การพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainability Development: SD)
ด้วยวิสัยทัศน์ “เคทีซีจะเป็นองค์กรที่มีสมาชิกแข็งแกร่ง และมุ่งสร้างธุรกิจให้เติบโตยั่งยืนสู่การเป็นแพลทฟอร์มหลักสินเชื่อรายย่อยและแพลทฟอร์มการชำระเงิน ที่อยู่เคียงข้างสังคมไทยและสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับสมาชิกและผู้บริโภค เคทีซีนำแนวคิดด้านความยั่งยืนทั้งมิติเศรษฐกิจ มิติสังคม และมิติสิ่งแวดล้อม เข้ามาผสานเป็นส่วนหนึ่งกับการพัฒนาองค์กรให้เป็น Agile Entity ด้วยการกำหนดแผนกลยุทธ์ โครงสร้างองค์กร การจัดให้มีระบบและเทคโนโลยีสารสนเทศ และกระบวนการทำงาน ที่เอื้อให้บุคลากรรังสรรค์งานที่มีคุณภาพ ส่งมอบคุณค่าผ่านผลิตภัณฑ์ บริการ และแพลทฟอร์ม ให้เคทีซีเป็นแบรนด์ที่อยู่ในใจสมาชิก เสริมสร้างให้บริษัทแข็งแกร่งท่ามกลางความท้าทายที่เกิดขึ้นเพื่อตอบแทนและเติบโตไปพร้อมกับผู้มีส่วนได้เสียอย่างยั่งยืน
คณะกรรมการบริษัท เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการตัดสินใจเพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัทและผู้มีส่วนได้เสีย โดยได้มอบหมายให้ คณะกรรมการตรวจสอบ กำกับดูแลกิจการ ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้กำกับดูแลการดำเนินงานด้านความยั่งยืน โดยอนุมัติวิสัยทัศน์ พันธกิจ และกรอบการดำเนินงาน โดยมีประธานเจ้าหน้าที่บริหารเป็นผู้นำและขับเคลื่อนองค์กรด้วยความมุ่งมั่น อีกทั้งบริษัทได้จัดให้ผู้บริหารระดับสูง เข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มแรก เพื่อเข้าถึงความสำคัญของความยั่งยืนควบคู่ไปกับการดำเนินงานและส่งผ่านการสนับสนุนตลอดสายงานผ่านคณะทำงานด้านความยั่งยืนที่ได้คัดเลือกตัวแทนจากแต่ละสายงาน โดยตัวแทนเหล่านี้ได้ร่วมกันศึกษากรอบการดำเนินงานด้านความยั่งยืนระดับประเทศและระดับสากลและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างสายงาน รวมถึงมุ่งเน้นการสื่อสารภายในองค์กรอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นการให้ความรู้ ตัวอย่าง แนวทางด้านความยั่งยืน เพื่อกระตุ้นการตระหนักรู้ และเสริมสร้างความเข้าใจเพื่อให้พนักงานนำไปปฏิบัติและสานต่อการดำเนินงานด้านความยั่งยืนให้เป็นไปแบบ 360 องศา โดยทุกคนในองค์กรมีส่วนร่วมผลักดันและขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย
1. ประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืน และกรอบการดำเนินงาน
ในปี 2562 บริษัทพิจารณากลั่นกรองประเด็นความยั่งยืนระดับอุตสาหกรรม ระดับประเทศ และระดับสากล (Issue Universe) ที่เกี่ยวข้องกับบริษัท โดยขอความเห็นจากผู้บริหารระดับสูงทุกสายงานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และสำรวจความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียทั้ง 10 กลุ่ม ได้แก่ ผู้ถือหุ้น ลูกค้า เจ้าหนี้ คู่ค้า พันธมิตร คู่แข่ง สังคมและสิ่งแวดล้อม คณะกรรมการบริษัทและผู้บริหาร พนักงาน และภาครัฐ เพื่อนำมาพิจารณาจัดลำดับประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนที่มีความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทและเป็นประเด็นที่ผู้มีส่วนได้เสียให้ความสำคัญใน Materiality Matrix จำนวน 16 หัวข้อ โดยนำมากำหนดกรอบการดำเนินงานด้านความยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน Sustainability Development Goals (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ จำนวน 10 เป้าหมาย ดังนี้
1.1 มิติเศรษฐกิจ
เคทีซีมุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจด้วยความโปร่งใส เป็นธรรมตามหลักธรรมาภิบาล การกำกับดูแลกิจการที่ดี และการบริหารจัดการความเสี่ยงที่เหมาะสมโดยร่วมกับคู่ค้าและพันธมิตรเพื่อพัฒนาและนำเสนอผลิตภัณฑ์ บริการ และแพลทฟอร์ม พร้อมสิทธิประโยชน์ที่ดีรอบด้าน มีเอกลักษณ์เฉพาะ พร้อมพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลที่คำนึงถึงความปลอดภัย รวดเร็ว และมีเสถียรภาพ อีกทั้งไม่หยุดที่จะพัฒนาเพื่อส่งมอบสิ่งดี ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความพึงพอใจและประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าและสมาชิกทุกครั้งที่ใช้บริการ เพื่อให้เคทีซีเป็นแบรนด์ที่อยู่ในใจสมาชิกและเป็นทางเลือกที่ใช่สำหรับสมาชิกในการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์หรือบริการอย่างชาญฉลาด ในปี 2562 พอร์ตลูกหนี้รวมและยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตสูงขึ้น อัตราการเติบโตของยอดลูกหนี้ธุรกิจบัตรเครดิตสูงเป็นประวัติการณ์ในรอบ 3 ปี และบริษัทสามารถทำกำไรสุทธิได้ถึง 5,524 ล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์และต่อเนื่องเป็นปีที่ 7
1.2 มิติสังคม
เคทีซีให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรของบริษัทผ่าน “การเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอด้วยความเอาใจใส่” เป็นพื้นฐานที่บุคลากรคุณภาพของบริษัทจะสามารถนำไปต่อยอดสร้างคุณค่าที่ตรงใจและตรงกับความต้องการของผู้มีส่วนได้เสียอย่างแท้จริง นอกจากนี้ เคทีซียังให้ความสำคัญกับการให้เกียรติ เคารพในความแตกต่างที่หลากหลาย และดูแลด้วยความเท่าเทียมอย่างทั่วถึงบนพื้นฐานของสิทธิมนุษยชน ในปีนี้ บริษัทได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทยในการขยายตลาดการให้บริการเพื่อให้คลอบคลุมสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน และได้ร่วมกับธนาคารกรุงไทย จัดตั้งบริษัทลูกในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารกรุงไทย เพื่อประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (Pico Finance) ประเภท Pico Plus และสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ (Nano Finance) เพิ่มเติม เพื่อขยายตลาดสินเชื่อรายย่อยแก่บุคคลธรรมดาที่ต้องการเข้าถึงบริการทางการเงิน รวมถึงกลุ่มลูกค้าที่ไม่เคยเข้าถึงบริการทางการเงินในระบบ โดยเพิ่มโอกาสให้นำเงินที่ได้รับอนุมัติสินเชื่อไปใช้เพื่อเสริมสร้างให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและบรรเทาความเดือดร้อนจากการกู้ยืมเงินนอกระบบ รวมถึงให้ความรู้ทางการเงินเพื่อสร้างเสริมวินัยทางการเงิน และการวางแผนใช้จ่ายอย่างมีเหตุผลเพื่อไม่ให้เกิดภาระหนี้ภาคครัวเรือนที่เกินความจำเป็น เพื่อยกระดับการเข้าถึงทางการเงิน และสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงินและสังคมอย่างยั่งยืน
1.3 มิติสิ่งแวดล้อม
เคทีซีส่งเสริมให้พนักงานได้ตระหนักรู้และมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมโดยเริ่มได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองในกิจวัตรประจำวัน เช่น การลดการใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง และลดใช้พลังงาน นอกจากนี้ เคทีซีได้รณรงค์และเชิญชวนให้พนักงานและผู้มีส่วนได้เสีย ร่วมกันลดการใช้กระดาษโดยใช้การสื่อสารผ่านช่องทางอิเล็คทรอนิคส์ เช่น อีเมล โซเชียลมีเดีย คิวอาร์โค้ด รวมถึงแจ้งความประสงค์การขอรับใบแจ้งยอดในรูปแบบของ E-Statement และบริษัทได้เข้าร่วมโครงการ Care the Bear: Change the Climate Change by Eco Event กับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อช่วยลดสภาวะโลกร้อนด้วยการลดก๊าซเรือนกระจกจากการจัดกิจกรรมหรืออีเว้นท์อีกด้วย
2. รางวัลแห่งความภาคภูมิใจ
จากการดำเนินงานด้านความยั่งยืนดังกล่าว ปี 2562 บริษัทได้รับรางวัลอันทรงเกียรติต่าง ๆ ดังนี้
- รางวัล Best CEO Awards รางวัล Outstanding Company Performance Awards และได้อยู่ในรายชื่อ Thailand Sustainability Investment (THSI) เป็นปีแรก ในงาน SET Awards
- เคทีซีเป็นบริษัทรายแรกและรายเดียวของสถาบันการเงินในประเทศไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานระบบบริหารจัดการความมั่นคงปลอดภัยสำหรับสารสนเทศ (ISO/IEC 27001:2013) ทั่วทั้งองค์กร
- ผลการประเมินจากโครงการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียนไทย ประจำปี 2562 (Corporate Governance Report of Thai Listed Companies 2019) อยู่ที่ระดับ 5 ดาว เป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน
- ได้รับคัดเลือกให้อยู่ในรายชื่อบริษัทจดทะเบียนที่มีการดำเนินงานโดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance) ติดอันดับ ESG 100 (ตั้งแต่ปี 2559)
- ต่ออายุการเป็นสมาชิกโครงการแนวร่วมปฎิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านทุจริตจนถึงปี 2565
- ผลการประเมินโครงการประเมฺินคุณภาพการจัดการประชุมผู้ถือหุ้น (AGM) ด้วยคะแนน 100 คะแนน
ทั้งนี้ โปรดพิจารณารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเด็นสาระสำคัญด้านความยั่งยืน และรายละเอียดการดำเนินการด้านความยั่งยืนได้จาก รายงานความยั่งยืน (Sustainability Report) ประจำปี 2562 ซึ่งเป็นเอกสารแยกต่างห่างอีกหนึ่งฉบับบนเว็บไซต์ของบริษัทฯ