นักลงทุนสัมพันธ์

คำถามที่พบบ่อยของ
นักลงทุนสัมพันธ์

1.

โครงสร้างการถือหุ้นของกลุ่มบริษัท

บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ประกอบธุรกิจหลักด้านบัตรเครดิต ตลอดจนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจบัตรเครดิต ธุรกิจร้านค้ารับบัตร การให้บริการรับชำระเงินแทน และธุรกิจสินเชื่อบุคคล ซึ่งครอบคลุมไปถึงสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับและสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน นอกจากนี้ เพื่อให้บริษัทมีการปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและสังคม บริษัทได้จัดตั้งบริษัทย่อยเพื่อให้มีผลิตภัณฑ์ทางการเงินซึ่งครอบคลุมธุรกิจสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ และธุรกิจเงินอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อสนับสนุนการดำเนินธุรกิจของบริษัทในการสร้างผลตอบแทนระยะยาวอย่างยั่งยืน

2.

ธุรกิจหลักของบริษัทคืออะไร

บริษัทดำเนินธุรกิจสินเชื่อเพื่อผู้บริโภครายย่อย แบ่งเป็น สินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน อาทิ ธุรกิจบัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล รวมถึงสินเชื่อที่มีหลักประกัน อาทิ สินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน เป็นต้น บริษัทมีพอร์ตลูกหนี้รวม ลูกหนี้บัตรเครดิต ลูกหนี้สินเชื่อบุคคล และลูกหนี้ตามสัญญาเช่า ณ ไตรมาส 2 ปี 2567 ตามกราฟด้านล่าง

3.

แหล่งที่มาของรายได้

โครงสร้างรายได้ มาจากรายได้ดอกเบี้ยรับและค่าธรรมเนียมของ 2 ธุรกิจหลัก คือ ธุรกิจบัตรเครดิต และธุรกิจสินเชื่อบุคคล รวมถึงธุรกิจสินเชื่อตามสัญญาเช่า ตามแผนภูมิด้านล่าง

4.

หลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ

5.

แหล่งที่มาของเงินกู้ยืม และ ภาระผูกพันในการก่อหนี้

ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2567 กลุ่มบริษัทมีเงินกู้ยืมทั้งสิ้น 61,965 ล้านบาท แบ่งสัดส่วนโครงสร้างแหล่งเงินทุนเป็นเงินกู้ยืมระยะสั้น (รวมส่วนของเงินกู้ยืมและหุ้นกู้ที่ครบกำหนดชำระภายในหนึ่งปี) 28% และเงินกู้ยืมระยะยาว 72% ซึ่งเคทีซีมีแหล่งที่มาของเงินกู้ยืมที่หลากหลาย ทั้งจากธนาคารพาณิชย์ไทย บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทประกันและกองทุนต่าง ๆ โดยแบ่งเป็นเงินกู้ยืมระยะสั้นจากสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องกัน รวมถึงบุคคลและบริษัทที่เกี่ยวข้อง 3,595 ล้านบาท สถาบันการเงินอื่น จำนวน 2,990 ล้านบาท เงินกู้ยืมระยะยาวจากธนาคารกรุงไทย จำนวน 10,500 ล้านบาท และหุ้นกู้จำนวน 44,880 ล้านบาท

อัตราส่วนของหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ที่ 1.97 เท่า ลดลงเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันในปีก่อนหน้าที่ 2.18 เท่า และอยู่ระดับต่ำกว่าภาระผูกพัน (Debt Covenants) ซึ่งกำหนดไว้ที่ 10 เท่า

นอกจากนี้กลุ่มบริษัทยังมีวงเงินกู้ยืมระยะสั้นจากสถาบันการเงิน (Total Short-Term Credit Line) รวมทั้งสิ้นจำนวน 28,871 ล้านบาท (รวมวงเงินจากธนาคารกรุงไทย 18,561 ล้านบาท) กลุ่มบริษัทใช้วงเงินระยะสั้นไปจำนวน 6,200 ล้านบาท ทำให้มีวงเงินกู้ยืมระยะสั้นคงเหลือทั้งสิ้น 22,671 ล้านบาท และมีวงเงินระยะยาวจากธนาคารกรุงไทยคงเหลืออีกจำนวน 5,500 ล้านบาท โดยกลุ่มบริษัทมีหุ้นกู้และเงินกู้ยืมระยะยาวที่จะครบกำหนดในครึ่งหลังของปี 2567 ทั้งสิ้น 7,845 ล้านบาท

6.

ธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลของบริษัทเทียบกับอุตสาหกรรม

อุตสาหกรรมสินเชื่อผู้บริโภคโดยรวมมีการชะลอตัว จากแรงกดดันจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ อย่างไรก็ตามดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ณ เดือนมิถุนายน 2567 อยู่ที่ระดับ 52.3 ยังอยู่ในช่วงเชื่อมั่นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 19 โดยปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตของอุตสาหกรรมรวมขยายตัว 3.7% ในรอบครึ่งปีนี้ ขณะเดียวกัน ณ เดือนมิถุนายน ปี 2567 ยอดลูกหนี้บัตรเครดิตของอุตสาหกรรมรวมเท่ากับ 469,528 ล้านบาท ลดลง 1.1% (YoY) ยอดลูกหนี้สินเชื่อบุคคล (ไม่รวมสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน) เท่ากับ 493,885 ล้านบาท ลดลง 2.7% (YoY) ขณะที่สินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกันยังคงเติบโต 25.3% (YoY) จากช่วงเดียวกันของปี 2566

เคทีซีมีส่วนแบ่งตลาดของปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรของบริษัทเท่ากับ 12.9% (12.1% ณ ครึ่งแรกของปี 2566) และสัดส่วนลูกหนี้บัตรเครดิตเทียบกับอุตสาหกรรมสำหรับครึ่งแรกของปีนี้ เท่ากับ 14.7% (14.5% ณ ครึ่งแรกของปี 2566) ซึ่งสัดส่วนของปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรของบริษัทและลูกหนี้บัตรเครดิตของ KTC เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ในขณะที่สัดส่วนของลูกหนี้สินเชื่อบุคคล (ไม่รวมสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน) เทียบกับอุตสาหกรรมเท่ากับ 6.3% (6.3% ณ ครึ่งแรกของปี 2566) ซึ่งเทียบเท่ากับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

7.

การติดตามหนี้ของบริษัท

บริษัทให้ความใส่ใจกับทุกๆ ขั้นตอนของการดำเนินงาน โดยมีการคัดกรองตั้งแต่ขั้นตอนการอนุมัติบัตร รวมถึงบริษัทมีกระบวนการติดตามหนี้ที่ดี อีกทั้งมีทีมผู้บริหารที่มีความใส่ใจในกระบวนการติดตามหนี้ของบริษัทอยู่เสมอ บริษัทจึงสามารถจัดเก็บหนี้ได้ดีและมีคุณภาพสินเชื่อที่ดี โดยในไตรมาส 2 ปี 2567 หนี้สูญได้รับคืนอยู่ที่ 1,015 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 32.7% (YoY) จากการติดตามหนี้ได้ดีในทุกกลุ่มธุรกิจ โดยแบ่งเป็นหนี้สูญได้รับคืนจาก KTC จำนวน 992 ล้านบาท และ KTBL จำนวน 23 ล้านบาท

8.

คุณภาพสินเชื่อของบริษัทและการตั้งค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น

อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อรวมของกลุ่มบริษัท (%NPL) สำหรับไตรมาส 2 ปี 2567 อยู่ที่ 1.97% ใกล้เคียงกับไตรมาส 2/2566 ที่อยู่ระดับ 2.03% โดย NPL สำหรับไตรมาส 2 ปี 2567 ของลูกหนี้บัตรเครดิต ลูกหนี้สินเชื่อบุคคล และลูกหนี้ตามสัญญาเช่าอยู่ที่ 1.42% 2.21% และ 13.93% ตามลำดับ ทั้งนี้ กลุ่มบริษัทมีค่าเผื่อผลขาดทุนที่คาดว่าจะเกิดขึ้น 7,525 ล้านบาท ลดลง 18.4% (YoY) เป็นผลจากการตัดหนี้สูญเร็วขึ้นซึ่งบริษัทมีการตั้งสำรองไว้แล้ว โดยมีอัตราค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อ NPL (NPL Coverage Ratio) อยู่ในระดับที่ 363.3% ลดลงจากไตรมาส 2 ปี 2566 ที่อยู่ระดับ 433.2%

อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อรวมของงบการเงินเฉพาะกิจการ (%NPL) สำหรับไตรมาส 2 ปี 2567 อยู่ที่ 1.68% ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าที่อยู่ระดับ 1.78% โดยมีค่าเผื่อผลขาดทุนที่คาดว่าจะเกิดขึ้น 6,928 ล้านบาท คิดเป็นอัตราค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อ NPL (NPL Coverage Ratio) เท่ากับ 402.7% ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อนที่อยู่ที่ 472.4%

สำหรับ Credit Cost ของงบการเงินเฉพาะกิจการและกลุ่มบริษัทในไตรมาส 2 ปี 2567 มีค่าเท่ากันกับไตรมาสหนึ่งปี 2567 ที่ผ่านมา โดยมีค่าที่ 6.3% และ 6.4% ตามลำดับ ด้วยผลของการตัดหนี้สูญที่เร็วขึ้นในปีนี้ การตั้งสำรองตามคุณภาพลูกหนี้ที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงการตั้งสำรองส่วนเพิ่มตามหลักความระมัดระวัง เพื่อรองรับปัจจัยความผันผวนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

9.

ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขี้น

ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น 1,690 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.5% (YoY) มาจากการตั้งสำรองตามคุณภาพของลูกหนี้ที่เปลี่ยนแปลงไป ผลของการตัดหนี้สูญที่เร็วขึ้นในปีนี้ รวมถึงมีการตั้งสำรองส่วนเพิ่มตามหลักความระมัดระวัง เพื่อรองรับความผันผวนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

10.

นโยบายการจ่ายเงินปันผล

จากการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2546 เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2546 มีมติให้จ่ายเงินปันผลในอัตราประมาณ ร้อยละ 40 ของกำไรสุทธิหลังหักภาษีและสำรองตามกฎหมาย ตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นไป โดยได้แสดงอัตราการจ่ายเงินปันผลสำหรับผลประกอบการของปี 2562 – 2566 ตามตารางด้านล่างดังนี้

11.

กลยุทธ์ของเคทีซีที่เชื่อมโยงกับการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน

กลยุทธ์ของ KTC ได้บูรณาการกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนในมิติเศรษฐกิจ (Better Product and Service) มิติสังคม (Better Quality of Life) และมิติสิ่งแวดล้อม (Better Climate) โดย KTC ได้ดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบ มุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริการ เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล รวมถึงบุคลากรอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบโจทย์ธุรกิจ สร้างความไว้วางใจให้เกิดแก่ผู้มีส่วนได้เสีย เพิ่มโอกาสการเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินแก่สังคมไทย บรรเทาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และร่วมสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ ทั้งนี้สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ของบริษัท https://www.ktc.co.th/sustainability-development

12.

ประเด็นที่น่าสนใจในปัจจุบัน

➢ เป้าหมายและการเติบโตของบริษัท

กลุ่มบริษัทได้กำหนดเป้าหมายปี 2567 ไว้ในหลากหลายมิติ ตามรายละเอียดในตารางข้างต้น ทั้งนี้เป้าหมายหลักที่เคทีซีมั่นใจว่าจะสามารถบรรลุเป้าที่ได้กำหนดคือ (1) สร้างมูลค่ากำไรสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และ (2) รักษาคุณภาพพอร์ตให้อัตราส่วนของหนี้ด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อไม่เกินกว่าที่กำหนดไว้ ในขณะที่ภาพเศรษฐกิจไทยที่ยังชะลอตัว จากการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐที่ล่าช้า ประกอบกับภาพอุตสาหกรรมที่ไม่เติบโตส่งผลต่อภาคธุรกิจรวมถึงมีผลต่อเป้าหมายการเติบโตธุรกิจของกลุ่มบริษัทที่ได้ตั้งไว้ด้วย อย่างไรก็ตามบริษัทเชื่อว่า กลยุทธ์การสร้างฐานลูกค้าบัตรเครดิตในกลุ่มที่มีรายได้สูงขึ้น ตลอดจนการคัดกรองคุณภาพพอร์ตทั้งบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล อีกทั้งการปรับเพิ่มช่องทางการรับสมัครใหม่ผ่านการเปิดจุดบริการรับสมัคร KTC พี่เบิ้ม รถแลกเงิน (One Stop Service) ในพื้นที่ใกล้กลุ่มเป้าหมาย นับเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์การตลาด ที่สร้างโอกาสการเข้าถึงและสร้างความตระหนักรู้ในสินเชื่อ KTC พี่เบิ้ม รถแลกเงิน เพื่อเป็นการต่อยอดสร้างฐานรายได้ในอนาคต

➢ แนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนของ ธปท. และ ผลกระทบ

ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ปรับการผ่อนชำระขั้นต่ำของบัตรเครดิตเป็น 8% จาก 5% ในปี 2566 รวมถึงออกหลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending: RL) ตามประกาศ ธปท.ที่ สกช. 7/2566 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างบทบาทผู้ให้บริการในการรับผิดชอบลูกค้าตลอดวงจรหนี้อย่างเหมาะสม โดยให้ผู้ให้บริการนำเสนอแนวทางให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้ที่ยังไม่ด้อยคุณภาพ (non-NPL) ซึ่งเป็นการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ในลักษณะเชิงป้องกัน (Pre-emptive DR) ตั้งแต่เริ่มมีสัญญาณว่าลูกหนี้กำลังจะประสบปัญหาในการชำระหนี้อย่างน้อย 1 ครั้ง เพื่อให้ลูกหนี้สามารถชำระหนี้ได้ไม่กลายเป็นหนี้ด้อยคุณภาพ (NPL) และเสนอแนวทางให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้ด้อยคุณภาพ (NPL) อย่างน้อย 1 ครั้ง โดยเฉพาะก่อนการดำเนินการตามกฎหมาย โอนขายหนี้ บอกเลิกสัญญา หรือยึดทรัพย์

สำหรับกรณีการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่เป็นหนี้เรื้อรัง (Severe Persistent Debt: SPD) ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2567 นั้น ลูกหนี้ที่เข้าข่าย SPD ต้องเป็นสินเชื่อหมุนเวียน ที่ยังไม่เป็นหนี้ด้อยคุณภาพ (Non-NPL) ได้จ่ายดอกเบี้ยรวมมากกว่าเงินต้นรวมในช่วงย้อนหลัง 5 ปีและมีรายได้ต่อเดือนน้อยกว่า 20,000 บาท

ในวันที่ 2 สิงหาคม 2567 ธปท. ปรับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ โดยมีรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับเคทีซีดังนี้

1. การผ่อนชำระขั้นต่ำของบัตรเครดิต
1.1 ผ่อนปรนอัตราการผ่อนชำระขั้นต่ำของบัตรเครดิตโดยกำหนดให้ยังคงอยู่ที่ 8% ออกไปอีก 1 ปี จนถึงสิ้นปี 2568 (จากเดิมจะเพิ่มเป็น 10% ตั้งแต่ 1 มกราคม 2568)

1.2 ลูกหนี้ที่ผ่อนชำระหนี้ขั้นต่ำมากกว่าหรือเท่ากับ 8% จะได้รับเครดิตเงินคืนเทียบเท่าดอกเบี้ย 0.5% ของยอดค้างชำระสำหรับครึ่งแรกปี 2568 และ 0.25% ของยอดค้างชำระสำหรับครึ่งหลังปี 2568

1.3 ลูกหนี้ที่เดิมจ่ายขั้นต่ำ 5% แต่ไม่สามารถจ่ายถึง 8% สามารถใช้สิทธิปรับโครงสร้างหนี้ก่อนเป็นหนี้เสีย โดยเปลี่ยนจากหนี้บัตรเครดิตเป็นสินเชื่อระยะยาว (term loan) เพื่อจ่ายชำระเป็นงวด โดยลูกหนี้จะยังมีสภาพคล่องจากวงเงินบัตรเครดิตส่วนที่เหลือ (จากเดิมลูกหนี้จะต้องปิดวงเงินสินเชื่อ) ซึ่ง ธปท. จะดำเนินการเพื่อให้มีผลบังคับใช้ภายในเดือน กันยายน 2567

2. การให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีปัญหาเรื้อรัง (Persistent Debt)
ธปท. ขยายระยะเวลาการปิดจบหนี้จากภายใน 5 ปี เป็น 7 ปี (อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 15% ต่อปีเท่าเดิม) โดยลูกหนี้จะยังมีสภาพคล่องจากวงเงินสินเชื่อส่วนที่เหลือ (จากเดิมลูกหนี้จะต้องปิดวงเงินสินเชื่อ) มาตรการจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป

เคทีซี ได้มีมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ซึ่งเป็นไปตามประกาศของ ธปท. โดยบริษัทจะพิจารณาให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้และไม่ทำให้ลูกหนี้มีภาระหนี้เพิ่มขึ้นจากภาระหนี้เดิมเกินสมควร สามารถดูรายละเอียดแนวทางการให้ความช่วยเหลือได้จากลิงก์ : https://www.ktc.co.th/support/rate/table-of-disclosures

สำหรับกรณีการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่เป็นหนี้เรื้อรัง (Severe Persistent Debt: SPD) ในไตรมาสสองปี 2567 ซี่งเป็นช่วงเวลาสามเดือนแรกนับตั้งแต่เกณฑ์ SPD มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 เมษายน 2567 มีลูกหนี้เคทีซีที่สมัครเข้าร่วมโครงการช่วยเหลือคิดเป็นผลกระทบต่อรายได้ดอกเบี้ยจริง 1.3% ของผลกระทบที่เคยประมาณการไว้ (18 ล้านบาทต่อเดือน หากลูกหนี้ที่เข้าเกณฑ์ทุกรายเข้าร่วมโครงการ)

general
notion
business