาตรา 33ถ้า 60 เดือนสุดท้ายเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 จะใช้ฐานของมาตรา 39ถ้า 60 เดือนสุดท้ายเป็นมาตรา 33 และมาตรา 39 ประกันสังคมจะเฉลี่ยให้ตามสัดส่วน
เงินชราภาพเริ่มปีไหน อายุเท่าไหร่
เงินออมชราภาพ เริ่มมีการหักเก็บเงินสมทบจากผู้ประกันตน ตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2541 เป็นต้นมา หากในระยะเวลาที่มีการหักเก็บเงินสมทบ ผู้ประกันตนก็จะมีสิทธิ์ได้รับเงินชราภาพ เมื่อสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน และมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ ดังนั้น แม้ว่าสถานะการจ้างงานจะสิ้นสุด หรือสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนแล้ว ก็จำเป็นต้องรอให้อายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ ถึงจะสามารถยื่นเรื่องรับสิทธิ์ได้
เงินชราภาพ ประกันสังคม ขอคืนได้เมื่อไหร่
- เมื่อผู้ประกันตนมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์
- เมื่อความเป็นผู้ประกันตน ตามมาตรา 33 หรือมาตรา 39 สิ้นสุดลง
- ต้องดำเนินการขอคืนเงินชราภาพ ประกันสังคม ภายในระยะเวลา 1 ปี หลังสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตน ตามมาตรา 33 หรือมาตรา 39
ผู้ประกันตนมาตรา 33 จะได้รับเงินชราภาพ เมื่อสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน และมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์
เงินสมทบชราภาพ เบิกก่อนได้ไหม
การขอคืนเงินชราภาพประกันสังคม ก่อนอายุ 55 ปีบริบูรณ์ ไม่สามารถทำได้ แม้ว่าจะส่งเงินสมทบครบ 180 เดือน ต้องรอจนกว่าอายุจะครบเท่านั้น ยกเว้นใน 2 กรณี คือ
- กรณีที่ผู้ประกันตนกลายเป็นผู้ทุพพลภาพ ก่อนอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ จะคืนเป็นเงินบำเหน็จ
- กรณีที่ผู้ประกันตนเสียชีวิตก่อนอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ ทายาทจะได้รับเป็นเงินบำเหน็จ
ขอบคุณรูปภาพจาก https://info.go.th/
วิธีขอคืนเงินประกันสังคม 2568
- ผู้ประกันตนยื่นแบบขอรับเงินคืนได้ที่ สำนักงานประสังคมทั่วประเทศ
- โดยเจ้าหน้าที่จะรับแบบไปตรวจสอบเอกสาร และบันทึกเข้าระบบคืนเงิน
- หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่พิจารณาจะตรวจสอบข้อมูลการขอรับเงินคืนของผู้ประกันตน
- และเสนอแบบคำขอรับเงินคืนเพื่อให้ผู้มีอำนาจลงนามอนุมัติหรือไม่อนุมัติ
- จากนั้นจะบันทึกผลการพิจารณาในระบบคืนเงินและหนังสือแจ้งผล
- เมื่อเสร็จแล้วเจ้าหน้าที่การเงินอมุมัติและบันทึกจะจ่ายเงินตามคำสั่งคืนเงินสมทบใระบบสารสนเทศ
เงินสมทบชราภาพ ขอรับเงินบางส่วนก่อนอายุ 55 ปีได้หรือไม่
ตามปกติ ประกันสังคมกำหนดให้ได้รับเงินชราภาพประกันสังคม เมื่ออายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตนแล้วเท่านั้น ทั้งนี้ วันที่ 10 พ.ค. 2565 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหลักการเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพ 3 ประเด็น ภายใต้เงื่อนไขพิเศษ ดังนี้
- ขอเลือก: ให้ผู้ประกันตนที่มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ สามารถเลือกรับเงินบำเหน็จหรือเงินบำนาญชราภาพได้
- ขอคืน: ในกรณีเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ สาธารณภัย หรือเหตุการณ์อื่นใดอันส่งผลกระทบต่อผู้ประกันตน สามารถนำเงินสะสมกรณีชราภาพบางส่วน ออกมาใช้ได้ก่อนอายุ 55 ปีบริบูรณ์
- ขอกู้: สามารถนำเงินสะสมกรณีชราภาพบางส่วน ไปเป็นหลักประกันกับสถาบันการเงินได้
ทั้งนี้ ปัจจุบันคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติในหลักการแล้ว อยู่ในขั้นตอนการเร่งดำเนินการทางกฎหมาย และรอประกาศจากสำนักงานประกันสังคม
เงินชราภาพ ประกันสังคม กี่วันได้เงิน
เงินบำเหน็จชราภาพ จะได้รับภายใน 7-10 วันทำการ (ไม่นับวันหยุดราชการ) หลังจากได้รับการอนุมัติ
เงินบำนาญชราภาพ หลังจากได้รับการอนุมัติแล้ว เงินจะโอนเข้าบัญชีภายในวันที่ 25 ของเดือนถัดไป หากวันที่ 25 ตรงกับวันหยุดราชการ สปส. จะโอนให้ก่อนวันหยุดราชการ
เงินชราภาพ กรณีเสียชีวิต
ในกรณีที่ผู้ประกันตนได้รับเงินบำนาญชราภาพประกันสังคม แล้วต่อมาเสียชีวิตภายใน 60 เดือนนับตั้งแต่ได้รับบำนาญชราภาพ สิทธิ์จะตกไปที่ทายาท โดยทายาทจะได้รับเป็นเงินบำเหน็จชราภาพ เท่ากับเงินที่ผู้ตายได้รับเดือนสุดท้าย คูณด้วยจำนวนเดือนที่เหลือจนครบ 60 เดือน
ทั้งนี้ เราสามารถเช็กเงินชราภาพประกันสังคมได้ด้วยตนเองผ่าน 3 ช่องทางคือ
- SSO Mobile App
- Line Official Account : @SSOTHAI
- Website : www.sso.go.th
เรียกได้ว่ารวบรวมมาให้ครบ จบทุกข้อสงสัย สำหรับข้อควรรู้เกี่ยวกับเงินชราภาพประกันสังคม ว่าจะได้เมื่อไหร่ พร้อมตารางเงินสมทบ แม้ว่าเราจะมีเงินออมสะสมยามเกษียณในรูปแบบเงินชราภาพประกันสังคมแล้ว แต่ก็อย่าลืมสร้างวินัยการออมเงิน และวางแผนการใช้จ่ายอย่างชาญฉลาดด้วยการจับจ่ายผ่านบัตรเครดิตที่มีโปรโมชั่น ให้ความคุ้มค่าในการจับจ่ายได้มากกว่า อาทิ คะแนนสะสม KTC FOREVER ที่มาสามารถใช้แลกรับส่วนลด หรือเครดิตเงินคืนได้ นอกจากนี้ยังมีสิทธิพิเศษสำหรับสมาชิกบัตรเครดิตอีกมากมาย ทั้งส่วนลดร้านอาหาร และแบรนด์ดังชั้นนำ อีกทั้งไม่มีค่าธรรมเนียมแรกเข้าและรายปีตลอดชีพ สนใจสมัครบัตรเครดิต KTC ผ่านช่องทางออนไลน์ คลิกเลย
ใช้จ่าย คุ้มค่า นึกถึงบัตรเครดิต KTC